เรื่องสั้น : ความผิดปกติ : ศิริพงศ์ หนูแก้ว

เรื่องสั้น : ความผิดปกติ : ศิริพงศ์ หนูแก้ว

 

            เรื่องเมื่อคืนมีอยู่ว่า...

            มีคนร้ายมายังสถานที่ที่ฉันอยู่ จากนั้นมันก็ระเบิดที่นั่น ฉากต่อไปก็กลายเป็นทะเล ฉันขี่สปีดโบต คนร้ายทั้งสองที่ตอนนี้กลายเป็นเพื่อนฉัน คนหนึ่งนั่งข้างหลัง จับบางสิ่งที่เป็นสาย ๆ ตรงสปีดโบต อีกคนที่อ้วน ๆ ตามมาไม่ทัน โดนน้ำทะเลพัดเข้าไปใต้กระท่อมมืด ๆ มีป้ายเขียนว่าอะไรสักอย่าง ดูน่ากลัว ฉันแอบมอง เห็นหัวกะโหลก ไม่ก็คงเป็นหัวโขน ข้างในมืดมาก ฉันเห็นศาลพระภูมิอยู่ในกระท่อม พยายามไม่มองมัน

            ฉากต่อไปฉันกับเพื่อนอยู่ในจังหวัดอะไรสักอย่าง ที่ตอนนั้นน้ำท่วม มีวัด มีพระพุทธรูป มีคนอยู่ 3 - 4 คน เพื่อนฉันถามผู้ชายคนหนึ่งว่าสถานที่นี้อยู่ที่ไหน (ฉันจำไม่ได้ว่าเพื่อนถามชื่อสถานที่ว่าอะไร) แล้วก็มีพี่ผู้หญิงมาไหว้พระ พูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับป.1 (น่าจะเป็นเพราะในใจฉัน ยังมีความเป็นเด็กป.1)

            จากนั้นฉากก็เปลี่ยนเป็นโรงเรียน ฉันกับเพื่อนเข้าไปข้างใน ตอนนั้นกำลังจะกลับบ้าน ฉันกับเพื่อนต้องไปยังที่ที่เพื่อนฉันถามผู้ชายคนนั้นเพื่อไปแก้ไขอะไรบางอย่าง (จำไม่ได้) แต่พ่อก็มารับก่อน พ่อฉันหน้าดูเครียดๆ ฉันบอกพ่อว่า หนูไม่ได้อยู่โรงเรียนทั้งวันเลย พ่อตอบกลับว่า พ่อรู้ว่าลูกไปต่อว่าเขาว่าไม่รู้เรื่อง ฉันก็บอกพ่อว่าหนูไม่ได้ว่าอะไร จากนั้นมันก็จบ เพื่อนไปสถานที่นั้นคนเดียว ส่วนคนอ้วนหายไปอย่างลึกลับ

            เขายิ้ม หลังจากอ่านข้อความในไลน์จบ นึกถึงเด็กหญิงผอมสูง ใบหน้ารูปไข่ ชอบปล่อยผมยาวเกือบถึงกลางหลัง เธอเพิ่งจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประจำจังหวัดเมื่อไม่กี่วันนี่เอง โดยช่วงเรียนอยู่ชั้นป.4 เธอและเพื่อน ๆ ได้ไปโรงเรียนแค่ภาคเรียนแรก จากนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกเลยตลอดปีการศึกษาถัดมา ทุกคนต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ นั่นเป็นเพราะโรคระบาด จนกระทั่งขึ้นชั้นป.6 ถึงได้กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนแบบปกติ เด็กๆ ได้กลับมาเจอกันในปีสุดท้าย และเรื่องของเด็กหญิงกับความผิดปกติก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

 

            สามเดือนก่อนจบชั้นประถม 6

            “เมื่อกี้ครูโทร. มาบอก ปลายไม่เข้าเรียนวิชาสุขศึกษา แกแอบไปอยู่ในห้องน้ำ”

            “ทำไมล่ะ”

            “ไม่รู้ ครูเรียกถามแล้ว แต่แกไม่ยอมบอก”

            “รอกลับบ้านค่อยถาม”

            “แต่แม่กังวล”

