“ประกิต หลิมสกุล” สุดหัวใจคือความเป็นกลางและความเป็นธรรม

เมื่อชื่อของ “ประกิต หลิมสกุล” เจ้าของนามปากกา “กิเลน ประลองเชิง” แห่งคอลัมน์ “ชักธงรบ” ใน “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้รับการประกาศให้ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” 2565 สร้างความยินดีปรีดาให้แก่แวดวงนักข่าวนักหนังสือพิมพ์นักเขียนกันถ้วนทั่ว

          เส้นทางชีวิตสู่การเป็นนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ของ “ประกิต หลิมสกุล” ที่เหล่าผู้คนในวงการน้ำหมึกยกย่อง เคยได้รับการบอกเล่าหลายครั้งคราว โดยเจ้าตัวเองมักจะถ่อมตนอยู่เสมอว่า “เรียนหนังสือไม่จบ” นั่นยิ่งทำให้เรื่องราวการหล่อหลอมตามวัยและวันมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย

          “ประกิต หลิมสกุล” เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม

          “นามสกุลหลิม ไม่ใช่หลินที่แปลว่าป่า แต่หลิมแปลว่ารุ่งอรุณแห่งความสุข คุยให้ลูกฟังว่านามสกุลพ่อแปลเพราะนะด้วยความภูมิใจ”

          บทสนทนาที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นกันเองระหว่าง “ชมัยภร บางคมบาง” ประธานกองทุนศรีบูรพา และ “ประกิต หลิมสกุล” ค่อยๆ นำพาเราย้อนเยือนอดีตอันน่าตื่นตาและงดงามในวัยเยาว์ ก่อนจะกลายมาเป็นนักเขียน “รางวัลศรีบูรพา” คนล่าสุด

 

 

          ฉายแววด้านภาษาตั้งแต่เยาว์วัย

          เมื่ออายุได้ 8 ขวบเริ่มเรียน ป.เตรียม ที่โรงเรียนนิพัทธหริณสูตร์ (วัดประทุมคณาวาส) เป็นโรงเรือนหลังคาจาก เรียนอยู่ 3-4 วิชา เลขคณิต เลขคิดในใจ อ่านหนังสือนิทานสุภาษิต นิทานอีสปเรื่องแรกที่อ่านคือ “ราชสีห์กับหนู” เมื่อเรียนปีแรกก็ร่ำลือกันกว่าประกิตเรียนเก่ง ครูก็จูงเด็กที่ยังอ่านไม่รู้เรื่องมาให้ช่วยสอน และสอบได้ที่ 1 ป.เตรียม ได้รางวัลจากครูเฉลิมเป็นสมุดปกอ่อน 2 โหล และเอามาให้ตอนเรียน ป.1

          ความรู้แค่ ป.เตรียมนั้น แม่ซื้อหนังสือริมถนนบาทวิถี ชุดหนังสือวัดเกาะ “บาทขาดราคาเชิญมาซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา”  มาให้อ่าน มีทั้ง  โม่งป่า พระอภัยมณี จึงได้อ่านหนังสือให้แม่ฟังตั้งแต่เรียน ป.เตรียม และนิยายเล่มแรกที่อ่านจนจบแล้วเพิ่งรู้ภายหลังเมื่อตอนเป็นนักข่าวว่าขาดความเป็นจริง นั่นคือ ป.อินทรปาลิต เขียน พล นิกร กิมหงวน ตอน ค่ายเบตง “โอ้โห...โจรสุพรรณหนีตำรวจไปตั้งหลักอยู่ค่ายเบตงได้อย่างไร” ที่นั่นเป็นดินแดนที่ซับซ้อนมาก อีกเรื่องที่ยังจดจำและขำตัวเองคือ “นางเอกนั่งตา-กลม” ตอนนั้นนั่งนึกว่า “นั่งตา-กลม” คืออย่างไร และแม่ยังซื้อเล่มอื่นที่ทำให้มีพื้นกลอนให้อีก นอกจากพระอภัยมณี นั่นคือ สุวรรณหงส์ และประถม ก กา จากริมถนน จึงมีพื้นกลอนมาจากการเรียนและการอ่านตั้งแต่ ป.เตรียม 

          เมื่อ ป.2 สอบขึ้น ป.3 วิชาคัดไทย ครูเฉลิมที่สอน ป.เตรียม เมื่อครั้งได้ที่ 1 ลายมือบรรจงวิจิตรของท่านสวยมาก ท่านก็เขียน “อันอ้อยตาลหวานสิ้นซาก...” พอเขียนจบนักเรียนพากันโม้เสียงลั่นห้อง ครูเฉลิมก็หันมาบอกว่าพวกเธอไม่มีวินัยคุยกันเสียงดังมาก ครูจะลงโทษนะ แล้วก็พลิกกระดานที่เขียนคัดไทยบรรจงหันกลับไป เขียนข้อสอบคัดไทยใหม่ด้วยลายมือหวัด จากนั้นหันมาบอกว่า คัดกันไปนะ ถ้าผิดครูจะตัดคะแนน ยกเว้นว่ามีใครเก่ง อ่านข้อสอบในกระดานให้ครูฟัง ตอนนั้นนายประกิตก็ลุกขึ้นยืน “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย” ผลก็คือเมื่อขึ้นชั้นประถม 3 นายประกิตก็ถูกตั้งให้เป็นหัวหน้า ต่อมาเมื่อทำงานเคยเขียนโจมตีกระทรวงศึกษาฯ ที่บอกว่าเด็ก ป.3 อ่านหนังสือไม่ออก ก็บอกไปว่าเมื่อ ป.เตรียม ผมก็อ่านหนังสือเล่มได้แล้ว โดยยกเรื่องที่เคยอ่านค่ายเบตงขึ้นมา

 

 

