เรื่องสั้นรับเชิญ : “ทางฯ” : พนม นันทพฤกษ์

เรื่องสั้นรับเชิญ : “ทางฯ” :พนม นันทพฤกษ์

 

บันทึกความรู้สึก :

ท า ง  หรือ ‘ ในเช้าแดดส่อง’.

พนม นันทพฤกษ์.

 

          ๑.แดดส่อง (Intuition) ?

          ตรู่สางแดดส่องใส - ในเช้านั้น,

          อย่างฉับพลัน – เหมือนปลักตมหนาหนักที่พันธนาการ “สิ่งรับรู้” มายาวนานจะได้รับการปลดปล่อย,

          ดวงตาพลันเพ่งพบ – บัวแดงบานดอกตระหง่านงามอยู่เหนือคุ้งน้ำโค้งลำห้วยซึ่ง เขา ได้ขุดลอกบูรณะซ่อมสร้างขึ้นเองแต่เมื่อกว่าสามทศวรรษก่อน,

          หรือเพียงเพราะแดดส่อง ?

 

          . ฐานข้อมูล (Data base).

          แดดส่อง- เขา พลันคิดถึง “เมอโซ” ตัวละครเอกในวรรณกรรมรางวัลโนเบลบางเรื่องของนักเขียนชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอัลจีเรียที่ชื่อ อัลแบรต์ กามูส์,

          เอ้ะ ! แต่นั่นมัน ‘ประกายแดดสร้านเริงร้อนชอนตกกระทบม่านตา’ นี่, ไม่ใช่ ‘ส่องใส’,

          อย่างต่อเนื่อง – ความรู้สึกเชิงนัยประหวัดกระตุ้นเร้า - จิตใต้สำนึก ? ความสู่รู้ ? 

          หรือเพียงเพราะ “ความเป็นเช่นนั้นเอง”, ทำงานอย่างต่อเนื่อง ?

          หรือช่องแห่ง ‘การรื้อฟื้นเพื่อชำระรื้อถอน’ ล้วนเกิดเพราะเหตุฉับพลันแห่ง ‘แดดส่อง’ ! - ดังเคยพบผ่านในมนตร์คาถาบางวรรคแห่งคติ ‘วัชรญาณ’ ?

 

          อย่างน้อยก็มีเรื่องที่พอจะเรียบเรียงให้เห็นภาพได้บ้าง - ดังต่อไปนี้ :

          เพียงหลับตาลงดังเหมือนพลันพบเห็น ‘บรรณาการกล’ ต่อสิ่งเรียก “เทพีแห่งเสรีภาพ” บนเกาะแมนฮัตตันแห่งอัสดงคตประเทศหนึ่ง – ที่ผู้บริหารประเทศ - ทั้งโดยตรงและอ้อม, ออกคำสั่ง (อาจโดย “ความไม่รู้” – แต่เป็นไปโดยรากเหง้าแห่ง ‘สำนึกประชาชาติ’ ที่อาจเรียก ‘ดีเอ็นเอ’. คือ “ตั้งใจ !”),

          ให้ก่อการรุกรานชาติพันธุ์อื่น  รุกรานบูรณภาพเหนือแผ่นดินอื่น  กระทั่งลุแก่บาปหนักถึงขั้น “ฆ่าคน” {หรือ “การทำให้ชีวิตอื่นต้องกลายเป็นอื่น”},

          {แล้วเหมือนเกิดวูบภาพแทรก, กลายเป็นภาพการปิดล้อมหุบเขาบางแห่งในรัฐไอโอวา ช่วงยุคเพิ่งก่อตั้ง “สหปาลีรัฐ” แห่งนั้น, ภาพนั้นคือสิ่งที่เรียกกันในภายหลังว่า “การลุกขึ้นสู้ใหญ่ที่ ‘ยุทธภูมิ ลิตเติ้ล บิ้ก ฮอร์น’”

          ภาพนั้นพลันเล่าเรื่อง ;

          เล่าว่า - ครั้งนั้นนายพล ‘คัสเตอร์ผมยาว’ (Long Hair Custer) นายทหารลือนามและกองกำลังทหารม้าแห่ง ‘กองทัพแยงกี้’ ตายเกลี้ยง,

