สัญญาณ !! ‘โรคต้อกระจก’ !!

สัญญาณ !! ‘โรคต้อกระจก’ !!

 

              ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ แต่ดวงตาที่ใช้งานมานาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จะมีอาการเสื่อมถอยจากส่วนต่าง ๆ ของลูกตา หนึ่งในนั้นคือ เลนส์ตา ซึ่งก็คือภาวะต้อกระจก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และหากไม่รักษาอย่างจริงจังก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียการมองเห็นได้

 

              พญ.ปนียา ตปนียางกูร จักษุวิทยาต้อหิน ศูนย์ตา (Eye Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายถึงสัญญาณโรค สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่พบอาการของโรคแล้ว

 

              ทั้งนี้ ควรหมั่นสังเกตการมองเห็นของเราและคนใกล้ตัว เมื่อเริ่มรู้สึกว่าตามัว มองไม่ชัดเจน หรือเห็นแสงแตกกระจายในขณะขับรถ ถึงแม้จะใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ก็ไม่หาย อาจเป็นสัญญาณโรคต้อกระจก ที่เกิดจากภาวะเสื่อมของเลนส์ตา ส่วนใหญ่พบมากในผู้สูงอายุ และยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ ต้องรับการผ่าตัด

 

 

 

              อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจก ไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดทุกคน ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด ในรายที่เลนส์แก้วตาขุ่น มัว เป็นฝ้า บดบังการมองเห็น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เพราะหากปล่อยไว้นาน ตาจะมัวลงจนถึงขั้นมองไม่เห็น และอาจทำให้การผ่าตัดยาก และต้องเปิดแผลใหญ่ขึ้น หรืออาจรุนแรงจนทำให้ตาบอดได้

 

              อนึ่ง ต้อกระจก สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัด ทำให้สายตากลับมาดีเหมือนเดิม

 

              ท่านมีอาการเหล่านี้หรือไม่

 

              -ตามัว มองเห็นไม่ชัด

              -มองเห็นภาพเป็นเงาซ้อน

              -มองเห็นแสงไฟกระจายแตกเป็นแฉก

              -มองเห็นสีต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม

              -มีฝ้าขาว บริเวณกลางรูม่านตา

 

              อาการเหล่านี้ คือสัญญาณของโรคต้อกระจก สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัด

 

 

 

              ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร

 

              โรคต้อกระจก คือภาวะเสื่อมของเลนส์ตา เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในคนสูงอายุ เกิดจากการเสื่อมไปตามวัย พบว่าคนอายุมากกว่า 40 ปี ก็เริ่มมีภาวะต้อกระจกเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีอาการ

 

              สาเหตุการเกิดต้อกระจก

             

              -เกิดจากภาวะเสื่อมของเลนส์ตาที่เสื่อมไปตามวัย

              -เกิดในเด็กตั้งแต่แรกเกิด สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อบางชนิด หรือบางรายเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ

              -เกิดจากผลแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ เบาหวาน

              -เกิดจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์

              -เกิดจากอุบัติเหตุ ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา

              -การสูบบุหรี่และแสงจากดวงอาทิตย์สามารถกระตุ้นต้อกระจกให้เกิดเร็วขึ้นได้

 

              การรักษาโรคต้อกระจก

 

              ปัจจุบันยังไม่มียารับประทานหรือยาหยอดตาที่ใช้ป้องกันและรักษาต้อกระจกให้หายได้ แต่การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยเลนส์แก้วตาเทียมเป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เป็นการถาวรไม่มีวันหมดอายุ หรือไม่ต้องคอยเปลี่ยนใหม่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์แก้วตาเทียมมีหลายชนิดที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย และมีความปลอดภัยสูง

 

 

 

              การผ่าตัดต้อกระจกมี 2 ประเภท คือ

 

              1.การผ่าตัดแผลเล็ก หรือการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) วิธีนี้ จักษุแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวน์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาทำให้เนื้อเลนส์แก้วตาสลายเป็นชิ้นเล็กและดูดออกมา และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กสอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตา จึงทำให้มีแผลผ่าตัดเพียง 3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงหายเร็วขึ้น ทำให้สายตาชัดเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลงและกลับไปใช้ชีวิตได้เร็วขึ้น

 

              2.การผ่าตัดแผลใหญ่ (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE ) การผ่าตัดวิธีนี้มีการเปิดแผลใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อคลอดเอาเลนส์ออกมาทั้งชิ้น ทำให้ดวงตามีการกระทบกระเทือนมากกว่า ต้องพักฟื้นนานกว่า ทั้งสองวิธีสามารถใช้เลนส์เทียมเข้าทดแทนเลนส์เดิมที่ผ่าออกมาได้

 

              หากไม่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกจะเกิดอะไรขึ้น

 

              เมื่อปล่อยให้ต้อกระจกสุกเต็มที่(Mature Cataract) จะทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมากจนกระทั่งไม่สามารถใช้เทคนิคการผ่าแผลเล็กได้ จะต้องทำการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่แทน ถ้าต้อกระจกสุกเต็มที่จนกระทั่งถุงหุ้มเลนส์แตก อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของดวงตาได้ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน

 

              การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียม

 

              เลนส์แก้วตาเทียมมีหลายชนิด เพื่อแก้ปัญหาทางสายตาที่แตกต่างกัน ทำให้ภาพการมองเห็นที่ได้จากเลนส์แต่ละชนิดแตกต่างกันไปด้วย เรามาดูกันว่าเลนส์แต่ละชนิดทำให้การมองเห็นแตกต่างกันอย่างไร

 

              1.เลนส์มาตรฐานระยะเดียว (Monofocal IOL) เป็นเลนส์ที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการมองไกล ทำให้ผู้ป่วยมองไกลได้ชัดขึ้น แต่เวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ อาจต้องใส่แว่นมองใกล้เพิ่ม

 

              2.เลนส์หลายระยะ (Multifocal IOL) ใช้ดูได้ทั้งระยะใกล้และไกล

 

              3.เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) ในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่แล้วก่อนผ่าตัด เพื่อทำให้สายตาเอียงลดน้อยลง

 

              4.ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นจนสามารถสร้างเลนส์ที่แก้ไขค่าสายตาหลายระยะ รวมทั้งแก้ไขค่าสายตาเอียงได้พร้อมกันแล้วเรียกว่า Multifocal Toric IOL นั่นเอง

 

              หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ตา (Eye Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I https://www.navavej.com/

 

//..................