เรื่องสั้น : นักลอกเลียน : ภาณุพงศ์ เชยชื่น

เรื่องสั้น : นักลอกเลียน : ภาณุพงศ์ เชยชื่น

        เคยมีนักวิชาการด้านวรรณกรรมซึ่งมีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า หากชอบงานเขียนของใคร แล้วอยากเขียนให้ได้แบบเขา ก็จงนั่งคัดลอกประโยคจากหนังสือของนักเขียนท่านนั้น ๆ จนกว่าจะขึ้นใจ

        ผมยึดถือสิ่งที่ได้ยินมานี้ เพียรกระทำตามดังว่าอยู่เป็นนาน ผมจดจำวิธีการเปิดเรื่อง โครงสร้างการดำเนินเรื่อง วิธีการเร้าอารมณ์ความรู้สึก จังหวะต่าง ๆ ที่สอดแทรกในเนื้อเรื่อง และส่วนสำคัญที่ผมติดใจเป็นอันมากก็คือสำนวนภาษา ผมจดจำรูปแบบคำต่าง ๆ ที่ใช้ได้อย่างขึ้นใจ ทั้งคำเก่า คำสร้อยแปลก ๆ อุปมาอุปไมยเปรียบเปรย ลีลาทางภาษาของผมถือว่าใกล้เคียงกับต้นแบบเอามาก ๆ และคนที่ได้อ่านก็พูดแบบเดียวกันว่า ผมเขียนได้เหมือนกับนักเขียนคนนั้น ๆ

        แต่มีบางอย่างตะขิดตะขวงภายในใจ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าไม่มีใครจดจำชื่อผมจริง ๆ หรืองานเขียนของผมเป็นแค่สิ่งที่พยายามจะลอกเลียนแบบ สิ่งที่ค้างคาใจก็คือ ผมจะสามารถลอกเลียนจริง ๆ ได้อย่างไรกัน มีอะไรบางอย่างที่ผมต้องหาให้เจอ วิธีการที่จะนำไปสู่สิ่งที่ผมต้องการ ผมไม่เคยรู้แจ้งในจุดนั้น

 

        ผมเอาดีทางด้านการเขียนอยู่หลายปี คิดว่าเกือบ ๆ จะรู้เคล็ดลับการลอกเลียนงานเขียนของนักเขียนชื่อดังผู้มาก่อนอยู่รอมร่อ ถ้าเพียงแต่ผมไม่หันเหความสนใจไปสู่กิจกรรมอื่นเสียก่อน

        รุ่นพี่ที่สนิทกันในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยชักชวนให้ผมเข้าชมรมถ่ายภาพ รุ่นพี่คนนี้ชื่อ ‘ชุมพล’ โตกว่าผมสองปี ผมสอบถามเรื่องต่าง ๆ จาก พี่พล ความไวแสงของฟิล์ม ขนาดความกว้างของรูรับแสง ความเร็วของชัตเตอร์ วิธีวัดแสง เราต้องทำอย่างไรบ้างในกระบวนการทั้งหมดนี้เพื่อให้มันสัมพันธ์กันในแบบพอดิบพอดี

        แรกเริ่มก็เป็นเพียงความสนใจฆ่าเวลาเพื่อความเพลิดเพลิน แต่หลังจากเรียนจบผมก็ยังคงตามติดรุ่นพี่คนนี้ไปถ่ายรูปอยู่เนือง ๆ มีกลุ่มถ่ายภาพเกิดขึ้นมากมาย ทุกกลุ่มพร้อมเปิดรับผู้คน นี่เป็นงานอดิเรกที่ผมพึงกระทำอยู่เป็นประจำ

        อาจเพราะผมติดวิธีจากการเขียนหนังสือ ทำให้เมื่อเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพ ผมจึงยังคงฝึกหัดด้วยการลอกเลียน ผมทำตามแทบทุกอย่าง ใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่ากัน ใช้ขนาดรูรับแสงเท่ากัน ใช้ฟิล์มแบบเดียวกัน และผมพยายามที่จะถ่ายให้ได้มุมเดียวกับ พี่พล บางครั้งถึงกับวางขาตั้งกล้องในจุดเดียวกันด้วยซ้ำ
        ผมชอบถ่ายรูปวิวทิวทัศน์มากที่สุด และมันก็เป็นการถ่ายในแบบที่ง่ายต่อการลอกเลียนตามมากที่สุด

 