          ภายใต้การปลุกระดมจิตวิญญาณชนเผ่า ‘คนป่า’ ผู้ถูกรุกรานโดยหมอผีประจำเผ่าชาวอินเดียนพื้นเมืองผู้ลือนามแห่งทวีปอเมริกาในประวัติศาสตร์โลก -

          หมอผีผมยาวที่ชื่อ ‘พ่อวัวนั่ง’ หรือ ‘ซิตติ้ง บูลล์’ (Sitting Bull) คนนั้น !}

          กล่าวโดยประมวลความ : ผู้บริหารสหปาลีรัฐแห่งนั้นใช้ “อำนาจเป็นธรรม” สั่งฆ่าคนทั้งในประเทศตัวเองและในต่างแผ่นดิน, นับจำนวนชีวิตที่ถูกทำลายโดยเจตนามากที่สุดในโลก (ตั้งแต่เกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ขึ้น บน ‘ดาวสีน้ำเงิน’ แห่งระบบดาราจักรดวงนี้),

          ตั้งแต่เกิดมีสิ่งที่ ‘โฮโมเซเปียนส์’ เรียกว่า “รัฐชาติ” เป็นต้นมา !,

          เพื่อ ‘ปล้น’ (โดยรูปแบบอะไรก็เถอะ !) สิ่งทั้งหลายทั้งปวง – ที่ดูเหมือนบรรพชนที่เป็น ‘ชนชั้นนำทางปัญญา’ หรือ “นักคิด” (The Thinker) แห่งเผ่าพันธุ์ของพวกเขาเชื่อและเน้นย้ำเนื่องต่อกันมาว่า – คือ “ทุน”, ไปกักตุน !, เพื่อบรรลุสู่ ‘เว้ล ออฟ เนชั่น’ ที่เรียกว่า ‘กำไรสูงสุด’ ?

          นั่นเอง - คือแก่นแกนของสิ่งที่นาย อดัม สมิธ วีรบรรพชนของเขาคนหนึ่งเรียกว่า “ไปรเวท พร็อพเพอร์ตี้”,

          ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไทยเรียกขานว่า “ทรัพย์สินเอกชน” อันเป็น ‘สุดยอด’ ของนิยามแห่ง “ความเสรี” และ “ความมีเอกสิทธิ์” อันแสนยั่วยวนยิ่งต่อสัญชาตญาณอยากอย่างดิบของมนุษยชาติ,


          ท้ายสุด, จึงสามารถก่อคำอันเป็นภาพจำยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษ, คือสิ่งที่เรียกว่า “ทุนนิยมบริโภคเสรี” ขึ้น, ดังสำแดงพลังเชิงระบาดเยี่ยงโรคระบาดใหญ่ทั้งหลายประจักษ์ใจประจักษ์ตาในนามแห่ง “โลกาภิวัตน์” (Globalization) อยู่ ณ บัดนี้ !


          (แล้วจึงเกิดภาพซ้อนอีกมาก เช่น - ภาพที่แผ่นดินลาติน, แผ่นดินแอฟริกา, แผ่นดินอาหรับ และเอเชียไมเนอร์ – กระทั่งถูก ‘คนโตตัวเล็ก’ แห่งเอเชียอาคเนย์ที่ชื่อ “เวียด” ภายใต้การนำของนักปลุกจิตวิญญาณชื่อ ‘เหงียน ไห่ คว็อก’ หรือในนามจัดตั้ง “โฮ จิ มินห์” หรือ “ลุงโฮ” (Uncle Ho) ขับไล่จนกระเจิดกระเจิงหนีตายกลับอัสดงคตประเทศแบบทิ้งศพคนหนุ่มสาวที่ถูกหลอกให้มาฆ่าคนในแผ่นดินที่ตนไม่รู้จักอยู่เกลื่อนแผ่นดินแถบลุ่มแม่น้ำแดง !).