            “กังวลอะไร แค่เด็กโดดเรียนวิชาหนึ่ง”

            “ครูบอกให้พาเด็กไปหาหมอ”

            เขาจำได้ วันนั้นฝนตกตั้งแต่เช้า ม่านขาวเทามัวปกคลุมหอนาฬิกา เขาเลี้ยวซ้ายตรงวงเวียน ซ้ายมือเป็นอาคารไม้เก่าแก่สามชั้นหลังสีเขียวอ่อน มันถูกกาลเวลากัดกร่อนจนสีหลุดล่อนเปลือยเนื้อไม้ ขวามือเป็นท่าน้ำขนาดใหญ่ที่ผู้คนกำลังพลุกพล่าน เรือข้ามฟากลอยอยู่กลางม่านฝน ขณะที่เรือด่วนติดธงสีเหลืองพุ่งออกไปฉีกสายน้ำแหวกเป็นทาง มุ่งไปบนเจ้าพระยาสีขุ่น, หลังกินมื้อเที่ยงที่ทำงานเสร็จ เขาลากเมาส์ไปแตะที่ปุ่ม LINE พอมันเด้งขึ้นมาก็พบข้อความแม่ของเด็กหญิงส่งเข้ามาหลายข้อความ ตอนแรกเขาเองไม่ได้รู้สึกกังวลใจอะไร แต่พอรู้ว่าช่วงที่ครูประจำชั้นเรียกเด็กหญิงไปถามต่อหน้าเพื่อน ๆ ไม่เพียงเธอไม่ตอบเท่านั้น แต่ยังจิกเล็บลงในเนื้อบนท่อนแขน ขณะที่ใบหน้าเหม่อลอย จ้องไปที่เพดานห้องเรียน ด้วยความที่สงสาร และกลัวเด็กจะทำร้ายตัวเอง ครูจึงหยุดถามเซ้าซี้ รู้คำตอบเพียงที่เด็กบอกว่าไม่อยากเข้าเรียนเพราะรายงานที่ครูประจำวิชาสั่งไว้ยังทำไม่เสร็จ เธอยังไม่พร้อมที่ต้องออกไปพูดคนเดียวหน้าชั้นเรียน

            “ครูยังบอกว่าปลายชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว”

            “เวลาอยู่ในห้องเรียนน่ะเหรอ”

            “ใช่ ครูเล่าว่าเด็กไม่ค่อยคุยกับเพื่อน ไม่ชอบเล่นกับเพื่อนด้วย”

            “แล้วก็...”

            “แล้วก็อะไร”

            “ครูย้ำว่าให้พาไปหาหมอ กลัวเด็กเป็นโรคซึมเศร้า”

            “ปลายน่ะเหรอเป็นโรคซึมเศร้า”

            เขาพยายามสงบสติอารมณ์ นึกถึงใบหน้า รอยยิ้ม เสียงหัวเราะของเด็กหญิง ความร่าเริงสดใส แววตามีความสุขหลังเข้าไปร้องเพลงในห้องน้ำนานนับชั่วโมง ยิ่งทำให้อยากรู้ถึงความผิดปกติ เขาลองย้อนนึกไปถึงตั้งแต่ตอนที่เด็กเริ่มเข้าเรียนที่นี่ ไล่ไปถึงครูประจำชั้นทุกคน ครูสาววัยรุ่นผู้ทันยุคสมัย ครูอาวุโสใกล้เกษียณ ครูผู้ชายที่รักสวยรักงาม รวมทั้งครูรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ ตลอดห้าปีที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเรื่องอย่างวันนี้มาก่อน บรรดาครูเหล่านั้นไม่เคยโทรศัพท์หรือส่งข้อความสื่อสารใดมาบอกถึงพฤติกรรม ความผิดปกติอันแปลกประหลาดของเด็กแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งตลอดเวลาที่อยู่บ้าน สิ่งที่เด็กหญิงมักทำประจำจนติดเป็นนิสัยคือชอบพูดคุยหยอกล้อแม่กับพ่อ จากนั้นจะถามถึงหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อหยั่งเชิงพ่อได้ดูไปมากน้อยแค่ไหนในช่วงวันหยุด และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยทุกครั้ง เธอจะถามแม่ถึงศิลปินเพลงต่างประเทศในยุคซิกซ์ตี้ ขบวนการฮิปปี้ รวมทั้งหนังสือและภาพยนตร์ที่เธอชอบดูตั้งแต่วัยย่างเข้าสามขวบ

