เรื่องสั้น : เห็บ : กมุ หอมภูผกา

เรื่องสั้น : เห็บ : กมุ หอมภูผกา

 

            หลังมื้อเที่ยง ช่างฉิชะเอนหลังให้อาหารย่อยบนเปลใต้ร่มมะม่วงหน้าร้าน นานทีจะมองฝ่าเปลวแดดบ่ายออกไปบนถนนคอนกรีตที่ถูกแดดร้อนระอุเผาเป็นประกายแสบตา เขาเห็นยายเถาะหมี่เดินผ่านหน้าร้านขยับปากบ่นอะไรไม่ได้ยินจึงร้องทักออกไป

            “บ่นอะไรเล่ายาย มา มานั่งพักก่อน ร้อนอย่างนี้ทำไมไม่อยู่บ้าน”

            ยายเถาะหมี่หันหาเสียง เดินมานั่งลงบนม้าไม้ใต้ร่มมะม่วง โบกมือไล่ความร้อนแล้วบ่นต่อไป “อะไรจะร้อนอย่างงี้ล่ะก็ไม่รู้ ร้อนจนหน้าจะลุกเป็นไฟ”

            ช่างฉิชะกระดกหัวขึ้น “หน้าร้อนก็ร้อนล่ะสิยาย”

            “มันก็ไม่เคยจะร้อนอย่างงี้หรอกว่ะ” ยายเถาะหมี่ปาดเหงื่อบนใบหน้าเหี่ยวย่น “ไม่เคยจะร้อนอย่างนี้หรอก นี่มันจะฆ่ากันชัด ๆ เลย”

            “ก็ทำไมไม่อยู่บ้านเล่า” ช่างฉิชะลุกขึ้นนั่งห้อยขาออกนอกเปล

            “อีเฮาะอาน่ะสิ เมื่อวานมันว่าไปหาแหย่มดแดง มาวันนี้หน้ามืดลุกไม่ได้เลย ว่าผีจับขวัญ แล้วก็เลยใช้กูทำพิธีเรียกขวัญให้ ผีตัวไหนจะจับขวัญมันล่ะ เลือดลมไม่ดีสิไม่ว่า ร้อนจะตายห่า ไปก้ม ๆ เงย ๆ กลางแดด มันก็หน้ามืดแหละว่ะ” ยายเถาะหมี่มองข้ามเปลวแดดไปที่ต้นมะรุมอีกฟากถนน กำลังแตกยอดอ่อน ๆ แล้วนึกอะไรขึ้นได้ “แต่ไอ้อาการหน้ามืดนี่ มะรุมแก้ได้นะ กูก็ใช้มันนี่แหละ อาการหน้ามืดถึงดีขึ้น”

            “จะต้องไปทำอะไรถึงกับหน้ามืดนั่น” ช่างฉิชะแหย่

            “คนเรามันก็ต้องมีเจ็บมีป่วยกันบ้างทั้งนั้นแหละ รึมึงไม่เคย” ยายเถาะหมี่ถลึงตา

            ช่างฉิชะหัวเราะแล้วกระโดดลงจากเปล หายเข้าไปหลังร้าน กลับออกมาพร้อมขันน้ำสแตนเลสในมือ “ดื่มน้ำก่อนสิยาย อารมณ์จะได้ดีขึ้น” วางขันน้ำไว้ให้ยายเถาะหมี่แล้วขึ้นเปล ห้อยขาแกว่งขึ้นลงด้วยอารมณ์ดี

            “หน้ามืดนี่นะคั้นใบมะรุมกินเถอะ ช่วยได้” ยายเถาะหมี่อยากเล่าเรื่องมะรุมแก้หน้ามืด “กูเคยมาแล้วถึงพูดได้ ทำไมกูจะไม่รู้ อีตอนนั้นกูแทบตาย ถ้าเกิดเข้าดงเข้าป่าไปล่ะคงคิดว่าผีจับขวัญเหมือนกันกระมัง แต่กูไปหาหมอหรอก หมอทำกูเกือบตาย”

            “ทำไมเป็นอย่างงั้นยาย”

