ครั้งแรกของโลกที่เมืองไทย รังสรรค์วัตถุดิบพื้นถิ่นสู่ “Dinner Incredible”

รวม 13 เชฟระดับโลก 14 ดาวมิชลิน ร่วมยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่จานอาหาร Fine Dining ลงพื้นที่แหล่งมรดกโลก “เขาใหญ่” ทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมนูพื้นบ้าน สร้างสรรค์สู่มื้อค่ำสุดพิเศษ “Dinner Incredible” ครั้งแรกของโลกที่เมืองไทย

          “ธนินธร จันทรวรรณ” หรือ เชฟหนุ่ม” แห่ง Chim by Siam Wisdom ร้านอาหารไทยดั้งเดิมระดับแนวหน้า การันตีด้วยมิชลิน 1 ดาวถึง 5 ปีซ้อน พร้อมบทพิสูจน์การยกระดับวัตถุดิบในท้องถิ่นสู่วงการอาหารระดับโลก สร้างความกลมกลืนด้วยธรรมชาติท้องถิ่นแบบไทยดั้งเดิม ผสมผสานองค์ความรู้และประสบการณ์จนสามารถชูรสชาติวัตถุดิบได้อย่างดีเลิศ

 

 

          “เชฟหนุ่ม” ยังได้ส่งต่อแนวคิดการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุงอาหารรสเลิศสู่ “เขาใหญ่” โดยใช้ชื่อ “The Gardener” เพื่อให้เกียรติต่อผู้ผลิตอาหารตัวจริง หรือเกษตรกรผู้ลงแรงกายแรงใจ สรรค์สร้างวัตถุดิบคุณภาพให้กับร้านอาหาร พร้อมด้วยแนวคิดว่าการปรุงอาหารที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการคำนวณส่วนผสมพร้อมความคิดสร้างสรรค์ เพราะเชฟผู้รังสรรค์ศิลปะอาหารจะต้องไม่ลืมความรับผิดชอบที่จะจำกัดปริมาณของเสีย และสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่ได้มาอย่างคุ้มค่าที่สุด 

          จากความพิเศษเดินทางสู่ความพิเศษขั้นกว่า เมื่อ “เชฟหนุ่ม” จับมือกับ “เชฟจิออร์จิโอ ดิอาน่า” (Giorgio Diana) ผู้ก่อตั้งงาน “Dinner Incredible” เชิญเหล่าเชฟระดับโลกรวม 13 คน นับดาวมิชลินรวมกันได้ถึง 14 ดวง ร่วมกันยกระดับวัตถุดิบในท้องถิ่นสู่วงการอาหารระดับโลก โดยการจัดงานดินเนอร์สุดพิเศษ ให้เชฟทุกคนได้สร้างสรรค์มื้ออาหารค่ำ นำวัตถุดิบท้องถิ่นที่โดดเด่นผ่านการคัดสรรอย่างดีจากทีมงานมืออาชีพ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก SDGs ทั้งการให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ผลิต การสร้างพื้นที่ให้กับธุรกิจรายย่อย หรือ คนตัวเล็ก การสนับสนุนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการจำกัดปริมาณขยะด้วยการใส่ใจสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การสร้างสมดุลของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้รายได้ส่วนหนึ่งงาน “Dinner Incredible” หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบให้กับโครงการ Food For Fighters เพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อไป

 

 

          Dinner Incredible” โดยเชฟระดับโลกรวม 13 คน ได้แก่ จิออร์จิโอ ดิอาน่า (Giorgio Diana), จาคอป แจน โบเออร์มา (Jacob Jan Boerma), เนลสัน ธนินธร จันทรวรรณ (Nelson-Thanintorn Chantharawan), แฟตมาตา บินตา ทาราซิด-ทาราวาลี่ (Fatmata Binta Tarazid-Tarawali), มาโนเอลล่า บุฟฟาร่า (Manoella Buffara), เอบบ์ โวลเมอร์ (Ebbe Vollmer), ดีอเตอร์ โกชินา (Dieter Koschina), โมเอน อบู ซีแอด (Moeen Abu Zaid), คริสเตียน เฮอร์กเซลล์ (Christian Herrgesell), เปาโล กาซากรานเด (Paolo Casagrande), รูเบ็น นิเอโต อาร์นันซ์ (Ruben Nieto Arnanz), ซิลเวียน คอนสแตนซ์ (Sylvain Constans) และ เดวิด ฮาร์ทวิก (David Hartwig) จะจัดขึ้น ณ โรงแรมคิมป์ตั้น มาลัย ในวันที่ 24- 25 กุมภาพันธ์ 2565 และที่ The Siam Hotel Bangkok ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ร่วมกับ Silver Voyage Club แบรนด์ผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ ภายใต้การบริหารของบริษัท เวิลด์ รีวอร์ด โซลูชั่น จำกัด ร่วมกับ The Diplomat Network