        ครั้งหนึ่งเมื่อผมได้เห็นภาพถ่ายเก่าของช่างภาพฝรั่งที่ชื่อ คาร์เลตัน วัทกินส์ ก็ยิ่งทำให้ชื่นชอบการถ่ายภาพภูมิทัศน์มากขึ้นไปอีก มันเป็นภาพถ่ายขาวดำของอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มุมมองในภาพกว้างขวาง ภูเขาตระหง่านวางตัวอย่างทรงพลัง ต้นไม้กระด้างแข็งแทงขึ้นจากพื้น ใบไม้หยุดนิ่งไม่ขยับไหว ผิวทะเลสาบเรียบสนิทเหมือนแข็งค้างในเวลา บางภาพระนาบผิวน้ำสะท้อนภาพภูเขา ต้นไม้และท้องฟ้าลงไปบนนั้น มันเหมือนมุมมองที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดแต่ง สำหรับผมมันดูเป็นการลอกเลียนแบบอย่างที่ต้องการมานาน ยิ่งเมื่อพบว่า มีช่างภาพฝรั่งคนอื่นได้ถ่ายภาพอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ในมุมเดียวกับ คาร์เลตัน วัทกินส์ ผมก็ยิ่งฝังใจมากขึ้นไปอีก

 

        แต่กลับผิดกัน ผมไม่ถนัดการถ่ายภาพบุคคลเอาเสียเลย สำหรับผมมันยากมากในการจะดึงตัวตนของใครสักคนออกมาในเฟรมให้น่าสนใจ ผมบอกไม่ถูกว่าจะให้พวกเขาทำท่าทางอย่างไร ถ้าเป็นการถ่ายผู้คนจากระยะไกลในแบบภาพสตรีท ผมจะสะดวกใจในการกดชัตเตอร์มากกว่า หรือไม่อย่างงั้น ถ้าเป็นทริปที่รวมกลุ่มกันไปถ่ายนางแบบ ให้นางแบบโพสต์ท่าทางด้วยตัวเอง แล้วสมาชิกกลุ่มก็เลือกมุมมองของแต่ละคน กิจกรรมนี้ก็จะเป็นที่พึงพอใจของผมมากกว่า เพราะผมจะคอยดูว่า พี่พล เลือกถ่ายในมุมใด แล้วทำตามเขา

 

        สำหรับ พี่พล แล้ว เขาเป็นคนสบาย ๆ ดูสนุกสนานกับการถ่ายภาพมากกว่าผมนัก เขาถ่ายรูปได้ทุกแบบ ขณะที่ผมเอาแต่ครุ่นคิดว่าจะมองภาพตรงหน้าออกมาอย่างไร นอกเหนือจากการถ่ายภาพด้วยท่าทางสบาย ๆ สำหรับ พี่พล เอง การพูดคุยกับนางแบบก็เป็นไปด้วยท่าทางสบาย ๆ เช่นกัน ผิดกับตัวผมที่พูดน้อย ตะกุกตะกัก แล้วเอาแต่อมพะนำ

        พี่พลคบหากับนางแบบบางคนและหลายคน โดยมากผมก็รู้จักด้วย โดยเฉพาะนางแบบคนหนึ่งที่ชื่อ ‘ลินดา’ ซึ่งเป็นคนที่ พี่พล คบหาด้วยนานที่สุด น่าจะหนึ่งปีเต็ม ๆ

        เธอเป็นคนร่างเล็ก มีฝ่ามือเล็ก ๆ แต่มีนิ้วมือเรียวยาว ผมมักลอบมองนิ้วมือของเธออยู่บ่อย ๆ เป็นคนร่าเริง น้ำเสียงของเธอใสแจ๋ว ผมชอบเวลาที่เธอพูดออกมาด้วยเสียงดัง ๆ

ผมได้พบกับเธอบ่อย ได้ติดสอยห้อยตามไปด้วยกันบ่อย บางครั้ง พี่พล ก็นำกล้องติดตัวไปด้วย แล้วถ่ายรูปของเธอ ผมเองก็ทำดังนั้น มันเป็นเหมือนทริปถ่ายรูปนางแบบที่มีสมาชิกเพียงสองคนในกลุ่ม

 

        ย้อนกลับไป หลังจากหัดถ่ายรูปไม่นาน ผมพบว่ากล้องถ่ายรูปมีอำนาจบางอย่างที่ตัวหนังสือไม่มี เลนส์กล้องสามารถควบคุมผู้คนได้มากกว่า มันมีความเด็ดขาดในการบังคับผู้คนให้ถูกกักขังอยู่ในห้วงเวลาด้วยความจำนน ตัวหนังสือทำแบบนั้นไม่ได้ การจะบังคับให้ใครสักคนนั่งอ่านตัวหนังสือจนจบหน้ากระดาษ สามารถถูกปฏิเสธและหลุดหนีไปโดยง่ายดาย

        ผม พี่พล ลินดา เคยไปยังน้ำตกเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ค่อนข้างเงียบเชียบ คงเพราะขนาดสถานที่ไม่ได้ใหญ่โต และต้องเดินเข้าไปลึกสักหน่อย จึงปลอดจากผู้คนท่องเที่ยว มีธารน้ำเล็ก ๆ ซึ่งเย็นเฉียบ ต้นไม้ขึ้นครึ้มสองด้านเบียดชิดแน่นหนา ทำให้อากาศเย็นชื้นแม้จะเป็นเวลาบ่าย

