กมธ. แก้จนฯ ผนึกเครือข่าย “จ.แพร่” ร่วมมือสร้างสรรค์ ศก.

เปิดกรุ “โรงเรียนป่าไม้แพร่” พลิกโฉมเป็นอุทยานเรียนรู้ ป่า ท่องเที่ยว ธรรมชาติ ทุกภาคส่วนขานรับ ผนึกประวัติศาสตร์ แพร่ น่าน ท่องเที่ยวล้านนา พร้อมปรับภูมิทัศน์เมืองดึงนักท่องเที่ยว

          นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมด้วย นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และคณะ ประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดแพร่ด้วยเศรษฐกิสร้างสรรค์ ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ นายกเทศมนตรี เมืองแพร่ ตัวแทนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ตลอดจนตัวแทนของภาคประชาสังคมจังหวัดแพร่ เรื่อง ”การรื้อฟื้นโรงเรียนป่าไม้แพร่” และ ”การส่งเสริมเศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า”

 

 

          นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานคณะทำงาน ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าพื้นที่โรงเรียนป่าไม้แพร่เดิมนั้นจะถูกโอนจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมป่าไม้ภายในเดือนตุลาคม 2565 โดยภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดแพร่ได้ร่วมหารือในเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวตามแนวทางดังต่อไปนี้คือ 1. พัฒนาให้เป็นพื้นที่สันทนาการ 2. ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องป่าไม้และการท่องเที่ยว โดย อบจ. มีงบประมาณสำหรับปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว 3. ส่งเสริมการปลูกป่าชุมชน ป่ากลางเมืองแพร่ และเป็นปอดของเมืองสำหรับประชาชนเมืองแพร่ 4. ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวป่า 5. ทำให้ป่าชุมชน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในจังหวัดแพร่ให้เป็นแหล่งอาหาร ของชุมชน และเพื่อการกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน 6. ให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับป่าโดยอาจจัดตั้งเป็นสถาบันนวัตกรรมเรื่องดิน น้ำ และป่า และมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วย และ 7. ดำเนินการเกี่ยวกับการขายคาร์บอนเครดิต

          “การดำเนินงานดังกล่าวมีความเป็นไปได้โดยพิจารณาจากการให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ดำเนินการ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาช่วยสนับสนุน และประชาชนในจังหวัดแพร่พร้อมด้วยภาคส่วนต่างๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งผู้ประกอบการภาคธุรกิจพร้อมให้การสนับสนุนอีกด้วย”  นายอภิชาติกล่าว

 

 

          ด้าน นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรหาแนวทางในการผลักดันให้จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านเป็นพื้นที่มรดกโลกที่บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นอาณาจักรล้านนาเดิม และควรส่งเสริมการปลูกไม้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เราอาจปลูกป่าที่มีกลิ่นหอมเพื่อสุขภาพ หรือปลูกไม้ ยืนต้นที่มีดอกที่สวยงามตามฤดูกาล โดยอาจเริ่มจากการหาป่าชุมชนสัก 1 แห่งมาเป็นตัวอย่างในการดำเนินการในเบื้องต้น ขณะที่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์นั้น นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโรงเรียนป่าไม้แพร่และการทำสัมปทานป่าไม้ของบริษัท อีสต์เอเชียติก จำกัด ของประเทศเดนมาร์กในอดีตแล้ว อาจเพิ่มเรื่องราวปัจจุบันเช่นความเป็นมาของการริเริ่มเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ โดยฝายของจังหวัดแพร่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นว่าในอดีตก่อนมีฝายนั้น สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นอย่างไร และภายหลังจากมีฝายแล้ว สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นต้น

          “ผมพบว่าการประชุมในวันนี้มีสีสันเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกภาคส่วนของจังหวัดแพร่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและกำหนดแนวทางในการพัฒนาจังหวัดแพร่ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยกันใช้ทุนทางประวัติศาสตร์ ทุนทางด้านวัฒนธรรม และทุนของชุมชน มาเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนจังหวัดแพร่ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของจังหวัดแพร่ ทั้งยังมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน การท่องเที่ยวของจังหวัด โดยมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ บรรยากาศแบบนี้น่าสนใจมากกว่า หากมีการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจไปอีกก้าวหนึ่ง จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยไม่เว้นแม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้จังหวัดต่างๆ สามารถทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้อย่างมีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ 77 จังหวัดในประเทศไทยจะเป็นไปตามเจตนารมย์ของคนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แทนที่จะรอคอยแต่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจจากรัฐบาลส่วนกลางเท่านั้น” ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าว

          ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว อาทิ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่เสนอว่า ทางเทศบาลเมืองแพร่ยินดีที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปรับปรุงพื้นที่ เช่น การปลูกพันธุ์ไม้หรือดอกไม้ต่างๆ ที่สวยงาม การฟื้นฟูคูน้ำเมืองแพร่ และการส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาขายในตลาดผู้สูงอายุ ขณะที่นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้เสนอให้ดำเนินการทุกเรื่องให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดย อบจ.แพร่ยินดีให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณ จำนวน 500,000 บาท แก่เทศบาลเมืองแพร่ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งยังอาสาที่จะพัฒนาป่าชุมชนแห่งหนึ่งให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่โดยเร็ว