คำต่อคำจากกรรมการ “กวีนิพนธ์” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด
เปิดคำนิยมจากคณะกรรมการต่อผลงานที่ได้รับรางวัลประเภท “กวีนิพนธ์” เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 18 “ประเทศในเขาวงกต”, “เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง”, “หัวใจป่า” และ “ฮ่วงเฮ้า”
“ประเทศในเขาวงกต” โดย “ศิริวร แก้วกาญจน์” สำนักพิมพ์ผจญภัย
กวีนิพนธ์ชุด “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ภาค ภาคแรก :ฟ้าค่ำนี้อาจสีเศร้า ภาคสอง : บนบรรทัดประวัติศาสตร์ ภาคสาม : ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง ภาคสี่ : ขอบฟ้าอนาคต ภาพรวมว่าด้วยสังคม การเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ลักษณะเด่นอยู่ที่ความหนักแน่น เข้มข้นในเนื้อหาสาระ ใช้คำเท่าที่จำเป็น ทุกคำจึงมีความหมาย ทั้งที่ใช้คำธรรมดาสามัญ แต่เมื่อใช้อย่างถูกกาลเทศะ ทำให้ลงตัวงดงาม ทรงพลัง และเนื่องจากรวมบทกวีเล่มนี้ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ กวีอาศัยความจัดเจนทางภาษา จังหวะจะโคน จึงเห็นความโดดเด่นด้านชั้นเชิงวรรณศิลป์แจ่มชัด
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของ “ประเทศในเขาวงกต” คือความคิดที่แหลมคม อาจเรียกได้ว่าคมคำ คมความคิด และสำคัญสุด วรรณกรรมเล่มนี้มิใช่แค่รายงานสถานการณ์ หรือมิเพียงสะท้อนว่าทุกองคาพยพของประเทศกำลังตกอยู่ในเขาวงกต กวีได้พยายามเสนอทางออก ชี้ประวัติศาสตร์ให้ทบทวนบทเรียนเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ ๆ หลายช่วงฉายภาพและตอกย้ำให้เห็นปัญหา แล้วเปิดปลายให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ ขณะที่หลายชิ้นงานตั้งคำถามต่อสังคมแบบคมคายเป็นการกระตุกกระตุ้นให้ตื่นจากวังวนเดิม ๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานภายในเล่มหลายสำนวน เขียนขึ้นตามวาระต่าง ๆ แต่มีนัยกว้างออกไป ไม่จำกัดเฉพาะวาระพิเศษนั้น ๆ นี่คือเสน่ห์ และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการด้านกวีนิพนธ์
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2564
“เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง” โดย “วรภ วรภา” สำนักพิมพ์ดินแดนบุ๊ค
รวมบทกวี “เรื่องจริงจริงในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาหลากหลาย จัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “ในฤดูผลิบาน” และ “ผู้คนบนเฟซบุ๊ก”
บทกวีในกลุ่ม “ในฤดูผลิบาน” นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้คนในสังคมที่ต้องต่อสู้ชีวิตในบริบทและท่วงทำนองที่หลากหลายแตกต่าง ผ่านทั้งช่วงเวลาผลิบานและอุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญ ประหนึ่งเป็น “นักรบชีวิต” บทกวีมีทั้งขนาดสั้นและบทกวีชุดซึ่งเป็นเรื่องเล่าขนาดยาวของชีวิตในช่วงเติบโตและพลิกผัน เช่น บทกวีชุด “พราวพริ้งแห่งหญิงสาว” และชุด “ตรุษ” ซึ่งแสดงความยึดมั่นในประเพณีแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ภาพชีวิตหลากหลายมิติทั้งในครอบครัว สังคมไทยและสังคมโลกทำให้บทกวีมีความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งสดใสในวัยดรุณ เข้มข้นในยามวิกฤต รวมทั้งชั้นเชิงกลอนและการเล่นคำ เช่นเรื่องเล่าในครอบครัวชุด “สามีปฏิวัติ” นำเสนอด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน สร้างอารมณ์ขัน โดยใช้วลีและถ้อยคำร่วมสมัย เรื่องเล่าเหตุการณ์ในสังคมภาคใต้ ในชุด “บันทึกถึงเทพา” และสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก ในชุด “ยังอาเพศนะปาเลสไตน์” เป็นต้น
บทกวีในกลุ่ม “ผู้คนในเฟซบุ๊ก” นำเสนอชีวิตของผู้คนในสังคมโลกเสมือนที่ทั้งให้ภาพความเป็นไปและวิพากษ์ความหมายในเบื้องลึกของตัวตนผู้คนในโลกออนไลน์ ลีลากลอนล้อเล่นกับภาษาที่ใช้คมคาย สนุกสนาน
ลักษณะเด่นของบทกวีของ วรภ วรภา คือการผสานขนบวรรณศิลป์แบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ทั้งภาษา และการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ โดยให้ความหมายระดับลึกของปรากฏการณ์เหล่านั้น แม้ตระหนักว่าชีวิตล้วนมีอุปสรรคและปัญหาแต่ก็ยังคงมีความหวังและกำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไป
เพียงเจ้ารู้พอใจในจุดหนึ่ง เพียงเจ้าซึ้งสมดุลแห่งคุณค่า
เพียงเจ้าเห็นแจ้งชัดในปรัชญา ใดหมายว่าพอเพียง...ก็เพียงพอ
