เรื่องสั้น : ระหว่างทาง : สุวัฒน์ชัย ศรีบัว

เรื่องสั้น : ระหว่างทาง : สุวัฒน์ชัย ศรีบัว

 

          (1)

          ปกรณ์ ชายหนุ่มจากถิ่นที่ราบสูงอีสาน ตื่นแต่เช้ากุลีกุจอออกมาช่วยแม่และญาติ ๆ เตรียมข้าวของเพื่อรองรับแขกที่จะมาสู่ขวัญให้เขาหลังจากที่ ปกรณ์ กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด เนื่องจากประสบอุบัติเหตุโดนเครื่องจักรในโรงงานที่เขาทำที่กรุงเทพฯ หล่นทับขาของเขาจนหัก โดยทางโรงงานไม่ยอมรับผิดชอบ อ้างว่ามันเป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทางโรงงานไม่ผิด ไม่ยอมรับผิดชอบ สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านเกิด และลาออกจากโรงงานแห่งนั้นทันที เขารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่นานหลายเดือนและมีแต่พ่อและแม่เป็นคนเฝ้าญาติ ๆ ก็มาเยี่ยมบ้างและช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นหมออนุญาตให้ออกมารักษาตัวที่บ้านได้ อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ และรักษาตัวนานหลายเดือนกว่าจะหายดีในวันนี้

          ปกรณ์ รู้สึกเป็นสุขในใจในการกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด เขาเห็นถึงความรักเอาใจใส่ของพ่อแม่และญาติ ๆ และความเป็นห่วงเป็นใยของญาติ ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่แก่ชรามากแล้วเป็นธุระทุกอย่าง ขณะที่เขานอนซมรักษาตัว เขาสัมผัสได้ถึงความเป็นพ่อแม่ และความอบอุ่นที่มอบให้เขาในยามเจ็บป่วย ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นในหัวใจ และมีพลังใจลุกขึ้นสู้กับความเจ็บป่วยได้มากทีเดียว เป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่เขาออกจากบ้านไปทำงานที่เมืองใหญ่ และนับครั้งได้ที่เขากลับมาบ้านถือว่าน้อยมาก บรรยากาศแบบนี้ห่างหายไปนานแล้ว เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการหาอยู่หากินทำงานดิ้นรนเพื่ออยู่ให้ได้ในเมืองใหญ่เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ แต่เขาต้องสู้และหยัดยืนให้ได้เพื่อตนเองและคนอยู่หลัง

          หลังจากจัดเตรียมสำรับกับข้าวต้อนรับเสร็จแล้ว ญาติก็ทยอยมาแล้วปกรณ์จึงออกไปต้อนรับ ญาติ ๆ ที่มาก็นั่งพูดคุยกันสนุกสนาน หลายคนถามถึงสุขภาพร่างกายเขาอย่างห่วงใยถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรด้วยความเป็นห่วง

          ดวงตะวันเริ่มทอแสงกระจ่างเบื้องทิศตะวันออก ได้เวลาหมอธรรมที่จะมาทำพิธีสู่ขวัญก็มาถึงแล้ว  เขาเดินไปที่กลางบ้านญาติ ๆ นั่งห้อมล้อมเขา หมอธรรมทำตามพิธีกรรมตามแบบฉบับของชาวอีสาน พอถึงช่วงเรียกขวัญญาติ ๆ ก็ส่งเสียงเรียกขวัญดังกังวานขึ้น “มาเด้อขวัญเอ้ย” หลังจากนั้นก็ผูกข้อต่อแขนพร้อมเงินช่วยงานและคำอวยพรต่าง ๆ ที่ให้พลังใจแก่ ปกรณ์ หลังจากนั้นจึงผูกแขนเสร็จก็รับประทานอาหารร่วมกันถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสา ปกรณ์ ไปส่งหมอธรรมถึงบ้าน กลับมาก็มาเสริฟอาหารให้ญาติ ๆ และเพื่อนบ้านที่มาร่วมงาน พอถ้วนทั่วแล้วผมนั่งร่วมวงทานข้าวกับน้าคำผาน น้าคำผานจึงถามถึงเมื่อเขาทรุดนั่งลงข้าง ๆ

          “หลังจากนี้สิเฮ็ดจั่งได่ต่อไป”

          “ผมกะคิดว่าสิกลับเข้ากรุงเทพฯ หาทำงานอยู่กรุงเทพฯ พุ่นละครับน้า คั่นบ่หาแฮงสิทุกข์ลงทุกข์ลงละครับน้า ชีวิตยังบ่สิ้นกะดิ้นกันไปละครับ” เขาตอบน้าคำผานไปตามความจริง หลังจากนั้นผมจึงนั่งทานข้าวจนน้าคำผานอิ่มแล้วขอตัวกลับก่อน

          “น้าไปก่อนเด้อ มีธุระ”

          “ครับ” ผมตอบ

          “โชคดี หมดทุกข์หมดโศกเด้อ” น้าคำผานอวยพร แล้วเดินไปขับรถมอเตอร์ไซค์ออกไป...

