เรื่องสั้น : คนตกค้าง : สุธีร์ พุ่มกุมาร

เรื่องสั้น : คนตกค้าง : สุธีร์ พุ่มกุมาร

 

          พวกเราไม่เคยสัญญาว่าจะไม่พูดเรื่องนี้จนกว่ามันจะผ่านไป...

          วันที่ลูกคนเล็กมีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง พวกเราก้าวเข้าสู่เงาของการเมืองโดยสมบูรณ์ จำได้วันที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จึงเตรียมตอบคำถามบางอย่างที่แอบเดาไว้ล่วงหน้าหลายวัน...เขาออกจากบ้านแต่เช้า กลับมาแล้วก็ไม่มีท่าทีกระตือรือร้น

          เมื่อพวกเขาเรียนมัธยม ผมมักถูกถามคำถาม “พ่อชอบพรรคไหน” “ชอบทุกพรรค” คำตอบแบบถนอมน้ำใจ เพราะไม่รู้ว่าคน ๖ คนในบ้านชอบพรรคไหนกันบ้าง มีเพียงคนเดียวประกาศชัดเจน “ไม่ชอบพรรคไหนเลย” คือลูกชายคนที่สอง เขาเคยประกาศจุดยืนของตัวเองมาตั้งแต่เรียนมัธยม ๓ ว่า เป็นคนไม่มีศาสนา ไม่เป็นไร ผมเฉย ๆ 

          “การเมืองก็เหมือนศาสนานั่นแหละ...” เขาว่า “มีแต่คำสอนสวยหรู” ก็พอรับฟังได้และคิดตาม แต่ยังยึดมั่นในศาสนาอย่างเหนียวแน่น ส่วนเรื่องการเมือง ต่อให้ประกาศตัวเป็นอิสระจากมัน เวลามีเลือกตั้ง ไม่ว่าใครก็ต้องทำหน้าที่ เพราะทุกคนรู้ว่า ไปเพื่อรักษาสิทธิ์บางประการ

          ลูกสาวสองคนสนใจการเมืองเป็นจริงเป็นจังหลังจบมหาวิทยาลัย ผมไม่เคยรู้มาก่อน อะไรทำให้สองคนสนใจเรื่องการเมือง มีเหตุผลเดียวที่คิดได้คือมหาวิทยาลัยที่เขาจบมา เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอุดมคติทางการเมืองเข้มข้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ถึงกับห้อยท้ายด้วยคำว่า “และการเมือง” ไว้ในชื่อของมหาวิทยาลัย

          ครอบครัวของเรามีเรื่องให้พูดถึงได้มากมายเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นรสนิยมตรงกัน ไม่ใช่รสดั้งเดิมของสถาบันที่พวกเขาจบ ยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน กระทั่งชวนให้คิดไปว่า หรืออาจเป็นเพราะ องคาพยพไม่ครบตามอุดมคติของท่านผู้ก่อตั้งเป็นเหตุ เหมือนนกถูกตัดหางทิ้ง เหลือเพียงลำตัว มีปีกกบินไปได้ไม่ไกลก็หล่น

          ครอบครัวของเราใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น แต่พวกเราไม่คิดสักนิดว่านั่นคือการทำหน้าที่อย่างหนึ่งของพลเมืองชาติ หรือพวกเราให้ความสำคัญกับสิทธิ์จนไม่ใส่ใจหน้าที่ หรือพวกเราเข้าใจว่าสิทธิ์คือผลประโยชน์ หน้าที่คือความสูญเปล่า

          “อีกแล้วเหรอ เลือกตั้งอะไร” ลูกชายคนที่สองมีข้อสงสัย อย่างน้อย มี ๔ คน สงสัย ดีนะ บ้านเรามี ๖ คน ต้องมีสักคนแหละที่จะบอกให้คนอื่นรู้ จะไม่รู้ทั้ง ๖ คน แทบไม่อยากคิดเลยว่าจะเป็นไปได้ การเลือกตั้งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศรัฐประชาธิปไตย เลือกใคร เลือกอย่างไรเป็นอีกเรื่องแยกจากกัน