          ปมในใจสาเหตุที่ไม่เรียนต่อ

          เมื่อจบ ป.4 จากโรงเรียนเดิม ต้องข้ามไปเรียนที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร สอบเข้าไปเรียนได้ ขึ้น ม.1 ก็สอบได้ที่ 1 มีชื่อขึ้นบอร์ด ตอนขึ้น ม.2 ครูชื่อ “วิชัย ใจหวัง” ดุมาก ตีนักเรียนทุกคนได้ทุกวันเพราะท่องศัพท์ไม่ได้ ความดุของครูทำให้เราเก่ง โดนตีแค่อาทิตย์ละครั้ง สอบประจำเดือนก็ได้ที่ 1 สอบทีมประจำเทอมก็ได้ที่ 1 จนมาเทอมสุดท้าย ต้องไปบวชเณร เป็นการบวชหน้าไฟให้เตี่ย และกลับมาในช่วงเวลาที่เพื่อนสอบได้ลูกเสือโท ชีวิตของประกิตซึ่งไม่เคยแพ้เพื่อน สอบได้ที่ 1 มาโดยตลอด ก็เกิดความรู้สึกเล็กๆ ว่า “แพ้ไม่ได้” จึงไปบอกแม่ว่าผมไม่เรียนแล้ว ขอไปบวชเณร แม่เองชอบให้ลูกบวชเณรอยู่แล้วก็พาไปบวชเณรที่เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เรื่องนี้ติดอยู่ในใจและอยากจะฝากไปถึงรุ่นน้องเอาไว้ด้วย อยากฝากเตือนกันไว้ “อย่าติดนิสัยความเป็นที่หนึ่ง” อย่างผมนี่พลิกชีวิตเลย เพราะถ้าเรียนต่อไปเรื่อยๆ โดยสติปัญญาที่มีแม้ว่าแม่จะยากจน คงจะเรียนจบ ม.6 รุ่นสุดท้าย แต่ความเป็นจริงได้เพียง ม.2 สมัยนั้น

 

          ความสนใจด้านเขียนกลอน

          ต้องบอกว่าหลักสูตรการศึกษาทางพระสอนให้รู้เรื่องโคลงกลอน เมื่อเรียนวิชาบาลีภาคบ่ายที่วัดมหาธาตุ มีเรียนกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ พวกพระเณรจะแต่งกลอนโคลงฉันท์เป็นกันทุกคน บวชเณรเรียนบาลีสอบได้นักธรรมเอกสนามเดียวกับ “เณรโรจน์ งามแม้น (เปลว สีเงิน)” แต่เราก็เกเรอีก และสึกเมื่อต้นปี 2507 ต้นปี จากนั้นมีคนชวนให้เข้ามากรุงเทพฯ อาชีพปกติก็ไม่ทำ เอาแต่บู๊ล้างผลาญ อยากออกทะเลก็ไปเป็นลูกเรืออวนลาก ฝึกเป็นผู้ช่วยนายท้ายจนกระทั่งได้เป็นนายท้ายเรือ ตอนเป็นนายท้ายเรือเคยพาเรืออวนลากเข้าไปหาปลาในน่านน้ำของมาเลเซีย แผนที่จะเรียกว่า เกาะเปอร์เฮนเตียน และเกาะเรดัง เป็นที่รู้กันว่าเรือเร็วของมาเลเซีย จะหลบอยู่แถวเหลี่ยมเกาะแล้วจะพุ่งมาจับเรืออวนลากลำแรก หรืออาจจะยิงใส่ แต่ด้วยความอยากได้ปลา เพราะปลาในน่านน้ำไทยมีน้อย ก็จะรักษาระยะเรือของเราไว้ให้อยู่ลำที่ 10 คอยส่องกล้องดูเรือลำแรก ถ้าเรือลำแรกถูกจับ หากมีเวลาก็กู้อวน ถ้าไม่มีเวลาก็ตัดอวนทิ้ง เพื่อหนีกลับเข้าไทย ตอนนั้นคิดเพียงว่าเราเป็นนายท้ายเรือ ไม่ได้คิดว่าพาเพื่อนๆ ไปเสี่ยง คิดเพียงแค่เป็นเรื่องของลูกผู้ชาย หล่อหลอมให้แข็งแกร่ง

          พออายุครบเกณฑ์ทหาร สมัยนั้นจับใบดำใบแดง คนมีเงินจ่าย 5,000-6,000 บาท เรียกว่า “อุดทหาร” เรามันลูกคนจน จับได้ผลัด 3 ไปอยู่แถวโรงเรียนเกล็ดแก้ว เสียงตามสายของ 2 กองพัน ตรงกลางเป็นสนามฟุตบอล จะได้ยินเสียงตามสายเพลงลาสาวแม่กลอง (สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง...) ได้ยินแล้วน้ำตาซึมเพราะจีบสาว เคลิ้มถึงกับน้ำตาร่วง  แต่แถวนั้นเรียกกันว่าปากน้ำอัมพวาไม่ใช่ปากน้ำแม่กลอง ตอนเป็นพลทหาร มีหนังสือ “ข่าวแม่กลอง” หนังสือรายหวย ของ จ่ายูร อร่ามรัก มีโอกาสได้เขียนทั้งคอลัมน์เขียนทั้งกลอน คอลัมน์กลอน พี่ปรีชา ขำมณี เป็นคนตั้งชื่อ “กังวานกลอง” เขียนฟรี ได้หนังสือครั้งละ 20 เล่ม ไปแจกเพื่อน เพื่อนก็เรียก “ไอ้มหา” เพราะบวชเณรมา

 

 

