อันตราย ! ก้มยกของหนักผิดท่า เสี่ยง ‘หมอนรองกระดูกปลิ้น’

อันตราย ! ก้มยกของหนักผิดท่า เสี่ยง ‘หมอนรองกระดูกปลิ้น’

 

              ยกของหนักผิดท่า ! เสี่ยง “หมอนรองกระดูกปลิ้นไม่รู้ตัว” เตือน เร่งปรับพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้

 

              กระดูกสันหลัง เปรียบเสมือนแกนหลักของร่างกาย ที่คอยรับน้ำหนักตัวเรา และค้ำจุนการเคลื่อนไหว โดยปกติกระดูกสันหลังจะเสื่อมตามอายุ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ยกของหนัก นั่งผิดท่า นั่งนาน ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยได้

 

 

 

              นพ.วิศิษฐ์ แซ่ล้อ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่า 1 ในสาเหตที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ก็คือการก้มตัวไปหยิบของ หรือก้มแล้วยกของที่หนักในลักษณะท่าทางที่ผิด เพราะในคนที่ทำอยู่ซ้ำ ๆ เป็นประจำอาจมีความเสี่ยงที่เปลือกหุ้มหมอนรองกระดูกแตก ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทได้

 

              นพ.วิศิษฐ์ ระบุว่า ท่ายกของหนักที่ถูกต้อง ให้เปรียบเทียบจากนักยกน้ำหนักในกีฬาที่เราเห็นกันทั่ว ๆ ไป โดยหลักการของนักยกน้ำหนักที่ถูกต้องคือหลังตรง ใช้การย่อของข้อเข่าและสะโพกลงไป แล้วก็ยกน้ำหนักให้หลังตรง แต่ในทางกลับกัน ท่าการยกน้ำหนักไม่ใช่ท่าที่เราคุ้นเคยที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็มักจะใช้การก้มหลังลงไป ซึ่งจังหวะนั้นเอง จะทำให้เกิดแรงดันต่อหมอนรองกระดูกด้านหลัง และในอนาคต อาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกที่อยู่ภายใน เคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทได้

 

 

 

              ทั้งนี้ สามารถเช็กความเสี่ยงจากอาการปวดหลังของตัวเองได้ เช่นกรณีที่ 1 ถ้าก้มและรู้สึกตึงหลัง แต่ยังไม่ร้าวลงขา กรณีนี้อาจเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อได้ และกรณีที่ 2 หากไปยกของหนักแล้วมีอาการร้าวลงขา อันนี้ใกล้เคียงกับปัญหาที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท ที่ไม่เหมือนกับกรณีแรก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ ในกรณีนี้ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

 

              นพ.วิศิษฐ์ กล่าวว่า โดยทั่วไป แพทย์มักจะเริ่มต้นด้วยการตรวจ X-ray เพื่อดูโครงสร้างกระดูกสันหลังและตรวจหาความผิดปกติเบื้องต้น เช่น กระดูกแตกหัก หรือกระดูกเสื่อม แต่หากอาการปวดหลังของคุณมีอาการปวดร้าวลงขา มีอาการชาหรืออ่อนแรง สงสัยว่า มีปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกเส้นประสาท แพทย์อาจพิจารณาให้ทำ MRI เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น

 

              “การ X-ray ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูก MRI ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อเยื่อและระบบประสาท การใช้ข้อมูลจากทั้งสองวิธีร่วมกัน ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด”

 

 

 

             นพ.วิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงในการอ่านและแปลผล X-ray และ MRI รวมทั้งยังมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำสูง โดยการรักษาปัจจุบัน โรงพยาบาลเอส สไปน์ ได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยมาใช้ในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการบาดเจ็บหลังการรักษาแล้ว ยังช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาลอีกด้วย

 

              อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากเดินทางไปถึงจุดที่ต้องผ่าตัด แนะให้ปรับพฤติกรรม เช่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนักตัว ก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันจะชะลอความเสื่อมได้ และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรก้มยกในท่าที่ถูกต้อง

 

              โรงพยาบาลเอส สไปน์  ปรึกษา โทร.02 034 0808

 

//.......................