'A Safe Journey with Her' ปั่นเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
นักปั่นจักรยานนับร้อยรวมพลังปั่นเปิดกิจกรรม 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 เครือข่ายในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเริ่มแคมเปญ 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism Against Gender-Based Violence) อย่างเป็นทางการในวันนี้ ด้วยงานปั่นจักรยาน ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร
งานปั่นจักรยานดังกล่าวมีชื่อว่า A Safe Journey with Her โดยการปั่นจักรยานเริ่มต้นที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ เดินทางผ่านอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ก่อนจะสิ้นสุดที่ลานคนเมือง กรุงเทพมหานครฯ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ทั้งนี้ การปั่นจักรยานเป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทางร่วมกันเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก
แคมเปญ หรือ การรณรงค์ 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ถูกจัดขึ้นทุกปี ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายนซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ถึงวันที่ 10 ธันวาคมซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน สำหรับปีนี้ ธีมของแคมเปญคือ “ก้าวสู่ 30 ปีแห่งปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง: UNiTE เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” โดยการรณรงค์ฯ นี้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้น มียุทธศาสตร์ระดับชาติที่แข็งแกร่งขึ้น และให้การสนับสนุนองค์กรด้านสิทธิผู้หญิงเพิ่มขึ้นก่อนจะถึงวาระครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง
งานในครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถานทูตเบลเยียม สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตลักเซมเบิร์ก กรุงเทพมหานครฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) โดยได้รับการสนับสนุนจาก Café Velodome และภาคีจักรยานเมืองกรุงเทพฯ
นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวในนามสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) ว่า บทบาทของเราในฐานะชุมชนนักการทูตและพลเมืองโลกก็คือ เราสนับสนุนให้มีกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น บริการที่ช่วยเหลือผู้รอดชีวิต (จากความรุนแรง) และนโยบายที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับผิด วันนี้เราแสดงความสามัคคีกันไม่เพียงแต่ด้วยคำพูดเท่านั้น แต่ด้วยการกระทำของเราอีกด้วย เรายืนยันพันธสัญญาที่จะยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิง พร้อมทั้งสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความกลัว
“งานปั่นจักรยานครั้งนี้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมือง ด้วยความร่วมมือจากทางกรุงเทพมหานครฯ ทำให้งานตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งในการสร้างความตระหนักรู้ ทั้งนี้ งานในครั้งนี้เป็นทั้งการรณรงค์เพื่อเสริมพลังและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และยังเป็นโอกาสในการเฉลิมฉลองความพยายามร่วมกันและโอกาสที่ทุกคนจะสนุกไปกับช่วงเวลานี้ด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็ทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับทุกคนไปด้วย” เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยกล่าว
ด้าน นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิง เด็ก และครอบครัว เราได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายและนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิ และทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางสังคมไปสู่วิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมมากขึ้นในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ เรารับประกันการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยเน้นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นอิสระของร่างกาย ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกภูมิหลัง ในวันนี้ขอให้เราจงร่วมกันยืนหยัดในหลักการ ‘ไม่กระทำ ไม่เพิกเฉย และไม่ยอมรับ’ ความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคมของเรา เพราะอนาคตที่ปลอดภัยและเท่าเทียมกันนั้นเริ่มต้นจากตัวเราเอง
ส่วน นางสาวคริสติน อาหรับ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคและผู้แทนประจำประเทศไทย องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ขณะที่เรากำลังเข้าสู่วาระครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาและแผนปฏิบัติการกรุงปักกิ่ง กิจกรรม 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศย้ำเตือนเราว่าความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิงไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราสามารถป้องกันได้ งานปั่นจักรยานที่กรุงเทพฯ ในวันนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางร่วมกันที่เราต้องก้าวเดินในฐานะรัฐบาล ชุมชน และปัจเจกบุคคล เพื่อรับประกันว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความกลัวและความรุนแรง เรามาเร่งความพยายามของเรา เสริมสร้างความร่วมมือ และทำให้คำสัญญาที่ปักกิ่งเป็นจริงสำหรับทุกคนด้วยกันเถิด
นายเพียว สมิธ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เพิ่มเติมว่า ด้วยความก้าวหน้าทางดิจิทัลที่รวดเร็วในภูมิภาคแห่งนี้ พื้นที่ออนไลน์จึงไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิงเช่นกัน “อินเตอร์เน็ตมอบโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเชื่อมต่อกัน การศึกษา และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตก็นำด้านมืดมาด้วย นั่นก็คือความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี (technology-facilitated gender-based violence) ไม่ควรมีผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงคนใดต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบใดๆ ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ ไม่ว่าจะภายใต้สถานการณ์ใดๆ ความปลอดภัยของพวกเธอเป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้ และศักดิ์ศรีของพวกเธอไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถกเถียงกัน เราต้องพูดให้ดังขึ้น เราต้องยืนขึ้นเพื่อแสดงพลัง และเราจะยืนหยัดเคียงข้างพวกเธอต่อไปเพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเท่าเทียมกัน”
ด้าน นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงนั้นสามารถป้องกันได้ ขณะนี้เรามีหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าอะไรที่ทำให้เราทำงานได้ผล กุญแจที่สำคัญก็คือแนวทางที่ครอบคลุม ที่มีงบประมาณสนับสนุนที่ดี และที่ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม รวมถึงการป้องกันในระดับปฐมภูมิและแนวทางการช่วยเหลือที่ให้ผู้รอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้เราก็จำเป็นต้องมีข้อมูลที่แข็งแรงและทันสมัยในดำเนินการช่วยเหลือตามหลักฐานและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อการป้องกันและตอบสนองที่มีประสิทธิผล
งานปั่นจักรยาน A Safe Journey with Her ในครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมปั่นจักรยานแล้ว ยังมีการฉายภาพยนตร์กลางแจ้ง ณ ลานคนเมือง เรื่อง Children of the Mist ซึ่งพูดถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยผู้สร้างภาพยนตร์ได้ร่วมกล่าวแนะนำภาพยนตร์ในงาน ตามด้วยการรับประทานอาหารว่างและเวทีสนทนาร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในปัจจุบันที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน โดยเป็นนักปั่นจักรยานราว 330 คน
อนึ่ง ขณะที่โลกเฉลิมฉลองจัดงานรณรงค์ 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ กิจกรรมต่างๆ มากมายนั้นถูกจัดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และรอบโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้และขับเคลื่อนการลงมือทำ งานปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ นั้นเป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมมากมายที่มุ่งขยายเสียงส่งข้อความไปทั่วโลกของเราว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นสามารถป้องกันได้และต้องถูกขจัดให้หมดสิ้นไป
English Vertion : Cyclists Unite in Bangkok to Kick Off 16 Days of Activism Against Gender Violence