          รอบสนามกีฬามีต้นนกยูง ก็เขียน “ใต้นกยูง เย็นร่ม พรมผืนหญ้า…” กลอนเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ลงได้แค่ใน “กังวานกลอง” ไม่ดีพอจะลง “ศรีสยาม” ของ “ทวีสุข ทองถาวร” ในช่วงนั้น “ศรีสยาม” เป็นมหาอำนาจเพราะ “บางกอก” ไม่ลงกลอน ที่ท่าสะพานปลาหัวหิน “บางกอก” วางสูงตั้งหนึ่ง “ศรีสยาม” จะสูงครึ่งหนึ่งของ “บางกอก” กลอนใน “ศรีสยาม” แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านมาก ตอนหลังเมื่อมีกลอนลงใน “ศรีสยาม” เอาเรือไปจอดที่บ้านเพ  มีเสียงแม่ค้าถามว่าคนไหนนายท้ายเรือ “วายุบุตร 3” เพราะกลอนที่ลงแม่เค้าเขาอ่าน ตอนนั้นใช้ชื่อ “ประกิต ปวรากุล”

          พูดถึง “เพลงลาสาวแม่กลอง” เนื้อเพลงว่า “เมื่อสงกรานต์งานวัดบ้านแหลม เคยเที่ยวชมกับโฉมแฉล้ม” เราเป็นเคยเป็นเณรวัดบ้านแหลม เนื้อเพลงจับใจ ก็พยายามหาว่าใครแต่ง สุดท้ายก็รู้ว่าเป็น “พลทหารเลิศ วงศาโรจน์” เป็นทหารผลัด 1 ประจำการเรือบางแก้ว ทอดสมออยู่หน้าเกาะสีชัง เขาเล่าเองว่าเป็นเพื่อนกับ “เกษม สุวรรณเมนะ” เอาไปยื่นให้ เกษมให้มา 500 ก็เป็นความจริงสอดคล้องกัน เพราะเนื้อเพลงเป็นตัวบ่งชี้และเป็นภาษาลูกทุ่งบริสุทธิ์  ถ้านับการแต่งกลอนแบบขนบกลอน เนื้อร้องของเพลงลาสาวแม่กลอง ในแวดวงนักกลอนถือว่าหยาบ แต่นั่นเป็นภาษาลูกทุ่งของแท้ ที่อยากจะเล่าตรงนี้เพราะอยากจะบอกว่าเป็น “นักกลอน” แพ้ “นักเพลง” ใครจะรู้จัก “ประกิต ปวรากุล” สักกี่คน แต่ทุกวันนี้ “ลาสาวแม่กลอง” ยังเป็นเพลงอมตะ

          หลังจากเกณฑ์ทหารแล้วก็มาเป็นนายท้ายเรือ ไปขายปลาที่มหาชัย ล้างเรือเรียบร้อยก็ถือท้ายเรือกลับจากมหาชัยออกทะเลมาเพื่อจะกลับอ่าวแม่กลอง โป๊ะมันมืด และไม่ได้นอนมา 3 วัน 3 คืน ลืมตามา ผ่าเข้ากลางโป๊ะ กระท่อมของคนเฝ้าโป๊ะพังลงมา รีบจูงเขาขึ้นเรือพาเขาไปส่ง รุ่งเช้าเถ้าแก่เรียกค่าเสียหาย 6,000 บาท ก็ขายพระไปองค์หนึ่งได้เงิน 3,000 บาท ช่วยเถ้าแก่ครึ่งหนึ่ง จากนั้นใครมาเรียกไปถือท้ายเรืออีกก็ไม่เอาอีกเลย

 

          เริ่มต้นเป็นนักข่าวเพราะกลอนดี ภาษาดี

          ชีวิตเหมือนฉลามเกยตื้น ในทะเลเป็นถึงนายท้าย แต่เมื่อเลิกเป็นนายท้าย ความรู้แค่ ป.5 ก็ไม่รู้จะสมัครงานที่ไหน เมื่อญาติที่ยะลาชวนไปอยู่ด้วยก็ตัดสินใจไป อยู่ที่ยะลามีร้านกาแฟที่เป็นชุมนุมสังคมใหญ่ ชื่อว่า “ร้านโกชุ้น” เป็นชุมนุมนักกลอนเล็กๆ ซ้อมกลอนกันเล่นเตรียมจะแข่งที่ปัตตานี สงขลากัน เพื่อนที่เป็นนักข่าวไทยรัฐชื่อ “สมศักดิ์ สุวพิชญ์ภูมิ” ชวนว่า “ประกิตคล่อง กลอนดี ภาษาดี จะทำข่าวส่งเดลินิวส์ไหม” ก็รับว่า “เอาสิ” เพราะตอนนั้นตกงานอยู่ เขาก็โทรหา “ไพฑูรย์ สุนทร” ว่าเพื่อนชื่อประกิตจะเริ่มส่งข่าว

 

 

          เดือนธันวาคม 2013 เริ่มส่งข่าวแรกให้เดลินิวส์ “แวตือเงาะ ยะลา หัวหน้าโจรภาคใต้ นำลูกน้องมอบตัว” มาเรียนรู้ทีหลังว่า เรียกกันว่าโจรที่เป็นพรรคพวกกับตำรวจ ช่วยงานตำรวจ ทำแต้มให้ผู้กำกับ (สัก เสยสุวรรณ) ในสมัยของผู้ว่าฯ ชื่อ “ประเวศ เรืองจรัส”

