ยกย่อง “รุ่งมณี เมฆโสภณ” รางวัลศรีบูรพา - “คมทวน คันธนู” รางวัลรพีพร

“กองทุนศรีบูรพา” ประกาศยกย่อง “รุ่งมณี เมฆโสภณ” ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี 2567 ด้าน “คมทวน คันธนู” ได้รับ “รางวัลรพีพร”  

          คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง จัดงานครบรอบชาตกาต 119 ปี “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยในภาคเช้ามีการทำบุญ ณ บ้านศรีบูรพา และภาคบ่ายมีกิจกรรมเสวนา อ่านบทกวี และประกาศผล “รางวัลศรีบูรพา” และ “รางวัลรพีพร” ประจำปี 2567 ณ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง

 

 

          นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และประธานกองทุนศรีบูรพา ประกาศผล “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี 2567 ได้แก่ ได้แก่ นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ  ซึ่งนับว่าได้รับรางวัลเป็นคนที่ 34 ขณะที่ “รางวัลรพีพร” ประจำปี 2567 ได้แก่ นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร  นามปากกา “คมทวน คันธนู”

 

 

          นางชมัยภร ได้กล่าวถึงที่มาของ “รางวัลศรีบูรพา” ว่า รางวัลศรีบูรพาก่อตั้งขึ้นโดยนายสุวัฒน์ วรดิลก  หรือ “รพีพร” เมื่อปี 2531 เพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของนายกุหลาบ  สายประดิษฐ์ - “ศรีบูรพา” (พ.ศ.2448-2517) นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก  มอบสำหรับศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์  ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงาม และแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาดังนี้

        1. เป็นนักคิด นักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ผู้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์งานที่เป็นต้นแบบ หรือเป็นแบบฉบับที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อย่างเช่น “ศรีบูรพา”

        2. มีผลงานติดต่อกันมายาวนานกว่า ๓๐ ปี และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

        3. ยังมีชีวิตอยู่

        นักเขียนผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเป็นคนแรก คือ นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์)  และมีผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวม 33 คน  และมีผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ  รวม  9 คน โดยผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาจะได้รับโล่รางวัล  และเงินจำนวน 50,000 บาท  ส่วนผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ จะได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ

 

 

          ประธานกองทุนศรีบูรพา ยังได้กล่าวถึงที่มาของ “รางรพีพร” โดยสรุปว่า เมื่อวัยหนุ่ม  “นายสุวัฒน์ วรดิลก” หรือ “พี่อู๊ด” เคยล้มป่วยเป็นวัณโรคถึงอาเจียนเป็นเลือด  แต่ยังต้องเขียนหนังสือส่งต้นฉบับเพื่อช่วยแม่เลี้ยงดูน้อง ๆ หลังจากที่แม่แยกทางกับพ่อ  ดังนั้น  ต่อมา เมื่อเป็นนักเขียนเต็มตัว  เขาจึงพร้อมช่วยเพื่อนเสมอ  นั่นเป็นเหตุให้เขาจัดงานในปี 2511 พื่อหาเงินช่วยนักเขียนป่วยหนักนาม “เลียว ศรีเสวก” หรือ “อรวรรณ” และใครต่อใครก็มักได้ยินเขาปรารภถึงเรื่องการจัดหาเงินสวัสดิการช่วยนักเขียนเสมอ ๆ  และในสามสี่ปีหลังก่อนเสียชีวิต  เขาดำริจะให้มีรางวัลรพีพร โดยมูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน ที่เขาหาเงินก่อตั้งขึ้นมา  แต่กลับเสียชีวิตไปก่อน 

          ปี 2551 มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียนฯ จึงได้จัดให้มีการคัดเลือกนักเขียนเพื่อมอบรางวัลรพีพรขึ้น  โดยดำเนินการตามเจตจำนงของสุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” อย่างแน่วแน่ นั่นคือ ให้กำลังใจนักเขียนที่มีใจเป็นนักเขียนจริงแท้  โดยไม่มีเงื่อนไข  โดยกำหนดให้มีการมอบรางวัลทุก 2 ปี รางวัลละ 100,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้ ปี 2551 นายมาโนช  พรหมสิงห์, ปี 2553 นายจำลอง  ฝั่งชลจิตร, ปี 2555 นายมหรรณพ  โฉมเฉลา, ปี 2557 นางศศิวิมล นัทธี สุระเดชชะมงคล, ปี 2559 นายธารา  ศรีอนุรักษ์, ปี 2561 นายสมคิด สิงสง และได้หยุดดำเนินการไป  เนื่องจากมูลนิธิฯไม่มีงบประมาณเพียงพอ

 

 

          ต่อมา ในปี 2566 เป็นวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี “รพีพร” สุวัฒน์ วรดิลก  กองทุนศรีบูรพา ซึ่งเป็นกองทุนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2531 โดยสุวัฒน์ วรดิลกเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของศรีบูรพา  ดังนั้น  คณะกรรมการกองทุนฯ  เล็งเห็นความสัมพันธ์ของนักเขียนรุ่นน้องที่มีต่อรุ่นพี่ผู้ล่วงลับ  จึงจัดงานฉลองในวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี รพีพร - สุวัฒน์ วรดิลก อย่างยิ่งใหญ่ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และในปี 2567 นี้ กองทุนศรีบูรพา เห็นสมควรดำเนินงานมอบรางวัลรพีพรต่อจากที่เคยทำมา  โดยยังคงปณิธานของนายสุวัฒน์ วรดิลก ที่ว่า เป็นการให้ทุนเพื่อให้นักเขียนสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างมีความสุข และได้ปรับเป็นการมอบรางวัลทุกปี  ปีละ 50,000 บาท  โดยคงหลักการเดิม คือ

        1. เป็นนักเขียนอิสระ

        2. มีผลงานคุณภาพ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการวรรณกรรม

        3. เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพื่อสังคม  ในแนวทางเดียวกับสุวัฒน์ วรดิลก

        4. ยังมีชีวิตอยู่ และยังสร้างสรรค์งานอยู่ในปัจจุบัน

          ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นในงาน “วันนักเขียน” ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดจัดงาน 4 พฤษภาคม 2567