“เพียงเจ้ารู้พอเพียง-ก็เพียงพอ”
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี “เรื่องจริงจริงในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2564
“หัวใจป่า” โดย “พล พิมพ์โพธิ์” มหาวิทยาลัยรังสิต
หนังสือกวีนิพนธ์ “หัวใจป่า” ของ พล พิมพ์โพธิ์ เป็นผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ใช้คำประพันธ์ ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลัก มีกาพย์ยานีแทรกเล็กน้อย แบ่งเป็น 3 ตอนด้วยกัน คือ
ตอนที่ 1 ป่าไม้ ประกอบด้วยผลงาน 14 สำนวน พูดถึงเรื่องราวธรรมชาติของแมกไม้มวลดิน น้ำและป่า สวนดอกไม้ ชีวิตสัมพันธ์ของบ้าน คน และป่าไม้ “คนอยู่อิงอาศัยเพราะได้ป่า สัตว์นานาก็พึ่งพิงอิงอาศัย ป่าคือบ้านทุกชีวิตทุกจิตใจ หมู่บ้านใหญ่รวมร่วมผูกพัน ใครอยู่ป่าคือเจ้าถิ่นดินแดนป่า ต้องพิทักษ์ต้องรักษาต้องสร้างสรรค์ เสือไก่หมีชะนีค่างไม่ต่างกัน คือเจ้าบ้านทั้งนั้นของป่านี้” สำนวนโวหารเรียบง่าย ไพเราะงดงาม
ตอนที่ 2 ป่าเมืองประกอบด้วยผลงาน 9 สำนวน กล่าวถึงชีวิตที่สัมพันธ์อยู่ในชุมชนเมือง “หากจะลองไถ่ถามสนามหญ้า จะแบ่งมาก็ไม่เหลือสักเนื้อที่ ข้อจำกัดข้อเก่าที่เรามี จึงถูกตีกรอบกฎกำหนดชัด แต่ในกรอบขอบคั่นอันคับแคบ ดูเหมือนแทบย่ำแย่เพราะแออัด กำแพงรั้วหลังโรงเรียนติดรั้ววัด ยังพอจัดพื้นที่สีเขียวเติม” ฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้อรรถรสชัดเจน มีบทเด่น เช่น เงินทองของแม่ อาณาจักรแห่งลมหายใจ เป็นต้น
ตอนที่ 3 ป่าใจ ประกอบด้วยผลงาน 15 สำนวน เป็นการบอกเล่าจิตสำนึกภายในของกวี “ปลูกต้นจิตสำนึกให้ลึกสุด เริ่มต้นที่จิตมนุษย์ใช่ใครอื่น เพื่อให้พอต่อหวังอย่างยั่งยืน ก่อนขมขื่นเกาะกินแผ่นดินใจ เอาน้ำใจน้ำรินแผ่นดินชุ่ม ความอาทรปกคลุมต้นกล้าใหม่ รานเหยียดหยัดต้นทะยานแผ่ก้านใบ แย้มดอกไม้ช่อผลบนลานรัก” มีอีกหลายบทกลอนที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกได้ว่า “โลกเรานั้นมีสีทอง คืออาทิตย์ฉายส่องจากห้องสวรรค์ ปลุกชีวิตให้ฟื้นตื่นชีวัน จุดไฟฝันทอประกายสายลมบน” สามารถใช้รสคำรสความได้อย่างเหมาะสมพอสมควร
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หัวใจป่า” ผลงานของ พล พิมพ์โพธิ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2564
“ฮ่วงเฮ้า” โดย “คำเมือง ราวะรินทร์” สาระฅนสำนักพิมพ์
กวีนิพนธ์เรื่อง “ฮ่วงเฮ้า” ผู้ประพันธ์เรียกผลงานชุดนี้ว่าเป็น “คันธชาตินิพนธ์ภาษาไทยถิ่นอีสาน” ของ คำเมือง ราวะรินทร์ เป็นรวมบทกวีที่ประพันธ์ด้วยภาษาไทยถิ่นอีสาน ตามขนบวรรณศิลป์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอีสาน นำเสนอภาพวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยพื้นถิ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติ ด้วยลีลาทางวรรณศิลป์ โดยนำคำต่าง ๆ มาเรียงร้อยตามลำดับอักษร พร้อมอธิบายศัพท์อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังจดจารกวีนิพนธ์นี้ด้วยอักษรธรรมแบบอีสาน ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต พร้อม ๆ ไปกับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาถิ่น ฉันทลักษณ์โบราณที่นับวันจะถูกลืมและสูญหายไป จึงกล่าวได้ว่าผู้ประพันธ์มีความวิริยะอุตสาหะและปณิธานแรงกล้าในการสืบสานมรดกวัฒนธรรมทางหนังสือที่กำลังจะสูญหายไป
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้ คำเมือง ราวะรินทร์ ผู้ประพันธ์ “ฮ่วงเฮ้า” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบ วรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย
ทั้งนี้ ในหมวดกวีนิพนธ์ คณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กวีซีไรต์ (ประธานคณะกรรมการตัดสิน) นางนิภา ทองถาวร ประธานสถาบันกวีนิพนธ์ไทย นายยุทธโต อดิเทพย์ ที่ปรึกษาสถาบันกวีนิพนธ์ไทย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ กวีซีไรต์ นายเจน สงสมพันธุ์ ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และนายพินิจ นิลรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยมีนางสาวกรองกาญจน์ ถนอมพล กรรมการบริหารสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ เป็นเลขานุการคณะกรรมการตัดสิน
Link ที่เกี่ยวข้อง
คำต่อคำจากกรรมการ "นวนิยาย" เซเว่นบุ๊คอวอร์ด
คำต่อคำจากกรรมการ "เรื่องสั้น" เซเว่นบุ๊คอวอร์ด
คำต่อคำจากกรรมการ "สารคดี" เซเว่นบุ๊คอวอร์ด