            “วันนี้ครูปล่อยลงมาข้างล่าง” เด็กหญิงพูด

            “อืม แล้วปกติช่วงพักกลางวันหรือเวลาว่าง ครูไม่ปล่อยลงมาเหรอลูก” เขาถาม

            “ไม่พ่อ ครูให้นั่งอยู่แต่ในห้องที่ชั้นสาม”

            “อ๋อ คงป้องกันโรคระบาด” เขาคาดเดาคำสั่งครู

            “แต่วันนี้ครูปล่อยลงมาเล่นข้างล่างได้”

            “แล้วหนูเล่นอะไรกับเพื่อน”

            “เปล่า หนูถอดรองเท้า นั่งอ่านหนังสือในลานอเนกประสงค์”

            “นั่งเล่นที่ลานอเนกประสงค์ ต้องถอดรองเท้าด้วยเหรอลูก”

            “เปล่าพ่อ หนูอยากทำอย่างพวกฮิปปี้”

            นั่นเป็นเหตุการณ์ในเย็นวันหนึ่งขณะเขาไปรับเด็กหญิงกลับจากโรงเรียน วันนั้นอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน นอกจากเรื่องเดินเท้าเปล่าแล้ว ระหว่างอยู่บนรถ เด็กหญิงยังเล่าให้เขาฟังว่าเธอรู้สึกประทับใจ จิมมี เฮนดริกซ์ ที่นำ The Star-Spangled Banner เพลงประจำชาติสหรัฐอเมริกาไปเล่นบนเวที Woodstock ซึ่งนั่นทำให้เธออยากไปเที่ยวเทศกาลดนตรีของเหล่าบุปผาชน ทั้งยังเก็บเอาความประทับใจนี้ไปเขียนเป็นรายงานวาดรูปประกอบส่งครูวิชาภาษาอังกฤษด้วย

            อย่างไรก็ตามในเย็นของวันเกิดเหตุ ขณะกำลังพากันกลับบ้าน เขาสังเกตเห็นว่าเด็กหญิงคุยน้อยกว่าทุกวัน แต่ไม่ได้ดูซึมเศร้า กลับเป็นเขาเองที่รู้สึกเครียด วิตกกังวล อยากจะถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องหักห้ามใจอดทนไม่พลั้งปากพูดอะไรออกไป เพราะนอกจากต้องรอคุยกันต่อหน้าแม่ของเธอด้วยแล้ว เขาอยากให้บรรยากาศภายในรถเป็นเช่นทุกวัน ให้เด็กหญิงขอโทรศัพท์มือถือไปเลือกเพลงในยูทูบ ซึ่งแน่นอนว่าเธอจะเลือกฟังเพลงฝรั่งไล่ย้อนไปตั้งแต่ยุค 60 เรื่อยมาถึงยุค 90 เขาตามใจเธอว่าจะเลือกฟังเพลงของใคร แนวไหนก็ได้ เพราะเชื่อว่ามันทำให้เด็กผ่อนคลายหลังจากเรียนมาทั้งวัน

            “วันนี้ครูบอกแม่ว่าหนูไม่เข้าเรียนวิชาสุขศึกษา จริงไหมลูก” เขาเริ่มถาม หลังกลับถึงบ้าน

            “อืม” เด็กหญิงตอบ พร้อมพยักหน้ารับ

            “ทำไมล่ะลูก มีอะไรบอกพ่อกับแม่ได้ไหม”

            “หนูกลัว ครูให้ออกไปยืนรายงานหน้าห้อง”

            “กลัวอะไรลูก ออกไปพูดหน้าห้อง ร้องเพลงโพสต์ลงเฟซบุ๊ก หนูยังเคยทำมาแล้ว” แม่เด็กหญิงเสริมขึ้น

            “หนูยังทำรายงานไม่เสร็จ”

