‘สงครามเศรษฐกิจ’ ต้องสู้จึงจะชนะ

‘สงครามเศรษฐกิจ’ ต้องสู้จึงจะชนะ

 

            หลังสู้ศึก “สงคราม โควิด-19” มายาวนาน จนต้อง “พักรบ” ชั่วคราว บัดนี้ ก็ถึงเวลาสู้ศึก “สงครามเศรษฐกิจ” กันอีกครั้ง

 

              กว่า 2 ปี ที่แทบจะทุกประการ ต้องชะงักงันหยุดนิ่ง ภายใต้การ “ปิดล้อม” ตัวเอง

 

              ทั้งหลายทั้งปวง แทบจะอยู่ในภาวะถดถอยอย่างสิ้นเชิง

 

              โดยเฉพาะเรื่องของ “สถานะทางเศรษฐกิจ” ทั้งของ “โลก” และทั้งของ “เรา”

 

              แทบจะทุกสำนักทั่วโลก ต่างคาดการณ์ตรงกันว่า “เศรษฐกิจโลก” ในปี 2566 มี “ความเสี่ยง” เข้าสู่ “ภาวะถดถอย” โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป

 

 

 

              ช่วงกลางปี 2565ที่ผ่านมา “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประกาศ “ปรับลด” ตัวเลขคาดการณ์การ “ขยายตัว” ของ “เศรษฐกิจโลก” ในปี 2565 และ ปี 2566

 

              และเตือนว่า “เศรษฐกิจโลก” มีแนวโน้มเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” จาก “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งขึ้น

 

              “ไอเอ็มเอฟ” ได้เปิดเผยรายงาน “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) โดยคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจโลก” จะมีการขยายตัว 3.2 % ในปี 2565 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.9 % ในปี 2566

 

              ทว่า ! ล่าสุด “ไอเอ็มเอฟ” ได้ “ปรับลด” ตัวเลขคาดการณ์การ “ขยายตัว” ของ “เศรษฐกิจโลก” ในปี 2566

 

              ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 % จากเดิมที่ร้อยละ 2.9 %

 

              “ไอเอ็มเอฟ” ระบุว่า เป็นการบ่งชี้การ “ขยายตัว” ที่ “อ่อนแอ” สุด นับตั้งแต่ปี 2544

 

              และยังระบุด้วยว่า “เศรษฐกิจโลก” มากกว่า 1 ใน 3 จะประสบกับ “ภาวะเศรษฐกิจหดตัว” ในปีนี้ หรือปีหน้า

 

              ชัดเจนว่า เมื่อ “เศรษฐกิจโลก” มีแนวโน้มเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ก็ย่อมส่งผลต่อ “เศรษฐกิจเรา”

 

              “กระทรวงการคลัง” ของ “ไทย” คาดการณ์การขยายตัว “เศรษฐกิจไทย” ปี2565 ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี เนื่องจากได้รับ “ปัจจัยสนับสนุนหลัก” จากการ “ฟื้นตัว” ของ “การบริโภคภาคเอกชน” และ “ภาคการท่องเที่ยว”

 

              เช่นเดียวกับ “การส่งออกสินค้า” ในปี2565 ก็ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

              นี่ทำให้ “กระทรวงการคลัง” คาดการณ์ “เศรษฐกิจไทย” ในปี 2566 ว่า จะขยายตัวเร่งขึ้น ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยได้แรงสนับสนุน จากการ “ฟื้นตัว” จาก “ภาคการท่องเที่ยว”

 

              และยังสนับสนุนให้ “การบริโภคภาคเอกชน” ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี

 

              ขณะที่ “การส่งออกสินค้า” มีแนวโน้มชะลอลง ตามอุปสงค์ในตลาดโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้า จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี

 

              รวมถึง “การลงทุนภาคเอกชน” จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี

 

            นี่ดูคล้ายกับเป็น “มุมมองด้านบวก” จากการมอง “เรา” ทว่า ! เมื่อทอดสายตาผ่านการมอง “โลก” ก็กลับสะท้อนถึงความกังวลต่อ “ปัจจัยลบ” ที่มีต่อ “เศรษฐกิจโลก”

 

              ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการดำเนิน “นโยบายการเงิน” ที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก , ปัญหา “อัตราดอกเบี้ย” , สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” , การ “ชะลอตัว” ของ “เศรษฐกิจโลก” และ “ความเสี่ยง” ฯลฯ

 

              นี่คือ “สงครามเศรษฐกิจ” ครั้งใหม่ ที่รอการ “เผชิญหน้า” อย่างท้าทาย

 

            และถ้าไม่อยาก “พ่ายแพ้” อย่างสิ้นเชิง ก็มีแต่ “ต้องสู้” อย่างถึงที่สุดเท่านั้น...

 





 
สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ

 

//...................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//...................