UNFPA ย้ำ สิทธิมนุษยชน เท่ากับสิทธิสุขภาพ ต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) จับมือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2566 (เมือง พลเมือง อัจฉริยะ : Smart city Smart citizen) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเน้นย้ำประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิสุขภาพ รวมทั้งการการอภิปรายหัวข้อ “เข้าถึง อย่างเท่าเทียม : Access to Reproductive Health”
ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษย์ชน นายธนวัฒน์ พรหมโชติ
อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นายแพทย์สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ โดยมี นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นหลักในการอภิปราย คือเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด กลุ่มใด ทุกคนควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐบาลได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมอภิปรายคือ ในตอนนี้สิทธิมีอยู่แล้ว เพียงแต่ข้อมูลข่าวสารอาจยังกระจายไปไม่ทั่วถึง และยังไม่รวดเร็วเพียงพอต่อกระแสโซเชียลมีเดียและการพัฒนาไปของอินเทอร์เนตที่รวดเร็ว ทำให้การเข้าถึงสิทธิเป็นไปอย่างติดขัด ดังนั้นแนวทางในการขับเคลื่อนอันดับแรก คือการมองคนเป็นคน มองคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม ว่าเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน และควรได้รับสิทธิอย่างเสมอภาคถ้วนหน้ากัน
นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานของรัฐบาลอาจพิจารณาดำเนินกลยุทธ์ Active Marketing เพิ่มมาก ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ให้สิทธิการบริการอยู่แล้ว เพียงแต่การประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก ประชาสัมพันธ์ในการใช้สื่อรูปแบบใหม่ทั้งที่เป็นโซเชียลมีเดีย ทั้งสื่อหลัก สื่อหนังสือพิมพ์ และสื่ออื่น ๆ อาจจะต้องทำให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะหนึ่งในกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์คือวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อาจจะต้องได้รับการสื่อสารในอีกรูปแบบหนึ่ง ภาษาที่พูดง่าย เข้าใจง่าย และจะทำให้เข้าถึงได้ทั้งออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาให้มากขึ้น อาจจะต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ ผู้ที่มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียในการพูดและสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ซ้ำๆ ทางความคิด เพื่อย้ำให้รับทราบสิทธิและการเข้ารับบริการผ่านช่องทางต่างๆ และท้ายสุดเป็นเรื่องของสิทธิการเป็นพลเมืองที่จะให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ตราบใดที่อยู่ในประเทศไทย ถ้ามีสิทธิการเป็นพลเมือง รัฐบาลไทยให้สิทธิการเป็นพลเมืองที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ควรได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
“ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้เข้ารับบริการ ต้องทำงานร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ดำเนินนโยบาย อย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้การเข้าถึงสิทธิ์เป็นไปได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง สิทธิมนุษยชน ครอบคลุมสิทธิสุขภาพเช่นกัน สิ่งสำคัญคือทุกเพศ ทุกกลุ่ม ทุกวัยต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียมอย่างเสมอภาค มั่นใจว่าไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง รวมถึงต้องคำนึงถึงความเป็นคนเท่ากัน ที่ได้รับสิทธิเหมือนกัน และมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนและสังคม” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทยกล่าวย้ำ