สพภ. ร่วมกิจกรรม กปภ. ปลูกป่าเพื่อแผ่นดินฯ
สพภ. ร่วมกิจกรรม กปภ. ปลูกป่าเพื่อแผ่นดิน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโครงการรวมพลังจิตอาสา กปภ. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ร่วมกิจกรรม กปภ.ปลูกป่าเพื่อแผ่นดิน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และโครงการรวมพลังจิตอาสา กปภ. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ นำโดย นายสุวีร์ งานดี รองผู้อำนวยการ สพภ. ร่วมกล่าวรายงานผลการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมด้วย นางสาวพักตร์พิมล โชคดีปรีชากุล ผู้อำนวยการสำนักเผยแพร่และส่งเสริมการมีส่วนร่วม นายชัยรัตน์ บุญนาค เจ้าหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ชำนาญการพิเศษ) และเจ้าหน้าที่ สพภ. ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เป็นประธานในพิธีเปิด และ นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ มีหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ หน่วยป้องกันและรักษาป่า เชียงใหม่ 9 ดอยสะเก็ด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านบ้านป่าสักงาม รวมประมาณ 200 ท่าน โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ การวางโก๋นผึ้งเพื่อเพิ่มความสมดุลในระบบนิเวศ และการปลูกต้นไม้เสริมบริเวณพื้นที่ป่าชุมชน การดำเนินกิจกรรมการตอบแทนคุณระบบนิเวศตามหลักการ PES ในพื้นที่บ้านป่าสักงาม เริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โดย การประปาส่วนภูมิภาค เริ่มกระบวนการชุมชนเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากบ้านป่าสักงามเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อกิจการหลักของการประปาส่วนภูมิภาค เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา โดย สพภ. เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่ และเริ่มดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ถือเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากความความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป
จากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เห็นถึงความตระหนักต่อความรับผิดในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของทุกภาคส่วนอีกด้วย