          แน่แล้ว
- เป็นเพราะอัสดงคตวิทยาถาโถมทับถมจิตวิญญาณ, สิ่งเห็นจากการสำรอกใหญ่จึงปรากฏ :

          จากปรัชญากรีก, นำโดย – ทาเลส – อแน็กซาคอรัส – อแน็กซิมีดีส - ไพแธกกอเรียน บราเธอร์ฮู้ด – อริสโตเติ้ล – เพลโต – อาร์คิมิดีส – เซโนแห่งเอเลีย – ดิเดโรต์ – เฮโรโดตัส – เดการ์ต - ฌอง ฌากส์ รุสโซ – มาเคียเวลลี - จอห์น สจ๊วต มิลล์ - บาทหลวงบาร์คลีย์ ฯลฯ กระทั่งถึง :

          โทมัส เจฟเฟอร์สัน - ไอแซก นิวตัน - ชาร์ลส์ ดาร์วิน - ฟรีดริช เฮเกล - ลุดวิก ฟอยเออร์บัค – โชเปนฮาวเออร์ - คาร์ล มาร์กซ์ - มาดาม กูรี - ซิกมันด์ ฟรอยด์ - คาร์ล จุง - ฟรานซิส เบคอน - อดัม สมิธ - อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ - เฮอเนสต์ เฮมิงเวย์ - จอห์น สไตน์เบ็ค - จอร์จ ออร์เวลล์ - เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ฯลฯ กระทั่งถึง ฟริตจ้อฟ คาปรา และ เดวิด โบห์ม เป็นอาทิ,


          เพียงคิด - ถ้อยสำรากของเด็กหนุ่มแบบล้านนาร่วมสมัยก็เหมือนจะก่อสำนวนขึ้นในสำนึก, “ฮาใคร่ฮาก - บะเอ้ย !”

          อนึ่ง, เด็กใต้แถบดินแดนลุ่มทะเลสาบสงขลาอาจออกอุทานในสำนึกเดียวกันประมาณว่า – “แย็ด..แม่ม, คันแล้วกูชาดโบ๋วหนัดเหนียน !!”.


          ๓. ฐานแท้ (The real consciousness) หรือ :

          ‘บางท่อนจากคำนำหนังสือวรรณกรรมเยาวชนบางเล่ม’.


          สิ่งจริงก็คือ, มีภาพเช่นนี้ปูทับแน่นลึกเป็นฐานเป็นพื้นไว้ในองคาพยพของร่างกาย ส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพเรียกว่า “คอเท็กซ์”, ในหลายชิ้นของเนื้อสมองส่วนนั้น, เป็นเหมือนหนังหน้าแท้, ไม่ใช่หนังกำพร้าหรือฝุ่นแป้งรองพื้นผิวหน้าที่เป็น ‘สินค้า’ เลียนแบบแพร่พันธุ์มาจากดินแดนทิศตะวันตก ซึ่งผู้คนในรัฐชาติที่ชื่อ “ไทย” ยุคปัจจุบันถูก ‘โปรแกรมเมอร์ลึกลับ’ เจาะกรุยฝังข้อมูลลงไว้ในกะโหลกผ่านทางเครื่องสื่อโฆษณาชวนเชื่อราคาแพงคุณภาพสูงเครดิตดี – ให้หลงเชื่อในประเด็นความมี ‘คุณค่า’ !!

  

          ,,,เรื่องดังกล่าวบันทึกเป็นลายลักษณ์ไว้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕, คือเมื่อไม่นานมานัก...:

          “ย่าข้าพเจ้านั้นเกิดและเติบโตในถิ่นชนบทอันห่างไกล มีเสียงร่ำไห้ของแมลงกลางคืนเป็นดนตรี มีกลิ่นเหงื่อไคลจากการกรำงานหนักในไร่นาเป็นดังน้ำหอมอบร่ำ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่มีอัตชีวประวัติประกอบวีรกรรมอันยิ่งใหญ่บันทึก...