          กลับจากเลือกตั้งทุกครั้ง ภรรยา ลูกสาว และลูกชายคนเล็ก ถือเป็นโอกาสพิเศษ ชวนกันไปเดินห้างฯ หาของกิน นึกแปลกใจอยู่ ทำไมต้องเลือกตั้งเสร็จ ที่จริงผมก็ไม่ต่างจากพวกเขา ความรู้สึกแรกเลยคือ สบายใจคล้ายเพิ่งเสร็จภารกิจสำคัญ หรือไม่ก็เช็ดถูบ้านเสร็จใหม่ ๆ ชอบยืนดูผลงาน เดินไปทั่วบ้านเพื่อวางฝ่าเท้าสัมผัสความเนียนของพื้นผิวปราศจากฝุ่น ยืนมองคูหาเลือกตั้ง คิดนั่นนี่เรื่อยเปื่อยก่อนกลับบ้าน

          ครอบครัวของเรามีรสนิยมทางด้านการเมืองต่างกันเล็กน้อย ภรรยา ลูกสาวสองคน ลูกชายคนเล็กเข้ากันได้ดี ออกไปทาง “หย่อน”, ลูกชายคนที่สอง เจ้าความคิด จอมหลักการ ออกไปทาง “สุดโต่ง”, ผมจึงต้องยึดหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งฝืนธรรมชาติวิสัยตัวเองเพื่อลดแรงปะทะ หากในเวลาปกติ ทุกคนก็ปกติ พูดคุยกันตามปกติ หลายเรื่องที่ผ่านเข้ามาดูไม่น่าปกติ แต่ก็เป็นปกติ เช่นการเลือกซื้อของใช้ชิ้นใหญ่เข้าบ้าน แต่ละคนมีข้อมูลเต็มมือมานำเสนอ ข้อมูลนั้น ๆ ได้มาจากหลากหลายแหล่ง พอเอามารวมกันตรวจสอบ ในที่สุดก็มีผลสรุป ได้ของมาแล้วก็ช่วยกันประกอบติดตั้ง ลูกชายคนที่สองเป็นลูกมือให้ด้วยความเต็มใจ ส่วนผมมักแอบเห็นต่างบ่อย ๆ เช่นรอยต่อชิ้นส่วนไม่สนิท

          เคยมีเหตุการณ์ตึงเครียดมาแล้วเมื่อครั้งดอกประชาธิปไตยชูช่อเบ่งบาน หลักคิดเรื่องกระจายอำนาจระบาดเข้ามาเมืองไทย ถูกนำไปสู่การปฏิบัติจริง ป้ายแนะนำตัวผู้อาสารับใช้ประชาชนถูกแปะไว้ตามเสาไฟ ต้นไม้ ป้ายรถเมล์ ตามถนน รพช. บ้านใครอยู่ในที่ทำเลทอง ป้ายพวกนี้ต้องไม่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างไว้พักผ่อนสายตาแน่นอน บ้านของเราอยู่ในที่ทำเลทองด้วย “ดีเหมือนกัน” ผมคิด เพราะชอบดูป้ายหาเสียง ดูศิลปะการออกแบบและความตั้งใจ รวมไปถึงค่าใช้จ่าย มันบอกให้รู้ถึงเงินทุน แม้มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายห้ามเกิน คนไหนล่ะไม่เกิน เมื่อมีป้ายมาแปะติดรั้วบ้านแค่ดูว่ามันรบกวนต้นไม้ต้นไหนบ้าง อาจช่วยยกหรือขยับให้แดดส่องถึง ไม่ทำให้ป้ายเสียความสง่างาม และต้องคอยช่วยพูดแทนเจ้าของป้าย คนในบ้านจะได้ไม่หัวฟัดหัวเหวี่ยง

          “พ่อเห็นป้ายที่รั้วต้นโมกหรือยัง” ลูกสาวซึ่งอยู่ในแก๊งสี่คนถามผมหลังกลับจากทำงาน สัมผัสได้ถึงความไม่พอใจ “เขาบอกพ่อหรือเปล่า”

          “เปล่า” ผมตอบแค่นั้น เขาหายไปพักใหญ่แล้วพาแม่มาเสริม “เขาคงเห็นว่ารั้วต้นโมกบ้านเราเหมาะกับป้ายหาเสียง พอเสร็จงาน พวกเราช่วยกันปลดเอามาใช้ประโยชน์ได้ตั้งหลายอย่าง”