            “อ๋อ แล้วครูน้ำหวานเรียกหนูไปถามไหม” เขาพูด พยายามคุมสีหน้าและน้ำเสียง

            “เรียก” เด็กหญิงตอบสั้นแต่ไม่ห้วน พร้อมพยักหน้ารับอีกครั้ง

            “แล้วหนูบอกครูว่าไง”

            “หนูยังทำรายงานไม่เสร็จ กลัวโดนตี”

            เขาหันมามองหน้าสบตากับแม่ของเด็กหญิง นึกถึงเหตุการณ์ขณะที่เด็กถูกครูเรียกไปคาดคั้นต่อหน้าเพื่อน ๆ ในห้อง ภาพของเด็กหญิงผอมสูง พูดน้อย เสียงเบาอยู่ในลำคอ ต้องยืนเผชิญหน้ากับครูที่ดุทั้งน้ำเสียงและสีหน้าแววตา ซึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาสอนปีแรก และประเดิมด้วยการเป็นครูประจำชั้นของปลาย เขาเห็นภาพหน้าห้องอย่างแจ่มชัด คำถามผุดขึ้นในหัวมากมาย ความรู้สึกโกรธเด็กหญิงหายไป กลับกลายเป็นความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ พร้อมความสงสัยว่าทำไมต้องให้พาเด็กไปหาหมอ

            “สวัสดีครับ ครูน้ำหวานรึเปล่าครับ” เขาตัดสินใจโทร. หาครู

            “ใช่ค่ะ”

            “วันนี้เด็กไม่เข้าเรียนวิชาหนึ่งใช่ไหมครับ”

            “อ๋อ คุณพ่อของน้องนั่นเอง”

            “เด็กบอกเหตุผลครูว่ายังไงครับ”

            “แล้วน้องบอกคุณพ่อว่าไงคะ”

            “แกบอกว่ายังทำรายงาน ทำการบ้านไม่เสร็จ กลัวโดนเรียกไปรายงานหน้าห้องครับ”

            “แล้วยังไงอีกคะ”

            “เด็กบอกเท่านั้นแหละครับ กลัวโดนตี”

            “ค่ะ ครูเรียกมาถาม น้องก็ตอบแบบนั้น แต่น้องดูเครียดมากค่ะ”

            “อืม ครับ”

            “น้องกดเล็บลงบนแขนตัวเองด้วยค่ะ”

            “เด็กแค่ใช้มือบีบแขนครับ ผมถามแล้ว”

            “นั่นแหละค่ะ แล้วก็ยืนเหม่อลอย เงยหน้าตลอด”

            “ครับ เด็กคงไม่อยากมองหน้าครู กลัวโดนดุ” เขาตอบ โดยพยายามควบคุมน้ำเสียงไม่ให้ฟังดูเหมือนประชดแดกดัน ทั้งเกือบจะหลุดถามออกไปว่าทำไมเรียกเด็กไปถามต่อหน้าเพื่อน ๆ ในห้อง เรื่องแบบนี้ครูควรคิดได้ว่าคุยกับเด็กส่วนตัวน่าจะดีกว่า และไม่ทันที่เขาจะพูดอะไรต่อ เสียงปลายสายก็ดังสวนขึ้น

            “คุณพ่อควรพาน้องไปหาหมอนะคะ”

            “เอาไว้ให้ครูสะดวกแล้วค่อยคุยกันใหม่นะครับ” เขาชิงตัดบท เพราะต้องทนกับเสียงอึกทึกที่ดังลอดเข้ามาในสายเกือบจะตลอดเวลา คิดว่าครูคงอยู่ในงานเลี้ยงที่ไหนสักแห่งของช่วงเย็นวันศุกร์

            “งั้นครูจะโทร. กลับไปอีกสักสองชั่วโมงนะคะ !” ปลายสายกรอกเสียงกลับมาเหมือนตะโกน

            นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาคุยโทรศัพท์กับครู ไม่สิ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนกว่านั้นก็คือ เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาพูดกับครูประจำชั้นของเด็กหญิง เพราะหลังจากสองชั่วโมงผ่านไป เขาก็ไม่รับสายที่โทร. เข้ามาช่วงสองทุ่มกว่า คืนนั้นเขาเริ่มเข้าใจใหม่ว่าอาจไม่ใช่เพราะความสงสารที่ครูเลิกเซ้าซี้ถามเด็กหน้าห้องเรียนวันนั้น แต่เขาก็ยังไม่แน่ใจว่าได้พบถึงความผิดปกติแล้วหรือไม่

