ขึ้นบัญชี “มรดกภูมิปัญญาฯ” 10 รายการ
ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมปี 67 จำนวน 10 รายการ พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติขับเคลื่อนเป็น Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จักระดับสากล
วันที่ 9 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ถือเป็นสมบัติของชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ วิถีชีวิต ความเชื่อและภูมิปัญญา ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนหล่อหลอมเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่งดงามและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล พร้อมทั้งเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ”
นายประสพ เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบันทึกองค์ความรู้และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน สำหรับปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้มีมติประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จำนวน 10 รายการ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน
1.1 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ ตำนานสุบินกุมาร จังหวัดนครปฐม
1.2 สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เพลงทรงเครื่อง จังหวัดชัยนาท
1.3 สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ผ้าเกาะโส้ จังหวัดนครพนม
1.4 สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ ยิงคันกระสุน จังหวัดอุทัยธานี
- รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2.1 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ (1) ตำนานพระนางสร้อยดอกหมาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ (2) ตำนานเขานางหงส์ จังหวัดพังงา
2.2 สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ เรือมอันเร จังหวัดสุรินทร์
2.3 สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ บุญเดือน 3 นมัสการพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
2.4 สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ เสื่อกกจันทบูร จังหวัดจันทบุรี และผ้าหม้อห้อม จังหวัดแพร่
นายประสพ กล่าวอีกว่า การขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ กระทรวงวัฒนธรรมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นรากฐานในการเสริมสร้างความภาคภูมิใจของชาติและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในอนาคต
ด้าน นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสริมว่าการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในครั้งนี้ นับเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยบันทึกหลักฐานและสาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความภาคภูมิใจแก่ชุมชน องค์กร และหน่วยงานที่มีบทบาทในการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ นอกจากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูล อาทิ นิทรรศการ การแสดง และการสาธิตทางวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมทั้งวรรณกรรมพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม ตลอดจนพิธีกรรมและเทศกาลที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อันจะเป็นการส่งเสริมให้มรดกภูมิปัญญาของชาติได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภายในงานทุกท่านจะได้รับชมการแสดงทางวัฒนธรรม ชุด “เรือมอันเร” จากจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีระดับชาติในปีพุทธศักราช 2567 ในครั้งนี้ เป็นการแสดงทางวัฒนธรรมของอีสานใต้ที่หาชมได้ยากและมีความสนุกสนานรื่นเริง รวมถึงรับชมวีดิทัศน์การประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2567 จำนวน 9 จังหวัด 10 ชุมชน และเพลิดเพลินกับการเยี่ยมชมนิทรรศการและการสาธิตทางวัฒนธรรม “รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2567 จำนวน 10 รายการ”