UNFPA ผนึกเครือข่ายไทย-ลาว จัดกิจกรรม “วิ่งข้ามโขง”
UNFPA ผนึกเครือข่ายไทย-ลาว จัดกิจกรรม “วิ่งข้ามโขง” เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
UNFPA ประจำประเทศไทย ร่วมกับ UN Women UNDP พร้อมด้วยองค์กรภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “วิ่งข้ามโขง” บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเมืองห้วยทราย สปป.ลาว เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศริมแม่น้ำโขง และร่วมรณรงค์การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศพร้อมกันทั่วโลก 16 วัน (16-day of Activism Against Gender-Based Violence) ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมของทุกปี
ดร. โอซา ทอคิลส์สัน (Dr. Asa Torkelsson) ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย และผู้แทนประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า UNFPA ได้ขับเคลื่อนงานที่มีเป้าหมายเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในพื้นที่ต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ ได้นำ “คริสติน่า อากีล่าร์” Champion of UNFPA เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดเชียงราย เพื่อยกระดับความร่วมมือการแก้ปัญหาสุขภาพในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง UNFPA ประจำประเทศไทยและจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง
UNFPA ร่วมจัดงานและเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งข้ามโขง ที่อำเภอเชียงของจัดขึ้นเป็นปีที่สองเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศริมแม่น้ำโขง และเพื่อการรณรงค์การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบต่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม โดยเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการดำเนินกิจกรรมสากลในการรณรงค์ยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบเป็นเวลา 16 วัน ทั่วโลก (16-day of Activism Against Gender-Based Violence) โดยในปีนี้งานวิ่งข้ามโขงจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2566 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเมืองห้วยทราย สปป.ลาว นอกจากนั้น UNFPA ประจำประเทศไทยและตัวแทนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหพันธ์แม่หญิงและโรงพยาบาลบ่อแก้ว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหารือแนวทางร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและ สปป.ลาว ในประเด็นการช่วยเหลือและสนับสนุนการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
ดร. โอซา กล่าวด้วยว่า กิจกรรมในช่วงเวลาของ 16 วันแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงทางเพศ เป็นการรณรงค์ที่นำโดยภาครัฐ ภาคประชาสังคมและประชาคมระหว่างประเทศซึ่งจัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) และสิ้นสุดลงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล โดนองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพิ่มความตระหนักรู้ กระตุ้นความพยายามในการรณรงค์ และแบ่งปันความรู้และนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในการต่อสู้กับความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศในทุกรูปแบบ
“หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงประมาณ 1 ใน 3 ทั่วโลกในช่วงชีวิตของพวกเธอถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย รวมถึงความรุนแรงทางเพศทั้งจากคู่ครองของตนเองและไม่ใช่คู่ครอง ขณะที่ในประเทศไทย 1 ใน 2 ของ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับจากผู้รอดชีวิตซึ่งออกมาขอความช่วยเหลือ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงจำนวนหนึ่งตัดสินใจนิ่งเงียบ มีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว และไม่กล้าพอที่จะเปิดเผยเรื่องราว ดังนั้นแคมเปญของ UNFPA จึงขับเคลื่อนเผื่อสร้างความตระหนักและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยความร่วมมือและประสานงานผ่านหน่วยงานต่างๆ และต้องขอขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงาน ที่อุทิศตนเพื่อร่วมกันป้องกันและขจัดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่จะเกิดขึ้นต่อทุกเพศและทุกกลุ่มชาติพันธุ์ UNFPA พร้อมเสมอที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศในชุมชน รวมทั้งเป็นต้นแบบในการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อผู้คนทั้งในประเทศและที่อื่นๆ ทั่วโลก” ดร. โอซา กล่าวย้ำ
ด้าน นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า อำเภอเชียงของเป็นอำเภอเล็กที่มีความสวยงาม ทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยายามร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซันส์ ซึ่งในครั้งนี้ก็มีทั้งมิวสิคเฟสติวัลและเดินวิ่งข้ามโขง อยากให้ทุกคนได้ร่วมดื่มด่ำไปกับบรรยากาศที่มีทั้งความสวยงามและความหลากหลาย ทั้งที่พัก อาหารการกิน ที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนที่นี่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เพื่อกระจายรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สิ่งสำคัญที่สุดของความสำเร็จในงานครั้งนี้คือการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และความร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าทุกคนจะมีความสุขที่ได้มาเยือนอำเภอเชียงของ
ในโอกาสนี้ กลุ่มเยาวชน วัยรุ่นชาติพันธุ์ในเชียงรายได้นำเสนอแนวทางยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงซึ่งเป็นหนึ่งในความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในงาน Kilo Run ด้วย โดยเรียกร้องให้ส่งเสริมกิจกรรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กในการจัดการปัญหาในการดูแลเด็กด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ใช้เหตุผลแทนความรุนแรง ให้ดูแลเด็กและเยาวชนทั้งทางกาย ใจ และให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้าง ส่งเสริมศักยภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวเพื่อร่วมมีบทบาท มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ มีทักษะการจัดการปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งให้มีระบบในการป้องกันส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กเพื่อป้องกันเด็กจากการถูกกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ และมีระบบบริการทางสังคมที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนมีมาตรการพิเศษสำหรับส่งต่อผู้ถูกกระทำและผู้ถูกและผู้กระทำความรุนแรงให้ได้รับความช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟูเยียวยาอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีช่องทางการเข้าถึงการช่วยเหลือการร้องทุกข์และแรงงานความรุนแรงที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ กิจกรรม “วิ่งข้ามโขง” ประจำปี 2023 เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเมืองห้วยทราย สปป.ลาว มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยมีกิจกรรมการวิ่งที่หลากหลาย อาทิ KILO RUN 2023 เดินวิ่งกินช้อป พร้อมมอบรางวัลให้นักวิ่งที่มีน้ำหนักมากขึ้นอย่างน้อย 1 กิโลกรัม การวิ่ง Half Marathon 21 Km. Extra Mini Marathon 14 Km. และ Fun Run 5 Km.