          “หวังไปเหอะ เดี๋ยวเขาก็มาเก็บกลับไว้รียูส (Reuse) เลือกกันทั้งปี” ผมไม่เชื่อจะมีคนมาเก็บกลับ ยิ่งพวกที่แพ้จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนมาเดินเก็บ ปล่อยทิ้งให้ฉีกขาดห้อยรุ่งริ่งเยอะแยะไป ภรรยาผมแยกตัวไปชะเง้อดูป้าย, ป้าเล็ก (ประธานหมู่บ้านนิติบุคคล) เดินมาตรงนั้นพอดี ครู่หนึ่งก็รีบกลับมารายงานผลการสอบสวนให้ลูกสาวทราบ

          “แม่ถามป้าเล็กแล้ว ป้าเล็กบอก ป้าอนุญาตเอง”

          “ได้ด้วยเหรอ แม่” ลูกสาวยิ่งของขึ้น

          “ป้าเล็กบอกจะช่วยพูดกับเจ้าของป้ายให้ช่วยค่าทำความสะอาด มีหลายเบอร์เลยนะ” ผมเห็นทั้งแม่ทั้งลูกค่อยมีสีหน้าสดชื่นบ้าง

          “แม่ต้องบอกป้าเล็ก นี่เป็นบ้านของเรา ต้องขออนุญาตเรา ไปขออนุญาตคนที่ไม่ใช่เจ้าของบ้านจะถูกเหรอแม่” ลูกชายคนที่สองไม่จบ แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวแม่ลูกก็จะประนีประนอมกันเอง   

          “แม่บอกแล้วไง ป้าเล็กจะช่วยพูด และมันไม่ได้ติดถาวร พวกเราได้สองเด้งเลยนะ เงินก็ได้ ป้ายก็ได้” ภรรยาผมเปรียบน้ำถังใหญ่ตั้งอยู่ในบ้าน

          “งั้นแม่เรียกค่าทำขวัญด้วย เราเป็นฝ่ายถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว” ความสุดโต่ง หากเจอคนยอมอ่อนให้โดยเฉพาะระหว่างแม่กับลูก มักแพ้ทางกัน บรรยากาศในครอบครัวของเราก็กลับมาเหมือนเดิม เงามืดค่อย ๆ เคลื่อนห่างออกไปชั่วขณะ...

 

          ลูกสาวยื่นการ์ดขนาดใหญ่กว่านามบัตรเล็กน้อยมาให้ดู ผมกำลังจดจ่ออยู่หน้าจอโทรทัศน์ กว่าสองเดือนที่คล้ายถูกตรึงไว้ตรงนี้ แม้แต่คนที่ชิงตายก่อนปิดคดีและจับผู้ร้ายได้ ยังต้องสั่งลูกหลานช่วยเคาะข้างโลงบอกความคืบหน้าให้ทราบแบบรายวัน การตายอย่างมีปริศนาของเด็กผู้หญิงอายุ ๓ ขวบเศษ ดึงดูดความสนใจของมวลชนทั้งประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์ นักเคลื่อนไหวตามหาประชาธิปไตยต้องกลายเป็นมนุษย์ที่โลกลืมชั่วขณะ กระบวนการขับเคลื่อนการเมืองชะงักงัน ความตายปริศนาของเด็กหญิงแห่งหมู่บ้านกกกอกถูกนำเข้าเป็นประเด็นหลักในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร

          แปลกใจเหมือนกัน อีกวันสองวันพวกเราจะไปหย่อนบัตร ใบหน้าที่เคยเห็นประปรายตามป้ายริมทาง รู้ว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๑ มีผู้สมัคร ๓ คน รูปในป้าย ทุกคนยกมือพนมไหว้สวยงาม มีสัมมาคารวะ รูปทุกรูปผ่านการรีทัช (Retouch) จนเนียนตาเกินจริง

          “เขาเลือกวันไหน” ผมรู้เพียงคราว ๆ ว่าจะมีเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๑ พวกเราสังกัดหมู่ ๑ หน่วยเลือกตั้งอยู่ในวัดห่างจากบ้านราวสามป้ายรถเมล์ ไม่ไกล ไปไม่ยาก