          เพื่อนร่วมวัย ร่วมหมู่บ้าน และร่วมกิจกรรมแห่งชีวิตถ้วนมวลของข้าพเจ้าเมื่อครั้งเป็นเด็กเล็กนั้น ล้วนมีเลือดเนื้อมีเซลล์สมอง และมีเรี่ยวแรงแห่งการออกกำลังเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับตัวข้าพเจ้า, พวกเขาเรียนรู้ที่จะทำว่าว รู้ชื่นชมกับรสอมฝาดอมเปรี้ยวอมหวานของลูกตะขบดงและลูกแสงขัน เช่นเดียวกับที่รู้จักตอบคำถามครูในห้องเรียนเหมือน ๆ กับข้าพเจ้า บางคนในหมู่เขาเหล่านั้น - เก่งกว่าข้าพเจ้าในทุกด้านที่กล่าวด้วยซ้ำ.

          จำได้ว่า, คืนค่ำหนึ่งกลางฤดูนาเมื่อสมัยเป็นเด็กเล็ก, นั่น – เป็นฤดู ‘ทงเบ็ด’ ในท้องทุ่งที่น้ำกำลังเจิ่งกอข้าวที่เริ่ม ‘ตั้งท้อง’ อ่อน – ข้าพเจ้ากับเพื่อนบางคนขดตัวเป็นก้อนกลมอยู่ในขนำนาร้างกลางทุ่งน้ำนั้น !, ฝนเทลงมาเหมือนฟ้ารั่ว – ภารกิจการตรวจดูเบ็ดที่ปักทงไว้แต่หัวค่ำชักนำเราไปติดกับของธรรมชาติอยู่ในสถานที่แห่งนั้น - หนาวสั่นและหิว, คนชราในหมู่บ้านบางคนก็มาตรวจดูเบ็ดของเขาเช่นกัน, เด็ก ๆ ร่วมรุ่นคนอื่นก็มาเช่นกัน พวกเขามาพร้อมกับหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราไม่มี - มาพร้อมกับไม้ขีดไฟที่จ่อโชนฟืนแห้งในขนำนั้นให้ลุกขึ้นไล่ความหนาวชื้นได้, มาพร้อมกับหัวมันบางชนิดที่ฉวยคว้ามาได้ และข้าพเจ้ากับเพื่อนก็ได้รับความอบอุ่นจากกองไฟพร้อมความอิ่มจากหัวมันเผานั้นด้วย !

          เรื่องย่า เรื่องเพื่อนพ้องแห่งหมู่บ้าน ฤดูนา ขนำกลางทุ่งในคืนหนาวและหิว - ที่ล้วนเกี่ยวพันกับข้าพเจ้านั้น เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนัก... แต่นั่น - ข้าพเจ้าก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วและไม่สามารถเรียกให้กลับคืนมาได้อีก ย่าและชายชราของหมู่บ้านที่เคยจุดไฟไล่ความหนาวพร้อมกับมันเผาด้วยมือกร้านหนาให้ข้าพเจ้าได้อิ่มนั้นได้จากพรากไปแล้ว, จากพรากไปด้วยโรคภัยที่ต่างกัน - ร่างกายทรุดโทรมเพราะงานหนักในนา งูกัด และ อหิวาตกโรค, เพื่อนร่วมหมู่บ้านที่จบชั้นประถมปีที่ ๔ มาด้วยกันกว่า ๔๐ คนนั้น บางทีอาจพบเขาอยู่ในไร่นา กรรมกรสร้างทาง คนขับรถรับจ้าง และผู้ก่อการร้าย...”

          (ตัดทอนบางตอนจากส่วน “คำนำ” ในวรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่องเรื่อง “บองหลา” ของ พนม  นันทพฤกษ์ ฉบับจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ ๑ โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ.๒๕๒๕.)