          ร้านกาแฟร้านนั้นเป็นที่ชุมนุมของจังหวัด ทำให้ได้รู้จักคน ทำข่าวส่งอยู่ 2 ปีจึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ได้ทำงานเป็นนักข่าวเดลินิวส์ เพราะมีข่าว “เต็งเส็ง แซ่กัง พ่อค้าข้าวสารถูกจับเรียกค่าไถ่” ขึ้นหน้าหนึ่ง 21 วัน เดือนนั้นข่าวชุกมาก “โรจน์ งามแม้น” เป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาคของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง คิดค่าข่าวให้ลูกน้องเขา 6,000 บาท นั่นเป็นยุคแรกของข่าวเรียกค่าไถ่ที่เป็นข่าวพาดหัว ถ้าของไทยรัฐได้ 20,000 บาท แต่เราพอเจอกันหัวหน้าเดลินิวส์เขียนใบเบิกให้ 300 จึงมาได้ข้อสรุปย้อนหลัง 2-3 ปีแรกว่าที่ได้เข้ามาทำหนังสือพิมพ์เป็นนักข่าวเดลินิวส์ ก็เพราะว่าฉบับนี้ให้เงินน้อย เปิดช่องให้คนไม่มีงานทำ ซึ่งเราคิดว่าเป็นงาน แต่ถ้าไม่มีตรงนั้นก็ไม่มี “กิเลน ประลองเชิง” ในวันนี้

          ช่วงปีที่ 4 ของการทำข่าวให้เดลินิวส์ เริ่มส่งข่าวน้อยลง เหตุเพราะรีไรท์ข้างในด้วย เงินก็ได้น้อย จู่ๆ ก็มีคนมาหาถึงบ้าน “ถวิล มนัสน้อม” บอกว่า  “สนิท เอกชัย” ส่งไปตั้งประกิตเป็นนักข่าวให้เงินเดือน 400 บาท นับได้ว่าถวิลเป็นคนปั้นประกิต ตอนนั้นเริ่มมีชื่อแล้ว “ไพบูลย์ วงษ์เทศ” จากประชาชาติมาจี้ขอสัมภาษณ์พิเศษ สั่ง 4 ครั้ง ก็ส่ง 4 ครั้ง ก็ทำให้ 3 ฉบับ เดลินิวส์ เดลิไทม์ (ที่แยกออกไป) และประชาชาติ แต่ทุกฉบับจะเหมือนกันหมด ทำจนเริ่มรู้สึกว่าคิดถึงแม่ เพราะเงิน 400 บาทได้จากเดลินิวส์ไม่พอ ตัดสินใจนั่งรถไฟจากยะลา ตั้งใจไปเบิกค่าข่าวที่เดลินิวส์ เขาให้ 700 บาท เดลิไทม์ให้อีก 1,000 บาท ไปประชาชาติและเดอะเนชั่น เขาคิดให้วันละ 40 บาท รวม 400 บาท รู้สึกไม่ยุติธรรม โกรธ ลุกขึ้นด่าว่าผมไม่ทำให้คุณแล้วนะ ตอนนั้นมีเพื่อนชื่อ “นฤนารท พระปัญญา” เป็นนักข่าวอินเตอร์เคยไปสัมภาษณ์ที่กลันตันด้วยกัน

 

          ได้เป็นนักข่าวประจำที่กรุงเทพฯ

          เมื่อเดินเข้าเดลินิวส์ก็เกิดเรื่องใหม่ เพราะตอนถึงชุมพรเห็นพาดหัวข่าวทีมเดลินิวส์ยกสตาฟออก ทีมสิงโตเข้ามาทำแทน ตอนนั้นเข้าปีที่ 5 แล้ว รู้ว่า “สิงโต-สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” มาแทน “สนิท เอกชัย” ถึงโรงพิมพ์โผล่หน้าเข้าไปก็เจอรุ่นพี่ที่เคยชวนกันไว้ที่ยะลา “ชนา อินทรักษ์” บอกว่า “ไอ้กิต มาก็ดีแล้ว ไม่ต้องกลับ” แล้วก็ชี้ทางซ้าย “ไอ้โรจน์ นกกระจิบ เปลวสีเงิน” นั่งอยู่ตรงนั้น บอกว่า “บอกพี่เทพด้วย ไม่ต้องให้ไอ้กิตกลับ ให้มันอยู่” ก็ต้องบอกว่าไม่เก่งหรอก เขาไม่ได้เชิญมาหรอก แต่เผอิญโผล่หน้าไปให้เขาเห็นพอดี

 

 

          จากนั้นเขาให้เป็นมือหนึ่ง ส่งไปทำข่าวพาดหัวใหญ่ มีชื่อ “ประกิต ปวรากุล” รายงานข่าว เป็นสตาร์รีพอร์ตเตอร์ ข่าวแรกก็มีชื่อแล้ว พื้นฐานจากยะลา 5 ปี ถ้าพูดภาษานักเลงก็คือดังแล้ว ครั้งนี้ดีหน่อยมีเงินเดือนด้วย 1,800 บาท ปี 2518 อยู่เดลินิวส์เขียนคอลัมน์รายสัปดาห์ 4-5 ชิ้น เขียนอะไรผู้ใหญ่ก็ให้หมด รายวันก็มี 1 ชิ้น “น้อย ท่าจีน” ภาพชุดหน้ากลาง “อร่าม” เข้าตลาดสดวันอาทิตย์ “พริกไทย ใบผักชี” ก็เขียน

          เมื่อมีหน้าเปิดว่าง จากการปรับหน้าของสิงโต เจอหลานชื่อ “จิ๋ม” เดินข้ามฟากสะพานไม้ไผ่ ปีนขึ้นบนยอดตาล เอามีดปาดตาลปาดงวงตาล ก็ถ่ายรูปแล้วเขียน ไม่มีพล็อตไม่มีอะไรเลย เขาเปิดหน้า 3 เต็มหน้าให้เขียน พอเอาต้นฉบับไปยื่นให้หัวหน้า “พี่ชนา” อ่านแล้วก็ถามว่า เขียนอะไรเต็มไปด้วยบรรยากาศ แต่ก่อนจะมาเป็นนักข่าวเราอ่านตำรามา ทั้ง “ปากกาทอง” ของ “พิชัย โอตตรดิตถ์” สอนวิธีขึ้นต้น วิธีจบ “อุษณา เพลิงธรรม” ขึ้นอย่างไร เรื่องสั้นอ่านมาหมด สมัย “อาจินต์ ปัญจพรรค์” หนังสือเล่มละ 5 บาท (โอเลี้ยง 5 แก้ว) อ่านทุกเล่ม “จอห์น สไตน์เบ็ก” ก็อ่าน “เฒ่าทะเล ของ เฮมิงเวย์” ก็อ่าน “ไข่มุกมหาภัย” ที่ “พิชัย รัตนประทีป” แปลก็อ่าน ภาษาดี อ่านทุกเล่ม ตำราบอกว่าสารคดีเขียนแห้งๆ ไม่ได้ ก็เขียนแบบฝรั่ง มีแอคชั่น ให้เห็นภาพหลานสาวสะพายกระบอกตาล ตีนสัมผัสพื้น สรุปพี่ชนาไม่เอา ก็เก็บซุกไว้

          ต่อมาอีก 3 เดือน พี่ชนาไม่อยู่ ไปค้นแฟ้มมาแล้วเดินตัวแข็งเข้า “ห้องคิง” ปูพรมติดแอร์ มีสามคิงอยู่ขวามือเป็น “โกวิท สีตลายัน” ตรงหน้า “สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช” ด้านหลัง “ไก่อ่อน-บรรเจิด ทวี” สุดยอดจอมยุทธ์ทั้งหมด เข้าไปบอกว่า “หัวหน้าครับที่ผมเขียนไว้พี่ชนาไม่เอา” อีก 10 นาทีถูกเรียกเข้าไป ยังจำภาพได้เลย พี่เทพมองแล้วยิ้ม แล้วตะโกนเรียก “ไอ้โกนี่ไอ้ประกิต เอี้ยวหลังไป ไอ้เจิด นี่ไอ้ประกิต”

          นับแต่วันนั้นพี่ผู้ใหญ่เมาเหล้า เที่ยวเพลิน ไม่สบาย ก็โทรมา อีก 40 นาทีเขียนทันไหม เขียน “จอสยาม” ตอนนั้น “โกวิท สีตลายัน” มีคอลัมน์คลาสสิคมากชื่อ “หลังกรอบแว่น” เขียนสไตล์ “รงค์ วงสวรรค์” แต่เท่สุดที่ภูมิใจ “ชลอ อยู่เย็น” เป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ลาออกจากสยามรัฐมาอยู่เดลินิวส์ เขียน “ชาญหนุขี่ม้าสีบานเย็น” สนุกตรงที่เขียนยั่วคึกฤทธิ์ เพราะเป็นคนใกล้ชิด รู้อารมณ์คึกฤทธิ์ เป็นคอลัมน์การเมืองที่มีเสน่ห์มาก 

          อยู่มาวันหนึ่ง “พี่ชลอ” อุ้มโอลิมเปียเครื่องใหญ่ มาวางหน้าประกิต “คุณประกิตผมรู้ว่าคุณเขียนให้ผมได้ วันนี้ผมไม่ไหวจริงๆ”  เราคิดในใจ “โดนลองของอีกแล้ว แล้วเขียนได้เหรอ การเมืองหน้าสาม” แล้วโจทย์ไม่ใช่แค่นั้น ใช่ว่าอยากจะเขียนอะไรก็เขียน เพราะพี่ชลอรำพันไปแล้ว 3 บรรทัด แล้วต้องต่อจนจบ ก็ไม่รู้เขียนอะไรไป แต่ภูมิใจว่าเขียนแทน “ชาญหนุขี่ม้าสีบานเย็น” วันนั้นถือเป็นการแสดงศักดาว่า ผมเป็น 1/1 ของรุ่นเด็กที่กร่างสุด ผู้ใหญ่ไว้ใจสุด ใช้ทุกเรื่อง

          ประกิตต้องไปปีนเขาพระวิหารหมู่บ้านภูมิซรอล อยู่ติดชายแดนเขมร มีแต่คอกควาย กินอะไรที่ไหนดีก็ต้องส่งข่าว ภาพชุดหน้ากลางจำได้ว่าถ่ายคอกควายที่ภูมิซรอล ทำข่าวส่งหน้าหนึ่งด้วย เพราะมีคอลัมน์รายสัปดาห์อยู่ 4-5 คอลัมน์ กลับมานั่งรีไรท์เองด้วย คำนวณตัวเองว่าปริมาณงานที่เดลินิวส์ที่ให้ประกิตทำวันนั้น ในวันนี้ต้องใช้คน 10 คน โดยประมาณ

          ตอนนั้นนามปากกาเยอะไปหมด ทั้ง “ประกิต ปวรากุล” “ทองบน บางบอน” ใช้ “ทองปลิว ลูกแม่ปาน” แทน “เปลว สีเงิน” ส่วน “น้อย ท่าจีน” แทน “ใหญ่ ท่าไม้”  คอลัมน์ตีตำรวจรายวันกร่างมาก ประมาณ 6 ชิ้น รายวัน 1 รายสัปดาห์ 5 ไม่รวมนั่งรีไรท์ และไม่รวมแบกกล้องไปทำข่าวพิเศษ งานหนักเหลือเกิน เข้มแข็งเหลือเกิน ยิ่งใหญ่เหลือเกิน และดูโก้เหลือเกิน วันที่ “โรจน์ งามแม้น” ออก “ชัย ราชวัตร”ออก ผมก็ออก โดนเรียกไปกล่อมให้เป็นหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งก็ยังยืนยันจะออก เป็นยุคที่นักหนังสือพิมพ์เดินตามพี่ ไม่สนนายทุน จำได้ว่าตอบ “โรจน์ งามแม้น” ด้วยประโยคที่ว่า “เงินเดือนสองพันอยู่ที่ไหนก็ได้” เพราะเรานักรบชั้นแม่ทัพ ให้เงินเดือนเท่ากับพลทหาร เราก็ไม่อยู่ เดินหนีเพราะรู้สึกว่าองค์กรไม่ยุติธรรมกับเรา

 

          ย้ายไปอยู่ไทยรัฐถนัดเป็นมวยแทน

          ตอนนั้นพอ “โกวิท สีตลายัน” รู้ว่าลาออก ก็เรียกให้ไปอยู่ด้วยที่ไทยรัฐ ทางนั้นเตรียมจะออก หนังสือพิมพ์ “เอกภาพ” แต่สุดท้ายไม่ได้ออก ก็มีคอลัมน์ให้โรจน์และชัย ส่วนประกิตตัวเล็กได้เป็นนักข่าวพิเศษ เบี้ยเลี้ยงวันละร้อยบาท คนรถเราก็เลี้ยง นักข่าวประจำวันก็เลี้ยง ไปทุกครั้งขาดทุนทุกครั้ง ก็บอกเขาตรงๆ ไปไม่ไหว กลับมาต้องหักเงินเดือนให้ เขาก็ให้นั่งรีไรท์

 

 

          มาอยู่ที่ไทยรัฐเป็นนักข่าวพิเศษ เป็นรีไรท์ จนกระทั่งได้เลื่อนมาอยู่หน้าหนึ่ง ตอนเป็นรีไรท์หน้าหนึ่งพยายามจะเขียนเรื่องของ “วัลลี” ลงในเล่ม เสนอไปครั้งแรกไม่ผ่าน ก็เขียนใหม่เตรียมจะเอาลงชิ้นที่เขียนแทน “ไว ตาทิพย์” พอดีฝ่ายศิลป์ “ก้อง กังฟู - ปัญญา เจริญวงศ์” เดินมาตอนตีสอง พอได้ฟังก็บอกให้เอาลงสารคดีวันอาทิตย์ ของ “เวช บูรณพงศ์” จึงลงมือเขียนใหม่อีกด้วยลีลา Non Fiction เป็นเรื่องราวของ “เด็กหญิงวัลลี ณรงค์เวทย์” ปรากฏว่าเมื่อเผยแพร่ออกไป โทรศัพท์เข้าโรงพิมพ์ทั้งวัน (แม้กระทั่ง หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็โทรศัพท์มาถาม) หนึ่งอาทิตย์ได้เงินบริจาคอยู่ที่เรา 60,000 ส่วนขบวนรถเก๋งรถทัวร์แห่กันไปหา สรุปแล้วเดือนแรก “วัลลี” ได้ไป 200,000 บาท ต่อมาก็มีเพิ่มจากแคมป์ซาอุฯ จากอังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่นเข้ามาอีก 300,000 บาท รวมเป็น 500,000 บาท ไม่เพียงช่วยเด็กรอด แต่เป็นความภูมิใจ ทุกวันนี้ก็ยังผูกพันเจอกับเขาทุกปี ที่อยากเล่าเรื่องนี้เพราะอยากให้เห็นนิสัยของเราว่าเป็นคนไม่ปะทะ แต่เลี่ยงเอาจนได้ ต้องเขียนถึง 3 เวอร์ชั่นถึงได้ลงเรื่องนี้ 

          เขียนแทน “เปลว สีเงิน” ตอนโรจน์ป่วย เขียนแทน “ซูม” ใช้ชื่อ “แซม” ก็ถูกแซวว่า “หล่อเหมือนแซม ยุรนันท์ตรงไหน” จริงแล้วคือเป็นเรื่องของภาษา จะบอกว่า “นานๆ ได้แซมที จะบอกว่าแซม” แล้วต้องรอ “มังกร” ตาย ถึงได้เป็น “กิเลน”  ดวงชะตาชีวิตเข้าคิวเป็นมวยแทนเขามานาน ต้องรอพี่เขาตายถึงได้เกิด เป็น “กิเลน ประลองเชิง” เต็มตัวเมื่อ 2540

 

            หลักการไม่เคยเปลี่ยน

          เมื่อเป็น “กิเลน ประลองเชิง” มีหลักการที่ทำมาตั้งแต่ต้นอยู่ 2 ข้อ คือเขียน “ความจริง” กับ “เรารู้จักมนุษย์ เราเข้าข้างคนทุกข์ยาก ช่วยคน การช่วยคนเป็นความสุข” ถ้าจะให้เล่าอีกสิบเรื่องที่ได้ช่วยคนก็เล่าได้  ตอนนั้นไทยรัฐเหมือนจักรวาล ยอดขายของกระดาษสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศรวมกัน รวมหนังสือลอตเตอรี่ทั่วประเทศด้วยแล้วเทียบจำนวนกระดาษไม่เท่ากับหนังสือไทยรัฐฉบับเดียว เมื่อ 20 ปีที่แล้วหนังสือพิมพ์รายวันทั่วประเทศรวมกันแล้วก็ยังน้อยกว่าไทยรัฐอีก 10% ไทยรัฐเป็นจักรวาลเขียนอะไรไปก็ล้วนมีพลัง เคยเขียนช่วยสมาคมคนตาบอดที่เขาอยากได้ตึกไว้สอนอาชีพคนตาบอด เขียนไปด้วยข่าวธรรมดา แต่ภาษาแบบเรา เขาบอกมาว่าได้เงิน 3 ล้าน ได้ตึกตามต้องการและมีเงินเหลือด้วย นี่คือความสุขของการอยู่หนังสือใหญ่และได้ช่วยคน สรุปแล้วจิตวิญญาณมีอยู่เรื่องเดียว คือ “ช่วยคน”