          “วันอาทิตย์นี้” ลูกสาวบอก “ถ้าเลือกเบอร์นี้...” เขาหมายถึงเบอร์ที่ปรากฏในบัตรแนะนำตัว “เขาให้ค่ารถ ๒๐๐ บาท” บัตรนี้ประธานหมู่บ้านเป็นคนเอามาให้ ผมแอบคำนวณ ไม่เลวเลย ถึงอย่างไรพวกเราก็ต้องไปเลือกกันอยู่แล้วเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา มันแค่ผลพลอยได้ บ้านเรามี ๖ คน แต่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกลับแทบไม่มีข้อมูลใด ๆ เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่เป็นข่าวทางสื่อสาธารณะ การตัดสินใจของชาวบ้านจึงมักขึ้นกับปัจจัยพิเศษ เลือกแล้วก็แล้วกัน จำหน้าว่าที่ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ไม่ได้ ก่อนเข้าคูหา ให้จำหมายเลขเพียงอย่างเดียว ซื่อสัตย์ต่อพันธะสัญญาใจ กาหมายเลขให้แม่นยำ มั่นใจว่าบัตรจะไม่ถูกขานเป็นบัตรเสีย หรือกาผิดเบอร์

          ผมไม่เคยถาม ใครจะเลือกเบอร์ไหน เคารพความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน เลือกเบอร์ตรงกันถือเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่ตรงก็เป็นเรื่องบังเอิญ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักของชีวิต มันก็แค่ทฤษฎีตัวแทนที่มวลมนุษย์ในประเทศพัฒนาประกาศตัวเองเป็นอารยะ พยายามส่งสารกระจายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ก่อนจะสถาปนาตัวขึ้นเป็นประเทศผู้นำทางจิตวิญญาณการเมืองแบบประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ

          ลูกสาวไม่ถามว่าพ่อจะเลือกเบอร์อะไร เพียงบอกว่าถ้าเลือกเบอร์นี้...ซึ่งเป็นคำบอกกล่าวแนบเงื่อนไขของป้าเล็ก หมู่บ้านของเราไม่ใหญ่ มีกันแค่ ๕๕ หลัง มียามหมู่บ้านเฝ้าคนเดียวเฉพาะเวลากลางวัน รถเข้า-ออกต้องใช้คีย์การ์ด (Key card) เมื่อเฉลี่ยจำนวนหลังต่อจำนวนคนที่มีสิทธิ์ ไม่น้อยเลย คุมอยู่ก็ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ป้าเล็กย่อมต้องคอยอำนวยความสะดวกทั้งต่อสมาชิกและผู้สมัครทุกราย ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยอีกทางหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่รถยนต์ คนที่จะเดินผ่านประตูเล็กที่เปิดถึงหกโมงเย็นต้องขออนุญาตยาม แสดงหลักฐานอย่างเปิดเผย มีสมาชิกหมู่บ้านรับรอง อาจถึงกับถ่ายรูปเก็บไว้ ป้าเล็กจึงมีความสำคัญอย่างมาก

          “ผู้ใหญ่บ้านเปรียบกับใคร...”(เข้าใจว่าน่าจะหมายถึงสำคัญอย่างไร) ไม่สู้แน่ใจว่าคำถามของลูกชายคนที่สองจริงใจหรือเปล่า การย้อนแย้งเกิดขึ้นได้เสมอ ผมต้องตั้งสติ ความสุดโต่ง บางครั้งมีประโยชน์อย่างนึกไม่ถึง หากผมรู้จักบริหารความสุดโต่งนี้ได้ก็จัดการความสุดโต่งได้ไม่ยาก ในเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ไม่ปกติจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ดูกลมกลืน ในโรงพยาบาลคนบ้ามีคนสุดโต่งเกือบทั้งนั้น หมออาจถือคันเบ็ดตกปลาบนบกร่วมกับคนสุดโต่งอย่างไม่สะทกสะท้านสายตาใคร

          “ญาติสนิทที่ไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน” ผมคิดว่าน่าจะเป็นการเปรียบเทียบสมเหตุสมผลดีแล้ว

          “ไม่ค่อยเจอหน้า ก็ไม่น่าเรียกว่าสนิท” “สนิทสิ..” ผมเองเป็นฝ่ายแย้ง ในบางครั้งการรุกก่อนย่อมชิงความได้เปรียบไว้ในมือ เป็นอีกวิธีหนึ่งของการตั้งรับ

