รับมือ ‘โรคซึมเศร้า MDD’ คืนความสุข ให้ชีวิต !!

รับมือ ‘โรคซึมเศร้า MDD’ คืนความสุข ให้ชีวิต !!

 

              ปัจจุบัน เราได้ยินคนพูดถึง “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้น แต่สาเหตุหรือปัจจัยใด ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ความเศร้าที่มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว ให้กลายเป็นอาการของโรคซึมเศร้าขึ้นได้ พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายถึงอาการของโรคซึมเศร้า สาเหตุการเกิดโรค และวิธีการรักษา เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

              สำหรับ อารมณ์เศร้า เป็นอารมณ์พื้นฐานหนึ่งในหลายอารมณ์ ที่ทุกคนรู้จัก และเคยมีประสบการณ์ เกิดขึ้นตามปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ และอารมณ์นั้น ก็เกิดขึ้นได้ หายได้ แต่หากอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นอยู่นานช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย จนรบกวนการใช้ชีวิตประจําวันด้านต่าง ๆ นั่นอาจหมายถึง โรคซึมเศร้า

 

 

 

              เกณฑ์การวินิจฉัย

 

              หากมีอาการต่อไปนี้ 5 อาการ โดยต้องมีอาการข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป

 

              1. อารมณ์ซึมเศร้า/หดหู่/เบื่อ แทบทั้งวัน

              2. ความชอบความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงมาก

              3. น้ำหนักลดหรือเพิ่มมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน หรือมีอาการเบื่ออาหาร/รับประทานอาหารมากผิดปกติ

              4. นอนไม่หลับ หรือ หลับมากเกินไป

              5. เชื่องช้าลง หรือ กระวนกระวายอยู่ไม่สุข

              6. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

              7. สมาธิลดลง หรือ ตัดสินใจลําบาก

              8. รู้สึกไร้ค่า

              9. คิดเรื่องการตาย หรือ อยากตาย

 

              สาเหตุ

             

              สาเหตุของโรคซึมเศร้าประกอบด้วยหลายปัจจัย ซึ่งมีปัจจัยสําคัญหลัก ๆ ดังนี้

 

              1. สารเคมีในสมอง ความผิดปกติของการสร้างสารเคมีในสมองทําให้เกิดการปรับเปลี่ยนของระดับปริมาณสารดังกล่าว โดยมีสารที่สําคัญ เช่น serotonin/ dopamine/ norepinephrine มีปริมาณลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์ตัวรับสารเคมีเหล่านี้ในสมองข้างต้นอีกด้วย

 

              2. พัฒนาการของจิตใจ การเลี้ยงดู การเติบโตในวัยเด็ก และ สถานการณ์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่พบเจอในแต่ละช่วงวัย ล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจ ก่อให้เกิดลักษณะนิสัยหรือแนวความคิดของแต่ละบุคคลที่มีอิทธิพลในการดําเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพใจ

 

              3. พันธุกรรม การศึกษาถึงระดับยีนส์และโครโมโซมพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง

 

 

 

              การรักษา

 

              1. ยาต้านเศร้า : การรักษาหลักที่สําคัญของโรคซึมเศร้า คือ การรักษาด้วยยาต้านเศร้า เนื่องจากยาต้านเศร้าจะออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ทําให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์

 

              2. การพูดคุยกับจิตแพทย์/นักจิตบําบัด : การพูดคุยเปรียบได้กับกระจกที่ช่วยสะท้อน เพื่อให้เกิดความตระหนักหรือเข้าใจตนเองในแง่มุมที่หลากหลายขึ้น ช่วยให้มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ และแนวทางในการปรับตัว รวมถึงการดูแลจิตใจให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น

 

              ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอ คิดมาก หรือหนีปัญหา แต่เป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่ออาการดีขึ้น ก็จะสามารถกลับมามีศักยภาพในการใช้ชีวิตได้ตามปกติ อีกทั้งความเข้าใจต่อโรคทั้งจากผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดก็เป็นสิ่งที่จําเป็น เพื่อที่จะช่วยกันสร้างบรรยากาศของความสุขและสุขภาพจิตใจ ที่ดี


 

              หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียด และขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 หรือ https://www.navavej.com/

 

//......................