ชวนอ่าน-ฟังหนังสือเสียง “ฃุนน้อย” เจ้าชายน้อยฉบับพ่อขุนรามคำแหง

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชวนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม–ข้ามพื้นที่ และ ข้ามกาลเวลา ในวาระ 78 ปี การตีพิมพ์ “เจ้าชายน้อย” สู่การตีพิมพ์ฉบับพ่อขุนรามคำแหง พร้อมรับฟังหนังสือเสียง “ฃุนน้อย” สำเนียงท้องถิ่นสุโขทัย

          ผศ. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า หนังสือ Le Petit Prince ได้รับความสนใจอย่างมากมาตั้งแต่การตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 นักปรัชญาชาวเยอรมัน เช่นมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ เขียนคำนิยมไว้ในฉบับแปลภาษาเยอรมันว่า “เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส” จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลออกเป็นภาษาต่างๆ เกือบ 400 ภาษา ไม่ใช่แค่ภาษาที่ใช้กันในประจำวันของคนกลุ่มใหญ่ในโลก เช่น จีน ฮินดี สเปนหรือรัสเซียที่มีคนใช้กว่าสองพันล้านคน หรือภาษาที่มีผู้พูดเหลือเพียงสองพันคน ในหุบเขาอารันแห่งกาตาโลเนีย นอกจากนั้นหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ยังได้แปลออกเป็นภาษาที่คิดขึ้นใหม่ คือ ภาษาออเรเบช ในภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส หรือแปลเป็นอียิปต์โบราณที่ “ตายไปแล้ว” นับพันปี

 

 

          ทั้งนี้ หนังสือ ฃุนน้อย ได้ถูกแปลขึ้นใหม่ เป็นภาษาถิ่นสุโขทัย และถ่ายถอดคำแปลด้วย “ลายสือไท” ของ “พ่อขุนรามคำแหง” เป็นผลงานสืบเนื่องจากนิทรรศการ “เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม” ที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในปี พ.ศ. 2563

 

 

 

           ผู้สนใจ “ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส” ในภาษาท้องถิ่นสุโขทัย และพยายามทำความเข้าใจภาษาของจารึกในสมัยสุโขทัยไปพร้อมกัน สามารถอ่านได้ที่ https://bit.ly/33KvBQI และเยี่ยมชมนิทรรศการ “ฃุนน้อย” นิทรรศการที่สืบเนื่องจากการแปลหนังสือ Le Petit Prince เป็นภาษาถิ่นสุโขทัย ได้ที่ https://bit.ly/3A7HDjg และยังสามารถรับฟังหนังสือเสียง “ฃุนน้อย” ในฉบับแปลเป็นภาษาถิ่นและสำเนียงสุโขทัย อ่านโดย เคียง ชำนิ (และผู้อ่านรับเชิญ ณัฐวัตร นาคพรม บทที่ 12) บันทึกเสียงและดนตรีประกอบโดย อานันท์ นาคคง ได้ที่ https://bit.ly/3Kjj0ot

 

ตัวอย่างหนังสือเสียง “ฃุนน้อย” ฉบับแปลเป็นภาษาถิ่นและสำเนียงสุโขทัย