 

          ๔.‘ป่า’ และ ‘ผู้ผ่านทาง’ ( forest and the passer by)

          ไม่แน่ใจว่าจะเป็นบางวลีจาก ‘fiction’ เรื่อง “โรคระบาด” (ลา แพส) “คนนอก” (เล ตร็องเช่) “มนุษย์ ๒ หน้า” (ลา ชู้ท) “ความตายอันแสนสุข” (La mort heureuse) หรือเรื่องอะไรของเขากันแน่ ? - แต่แน่นอนว่า, เป็นอัลแบรต์ กามูส์ – นักเขียนสกุลอัตถิภวนิยม (Existentialism) รางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอัลจีเรียคนนั้นอีกนั่นแหละ, ที่บอกความสำคัญยิ่งไว้ให้เก็บเนื้อหามาได้, ในทำนอง :

 

          “...เป็นเพียงช่องว่างระหว่างการ ‘มา’ และการ ‘ไป’ ไม่รู้มาจากไหน เพียงรู้ว่า ‘มา’ คนเดียว แล้วก็ต้อง ‘ไป’ ในเวลาหนึ่งใด ตามเหตุตามปัจจัย ไปไหนก็ไม่รู้ รู้เพียงว่าต้องไปคนเดียวเช่นกัน,

          ...ระหว่าง “การมา” และ “การไป” นั้น เป็นเพียง “ช่องว่าง” (Blank) ที่ต้อง “เลือก” เอง ว่าจะเติมอะไรลงไป, ...โลก (จึง) เป็นเพียงทัศนียภาพที่แปลกตา (ชั่วคราว)...”.


          เขา ‘รู้สึก’ และจำได้ว่า, สืบ ๆ ต่อมาเมื่อมีสิ่งตกกระทบหัวใจ - ท้าทายการเรียนรู้หลากประการ, แต่ได้หยุดชะงักพิจารณา - อยู่ที่วาทกรรมหนึ่ง, ฟังว่า – เจ้าชายสิทธัตถะแห่งกบิลพัสดุ์ในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีก่อน – ผู้ปฏิบัติตนโดยวิริยะจนค้นพบ ‘ทาง’ ที่เป็นสิ่งเรียกต่อมาว่า ‘หนแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘’ จนก่อเกิดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นขึ้น, และทรงตัดสินพระทัยตรัสพระสุรเสียงก้องดังไปทั้งจักรวาลเพื่อหวังโปรด ‘เวไนยสัตว์’ : “มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ !”.

          ช่างให้ความรู้สึกท้าทายที่ยิ่งใหญ่และเวิ้งว้างกว้างไกลจนยากตัดใจไม่แสวงตาม,

          แล้วจึงเกิดบทร้อยกรองขึ้นขณะเริ่มย่างเท้าบุกเบิกป่าทึบเป็นเรือกสวนแต่เมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน,

 

                                                  “รู้เหตุมาที่นี่

                                                  จึงรู้ผลว่าคือใด

                                                  มาใกล้หรือมาไกล

                                                  ก็รับรู้เพียงตัวเรา...”,

 

          แล้วจึงเกิด : 

 

                                                  “คือเพิงคือปีกไม้

                                                  คือใบไม้ที่ห่มมุง

                                                  ดินเผาเอามาปรุง

                                                  มาปูพื้นเพื่อแทนพรม

                                                  ไม้ไผ่ที่ขัดสาน

                                                  ใช้กั้นฝาเพื่อกันลม

                                                  ปลูกไม้ไว้กลืนกลม

                                                  เพื่อไว้พักไว้พิงใจ...”

 

          จึงลงมือ ‘ปลูกต้นไม้...’

          จนกว่าสามสิบปีให้หลัง - จึงเริ่มปรากฏเห็นป่า ๓ ชั้น !

          ตกแต่งลำห้วยร้างเพื่อเก็บกักเม็ดน้ำจากแผ่นฟ้าสูงไว้แบ่งปันแก่ไม้ไหล้ใหญ่น้อยยามเมื่อแล้ง,

          จึงได้พืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล และสำคัญกว่านั้น, ได้เห็น ‘การเชื่อมโยง’,

          ‘การเชื่อมโยง’ อันก่อเกิดการบูรณะสติให้ก่อเกิด ‘ปัญญาความคิด’ ที่ซุกตัวซ่อนนิ่งอยู่ใน ‘จิต’ – ตามกระบวนการเรียนรู้จาก ‘ทาง’ ที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงพบ,

          คือสุตมยปัญญา (ปัญญาที่ได้จากการรับรู้) , จินตามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการคิด) , ภาวนามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ)” .