          ทั้งนี้ “เชฟหนุ่ม” พร้อมด้วย “เชฟจิออร์จิโอ ดิอาน่า” (Giorgio Diana), “เชฟแฟตมาตา บินตา ทาราซิด-ทาราวาลี่” (Fatmata Binta Tarazid-Tarawali) และ “เชฟดีอเตอร์ โกชินา” (Dieter Koschina) ซึ่งเดินทางมาถึงเมืองไทยล่วงหน้าก่อนเชฟคนอื่นๆ ยังได้ลงพื้นที่ตามหาแรงบันดาลใจจากวัตถุดิบท้องถิ่นไทยที่น่าสนใจ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเปิดประสบการณ์การทำ “ยำผักหวาน” ตามกรรมวิธีชาวบ้านท้องถิ่นที่สวนเอเดนออร์แกนิกส์ ปากช่อง ต้นตำรับทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ที่เพิ่งไปประกาศเป็นสินค้า GI ไปเมื่อเร็วๆ นี้

 

 

          “เชฟหนุ่ม” ยังได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การจัดมื้อค่ำสุดพิเศษ “Dinner Incredible” ในครั้งนี้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักดีในสายตาคนทั่วโลก ของการเป็นเมืองแห่งอาหาร มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีชื่อเสียงหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีทฟู้ดอันเป็นเอกลักษณ์ของร้านอาหารข้างทางที่มีจุดเด่นจนเลื่องลือทั่วโลก

 

 

          สายธารแห่งวัฒนธรรมด้านอาหารหล่อเลี้ยงให้กรุงเทพฯ มีชีวิตชีวา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มีตัวเลือกด้านอาหารมากมาย ตั้งแต่อาหารระดับสตรีทฟู้ด ไปจนถึงการยกระดับวัตถุดิบเข้าสู่เวทีโลกด้วยวัฒนธรรม Fine Dining

          เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งนับเป็นหายนะอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมอาหาร เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการแพร่ระบาด ส่งผลต่อการสร้างสรรค์เมนูอาหารเชฟและผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก นับเป็นความท้าทายที่ยังคงต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

 

 

          เศรษฐกิจของประเทศไทยที่เคยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว  ในปัจจุบันนี้ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงอย่างน่าใจหาย สมาคมร้านอาหารไทยได้ประเมินการสูญเสียทางอุตสาหกรรมไว้สูงถึง 1.4 พันล้านบาทต่อวัน ร้านอาหารกว่าแสนแห่งได้ปิดตัวลงในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยจำนวนคนว่างงานกว่าล้านคน และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องด้วยข้อจำกัดทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

          เมื่อต้องเดินให้ช้าลง เชฟและผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวตามบทบาททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่เงินทุนลดลง ความคิดสร้างสรรค์ต้องมีเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งสถานประกอบการด้านอาหารระดับสูง หรือร้านอาหารสไตล์ Fine Dining ก็ยังต้องพบเจอกับรสชาติแห่งความขมขื่นเช่นเดียวกัน ผู้ที่ชื่นชอบอาหารต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่ร้านอาหารจะต้องมีความยั่งยืน การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้กลายมาเป็นเทรนด์แห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมในสภาวการณ์ปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือการที่ร้านอาหารมุ่งนำผลิตผลในท้องถิ่นมาปรับใช้ให้เป็น 

 

 

          แนวทางของ “Farm to Table” เหล่าเชฟจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตรายย่อยภายในท้องถิ่น และแม้แต่มิชลินไกด์ผู้การันตีมาตรฐานด้านอาหารก็ได้เปิดตัว “ดาวสีเขียว” ในคู่มือประจำปี 2020 เพื่อเน้นย้ำไปถึงศาสตร์การทำอาหารบนพื้นฐานแห่งความยั่งยืน ควบคู่ไปกับดาวสีแดงแบบดั้งเดิมเพื่อแยกแยะการทำอาหารที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม

 

 

        กระแสการทำ Farm to Table ของเชฟผู้บุกเบิกระดับแนวหน้านั้นสามารถทำให้เราได้เห็นภาพว่า อุตสาหกรรมร้านอาหารจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร ด้วยประชากรทั่วโลกเกือบแปดพันล้านคน และโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้สร้างสรรค์ศิลปะอาหารที่จะต้องสรรหาสิ่งสร้างสรรค์ น่าตื่นเต้น และน่าเพลิดเพลินโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความยั่งยืนมานำเสนอ และสามารถส่งต่อรูปแบบไปยังคนรุ่นต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง