“น่าน” เมืองเรียบง่าย - ผู้คนงดงาม
“น่าน” เมืองเรียบง่าย - ผู้คนงดงาม
“แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ เสาดินนาน้อย แอ่วดอยภูคา
ชิมปลาปากนาย ผ้าลายน้ำไหล มะไฟจีนรสดี ลิ้นจี่ชวนลอง ส้มสีทองเมืองน่าน”
ข้างต้นนี้ เป็นคำขวัญประจำจังหวัด “น่าน” ที่นำเอาของดีขึ้นชื่อ มาร้อยเรียงต่อกันอย่างคล้องจอง สมกับความเป็น “คนเจ้าบทเจ้ากลอน” ของคนไทย ที่ทั้งเชื้อเชิญและดึงดูดใจให้เราไปเยือน
ในที่สุด เราก็ตัดสินใจออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่เส้นทางสายเหนือ จุดหมายคือ “น่าน” และด้วยระยะทางเกือบ 700 กม. เราจึงออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ เพราะไม่อยากให้ถึงตัวเมืองน่านมืดค่ำนัก
แต่การเดินทางสู่ “น่าน” ในครั้งนี้ จุดประสงค์หลัก ไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยวเหมือนทุกครั้ง แต่เป็นภารกิจงานอย่างหนึ่ง กระนั้น คำขวัญประจำจังหวัด ก็ทำให้เราอดที่จะเถลไถลไม่ได้
เส้นทางก่อนถึงตัวจังหวัดที่ต้องขับรถขึ้นเขา และทางคดเคี้ยว รวมถึงยังมีการปรับปรุงซ่อมแซมถนนเป็นระยะ ทำให้รถทำความเร็วค่อนข้างลำบาก ความตั้งใจจะให้ถึงที่หมายรวดเร็วของเราจึงเป็นอันล้มเหลว
เกือบเที่ยงคืน เราถึงได้เข้าเช็คอินที่ “โรงแรมเทวราช” กลางตัวเมืองน่าน ซึ่งถูกจองไว้ล่วงหน้าแล้ว จากนั้นก็รีบอาบน้ำเข้านอนอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับภารกิจในวันพรุ่ง และการตะลอนเที่ยวในเวลาจำกัด
หลังอาหารเช้า ข้าวต้ม กาแฟ ขนมปัง ที่เอาแค่พอให้อยู่ท้อง ภารกิจการเก็บภาพนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นภายในโรงแรมเสร็จสิ้น เราก็เริ่มมองหาแผนที่ท่องเที่ยว จากเคาน์เตอร์พนักงานต้อนรับในทันที
พระอุโบสถที่วัดภูมินทร์
“ไปไหนก่อนดี” ทุกคนในคณะพร้อมใจกันถาม เพราะนี่เป็นครั้งแรก ในการเยือน “น่าน” ของเรา
แล้วก็เป็น “วัดภูมินทร์” ที่ทุกคนพร้อมใจกันเอ่ยขึ้นมา โดยเฉพาะกับ “ภาพจิตรกรรม” อันลือชื่อ
เราใช้เวลาไม่นานนัก ก็ถึงจุดหมาย “วัดภูมินทร์” หรือ “วัดพรหมมินทร์” ตามคำบอกเล่าดั้งเดิม และทันทีที่เราไปถึง ภาพความงดงามที่ปรากฏตรงหน้า ก็ทำให้เราอดไม่ได้ ที่จะต้องรีบบันทึกเอาไว้
“วัดที่สร้างทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว”
นี่คือคำอธิบาย ที่บรรยายถึงลักษณะพิเศษ ของพระอุโบสถแห่ง “วัดภูมินทร์”
ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องลือ
ที่เราตื่นตาตื่นใจ เมื่อก้าวผ่านธรณีประตูสู่ด้านใน ก็คือ “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” อันวิจิตรงดงาม ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากชาดก รวมถึงความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนี้นับแต่อดีต
ลักษณะผ้าซิ่นของสตรีคล้ายผ้าลายน้ำไหลของดีเมืองน่าน ก็ปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้
เราค่อย ๆ ไล่เดินชมความงามของภาพจิตรกรรม กระทั่งต้องหยุดนิ่งสนิท อยู่หน้าภาพ “กระซิบ” อันลือชื่อ ซึ่งมีการนำไปพิมพ์โปสการ์ด และกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ “วัดภูมินทร์” และของ “เมืองน่าน”
ไม่เพียงแค่ความงดงามของวัดเท่านั้น หากแต่อัธยาศัยไมตรีของผู้คน ที่คอยทักทายพูดคุยบอกเส้นทาง และบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวัด ทำให้เรารู้สึกประทับใจ ต่อน้ำใสใจจริงของ “ชาวน่าน” เป็นอย่างยิ่ง
บริเวณวัดพระธาตุช้างค้ำ
จาก “วัดภูมินทร์” เรามองเห็น “เจดีย์สีทอง” ลิบ ๆ อยู่ฝั่งตรงข้าม ที่เป็นเป้าหมายต่อไป
“เจดีย์สีทอง” ที่เราเห็น จาก “วัดภูมินทร์” คือ “เจดีย์ช้างค้ำ” ที่ตั้งอยู่ภายใน “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง”
“พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ” คือที่ประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ”
โดยมีรูปปั้นช้างปูนปั้นครึ่งตัว ประดับอยู่โดยรอบเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 6 เชือก รวมเป็น 24 เชือก
เราเดินวนดูรอบ ๆ อย่างตื่นตาตื่นใจ พร้อมกับแปลกใจต่อแนวคิด “ช้างค้ำ” ซึ่งน่าจะหมายถึง สัตว์ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ในการค้ำจุนสัญลักษณ์แห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่ยืนนานต่อไป
ที่วัดแห่งนี้ ยังมี “หอพระไตรปิฎก” ที่ว่ากันว่า “ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี” อายุหลายร้อยปี สร้างจากทองคำ โดย “ผู้ครองนครน่าน” อีกด้วย
อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครหน้าพิพิธภัณฑ์
จากที่นี่ เราได้รับคำแนะนำให้ข้ามถนนไปอีกฟากหนึ่ง เพื่อเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน”
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณ “คุ้ม” ของอดีต “ผู้ครองนครน่าน” ซึ่งเรียกกันว่า “หอคำ” โดยด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ “พระเจ้าสุริยพงศ์ผลิตเดช” ผู้เป็นเจ้าของ “หอคำ” นั่นเอง
นอกเหนือไปจาก “โบราณวัตถุ” เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่เป็นของเก่าแก่หายาก แต่ที่สำคัญก็คือ “งาช้างดำ” ที่นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนที่นี่
“งาช้าง” ขนาดใหญ่ ความยาว 94 ซม. มรดกตกทอดของผู้ครองนครน่าน นอกจากจะเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความเก่าแก่ของเมืองน่านแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ ของผืนแผ่นดินนี้นับแต่อดีตอีกด้วย
เราใช้เวลาภายในพิพิธภัณฑ์จนล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว คงเพราะมัวแต่เพลิดเพลิน กับโบราณวัตถุหลากหลายที่จัดแสดง กว่าจะรู้ตัวก็บ่ายคล้อย และหลายคนเริ่มรู้สึกหิวไปตาม ๆ กัน
ผัดผักพื้นเมืองแสนอร่อย
เราเลือกร้านอาหารเล็ก ๆ ริม “น้ำน่าน” เพื่อจัดการกับอีกมื้อแสนอร่อย ก่อนจะมุ่งหน้าสู่จุดหมายใหม่
ซึ่งอยู่นอกเมือง นั่นคือ “เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง” ปูชนียสถานสำคัญของเมืองน่าน อายุยาวนานกว่า 600 ปี
คำบอกเล่าตามความเชื่อ ระบุว่า ที่แห่งนี้เป็น “พระธาตุ” ของคนเกิด “ปีเถาะ” หรือ “ปีกระต่าย”
เราไม่แปลกใจนัก ที่เห็น “กระต่าย” ทำจากวัสดุต่าง ๆ วางเรียงรายอยู่ในบริเวณโดยรอบ
บรรยากาศในวัดเงียบสงบ แต่ก็ดูแปลกตา กับรูปแบบการ “ทำบุญ” ที่มีมากมายเหลือเกิน
แต่นี่ก็คงเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” ที่เปลี่ยนไป ตาม “ความทันสมัย” ที่มีเพิ่มขึ้น
แม้ว่าบางครั้ง เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า “ทำบุญ” ด้วย “ปัจจัย” ยิ่งมาก จะยิ่งได้บุญมากจริง ๆ หรือ
พระธาตุแช่แห้งประจำปีเถาะ
กระนั้น เราก็เลือกที่จะสงบใจเงียบ ๆ ก่อนที่จะจากมา เพื่อแวะพักกาย จิบ “กาแฟน่าน” หอมกรุ่น ที่ร้านกาแฟเล็กๆ ใกล้กับร้านขายผ้าพื้นเมืองของขวัญของฝากเมืองน่าน เพื่อให้เวลาหมุนช้าลงอีกนิด
“กาแฟน่าน” หอมกรุ่น ประทับอยู่ในความทรงจำ เช่นเดียวกับรอยยิ้มและน้ำใจไมตรีของเจ้าของร้าน และ “ชาวเมืองน่าน” ที่ชวนให้เราหลงเสน่ห์เมืองน่านเสียจริง ๆ
นิทรรศการของดีเมืองน่าน
เช่นเดียวกับ “นวดแผนโบราณ” ณ “โรงแรมเทวราช” ที่ “ยอดเยี่ยม” และคลายเมื่อยได้ชะงัดนัก
เราแอบได้ยินใครบางคนในคณะ ชมเชยการนวดอย่างไม่ขาดปาก ถึงขนาดว่า จะกลับมานวดใหม่อีก
เราแอบได้ยินใครบางคนในคณะ รำพึงเบา ๆ ว่า สักวันหนึ่งจะกลับมา และใช้เวลาอยู่ให้นานกว่านี้
บางทีความเรียบง่าย ก็งดงามเหลือเกิน และก็เป็นเสน่ห์ที่ติดตรึงในความทรงจำเหลือเกิน
สงบง่ายงามที่หอศิลป์ริมน่าน
แม้กระทั่งวันเดินทางกลับ ระหว่างรายทาง “หอศิลป์ริมน่าน” ก็ยังรอส่งเรา ด้วยอาคารจัดแสดงทางศิลปะ ที่เรียบง่าย สงบ และงดงาม ไม่ผิดปากจากคนที่แนะนำกันต่อ ๆ กันมา แบบคนแล้วคนเล่า
บอกกันอย่างตรงไปตรงมาได้เลยว่า “เมืองน่าน” ทำให้เรา “ตกหลุมรัก” เข้าอย่างจัง
ไม่ใช่เพราะความทันสมัย หากแต่เป็นความเรียบง่าย กับวิถีชีวิตที่ดำเนินไป
“เมืองน่าน” เรียบง่าย ผู้คนงดงาม และมนต์เสน่ห์ที่ประทับใจไม่รู้ลืมจริง ๆ...
//............................
หมายเหตุ : “น่าน” เมืองเรียบง่าย - ผู้คนงดงาม : คอลัมน์ “ลมหายใจเดินทาง” โดย “จตุระคน” (ออนอาร์ต) : บางกอกไลฟ์นิวส์
//...........................