            “ทำไมหนูไม่คุยกับเพื่อนล่ะลูก”

            “คุยสิพ่อ ทำไมหนูจะไม่คุยล่ะ”

            “ครูบอกว่าหนูไม่ค่อยคุยกับเพื่อน”

            “ครูรู้ได้ไง ครูไม่ค่อยอยู่ห้อง”

            “แล้วครูไปไหน ไม่เข้าสอนเหรอ”

            “ครูเค้าให้ครูคนอื่นมาสอนแทน บางวันก็ไม่มา บางทีก็ไปอยู่ในห้องที่สอนทำอาหาร”

            “ครูยังบอกว่าหนูไม่ชอบเล่นกับเพื่อนด้วย”

            “เพื่อนชอบเล่นล้อชื่อพ่อแม่กัน หนูไม่ชอบ หนูสงสารคนที่ถูกล้อ”

            “อ้อ แต่หนูก็ต้องเล่นกับเพื่อนบ้างนะ เราอยู่คนเดียวไม่ได้”

            “ได้สิ หนูก็นั่งอ่านหนังสือของหนูไปคนเดียวเงียบ ๆ”

            เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อแม่ของเด็กหญิงพยายามถามเพื่อนที่เป็นครูสอนอยู่ต่างจังหวัด รวมทั้งเพื่อนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็ก, หล่อนเล่าถึงพฤติกรรมของลูกสาว รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าควรจะทำอย่างไร จะพาเด็กไปหาหมอตามที่ครูแนะนำหรือไม่ สุดท้ายคำตอบที่ได้รับจากเพื่อน ๆ นั้นเห็นตรงกันคือ ปลายอาจมีความคิดเกินตัวกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อาจเพราะได้อ่านหนังสือวรรณกรรม ดูหนัง ฟังเพลง แบบที่ไม่ใช่เด็กส่วนมากในวัยนี้ชอบทำ, อย่างที่เธอเคยถามเพื่อนในห้องว่ารู้จักนักร้องคนนั้นคนนี้ไหม ชอบฟังเพลงของใครยุคไหน อ่านหนังสืออะไร เมื่อไม่มีใครเป็นอย่างเธอ เด็กจึงปลีกตัวเองออกมา คล้ายมีโลกส่วนตัว โดยไม่รู้ว่ามันกลายเป็นเส้นแบ่ง เป็นการสร้างกรอบ เว้นระยะห่างกับคนอื่นตามสายตาครูที่มอง และเห็นมันเพียงผิวเผินจากสัมผัสที่หยาบ เพราะครูนั่งมองจากโต๊ะประจำตำแหน่ง ไม่เคยเดินมาพูดกับเด็ก มาดูสิ่งที่เด็กทำในเวลาว่าง ซึ่งนี่คือสิ่งที่แม่ของเด็กหญิงได้ฟังจากเพื่อน ทำให้หล่อนต้องหันมาถามเขาอีกครั้ง

            “พ่อว่าไง ควรพาลูกไปหาหมอไหม”

            “ไปทำไม ลูกไม่ได้ป่วย”

            “เขามีจิตแพทย์สำหรับเด็กด้วยนะ”

            “เมื่อไปจะกลายเป็นคนป่วย”

            “ไปก็ดีนะ เขามีวิธีหาว่าเด็กเป็นอะไร”

            “ลูกไม่ได้เป็นอะไร แกแค่ชอบอ่านหนังสือ เขียนบทกวี”

            “แต่ลูกโดดเรียนด้วยนะ”

            “อืม สมัยพ่อก็เคยทำ ไม่ต้องห่วงหรอก ย้ำกับลูกแล้วว่ามันไม่ดี”