            “ก็หมอมันจะฆ่ากูน่ะสิ” ยายเถาะหมี่ชักสีหน้าโกรธแค้น “กูปวดจี๊ด ๆ ในหูข้างซ้ายมาหลายวันแล้ว แรก ๆ มันก็ปวดนิด ๆ นะ แต่พอหลายวันเข้าชักจะทนไม่ไหว เลยใช้เขาเอาไฟฉายส่องไปในหูถึงเจอเห็บตัวเบ้อเร่อ นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อนล่ะก็ใช้น้ำยาสูบกรอกลงไปไม่นานมันก็เมาแล้วก็ตาย แต่หลานพาตะเกลาะบอกให้กูไปหาหมอ มันพูดว่า ไปหาหมอสิยาย แล้วก็ลากกูขึ้นมอเตอร์ไซค์ นี่ ไอ้ที่ว่าวิธีการสมัยใหม่มันดีกว่านี่ ถุย” ยายเถาะหมี่ถ่มน้ำลายลงพื้น ยกขันขึ้นดื่มน้ำ “พอรู้ว่าในหูกูมีเห็บเท่านั้นแหละ หยิบอะไรสักอย่างแหย่เข้าไปในหูพ่นลมฟู่ออกมาเต็มแรง ชิบหาย เย็นวาบไปถึงส้นตีน หน้ามืดสิ ล้มตึงเลย มันให้ยาสักอย่างแล้วปล่อยกลับบ้าน ยาห่าของมันช่วยอะไรได้ ถึงบ้านลุกไม่ได้เลย บ้านหมุนไปทั้งหลัง ต้องนอนอยู่กับที่เหมือนคนเป็นอัมพาต”

            “หนักเลยนั่นน่ะยาย”

            “ก็กูคิดว่ากูตายแน่เหมือนกัน กูนึกขึ้นได้ว่า โบราณเขาว่าใบมะรุมคั้นน้ำช่วยได้ จึงวานไอ้หลานโง่พาตะเกลาะนั่นแหละหาใบมะรุมมาคั้นน้ำดื่ม ดื่มเช้าดื่มเย็น ดื่มมันทุกวัน อาการจึงค่อยยังชั่ว กลับมาเดินเหินได้อีกครั้ง”

            “เออ แล้วมึงคิดว่าไอ้เห็บเจ้ากรรมนายเวรตัวนั้นมันไปไหน ตอนที่เขาเอาลมพ่นเข้าไปในหูของกูนี่ มึงคิดว่ามันจะไปไหน กูก็ลืมไปเหมือนกันนะ ห่วงแต่ไอ้อาการหน้ามืดนั่นน่ะ พออาการดีขึ้น เดินนั่งได้บ้างแล้ว เช้า ๆ กูจะไปนั่งตากแดดอยู่หน้าบ้าน แล้วก็เลยนึกทบทวนไปถึงไอ้เห็บเจ้ากรรมนายเวรของกูขึ้นมา คิดว่า เอ่อหว่า มันไปอยู่เสียที่ไหนหนอ คิดแล้วก็เอานิ้วแหย่เข้าไปในหู แล้วก็มาลูบ ๆ คลำ ๆ ที่ใบหน้า ที่คางและก็ที่คอตัวเอง เอ รึมันหลุดออกมาแล้วกระมัง มันเจอลมพ่นเข้าไปเสียเต็มที่คงปลิวหายตายห่าไปแล้วแหละ ประสาอะไรกับมัน กูก็เกือบตาย ก็เลยลืม ๆ ไป ผ่านมาอีกเป็นอาทิตย์ อาทิตย์หนึ่งล่ะ หลังจากแข็งแรงดีแล้ว ไอ้หลานรักทั้งหลายก็แห่เอาลูก ๆ มันมาให้กูช่วยเลี้ยงเต็มบ้าน สาย ๆ หน่อยพวกลูกลิงมันก็ไถเงินกูแล้ว ร้องจะไปซื้อขนม คลอเคลียกับหน้ากับคอกูไม่ไปไหนจนกว่าจะได้สมใจ หนัก ๆ มันก็เล่นดึงหน้า ดึงผม ถลกหนัง บั่นคอสารพัด แล้วก็ร้องขึ้นมา ทวดเก็บลูกอมไว้ที่คอ พวกเรามาดูสิ ทวดเก็บลูกอมไว้ที่คอ พากันรุมทึ้งหนังคอกูจวนจะฉีก ถ้าพวกมึงไม่หยุดกูจะฟาดเรียงตัว นั่นแหละ จึงค่อยสงบลงได้สักนาทีสองนาที กูเลยลองคลำ ๆ ดูคอตัวเอง มีลูกอมจริง ๆ แฮะ ลูกอมมาอยู่ได้ยังไงวะ แปลกจริง แต่เอ๊ะ ทำไมลูกอมถึงมีขาได้นั่น ใช่ มีขาจริง ๆ ด้วย ตายโหงตายห่า มันอยู่กับคอกูนี่แหละ ใต้หนังคอกูนี่” ยายเถาะหมี่ชี้ไปที่คอตัวเอง

