‘ยา - นวัตกรรม’ ความหวัง ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’ ระยะลุกลาม !
‘ยา - นวัตกรรม’ ความหวัง ‘ผู้ป่วยมะเร็งตับ’ ระยะลุกลาม !
“ยา – นวัตกรรม” ความหวัง “ผู้ป่วยมะเร็งตับ” ระยะลุกลาม เร่งผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ทุกคนเข้าถึงเป็นสิทธิการรักษาที่เท่าเทียม
มะเร็งตับปัญหาท้าทายระบบสาธารณสุขไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิรักษ์ตับ พร้อมด้วยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ร่วมรณรงค์ลดอัตราการเสียชีวิต เรียกร้องพิจารณา ยา – นวัตกรรม เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุเป็นความหวังผู้ป่วยมะเร็ง ชี้รัฐบาลต้องจริงจัง มองผู้ป่วยทุกคนมีคุณค่า มีสิทธิเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียม วอนรัฐปรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกยาสอดคล้องการเปลี่ยนแปลงโลก
รศ.นพ. ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่าปัญหาโรคมะเร็งส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ จากข้อมูลสถิติเมื่อปี 2565 พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเกิดใหม่รวม 183,541 ราย จากจำนวนประชากรรวม 70,078,198 คน
รศ.นพ. ธีรภัทร อึ้งตระกูล
“มะเร็งตับ เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 จากโรคมะเร็งทั้งหมด และติดอันดับ 4 ของโลกรองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 27,963 ราย/ปี คิดเป็นร้อยละ 15.2 และในทุก ๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิต 3 ราย และทุก ๆ วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับ จำนวน 74 ราย”
ทั้งนี้ มะเร็งตับมี 2 ชนิด คือ มะเร็งเซลล์ตับ สาเหตุของมะเร็งเซลล์ตับคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี การดื่มแอลกอฮอลล์ และโรคอ้วนหรือไขมันพอกตับ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของโรคมะเร็งตับ และอีกร้อยละ 40 คือมะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็ง คือ การตรวจคัดกรองให้เจอ และรักษาได้ตั้งแต่เป็นโรคระยะเริ่มต้น แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน
“ปัจจุบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘ยกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล’ หรือ ‘AICEDA LIVER’ โดยสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่ออ่านผลการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นการตรวจจับรอยโรคด้วยภาพอัลตราซาวด์สองมิติโดยอัตโนมัติ โดยได้ทำโครงการนำร่องที่ อ. บ้านหลวง จ.น่าน ซึ่งมีปัญหาการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ ปัจจุบันมีชาวบ้านที่ได้รับการตรวจคัดกรองประมาณ 2,000 คน โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรองทุก 6 – 12 เดือน”
สำหรับ การตรวจคัดกรองดังกล่าว แปลผลด้วยเอไอภายใน 1.30 นาที มีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 90 ช่วยลดระยะเวลารอผลตรวจในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนแพทย์ผู้ตรวจ ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการอ่าน และประเมินผล ดังนั้น จึงต้องพัฒนาบุคลากรเข้ามาเสริมด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาเอไอ ให้มีความสามารถ และมีความแม่นยำมากขึ้น
มะเร็งตับตรวจพบในระยะลุกลามรักษายาก
ด้าน แพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งตับสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือ ผู้ป่วยจะตรวจพบและเข้าสู่การรักษาเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม และมีความยากในการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาและการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีอายุขัยอยู่ที่ประมาณ 4; -8 เดือน
พญ. จอมธนา ศิริไพบูลย์
ดังนั้น นอกจากการตรวจคัดกรองแล้ว การรักษาก็สำคัญเช่นกัน ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลามสามารถมีทางเลือกการรักษาที่ดีอย่าง ยา - นวัตกรรม ที่ช่วยชะลอการลุกลามของโรค ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระหว่างการรักษา แต่ผู้ป่วยยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ การบรรจุรายการ ยา – นวัตกรรม ให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นทางออกหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เป็นการยกระดับคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทย โดยทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพโดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ
มะเร็งตับระยะลุกลาม รักษาได้ด้วย ยา - นวัตกรรม