          ด้านประเด็นการเมือง ไม่มีฝ่าย เพราะถูกหลอมให้เป็นนักข่าวต้องหาข่าว สมัยซ้ายขวาก่อน 6 ตุลาคม เราพบว่าถ้าทำตัวเป็นดาวสยามเข้าม็อบฝ่ายซ้ายไม่ได้เลย ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายไปเข้าม็อบฝ่ายขวาก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ผมรู้จักมนุษย์มองเขาอย่างเข้าใจ เมื่อคราวไปม็อบที่หนองวัวซอ ตอนนั้นยังอยู่เดลินิวส์ หนังสือฝ่ายขวาพาดหัวว่าหนองวัวซอมีการถือปืนอาก้าเดินลาดตระเวณเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เราไปถึงเขาก็ไม่ให้เราเข้า เราก็แนะนำตัวว่าผมเป็นนักข่าวชื่อประกิต เขาลงข่าวว่าคุณเป็นคอมมิวนิสต์ ผมไม่เชื่อ สักพักเขาก็ให้เราเข้าไป ตอนนั้นอีกฝ่ายเตรียมจะสลายม็อบ  ประกิตก็เดินไปหาสมภาร นิมนต์หลวงพ่อมาช่วยชาวบ้านให้เขาได้เจรจากันมันก็จบ แต่เรื่องใหญ่ของประกิตคือจะเอาฟิล์มกลับกรุงเทพฯ ได้อย่างไร สรุปแล้วประกิตเป็นวีรบุรุษ ทูตสันติภาพ หรือคนที่กำลังนำฟิล์มไปส่งที่กรุงเทพฯ  ผมทำแบบนี้ตลอดชีวิต ดังนั้นไม่ต้องถามว่าผมอยู่ข้างใหน ผมอยู่ทุกข้าง

 

 

          พี่ประกิตไม่ได้เก่งอะไรเลย ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้เป็นจอมทมิฬ เป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวพร้อมจะซ้ายพร้อมจะขวา พร้อมจะรักพร้อมจะชังตามใจแต่มีเกณฑ์ข้างที่เห็นว่ามันชอบธรรมกว่า แต่ถ้าเกิดมีโทษเท่ากันระหว่างคนรวยคนจน สอนลูกน้องเลยว่า “เข้าข้างคนจนไว้นะกูขอร้อง”

          สอนน้องทุกคน สอน “สัจภูมิ ละออ” ด้วย ถ้าหัวใจเป็นกลางข่าวนั้นมันน่าอ่าน จะสอนน้องทุกคน ถ้าเป็นนักข่าวชั้นยอด ท่านจะพบหัวใจสีแดงในฝั่งเหลือง ท่านจะพบหัวใจเหลืองในฝั่งแดง ข้าเรียนรู้มาตั้งแต่ซ้ายขวาแล้ว ช่ำชองจนบรรลุแล้ว ถ้าจะทำข่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับข่าว ทั้งเพื่อสันติ หน้าที่ และความอยู่รอดแต่อะไรก็ไม่เท่ากับความเป็นกลางและความเป็นธรรมมันเป็นยารักษาใจ

 

          อ่าน “ศรีบูรพา”

          พูดถึง “ศรีบูรพา” คิดถึงช่วงหนึ่งของชีวิต เคยเกเร หญิงชายคู่หนึ่งเขารักกัน เราไปแย่งเขา เขาบอกเลิกผู้ชายแล้วรอเรา จนวันหนึ่งเขาทักมา เขายังไม่แต่งงานเพราะรอเรา  นึกถึงคำสุดท้ายของหม่อมราชวงศ์กีรติ “ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั้นแล้วก็ตายที่นั้น แต่ของอีกคนหนึ่งกำลังจะรุ่งโรจน์ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”

          ตอนเด็กๆ ได้ฟังเสียงประชาชน เคยได้ฟังเสียงของ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียงจากวิทยุ และผู้ใหญ่ที่เขาฟังก็เอามาเล่า ได้เรียนรู้จากหนังสือที่ไหลเข้ามาหาตัว อย่างหนังสือของ “รุ่งมณี เมฆโสภณ” อ่านแล้วก็เขียน เห็นเป็นประโยชน์ช่วยโปรโมตให้เขา และเราได้ความรู้ไปด้วย เช่นเดียวกันธรรมะเขียนแล้วเกิดประโยชน์สอนคนไปด้วยและสอนใจเราไปด้วย บางเรื่องเขียนเพื่อสอนตัวเองเลยทำความเข้าใจทีละตัวอักษรใจซึมซับ “ชักธงธรรม” เขียนปกติแต่คัดเฉพาะเรื่องธรรมะ

          มีอยู่ครั้งหนึ่งมีคนมาหา (พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์) ท่านยกมือไหว้แล้วควักนามบัตรให้ ตอนนั้นท่านอายุ 68 ปี ประกิตอายุ 62 ปี ท่านบอกว่า ผมอ่านคอลัมน์กิเลนมาโดยตลอด ธรรมะโดยเฉพาะ “ธรรมปฏิจจสมุปบาท” ผมไม่เข้าใจคุณอธิบายให้ผมเข้าใจ ตั้งใจว่าเจอที่ไหนจะขอไหว้ เราพยายามทบทวนเอาความรู้จริงจังเพื่อปฏิบัติให้ใจเบาลง และถอดรหัสเองด้วยการตีความเอง

 

 

          ความรู้สึกเมื่อได้รับ “รางวัลศรีบูรพา”

          “ศรีบูรพา” น่าชื่นชมมาก เป็นวีรบุรุษ ในยุคนั้นการต่อสู้ถูกควรและชอบธรรมอย่างที่สุดไม่มีข้อครหาเลย ขอเล่าเรื่อง “อุทธรณ์ พลกุล” พี่อุทธรณ์ของผมนั้นทำสถิติติดคุกในสมัยจอมพลป. 5 ปี เอาตัวเลขกลมๆ พอจอมพลป. ถูกปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มา ทำสถิติติดคุกอีกราว 5 ปี รวมอายุ 2 รัฐบาลเผด็จการ ติดคุก 11 ปี 8 เดือน ตัวเลขอาจคาดเคลื่อน ขณะที่ “อิศรา อมันตกุล” ติดคุกรอบเดียวสมัยจอมพลสฤษดิ์