 

          (2)

          รถสองแถวแล่นไปตามถนนลูกรังที่มีหลุมโคลนอยู่หลายแห่งขรุขระเต็มไปด้วยหลุมมากมาย รถวิ่งได้ไม่เร็วมากนัก แต่เร็วพอที่ทำให้ฝุ่นผงสีแดงเพลิงอวลตลบและวนเข้ามาในห้องโดยสาร ผู้คนที่นั่งมากับรถสองแถวคันนี้มีไม่ถึงห้าคน ชายสองหญิงสามรวมทั้ง ปกรณ์ ด้วย ต่างปาดปัดฝุ่นผงที่ปลิวมาติดเสื้อผ้าคน ทั้งรถต่างนั่งปัดกันพัลวันเพราะมีรถสวนมาเป็นระยะ ๆ ดอกหญ้าข้างทางจะเกาะไปด้วยดินแดงจนดูซึมเซาเหงาหงอยไปเลยทีเดียว ถนนเส้นนี้เป็นเส้นที่ทางการยังเข้ามาไม่ถึง ตั้งแต่ ปกรณ์ ยังเด็กจนเติบโต ก็ยังคงสภาพเดิมไม่มีหน่วยงานใดคิดจะเข้ามาแก้ไขให้สิ้นไปได้ ปกรณ์ พานนึกโมโหให้กับทาง อบต. หรือทางหลวงชนบทที่รับผิดชอบดูแลกลับเมินเฉยไม่เอาธุระทั้งที่มีอำนาจเต็มที่

          ปกรณ์ มองเหม่อไปตามข้างทางที่ดูซึมเซานั้น ทำให้ใจของเขาห่อเหี่ยวสิ้นดีฤดูอันแล้งร้อนนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่ความหม่นเศร้า แม้แต่ท้องนาตอซังข้าวเหี่ยวเฉาเซาซบควายผอมยืนเคี้ยวเอื้องอยู่หยับ ๆ เหมือนเหนื่อยหน่ายกับฤดูแล้งร้อนหนีเต็มประดา ถัดไปลูกควายนอนเกลือกกลั้วโคลนตมอย่างไม่อนาทรต่อความแล้งร้อนนั้น นกเอี้ยงสองตัวเกาะบนหลังของมันหากินอยู่บนหลัง ต้นไม้ใบโกร๋นยืนเฉาอยู่กลางท้องทุ่งอันแรงร้อน แต่พอจะมีความสดชื่นขึ้นบ้าง เมื่อดอกจานสีส้มผลิดอกสีส้มอวดช่อดอกอยู่กลางท้องทุ่ง ทำให้ภาพอย่างนี้น่ามองมากขึ้น ในความไม่งามยังมีความงามซ่อนอยู่

          ปกรณ์ มองผู้โดยสารที่เดินทางร่วมกันในวันนี้ ผู้คนต่างเหม่อมองไปข้างทางเหมือนกันหมดทุกคนต่างเงียบไม่มีการพูดคุยกันด้วยทุกคนมาจากต่างหมู่บ้านที่โบกขึ้นรถโดยมีหมุดหมายต่างกันไป บางคนหอบกระเป๋าใบใหญ่เพื่อเดินทางไกลอาจจะไปทำงานที่เมืองใหญ่เพื่อหนีจากความแห้งแล้งและความทุกข์เข็ญได้ดีก็แล้วแต่บุญวาสนาของแต่ละคน บางคนอาจจะกลับมาด้วยความพ่ายแพ้ดั่งนกปีกหักกลับมาเยียวยาที่บ้านเกิดเพื่อเก็บเรี่ยวแรงเพื่อโบยบินจากไปอีกครั้งก็สุดแต่จะคาดเดา ทุกคนคงไม่ต่างจาก ปกรณ์ มากนักที่ต้องออกจากบ้านเกิด ห่างจากบ้านเกิดพ่อแม่ไปหาทำงานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เขาพร้อมที่จะเผชิญโชคชะตาที่รอท่าอยู่ตรงหน้าแล้วลูกอีสานอย่างเขาไม่เคยย่อท้อต่อชะตาชีวิตง่าย ๆ แม้เขาจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง กับการหางานใหม่ก็ตามที

