ยุค #ฝนโลกร้อน ‘ไทย’ เสี่ยง ‘น้ำท่วม’ เตือนเตรียมรับมือ !!

ยุค #ฝนโลกร้อน ไทย เสี่ยง น้ำท่วม เตือนเตรียมรับมือ !!

 

         “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เตือน หาความรู้ทำความเข้าใจกับโลก ยุค #ฝนโลกร้อน แนะ เตรียมพร้อมรับมือ ระบุ ข้อมูลจากหลายองค์กรในโลก ยืนยัน พิบัติภัย โลกร้อน เมืองไทย เสี่ยง “น้ำท่วม” สุด ๆ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” เตือนภัย ยุค #ฝนโลกร้อน ที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“สายฝนกระหน่ำทำให้หลายจังหวัดประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม นั่นคือส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่เราจะเจอบ่อยขึ้นในยุค #ฝนโลกร้อน

 

จากรายงาน IPCC ว่าด้วยเรื่องโลกร้อน ระบุชัดเจนว่าหลายพื้นที่ในโลกจะมีฝนตกหนักขึ้น

 

เมื่อโลกร้อนขึ้น การระเหยของน้ำเกิดมากขึ้น

 

อากาศร้อนยังสามารถพาไอน้ำไปได้มากกว่า ทำให้เมฆมีไอน้ำมากมายที่พร้อมจะตกลงมาจากฟ้าในเวลาอันสั้น

 

แม้พายุอาจเหมือนเดิม แต่ฝนตกหนักกว่า เหตุการณ์นี้เกิดรัว ๆ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ยุโรป จีน อเมริกา ฯลฯ

 

ในบริเวณที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่แล้ว อาจท่วมสูงกว่าอดีต ในบริเวณที่ไม่เคยเกิด อาจเกิดแบบไม่คาดคิด

 

ในกรณีของเมืองไทย น้ำที่สะสมจากทางเหนือกำลังไหลลงมา ขณะที่น้ำจากฟ้าตกมาโครมใหญ่

 

ในขณะเดียวกัน เราปรับเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศ กลายเป็นถนนเป็นชุมชน

 

บางครั้งเราไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงแบบนี้ ทำให้น้ำถูกกักก่อนทะลักผ่าน เกิดการท่วมฉับพลัน

 

ภัยพิบัติจากโลกร้อนแบ่งเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือธรรมชาติแปรปรวนจากโลกร้อน อีกหนึ่งคือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากสาเหตุอื่น ๆ

 

เมื่อ 2 อย่างมารวมกัน ภัยเหนือความคาดหมายอาจเกิดขึ้น

 

ข้อมูลจากหลายองค์กรในโลกระบุว่า ในบรรดาภัยพิบัติจากโลกร้อน ภัยที่เมืองไทยเสี่ยงสุดคือน้ำท่วม

 

โลกตอนนี้ร้อนขึ้น 1.1 องศา และจะไปที่ 1.5 องศาแทบจะแน่นอน และอาจมากกว่านั้น

 

หมายความว่า เราจะเจอกับฝนโลกร้อนมากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่ทำได้คือป้องกัน ปรับเปลี่ยน เตรียมตัวเพื่อรับมือ

 

ในแผน 13 ของสภาพัฒน์ฯ หนึ่งใน 13 หมุดสำคัญสุดคือการลดความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

 

แน่นอนว่าจะมีโครงการและงบประมาณอีกเยอะที่ทุ่มลงไปเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม เพราะเดือดร้อนกันทั่วหน้า

 

แม้แต่ที่ไม่ท่วมก็เดือดร้อน เพราะเวลานักลงทุนข้ามชาติจะมาสร้างโรงงานหรือกิจการใดในยุคนี้ ความเสี่ยงจากโลกร้อนกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ต่อการตัดสินใจ

 

อย่างไรก็ตาม เหมือนกับที่ผมเคยเขียนบ่อยครั้ง ในโลกยุคแปรปรวน เราฝากความหวังทั้งหมดกับคนอื่นไม่ได้

 

หวังได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลก เราต้องหาความรู้ทำความเข้าใจกับโลกในยุคร้อนฉ่า และหาทางเตรียมรับมือด้วยตัวเองไว้ด้วย

 

ความคุ้นเคยในโลกยุคก่อนอาจต้องทบทวน จะทำอะไรต้องเผื่อทางหนีทีไล่

 

ในระหว่างที่เราช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกทุกวิถีทาง

 

เรายังต้องเพิ่มความยืดหยุ่น/ภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตอาชีพการงาน

 

หวังว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะผ่านไปโดยมีความเสียหายไม่มากมายไปกว่านี้

 

หวังว่าฝนเดือนตุลาคม จะไม่รุนแรงอย่างที่หวั่นเกรงกัน

 

ความหวังเป็นเรื่องดี แต่จบปีนี้ยังมีปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป

 

Climate Risk เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก จนอยากให้ทุกคนทราบและเตรียมตัวไว้

 

ขอแสดงความเสียใจกับทุกท่านที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ครับ”

 


ปริมาณน้ำฝนสะสมในอีก 24 ชั่วโมง ตะนาวศรีจะกักฝนไว้ระยะหนึ่ง น้ำบางส่วนจะลงมาในเขื่อนหลัก แต่คงรับไหวเพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เต็ม ข้อดีคือช่วยสะสมน้ำไว้สำหรับหน้าแล้ง (windy.com)


โลกร้อนขึ้น การระเหยมากขึ้น ฝนตกหนักขึ้น วัฏจักรง่ายๆ ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโลกร้อนเพิ่มขึ้น


เมืองไทยอยู่ในเขตสีฟ้า เดิมทีเราก็มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว แต่เมื่อฝนตกหนักกขึ้น ความเสี่ยงย่อมมากขึ้น


ข้อมูลย้อนหลังในอดีต แสดงปริมาณน้ำฝนใน 1 วัน เห็นชัดว่าเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ


//..................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//..................