นายแพทย์จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลหนองคาย และตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะลุกลามรักษาได้ด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นยากิน และยาภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด (Immunotherapy + Anti-angiogenesis) ซึ่งเป็นยาฉีด จากการศึกษาพบว่า ยามุ่งเป้าช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เฉลี่ย 13 เดือน ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับยายับยั้งการสร้างหลอดเลือด ช่วยยืดชีวิตได้เฉลี่ยประมาณ 19 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาในการรักษาจะเสียชีวิตภายใน 3 - 6 เดือนหลังจากตรวจพบว่า เป็นมะเร็งตับระยะลุกลาม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะลุกลาม มักจะมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในหลาย ๆ ครั้ง สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ระบบสาธารณสุข และเพิ่มภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์
“ค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย ยา – นวัตกรรม อาจจะดูว่า สูง แต่การรักษาแบบเดิมเมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผลลัพธ์ทางคลินิก การรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีต้นทุนโดยรวมอาจสูงมากไม่แพ้กัน ทั้งค่ายา ค่าห้องและอุปกรณ์ในห้อง ICU ค่าเครื่องช่วยหายใจ ค่าฟอกไต รวมถึงต้นทุนด้านบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์อื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย”
กองทุนมะเร็ง = ก้าวแห่งความหวัง
แพทย์หญิงจอมธนา กล่าวเสริมว่า ยามุ่งเป้า ได้รับการขึ้นทะเบียนยามาตั้งแต่ปี 2551 ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัด ได้รับการขึ้นทะเบียนยาเมื่อปี 2563 แต่การเข้าถึงสิทธิในการรักษา มีเพียงผู้ป่วยในบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงยามุ่งเป้าได้ ในขณะที่ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยังไม่ได้รับการบรรจุในสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนไทยโดยส่วนใหญ่
“การจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง เป็นอีกแนวคิดที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศึกษาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางเพิ่มโอกาสในการช่วยเพิ่มเข้าถึงยานวัตกรรมที่จำเป็นได้เร็วและครอบคลุมมากขึ้น โดยเรียนรู้จากโมเดลที่มีการดำเนินการจริงในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี และไต้หวัน สำหรับประเทศไทยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแนวคิด วิธีการมาปรับใช้ตามบริบทของประเทศไทยอย่างเหมาะสม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ”
แพทย์หญิงจอมธนา กล่าวว่า แม้ว่า ขณะนี้จะยังไม่สามารถจัดตั้งกองทุนยามะเร็งที่เป็นรูปธรรม แต่ได้แสดงให้เห็นความพยายามหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา ช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วน หันมาให้ความสำคัญและบูรณาการความร่วมมือ เพราะหากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งตับก็จะยังอยู่กับการแบบรักษาแบบเดิม ๆ ไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและ ยา - นวัตกรรม อัตราการเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“คุ้ม” “ไม่คุ้ม” วัดจากอะไร
คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับการรักษาด้วย ยา - นวัตกรรม เพราะยังไม่มีการพิจารณาบรรจุ ยา – นวัตกรรม ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงได้ เพราะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน
ทั้งนี้ ภาครัฐใช้เกณฑ์เดียวกันในการพิจารณา ทั้งยาทั่วไปและ ยา - นวัตกรรม ซึ่งดูจากความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเทียบกับชีวิตที่ยืนยาวร่วมกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย ขณะนี้ไทยกำหนดเพดานความคุ้มค่าไว้ที่ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ ที่รัฐมองว่าสมเหตุสมผลในการช่วยเหลือผู้ป่วย เนื่องจาก ยา – นวัตกรรม บางประเภท โดยเฉพาะยาที่มีต้นทุนสูง อาจมีราคาสูงและทำให้ไม่สามารถผ่านเกณฑ์นี้ ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ผ่านระบบประกันสุขภาพภาครัฐได้
“คำว่า คุ้มค่า ไม่คุ้มค่า อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ซึ่งความคุ้มค่าของแต่ละคนไม่เท่ากัน สำหรับผู้ป่วยและญาติ ยานวัตกรรม คือ ‘ความหวัง’ ขอให้มองว่า การที่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอีก 1 ปี หรือ 2 ปีมีความหมายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับตัวผู้ป่วยเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัว คนที่รัก และสังคม”
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรพิจารณาปรับเกณฑ์ให้ทันสมัยสอดคล้องกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความคุ้มค่าทางสุขภาพและเศรษฐศาสตร์ กับความคุ้มค่าของการต่อชีวิต เทียบกันไม่ได้ ซึ่งการจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนคือ หากภาครัฐเปิดโอกาสให้มีเกณฑ์การพิจารณา ยา – นวัตกรรม ที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึง ยา – นวัตกรรม มากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาที่ให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นแก่ผู้ป่วย
“ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ คนไข้ก็มีโอกาสเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนรอบข้าง เป็นมูลค่าทางจิตใจที่วัดค่าความเสียหายเป็นตัวเลขไม่ได้เลย”
//...................