          “ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองระดับล่างสุด บ้านของผู้ใหญ่บ้านกับบ้านของเราอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าบ้านของกำนัน นายอำเภอ บ้านของผู้ว่าราชการจังหวัด เวลามีปัญหาเร่งด่วนไม่ว่าเรื่องอะไร นึกอะไรไม่ออก ไปบอกผู้ใหญ่บ้าน พบตัวง่ายที่สุด ไม่เจอผู้ใหญ่ก็เจอลูกเจอเมียผู้ใหญ่ ทุกคนทำงานแทนผู้ใหญ่ได้ อย่างน้อยไม่กลับแบบตีรถเปล่า เพราะผู้ใหญ่บ้านจะมาหาลูกบ้านโดยไม่ชักช้า ลองไปบ้านผู้ใหญ่บ้านขอค้นหาชื่อพ่อชื่อแม่ชื่อพี่น้อง-ตัวเรา ในบ้านเรา ผู้ใหญ่บ้านบอกได้หมด ลูกเมียผู้ใหญ่บ้านก็บอกได้”

          “พ่อมีเบอร์ในใจแล้วหรือยัง” เขาถามแทบไม่ทันตั้งตัว “ยังไม่มี...” ผมตอบตามจริงและมั่นใจจะไม่ถามกลับด้วยคำถามเดียวกัน หากมองผิวเผินเหมือนไม่สำคัญในสายตาคนทั่วไป ผู้ใหญ่บ้านแค่หน่วยปกครองเล็กสุด คิดเสมอว่าเลือกตั้งผู้ใหญ่ ได้แถม ส.ส. จะไม่ยอมให้ผู้ใหญ่ที่ผมเลือกแล้วได้แถม ส.ส.ห่วย ๆ เข้าไปนั่งเชิดหน้ากินเงินเดือนเป็นแสนไม่คุ้มค่าแรงเด็ดขาด หลักการทฤษฎีกระจายอำนาจไม่ต่างกับภาพวาดเสมือนจริงของจิตกรมือสมัครเล่น เจ้าทฤษฎีมองว่าอำนาจไม่ควรรวมศูนย์ ควรกระจายและเกลี่ยอย่างเป็นระบบ เสียแต่ว่าเจ้าทฤษฎียังไม่เคยลงมือปฏิบัติ

          พินิจรูปในบัตร แอคชั่นเดียวกันกับที่เห็นข้างทาง ต่างกันที่ขนาด ช่างไม่มีไอเดียเอาเสียเลย รายละเอียดเล็กน้อย ผลลัพธ์ต่างกัน ส่วนอีกสองเบอร์ก็น่าจะทำแบบเดียวกัน ป้ายหาเสียงที่เห็นข้างทางตั้งเรียงหมายเลขเป็นระเบียบ ความสูง การเว้นระยะเท่ากันเป๊ะ ผิดกับป้ายหาเสียงของพวก ส.ส. สะเปะสะปะสิ้นดี

          อดสงสัยไม่ได้ จะเลือกตั้งวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ อีกสองผู้สมัครไปทำอะไรอยู่ที่ไหนจึงได้บัตรแค่เบอร์เดียว แต่พอเข้าใจได้ คำถามเรื่องเบอร์ในใจ และคำตอบตามจริงก็ไม่จริงทั้งหมด รูปบนป้ายหาเสียงช่วยให้ผมตัดสินใจมีเบอร์ในใจตั้งแต่เห็นครั้งแรก

          พิมพ์หน้าของคนที่เรามองเห็นแวบเดียวจะมีความรู้สึกเป็นลบเป็นบวกโดยไม่ต้องคบหาซื้อใจเป็นเวลานาน ๆ พูดให้เข้าใจง่ายคือ ศรศิลป์ไม่กินกันก็ไม่มีอะไรอธิบาย ยิ่งมารู้ตื้นลึกบางอย่าง แม้นับเนื่องเสมือนญาติสนิท ผมก็รู้สึกตะขิดตะขวง ไม่ค่อยสนิทใจอยู่ดี

          “บ้านใหญ่” กับ “ผู้ใหญ่บ้าน” เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ อำนาจที่ผู้ใหญ่บ้านได้รับมาจากผลทฤษฎีการกระจายอำนาจมันถูกส่งต่อด้วยความยินยอม พอใจหรือไม่พอใจก็ต้องปรับจูนความรู้สึกให้พอใจไว้ก่อน เป็นข้อความจริงที่เจ้าทฤษฎีไม่ควรสอดเข้ามารับรู้