          เมื่อ “โกวิท ศรีตลายัน” ออกจากเดลินิวส์ไปอยู่ไทยรัฐ พอพี่โกเริ่มต้นเปิดคอลัมน์ “สวัสดีเวลาเช้า” และเริ่มสไตล์เขียนแบบเอาวรรณกรรม เอานิยาย เอาประวัติศาสตร์มาเขียน เราชอบมาก เทพของเรา วิธีเขียนนี้มันใช่ ขณะที่ประกิตไม่กล้าเขียน 10 กว่าปีถึงจะกล้าเขียนจริง

          กลับมาที่ “อุทธรณ์ พลกุล”  โทษของการติดคุก 11 ปี 8 เดือน ออกมา “นายกําพล วัชรพล” ไม่ให้เขียนหนังสือ แต่ตั้งบริษัทให้ทำหนัง นี่คือกลยุทธ์ เป็นบทเรียน เราก็คิด “กูเป็นกิเลน กูจะตามทางไหน ถ้าตามอย่างศรีบูรพา เดี๋ยวก็ติดคุกเหมือนพี่อุทธรณ์”  ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น “ผมเป็นนักข่าวด้วยชีวิต” ถ้าให้สรุปว่าเป็นไหน ก็เป็นทางเดียวกับ “ศรีบูรพา” เพียงแต่ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนสอนเรา

          อีกข้อหนึ่งในการเขียนหนังสือคือต้องตรึงคนอ่านไว้อ่านให้ได้ หนักเกินไปเขาไม่อ่าน เป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาก็ไม่อ่าน หรืออ่านก็เพื่อศึกษา แต่ที่แน่ๆ หน้าที่หนึ่งของคนเขียนหนังสือ คือเขียนแล้วขายได้ ขายได้มียอดขายดีคำนึงเรื่องนี้ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าได้หนังสือมาทั้งเล่ม กิเลนจะขอเรื่องสักเรื่องหนึ่งที่อ่าน เพื่อบอกผู้อ่านว่าเรื่องนี้สนุกนะ อ่านเถอะ แล้วกระทบกระเทียบการเมืองบ้าง แสบๆ คันๆ รักชัง ถือเป็นน้ำจิ้มอย่าจริงจัง

          แท้จริงแล้วก็เป็นทางเลือกหนึ่งของนักหนังสือพิมพ์ที่จะเลือกทางเดิน  หนึ่งคือเอาตลาด สองคือเอาตัวให้รอด และสามแม้ว่าจะกร่างเกรียงไกร สมมุติคุณประกิตจะเป็นศรีบูรพา เขียนได้ไหมในหน้า 3 แบบหนังสือไทยรัฐ เขาไม่เขียนหรอก หนังสือถูกปิด ถูกยิงกี่ครั้งมาแล้ว ทันทีที่มือดีๆ ที่เป็นซ้ายถูกบัญชีย้ายเกลี้ยงเลย แล้วผู้มีอำนาจเขาก็ย้ายเพราะต้องเอาตัวรอด อำนาจการเมืองมันเหนืออื่นใด

 

 

          สรุปว่าการเรียนรู้ที่ผ่านมาคือการสั่งสม นักข่าวบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไรได้เรียนรู้ สรุปว่าเอาทั้งตลาด ทั้งความพอดี ทั้งความอยู่รอด แล้ววันนี้ยังอยู่รอดอยู่นะ ไม่ถูกฟ้องเลยแม้แต่คดีเดียว ยังไม่ถูกใครหมายหัวยิงหัว แม้จะโกรธก็แค่คำรามเล็กๆ กิเลนเลี้ยงไม่เชื่อง กินข้าวตั้งหลายมื้อทำไมยังด่าอีก นักหนังสือพิมพ์ที่ดี พี่สอนสอนลูกน้องเลยนะ “มึงต้องเป็นพวกเลี้ยงไม่เชื่อง” นักข่าวต้องไม่รักใครจริง นักข่าวที่แท้ของชาวบ้านต้องเป็นคนเลี้ยงไม่เชื่อง จริงคือจริง เท็จคือเท็จ

          “เคยใช้ชื่ออื่นๆ มามากมาย ได้รางวัลมาหลายรางวัล  จนตอนนี้ “ประกิต หลิมสกุล” ได้รางวัลแล้ว ที่เคยคิดจะเปลี่ยนนามสกุลแบบที่คนอื่นๆ เขาทำกันก็ไม่คิดว่าจะต้องเปลี่ยนนามสกุลแล้ว”

          เราจบบทสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์พูดได้แต่เฉพาะหัวข้อ  เพราะผู้ถูกสัมภาษณ์เปิดประตูให้ความทรงจำหลั่งไหลออกมายิ่งกว่าสายน้ำแม่กลอง  นัยน์ตาเป็นประกาย  หัวใจกระหึ่มอยู่ภายใน  พลอยให้หัวใจคนสัมภาษณ์  ผู้ช่วยสัมภาษณ์ และช่างภาพพลอยกระหึ่มไปด้วย  ตัวอักษรช่างวิ่งออกมาได้รวดเร็วและมีจังหวะ ขั้นตอน งดงาม สะท้อนประสบการณ์อันเข้มข้นเกินกว่าใครจะมาประลองเชิงได้อีก  หากยอมคารวะในทันที

          หลังจากนั้น เราจึงชมห้องสมุดที่มีหนังสือคับคั่งของไทยรัฐ  และพาพี่ประกิต หลิมสกุล ชายหนุ่ม(มาก)ในชุดเสื้อเชิ้ตสีชมพูอ่อนโยน ไปถ่ายรูปงาน ๆ ให้สมกับเกียรติยศของนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2565

 

 

 

CR : วารสาร “กองทุนศรีบูรพา” ประจำปี 2565