 

          หลอมรวมขึ้นเป็น ‘ความงาม’ - ดังภาพบัวแดงที่บานดอกอยู่เหนือคุ้งน้ำลำห้วยร้าง, ที่เขาพลันเพ่งพบในเช้าหนึ่งนั้น !

 

          ๕. ทาง (The way of Dharma)

 

          เพราะ ‘สิ่ง’ ล้วนดำรงอยู่ในกฏแห่ง ‘ปฏิภาวะ’, ‘สิ่ง’ จึง ‘ต้อง’ เคลื่อนเปลี่ยน” บรมครูจากอัสดงคตประเทศชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl  Marx) กล่าวถึง ‘ภาวะดำรง’ (Exist) ของสิ่งปวงในจักรวาลไว้ในหลักการอันยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในนาม “วัตถุนิยมวิภาษ” (Dialectical Materialism) สรุปได้เช่นนั้น,

          หรือโดยลึกแล้ว – เขาเพียงอยากบอกแก่บางใครถึงเรื่องการพ้นไปจากกฏแห่ง ‘ปฏิภาวะ’ ของ ‘มนุษย์’ (สิ่งชีวิตที่มี ‘การเรียนรู้’ เป็นลักษณะจำเพาะ) ? คือจากภาวะการมี ‘ด้านตรงข้าม’ ดำรง ไปสู่ภาวะเดิมแท้แห่ง ‘ความไร้ด้าน’ ?

 

          ดังเช่น ตัวละครสำคัญในเรื่องแต่งที่ส่งให้นักเขียนชาวเยอรมันชื่อ เฮอร์มานน์ เฮสเส ได้รับรางวัลโนเบลที่ชื่อ “สิทธารถะ” ก็อาจเป็นช่องชี้ให้บางใครที่รับสารด้วย ‘ปัญญา’ เห็นถึง ‘สัญญะ’ แห่ง ‘ป่าประดู่ลาย’ ในยุคพุทธกาลชัดเจนขึ้น และอาจช่วยส่องชี้ ‘ทางธรรม’ จากใบประดู่ลายอันมีอยู่เต็มป่านั้น ว่าหาได้มีอยู่เพียงในอุ้งหัตถ์ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นแต่เพียงพระองค์เดียวไม่,


          ‘วาสุเทพ’ ‘กัลยาณมิตร’ ของ ‘สิทธารถะ’ ในเรื่องแต่งนั้น เพียงมอบเรือมอบแจวให้เท่านั้น, การแจวเรือเพื่อรับส่ง ‘ตัวตน’ และ ‘สัตว์โลก’ ข้ามฟาก, เป็นการลงมือปฏิบัติจริงโดย ‘ตัวตน’ ของ ‘สิทธารถะ’ เอง – มิใช่หรือ ?


          และเช่นกัน, ทำไมพระญวนนิกายมหายานรูปที่ชื่อ ‘ติช นัท ฮันห์’ แห่งสวนพลัม จึงพลันกล่าววาทะ : “ทางกลับคือการเดินทางต่อ” ?


          แล้วภาพเชิงประจักษ์ใน ‘วาบรู้สึก’ เรื่อง ‘บัวแดงบาน ณ คุ้งห้วยร้าง’ ของเขาล่ะ ?


          หรือแม้มนุษย์จะมี ‘การเรียนรู้’ เป็นสิ่งประเสริฐสุดที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้มาแต่เดิมแท้ แต่หากขาดการเรียนรู้ที่จะ ‘จัดการ’ เพื่อสร้างกระบวนการ ‘บูรณะเชื่อมโยงสติ’ – พลังแห่งปัญญาของพวกเขาก็จะบิ่นแหว่ง ?,


          จึง ‘ท า ง’ ที่คือ ‘ทางธรรม’ ‘ทางไท’ หรือ ‘ทางแท้’ ก็เป็นได้เพียง “ปฏิมา” (The Image) !?


————-

**บันทึกเสร็จในเช้าแดดส่อง - กลางฤดูฝน, ๒๕๖๓.

 

                                    ..................................................................

 

 

Link ที่เกี่ยวข้อง      

 

 

           “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี”  

  

           วรรณกรรมออนไลน์