          รถสองแถววิ่งไปสู่เส้นทางที่ราดยาง รถวิ่งเร็วขึ้นผ่านพ้นทางดินแดง ปกรณ์ ปัดฝุ่นที่เกาะตามเสื้อผ้าและกางเกง เขาไม่ลืมปัดฝุ่นบนกระเป๋าใบใหญ่ของเขาด้วย แล้วเขาก็นึกถึงใบหน้าของครอบครัวพ่อแม่ที่อวยพรให้เขาก่อนเดินทางสู้งานในเมืองใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้น้ำตาของ ปกรณ์ คลอออกมา เมื่อนึกถึงใบหน้าอันเหี่ยวย่น และผมสีดอกเลาของแม่ ที่อวยพรให้เขาก่อนเดินทาง

          “พระคุ้มครองลูกให้อยู่ดีมีแฮงเด้อบักหล้า” แล้วแม่ก็ลูบผมของเขาอย่างอ่อนโยนทำให้เขารู้สึกถึงความอบอุ่นแผ่ซ่านไปทุกอณูทั่วสรรพางค์ คำอวยพรและความรักที่แม่เอ่ยออกมาช่างอ่อนโยนและน่าฟังยิ่งนัก

 

          (3)

          รถมาจอดที่หน้าสถานีขนส่งประจำจังหวัด ปกรณ์ กับเพื่อนที่เดินทางมาบนรถสองแถว ต่างแยกกันไป ผู้คนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯในช่วงเวลากลางวันมีมากมาย เดินขวักไขว่ ที่นั่งรอเต็มทุกพื้นที่ คนที่ไม่มีที่นั่งต่างยืนออกันมากมาย เสียงพูดคุยดังเซ็งแซ่อื้ออึงสวนกันไปมา แสงแดดแรงร้อนบวกกับปล่อยควันพิษออกมาทำให้ ปกรณ์ รู้สึกปวดหัวขึ้นมาทีเดียว เขาหยิบยาดมขึ้นมาดมอาการค่อยดีขึ้น แล้วเขาก็เดินไปซื้อตั๋วที่มีคนยืนซื้อหลายคน พอซื้อตั๋วเสร็จเขาแล้วเดินไปซื้อน้ำเย็นมาขวดหนึ่ง เส้นทางการเดินทางวันนี้คงอีกยาวไกลเพราะรถทัวร์กรุงเทพฯ จะมาเทียบท่าต้องรออีกชั่วโมงครึ่ง ปกรณ์ ยืนมองหาที่นั่งที่ว่างพอเห็นแล้วเขาเดินไปทรุดนั่งลงทันทีแล้วหยิบโทรศัพท์กดเบอร์หาชื่อไอ้ก้อง เพื่อนที่เขาขอไปอาศัยอยู่ระหว่างหางาน คงต้องอาศัยไอ้ก้องไปพลาง ๆ ก่อนจนกว่าจะหางานได้ และไม่รู้ว่าจะหาได้หรือเปล่า

          “เออ กูจะถึงประมาณสองทุ่มคืนวันนี้นะเดี๋ยวจะไปขออาศัยอยู่ด้วย” ปกรณ์ บอกไอ้ก้องเพื่อนสนิทที่เรียนมาด้วยกัน บอกเสร็จแล้ว ปกรณ์ ก็วางสาย มียายคนหนึ่งเป็นยายแก่ ๆ เดินหลังค่อมใส่หมวกสานใบคร่ำคร่าสวมเสื้อสีดำมอ ๆ มือถือไม้เท้าค้ำยัน ส่วนมืออีกข้างถือตะกร้าสินค้าเดินมาขายของเช่นถั่วต้ม ไข่ปิ้ง ข้าวโพดต้ม และไก่ย่าง เดินขายเดินไปมาอยู่ในสถานีขนส่งแห่งนี้ ปกรณ์ ด้วยความสงสาร เขามองเห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ต่างดิ้นรนหาอยู่หากิน ต่างคนต่างวิถีดิ้นรนอย่างยายคนนี้ก็เช่นกัน แม้แก่ชราขนาดนี้แล้วยังต้องลำบากมาเดินขายของอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ที่มีแต่ความอึกทึกวุ่นวาย นางยังต้องดิ้นรนหาเงินอยู่อีก ปกรณ์ เห็นแล้วนึกตำหนิลูกหลานที่ให้ยายมาเดินขายของแบบนี้ วัยขนาดนี้น่าจะได้พักผ่อนอยู่กับลูกหลาน ให้ลูกหลานเลี้ยงถึงจะถูก แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ทุกคนมีปัจจัยแตกต่างกันออกไป ยายเดินมาถึงที่ ปกรณ์ นั่งอยู่ เขามองเห็นใบหน้าที่มีริ้วรอยของกาลเวลากัดกร่อน ยายจึงถามขึ้น