          เคยแค้นใจตัวเองที่ไปหย่อนบัตรให้ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่คนหนึ่งด้วยเพราะเขาสังกัดพรรคที่ผมศรัทธามาก ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ครั้นได้รับเลือก ยังไม่ทันได้เดินเข้าสภาอันทรงเกียรติ กลับชิงลาออก อ้างเหตุสุขภาพไม่ดี อดีต ส.ส.บ้านใหญ่ที่เพิ่งแพ้เลือกตั้งมาหยก ๆ ลงสมัครอีกและได้รับเลือกกลับเข้ามาอย่างสมใจ หลุดพ้นจากคำว่า อดีต ส.ส. รักษาหน้าตาไว้ได้ ช้างที่ล้มแล้วลุกขึ้นด้วยพลังมหาศาลของลำขาตัวเองจะเพิ่มความทระนงเป็นหลายเท่า เหตุการณ์อย่างนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่

          แต่ไม่ว่าผมจะกาให้เบอร์ไหน ไม่ช่วยให้เบอร์นั้นรอดพันธนาการอุบาทว์ไปได้ เขาจะยอมขายวิญญาณให้ใครก็ช่าง ความเป็น “ญาติสนิท” ไม่ถูกตัดขาด ผมเชื่อเช่นนั้น วิถีชุมชนแบบบ้าน ๆ ขนบดั้งเดิมฝังรากหยั่งลึกเกินกว่าจะขุดรากถอนโคน เพราะมันได้พัฒนาต่อเนื่องเป็นอารยะธรรมรากหญ้าที่อะไรก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

          ผมวางบัตรใบนั้นไว้บนหลังเครื่องปริ๊นเตอร์เพื่อคอยเตือนความจำว่า เลือกเบอร์นี้แหละ ก็เมื่อเขาอุตส่าห์ลงทุนมาแนะนำตัวถึงในบ้าน แม้จะผ่านมือประสานของป้าเล็กหรือใครก็ตามย่อมถือว่าเป็นเกียรติ พวกเราพร้อมมอบโอกาสให้ เรื่องสัพเพเหระยิบย่อยหยุมหยิมไม่เอามารกสมอง ผลไม้บางชนิดกินทั้งเปลือกไม่ได้ก็กล้อนเอาแต่เนื้อมากิน

          มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่วิสัยแท้จริงของผม แค่อุปโลกน์ขึ้นมาไว้รับแรงปะทะจากอารมณ์ภายนอก ตลกอย่างร้ายกาจ ครั้งแรกที่เห็นป้ายหาเสียงตั้งเรียงกัน มองดูเป็นระเบียบ แทนที่จะมองในมุมของความสวยงาม ดันมองในมุมไม่น่ามองและเกิดความรู้สึกรังเกียจ หงุดหงิด คิดเตลิดไปถึงอำนาจด้านมืด คำที่ใช้เรียกกันแพร่หลายไม่กี่จังหวัดในประเทศไทย จะเรียกซุ้มหรืออะไรก็ตาม ส่วนตัวผมมันคือสารตั้งต้นของอำนาจอิทธิพลท้องถิ่น

          เอาละ... วันอาทิตย์ที่จะถึง ผมจะไปใช้สิทธิ์ ทำหน้าที่กากบาทในบัตรเลือกตั้งให้กับคนใดคนหนึ่งในสามคนนี้เป็นแน่นอน สำหรับแก๊งสี่คน เขาไม่ยอมพลาดเด็ดขาด ผมรู้ ส่วน “คนไม่มีศาสนา” ยังพยากรณ์ไม่ได้ พวกเราทุกคนไปแล้วทุกครั้ง มีประสบการณ์ จำตำแหน่งที่ตั้งหน่วยและหีบบัตรประจำของพวกเราได้ “คนไม่มีศาสนา” เพิกเฉยมาตลอด ผมมั่นใจในความเป็นพวกเรา ในความเป็นครอบครัวประชาธิปไตย การไม่ไปทำหน้าที่ ไม่ไปใช้สิทธิ์ก็แสดงความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตยในตัวบุคคลได้เช่นกัน ปล่อยตามสบายให้คนไม่มีศาสนาใช้สิทธิ์“สุดโต่ง” ให้สุด ๆ ไปเลย...