            “เป็นไปได้ยังไง” ช่างฉิชะไม่เชื่อ

            “ตรงนี้แหละ” ยายเถาะหมี่จิ้มที่ตำแหน่งนั้น “ไม่รู้ทำไงเหมือนกัน ก็ใช้เวลาเช้า ๆ ตอนอาบแดดอุ่น ๆ นี่แหละค่อยบีบเสือกมันขึ้นมาทีละนิด ๆ ไม่ใช่ง่าย ๆ นะ ใช้นิ้วบีบคลึงแล้วก็เสือกมันขึ้นมานี่ เกือบเดือนโน่นหว่ากว่าจะพ้นคอ เอาล่ะทีนี้ กูปวดหูอีกแล้ว ปวดจี๊ดเลย แต่กูไม่ไปหาหมอแล้วนะ กูไปอีกรอบกูตายแน่”

            “แล้วยายทำยังไงนั่น”

            “พอดีวันนั้นอีซูคีมันมาที่บ้าน มาใช้งานกูแหละ ว่ามะรืนไปผูกแขนรับขวัญลูกชายคนโตให้หน่อย เพิ่งออกจากโรงบาล ผ่าตัดไส้ติ่งไง กูเลยว่า เอ่อ เอ่อ มาก็ดีแล้ว นี่มึงเอาไฟฉายส่องลงไปในหูกูที ดูสิว่ามีอะไรไหม หูยายเป็นอะไรอีกล่ะ ในหูก็ต้องมีขี้หูสิ จะมีอะไรเล่า พอมันดูเสร็จก็เงียบไป ไหนขอดูอีกทีสิ จะดูกี่ทีก็ดูเถอะ กูบอกมัน จากนั้นมันถามเสียงสั่น ๆ ยายยังได้ยินไหม เอ่อนั่น มันถามกูอย่างนั้นน่ะ ขนลุกซู่ ๆ แน่ะ เห็บตัวเท่าหัวนิ้วโป้งอยู่ในหูยาย แล้วก็ลุกพรวดออกจากบ้านไปเลย กูก็ว่ามันจะรีบไปไหนวะ ถ้ามันเจอไอ้เห็บเจ้ากรรมนายเวรนั่นเข้าจริง ๆ ก็จะให้มันช่วยเอาออกให้หน่อย แต่สักพักมันกลับมาใหม่ รอบนี้พาอีชิบอลูกสาวมันมาด้วย เดี๋ยวจะให้อีชิบอเอามันออกให้ แล้วชูแหนบในมือขึ้นมา ฉันไม่เอาด้วยหรอก กลัว แล้วยื่นแหนบให้ลูก อีชิบอมันไม่กลัว มันว่า หนูเห็นแล้วล่ะ ดำ ๆ เขียว ๆ เต่ง ๆ นั่นใช่ไหมจ๊ะยาย มันค่อย ๆ เอาแหนบสอดเข้าไป พอจิกได้แล้วก็ดึง ติดหนึบเลย อีชิบอดึงไม่รู้กี่ทีกว่าจะหลุดออกมาได้ มึงเอ้ย จังหวะที่มันหลุดออกมานี่ กูคิดว่าฟ้าถล่ม เสียงดังลั่นเหมือนคนเอาปืนมาจ่อยิงข้างหู หูอื้อไปตั้งหลายชั่วโมง มันถูกแหนบจิกจนแตก เลือดสด ๆ พุ่งออกมาเหมือนท่อประปาแตกยังไงยังงั้น ตอนอีชิบอกระชากมันออกมานะปากมันงับเนื้อในหูกูติดออกมาด้วยก้อนเบ้อเร่อ”

            “หวาดเสียวแทนเลย” ช่างฉิชะขนลุก

            “เจ็บมากกว่าว่ะ”

            ช่างฉิชะมองไปทางถนน เห็นเด็ก ๆ เดินมาเป็นโขยง

            “เหลนมาตามแล้วนั่น”

            เมื่อเห็นยายทวด เหลนคนโตก็ป้องปากตะโกนเรียก “ท...ว...ด มีคนมาหา ตอนนี้รออยู่บ้าน บอกว่าจะให้ทวดทำน้ำมนต์แก้อาหารเป็นพิษให้ ขอให้ทวดรีบกลับเดี๋ยวนี้เลย”

            “เออ วัน ๆ หนึ่งนี่กูไม่ต้องได้พักได้ผ่อนบ้างหรอก หมอก็มีไม่รู้จักไปหา ใช้แต่กูนี่ แล้วจะมีหมอไว้ทำไมก็ไม่รู้” ยายเถาะหมี่เดินออกจากร้านแล้วก็ยังบ่นกระปอดกระแปดต่อไป ช่างฉิชะมองตามหลังยายทวดและเหลน ๆ ที่เดินตามกันไปเป็นพรวนบนถนนคอนกรีตกลางแดดร้อนระอุ ทั้งหมดค่อย ๆ หลอมละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกันกับเปลวแดดบ่ายเต้นไหวระริก

 

                                    .........................................................................

 

 

Link ที่เกี่ยวข้อง  

 

          “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี”  

  

           วรรณกรรมออนไลน์