            หลังเลิกเรียนเมื่อกลับถึงบ้านเกือบทุกวัน เด็กหญิงจะล้วงกระเป๋านักเรียนแล้วหยิบแผ่นกระดาษยื่นให้เขาดู ตัวอักษรเขียนด้วยปากกาลายมือโย้เย้ แต่เป็นระเบียบอ่านไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับเขาเพราะเขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มันคือเรื่องสั้นหนึ่งหน้ากระดาษ บางครั้งก็เป็นบทกวี ที่เขียนลงกระดาษรายงานของโรงเรียนที่เธอซื้อไว้เทอมละ 3 - 4 เล่ม แม่ของเด็กหญิงรู้สึกประหลาดใจอยู่สักหน่อยหลังอ่านจบ, หล่อนบอกว่ามันเป็นเรื่องสั้นหักมุม ขณะที่เขากลับรู้สึกว่ามันน่าอัศจรรย์ เด็กหญิงไม่เคยเรียนพิเศษ ไม่เคยติวเรื่องภาษา เธอไม่ใช่เด็กหลักสูตร EP เธอเรียนอยู่ในห้องเรียนแบบปกติ

            “ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง” แม่เด็กหญิงพูดขึ้น ขณะส่งแผ่นกระดาษกลับมาให้เขา

            “จากอะไรลูก” เขาหันมาถามเด็กหญิง

            “หนังที่หนูดู เพลงที่หนูฟัง แล้วก็หนังสือที่พ่อซื้อให้” เด็กหญิงตอบ หลังกลืนเนื้อน่องไก่ทอด

            “หนูใช้เวลาไหนเขียน” เขาถามต่อ

            “เวลาว่างในห้องเรียน นั่งเขียนที่โต๊ะหนู”

            “อืม แล้วเอาเรื่องจากไหนมาเขียน”

            “เวลาคิดอะไรได้ คิดอะไรออก หนูเชอบเขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษ”

 

            หนึ่งสัปดาห์ก่อนเปิดเทอมชั้นมัธยม 1

            เขาหยิบโทรศัพท์มาเปิดไลน์ ไล่อ่านข้อความ พลางนึกในใจ นี่เธอเล่าความฝันหรือแต่งเรื่องสั้นเรื่องใหม่ให้พ่ออ่านกันแน่, เด็กหญิงผอมสูง ใบหน้ารูปไข่ ชอบปล่อยผมยาวเกือบถึงกลางหลัง กำลังจะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่ง โรงเรียนประจำจังหวัดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยช่วงเรียนอยู่ชั้นป.6 เทอมสอง เธอไม่ค่อยได้คุยและเล่นกับเพื่อนในห้องมากนัก เพราะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งพ่อของเธอพยายามค้นหา แล้วเขาก็พบคำตอบในวันสุดท้ายของการสอบปลายภาคเรียนนั่นเอง

            “ไม่รบกวนเลยค่ะคุณพ่อ”

            “ครูอายุยังน้อย เพิ่ง 27 เองค่ะ”

            “เด็กที่บ้านก็เหมือนกันค่ะ ครูบอกให้พาไปหาหมอสักพักใหญ่แล้ว”

            “ไม่ค่อยเล่นกับเพื่อนผู้หญิงค่ะ”

            “ใช่ค่ะ แกชอบเล่นกับเพื่อนผู้ชาย นิสัยห้าวเหมือนแม่ 555”

            “อืม ค่ะ อย่าคิดมากเลยค่ะคุณพ่อ ครูนั่นแหละน่าจะไปหาหมอ”

            “555 แม่ไม่ได้ใจร้ายนะคะ ! คุณพ่อรู้รึเปล่า ครูไม่ค่อยได้เข้าสอน”

            “นั่นแหละค่ะ ครูต้องไปหาหมอประจำ”

            “แกป่วยค่ะ”

            เขากล่าวขอบคุณแม่ของเพื่อนเด็กหญิงที่เล่าเรื่องครูสาวให้ฟัง แม้ไม่ได้ตั้งใจไลน์ไปถามเรื่องนี้ เขาแค่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง โดยถามไถ่ถึงการเรียนต่อของเด็ก

            ไม่คาดคิดว่าจะพบกับความผิดปกติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว !

 

....................................................................



 

Link ที่เกี่ยวข้อง  

 

           “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี”  

  

           วรรณกรรมออนไลน์