          “เอาหยังบ่ลูก..”เสียงแหบแห้งด้วยความเหนื่อยพร้อมกับเสียงหอบฮัก ๆ ด้วยความเหนื่อย

           “ยายขายหยังน้อครับ” ปกรณ์ ถาม

          “กะมีตามที่เห็นนี่ล่ะ มีข้าวหลาม ข้าวโพดต้น ถั่วต้ม ไข่ปิ้ง ฯลฯ” ยายพูดเพียงแค่นี้แล้วทรุดนั่งบนเก้าอี้ที่ว่างข้าง ๆ ปกรณ์

          ปกรณ์ มองแล้วบอกยาย

          “เอา ไข่ปิ้งสองไม้ครับยาย” แล้วหญิงชราก็หยิบไข่สองไม้ใส่ถุงแล้วยื่นให้ ปกรณ์ เขารับไว้

          “จั๊กบาทครับยาย”

          “สี่สิบจ๊ะไม้ละยี่สิบบาท” นางอธิบาย ปกรณ์ หยิบเงินในกระเป๋าสตางค์ออกมาแล้วยื่นเงินให้ยายสี่สิบบาท แล้วนางก็เอ่ย

          “ขอบใจเด้อลูก” ปกรณ์ ตอบกลับไปพร้อมกับยิ้มให้ยาย

          “ครับ”

          ปกรณ์ นั่งมองดูยาย ด้วยความสงสารจึงยื่นน้ำให้ยายดื่ม ยายรับไปดื่มแล้วนั่งพักเหนื่อยข้าง ปกรณ์ แล้ว ปกรณ์ ก็ถามถึงชีวิตของยายว่า ทำไมถึงได้มาเดินขายของอยู่ที่นี่ ยายก็ยินดีเล่าให้ฟังแม้ไม่หมดอย่างน้อย ปกรณ์ ก็กระจ่างใจแล้วว่า ทำไมถึงได้มาเดินขายของอยู่อย่างนี้ ยายเล่าให้ ปกรณ์ ฟังว่า ยายเป็นคนต่างอำเภอมามีสามีที่ตัวจังหวัดนี้ แต่พอสามีของนางเสียชีวิต ชีวิตของนางก็ลำบากปากกัดตีนถีบ ด้วยมาอาศัยอยู่กินกับสามีก็ยากจนอยู่แล้ว สามีนางก็ขับถีบรถสามล้อรับส่งผู้โดยสารชีวิตก็หาเช้ากินค่ำไปวัน ๆ ชีวิตดิ้นรนมาเรื่อย ๆ และที่สำคัญลูกสาวก็แต่งงานไปอยู่กินกับสามีต่างอำเภอ ไม่เคยมาเหลียวแลเลย ทำให้นางจึงต้องมาขายของอยู่แถวนี้ นางบอกถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน ชีวิตจึงดิ้นรนไปเรื่อยจนกว่าจะหมดลมหายใจโน้นแหละถึงจะได้พัก ปกรณ์ นั่งฟังแล้วรู้สึกสงสารยายเหลือเกิน แต่ก็เข้าใจถึงความเป็นชีวิตที่ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน บางคนร่ำรวยบางคนจนถึงขนาดไม่มีกินเลยก็มี บางคนต้องดิ้นรนขนาดหนักถึงจะอยู่รอดเช่นยายคนนี้ ปกรณ์ นั่งซึมอยู่ แล้วยายก็เอ่ยขึ้น

          “ยายไปละเด้อ สิย่างหาขายของต่อ” ยายเปิดยิ้มให้ ปกรณ์ ปกรณ์ ยิ้มตอบแล้วพูด

          “โชคดีเด้อครับยาย ขอให้ขายของเหมิดเด้อครับมื้อนิ”

          ปกรณ์ นั่งมองหญิงชราเดินงก ๆ เงิ่น ๆ ไปท่ามกลางผู้คนที่มากมายในสถานีขนส่งแห่งนี้ ปกรณ์ มองยายจนลับหายไปกับฝูงชน นับเป็นเรื่องเศร้าทีเดียวที่เขาได้รับรู้และได้พูดคุยกับหญิงชราคนนี้ แต่ ปกรณ์ ก็คงไม่ต่างกับยายนักเหรอก ผิดแต่เขายังมีเรี่ยวแรง ส่วนหญิงชราเรี่ยวแรงร่วงโรย แต่ว่าสิ่งที่เหมือนกันคือการดิ้นรน ตราบที่ยังมีลมหายใจ...

 

....................................................................

 

Link ที่เกี่ยวข้อง  

 

         “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี

 

          วรรณกรรมออนไลน์