“A SAFE JOURNEY WITH HER” ปั่นจักรยานรณรงค์ลดความรุนแรงจากเพศ
UNFPA ประเทศไทย ผนึกเครือข่ายจัดยิ่งใหญ่ “A SAFE JOURNEY WITH HER” งานปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์ 16 วันลดความรุนแรงจากเพศ เล่าเรื่องความสำคัญของผู้หญิงในสังคมผ่านการปั่นจักรยาน เริ่มต้นจากมิวเซียมสยาม พร้อมจัดนิทรรศการตามเส้นทางสถานที่สำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์
ดร.โอซา ทอคิลส์สัน ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศมาเลเซีย และผู้อำนวยการประจำประเทศไทย (UNFPA) พร้อมด้วย นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นางสาวซาร่าห์ นิปส์ รักษาการรองผู้อำนวยการองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) นางซีบิลล์ เดอ การ์ทิเย่ร์ ดีฟส์ เอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายแพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวสุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) นายธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งคาเฟ่เวโลโดม (Cafe' Velodome) นายศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหาร a day พร้อมทั้งผู้สนับสนุนการจัดงาน ร่วมเปิดงานปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์ 16 วันลดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ “A SAFE JOURNEY WITH HER. UNiTE! to End Violence against Women and Girls!” ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ
ดร.โอซา ทอคิลส์สัน ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศมาเลเซีย และผู้อำนวยการประจำประเทศไทย (UNFPA) เปิดเผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า กิจกรรม 16 วันเพื่อต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (Violence Against Women and Girls: VAWG) เป็นการรณรงค์ที่นำโดยภาคประชาสังคมและประชาคมระหว่างประเทศซึ่งจัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) และสิ้นสุดลงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล โดนองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพิ่มความตระหนักรู้ กระตุ้นความพยายามในการรณรงค์ และแบ่งปันความรู้และนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
ดร.โอซา กล่าวต่อว่าในการสนับสนุนการริเริ่มของภาคประชาสังคม โครงการ UNiTE ซึ่งเปิดตัวโครงการในปี 2008 เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงภายในปี 2030 ภายใต้การนำของนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน เรียกร้องให้มีการดำเนินการระดับโลกเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดความพยายามในการรณรงค์ และแบ่งปันความรู้และนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั้งหมดในทันที โดยเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้เกี่ยวข้องในงานพัฒนา ภาคประชาสังคม องค์กรผู้หญิง คนหนุ่มสาว ภาคเอกชน สื่อสารมวลชน และองค์การสหประชาชาติทั้งระบบ ร่วมกันผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก
ดร.โอซา ยังได้กล่าวถึงถ้อยแถลงของ ดร.นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ปี 2022 ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเฉลิมฉลองสัญญาณต่างๆ มากมายของความก้าวหน้า ในวาระที่ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนถึง 8 พันล้านคน การมีสุขภาพที่ดีขึ้นและชีวิตที่ยืนยาวทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้ ทว่ายังมีความจริงที่น่าสลดใจ นั่นคือความก้าวหน้าที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบที่ลิดรอนศักดิ์ศรี ความเป็นอยู่ที่ดี และสิทธิในสันติภาพไปมากมาย สถิติจากทั่วโลกบอกว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกที่ถูกกระทำรุนแรงในชีวิตของพวกเธอ ในปี 2021 ที่ผ่านมา เกือบ 1 ใน 5 ของ ผู้หญิงอายุ 20-24 ปี แต่งงานก่อนอายุ 18 ผู้หญิงมากกว่า 1 ใน 3 ประสบกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในช่วงชีวิตของพวกเธอ และมีผู้หญิงไม่ถึง 40% ที่ประสบกับการกระทำที่รุนแรงและร้องขอความช่วยเหลือ
ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเกิดขึ้นทุกที่ ทั้งในบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน สวนสาธารณะ ขนส่งสาธารณะ สนามกีฬา และพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเพิ่มและทวีความรุนแรงขึ้นโดยไม่มีสถานที่ใดปลอดภัยอย่างสมบูรณ์สำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ความรุนแรงต่อพวกเขายังคงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เรื้อรัง ร้ายแรงที่สุด และถูกมองข้ามมากที่สุดในโลก โดยเราสามารถหยุดวิกฤตนี้ได้ด้วยการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้คนซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ลุกขึ้นยืนและพูดว่า “พอสักที” ทุกคนมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมั่นคงเท่ากัน และยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก นอกเหนือจากกฎหมายและการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันที่ต้องเปลี่ยนอย่างยิ่งคือวิธีที่เรามองสิทธิผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของพวกเขาและการใช้ชีวิตโดยปราศจากความรุนแรง นั่นหมายถึงการทำลายบรรทัดฐานทางสังคมและเพศสภาพที่เป็นอันตราย และการทำลายทุกอุปสรรคขวากหนามต่อสิทธิเหล่านี้ โดยเริ่มจากกลุ่มคนเปราะบางที่ประสบความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติที่สาหัสที่สุด
“ปีนี้ได้เรานำธีมกิจกรรมกลางมาจัดที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการดำเนินงานผ่านความร่วมมือจากพันธมิตรของเราในการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ได้แก่ UNFPA หรือ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก กรุงเทพมหานคร อะเดย์ เวโลโดม และมิวเซียมสยาม รวมทั้งองค์กรจากภาคประชาสังคม เราทุกคนจากทุกภาคส่วนกำลังแสดงให้เห็นว่าพวกเราสนับสนุนการขับเคลื่อนของกลุ่มพลังผู้หญิงในการหยุดความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพมหานคร หรือทุกพื้นที่ในประเทศนี้ โดยในประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติได้มีการศึกษาถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นในช่วงล็อคดาวน์จากโรคระบาดโควิด-19 มีการวิเคราะห์ว่าภาษาที่ใช้ในการทวีต มีข้อความที่แสดงถึงการเกลียดชังต่อผู้หญิงในประเทศไทยสูงขึ้นกว่าปกติถึง 22,000 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ภาษาในการทวีตเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อจากการกระทำเหล่านี้เพียง 112 เปอร์เซ็นเท่านั้น แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นแค่ตัวชี้วัดบางส่วนจากการศึกษา ทว่าชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในวาทกรรมเหล่านี้ แน่นอนว่าความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด เราหวังให้ทุกคนได้รับแรงบันดาลใจจากความมุ่งมั่นของนักเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนและจากทั่วโลกซึ่งระดมกำลังและเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมุ่งมั่นแน่วแน่ เพื่อร่วมยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อทุกคน เพื่ออนาคตตลอดไป” ดร.โอซากล่าวย้ำ