        พี่พลพูดเล่น ๆ ว่า ที่นี่คล้ายกับน้ำตกมิตาเกะ ที่ นพพร แอบมาพลอดรักกับ คุณหญิงกีรติ แม้มุมมองในเฟรมภาพอออกจะแคบไปสักหน่อย แถมแดดก็ไม่ได้ส่องลงมาเต็มที่ ทำให้ตั้งค่าการถ่ายยุ่งยากกว่าเดิม แต่ก็เป็นทริปการถ่ายรูปขนาดย่อม ๆ ที่ผมรู้สึกสนุกกับมัน

 

        จนมีโอกาสที่ผมไปที่นั่นอีกครั้งโดยบังเอิญกับ ลินดา เพียงสองคน มันเป็นวันที่ พี่พล ไม่ว่าง เธอชวนผมให้ออกมาขับรถเล่น เราแวะไปที่น้ำตกมิตาเกะนามสมมติแห่งนั้น ผมมีกล้องถ่ายรูปติดรถมาด้วย จึงนำลงไปถ่ายรูปของเธอ ผมนึกถึงมุมมองภาพถ่ายที่ พี่พล เคยถ่ายไว้ในครั้งก่อน พยายามจะถ่ายให้ได้ใกล้เคียงกัน

        เหมือน ลินดา จะรู้ถึงความไม่มั่นใจที่ผมมีอยู่ในตัวตอนนั้น “นางแบบสวยไม่พอเหรอ” เธอแซวผมเล่น ผมพยายามเทียบมุมมองกับรูปที่ พี่พล เคยถ่ายไว้ครั้งก่อนสลับไปมา เลยยิ่งดูเก้ ๆ กัง ๆ มากขึ้น “อย่าเกร็งไปเลยน่า เราแค่แวะมาถ่ายรูปเล่น ๆ”

 

        การลอกเลียนภาพถ่ายที่มีผู้คนอยู่ในภาพยากกว่าการลอกเลียนภาพทิวทัศน์โล้น ๆ แม้ต้นไม้จะนับเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เราก็เลียนแบบมุมมองของมันออกมาเป็นภาพได้ง่ายกว่า ภาพบุคคลไม่ง่ายเลย ต่างกันสิ้นเชิง มุมมองในภาพของแต่ละคน มันออกมาต่างกันอย่างชัดเจน วิธีที่เรามอง สายตาที่เราเห็น ความพยายามจะนำชีวิตใส่ลงไปในเฟรมภาพ ไม่มีใครมองเห็นชีวิตในแบบเดียวกันทั้งหมด

        ผมถ่ายสลับมุมเดิม ระหว่างภาพทิวทัศน์ตรงหน้ากับภาพทิวทัศน์เป็นฉากหลังแล้วมีลินดาเป็นจุดสนใจ ผมจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงนั้นนานแค่ไหน อาจจะล่วงบ่ายไปหลายชั่วโมงแล้ว เพราะดูเหมือนอากาศจะเย็นตัวลงกว่าเดิม เหงื่อซึมกายที่เคยมีมันกลายเป็นความชื้นเย็นติดผิว บรรยากาศรอบข้างดูเงียบเชียบกว่าที่เคยเป็น

        “ทำไมต้องอยากถ่ายให้เหมือนคนอื่นด้วยล่ะ” ลินดา ถามผม “ผมกลัวภาพออกมาไม่ดี” ผมตอบ “นายถึงเอาแต่เลียนแบบสินะ” “ผมอยากให้มันดูดี” ลินดา ยิ้มสดใสให้กับผม “นายไม่ใช่นักเลียนแบบหรอก” “แล้วผมเป็นอะไร” “นายเป็นนักทำลาย” คำจำกัดความของ ลินดา ทำให้ผมสงสัย ผมเป็นแบบนั้นจริงหรือ ทำไมกัน “ผมแค่ทำตามคนอื่นให้ออกมาดี” “นายไม่ได้ต้องการแบบนั้นหรอก นายอยากรู้สึกเป็นเจ้าของ” เมื่อจบการพูดคุย ผมไม่คิดจะถ่ายรูปเธออีก ผมมีภาพเธอพอแล้วในกล้อง

 

        หลังกลับมาจากน้ำตกครั้งนั้น ผมค่อย ๆ ห่างหายจากกิจกรรมถ่ายรูปไป จนถึงขั้นไม่ได้แตะต้องกล้องถ่ายรูปอีกเลย ผมเจอ พี่พล เป็นครั้งคราว แล้วเราก็ห่างกันไป
        ผมเลิกลอกเลียนการถ่ายภาพ ผมกลับมาหาการลอกเลียนแบบเก่าที่เคยทำ กลับมานั่งเขียนเรื่องเล่าสักเรื่องภายในหัวที่ตกค้าง ผมไม่แน่ใจว่าผมกำลังลอกเลียนการเขียนของใคร

 

.............................................................

 

 

 

Link ที่เกี่ยวข้อง  

 

                “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี” 

 

                วรรณกรรมออนไลน์