IRRI จัดประชุมเสริมแกร่ง 'ตลาดข้าวไทย' ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

IRRI จัดประชุม "การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย" ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับการปลูกข้าวในประเทศไทย


          ขณะที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute หรือ IRRI) ได้จัดการประชุมนโยบายในหัวข้อ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย: เรียนรู้จากโครงการ Thai Rice NAMA” (Strengthening Thailand’s Low-Emission Rice Market: Learnings from the Thai Rice NAMA Project) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยเวทีนโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในประเทศไทย รวมทั้งแสดงให้เห็นว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ลงทุนในเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนนำเสนอกลยุทธ์การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานสำหรับข้าวไทย

 

 

          การประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักกว่า 80 ราย ซึ่งรวมถึงผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนผู้แทนภาคเอกชน

 



          ดร.บียอร์น โอเล ซานเดอร์ ผู้แทน IRRI ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากภาคพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โครงการ Thai Rice NAMA เปิดตัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 กำลังเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกในวงกว้างนั้นเป็นไปได้ โครงการริเริ่มนี้ใช้กลยุทธ์สามส่วน (A tri-fold strategy) ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ บริการเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบ และการพัฒนานโยบายและมาตรการสนับสนุน

 

  

 

          “สำหรับโครงการ ‘Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ Thai Rice NAMA โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) มีกำหนดเริ่มในปี 2567 ทั้งนี้ โครงการ 'Thai Rice GCF' จะสานต่อวัตถุประสงค์ของโครงการก่อนหน้า โดยวางเป้าหมายไปที่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงข้าวไทยด้วยการใช้กลยุทธ์การปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบ โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การเสริมศักยภาพให้เกษตรกรรายย่อยที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจและทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่โครงการคาดหวัง คือ การปล่อยก๊าซมีเทนและการใช้น้ำในการปลูกข้าวที่ลดต่ำลง เพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” ดร. ซานเดอร์ กล่าวเพิ่มเติม

 

 

          ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เวทีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), และภาคีจากหน่วยงานกระทรวงต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวลดโลกร้อนต่างๆ การประชุมในวันนี้เป็นเวทีให้นักวิจัย นักนโยบาย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมารับรู้ แลกเปลี่ยน และเสนอข้อเสนอแนะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการตรวจวัด (Measurement) รายงาน (Reporting) และทวนสอบ (Verification) หรือที่เรียกว่าระบบ MRV ซึ่งสามารถนำไปสู่การเชื่อมโยงกับตลาด สร้างความเข้าใจ และเพิ่มมูลค่าของการผลิตข้าวโดยการลดโลกร้อน

          “ระบบ MRV ถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ดีขึ้นในเรื่องแนวปฏิบัติในการผลิตข้าว ช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกับตลาด ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับการผลิตข้าวผ่านการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญก็คือในการประชุมวันนี้มีสัมมนาในหัวข้อระบบ MRV ในบริบทการผลิตข้าว เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” ดร.ชิษณุชา กล่าวย้ำ

 


 

          โครงการ Thai Rice NAMA ถือเป็นโครงการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวในประเทศไทย ข้อมูลเชิงลึกและบทเรียนจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาและเสริมพลังให้กับโครงการ Thai Rice GCF ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การมุ่งเน้นไปที่ระบบ MRV ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำขั้นสูง แสดงให้เห็นว่าโครงการ Thai Rice GCF มุ่งมั่นที่จะสร้างความก้าวหน้าในเกษตรกรรมยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติที่ชาญฉลาดด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงในวงการข้าวของประเทศไทย