 

          เสียงเครื่องซักผ้าเตือนว่าซักเสร็จแล้ว ผมเดินไปดึงปลั๊กออก เปิดฝาถังหยิบผ้าออกสะบัด หย่อนลงตะกร้า เพื่อแยกผ้าไม่ให้พันกันและไม่ให้ผ้าอับกลิ่น

          แผ่นกระดาษขนาดและลักษณะคุ้นตาหล่นจากเสื้อตัวหนึ่ง

          มันทนทานต่อการเบียดเสียด หมุนวนในน้ำเป็นเวลาเกือบชั่วโมง โบกลม จับให้เข้าที่แล้ววางผึ่งไว้บนฝาเครื่องซักผ้าอีกเครื่องที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ

          เจ้าของผ้าเดินมายกตะกร้าผ้าไปตาก ไม่ต้องแปลกใจ ผมทำอย่างนี้เป็นประจำ พอใจที่จะทำ ไม่เลือกผ้าของใคร ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกคนเห็นชินตา

          บัตรแนะนำตัวผู้สมัคร คนละหมายเลขกับใบแรกที่ลูกสาวให้ เขาเอามาจากไหน คำตอบต่อมาคือ

          “ยามให้มา”

          บ้านผมอยู่ห่างจากป้อมยามนิดเดียว เดินไม่กี่ก้าวก็ถึง เวลาไปตลาด มีของกินติดมือมาฝากยามแทบทุกครั้ง เขาตอบแทนด้วยการรับจดหมายลงทะเบียน อุ้มกล่องพัสดุหนัก ๆ มาส่งถึงบ้าน (ทำเหมือนกันทุกหลัง) แล้วทำไมไม่ให้บัตรแบบนี้กับผมบ้าง ลูกบอกว่า “ยามให้ตอนขับรถออกจากบ้าน กำลังรอประตูเปิด”

          “ยามพูดว่าอย่างไร” ผมถาม “ฝากด้วยครับ อย่าให้ประธานหมู่บ้านรู้” น่าเห็นใจยาม บางครั้งน่าสงสาร, ยามหลายคนถูกส่งตัวกลับบริษัทแล้วส่งคนใหม่มาตามคำสั่งประธานหมู่บ้าน สำหรับยามในหมู่บ้านขนาดเล็ก ทุกคนอยากอยู่ที่นี่นาน ๆ เพราะคนในหมู่บ้านมักหยิบยื่นโน่นนี่นั่นแทบไม่เว้นวันมาให้...

 

          บรรยากาศเช้าวันอาทิตย์ น่าอภิรมย์เหลือเกิน ทุก ๆ วัน เวลานี้เป็นเวลาถูบ้าน มันคือหน้าที่ที่ผมผูกขาด ค่อย ๆ กระถดตัวไปไม่รีบร้อน บ้านโล่งดี วันนี้ผิดจากวันก่อน ๆ มีเสียงพูดดังจากชั้นบน บางคนรีบลงมารออยู่ชั้นล่างท่าทาง กระวนกระวาย ผมถูบ้านไปตามปกติ

          “เสร็จยัง สายแล้ว” ภรรยาบอกให้ลูก ๆ เร่งเวลา

          เงาเมฆหม่น ๆ เคลื่อนเข้าแผ่คลุมหน้าบ้าน รั้วต้นโมกจมในเงามืด ผมลุกไปเปิดไฟ คราบสกปรกมักแฝงในความมืด กว่าเสร็จงานคงต้องเกือบเที่ยงวัน

          แก๊งสี่คนไปกันแล้ว ทั้งบ้านเงียบกริบจนผิดสังเกต ลุกไปดูหน้าบ้าน ไม่เห็นรถที่เคยจอดประจำตรงนั้น มันควรมีใครตกค้างอยู่ในบ้านอีกคน นอกจากผม

          วันเสาร์ทั้งวันก็เหมือนทุกวัน ไม่มีใครพูดถึงการเมืองที่กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยกลุ่มคนที่เป็นเยาวชน สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว โบสีขาว การชุมนุมที่กระจายไปทั่วประเทศแบบจรยุทธ์ หลอกล่อฝ่ายอำนาจอมตะ , เช่นเดียวกัน ครอบครัวของเราไม่พูดถึงการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านวันนี้

          เหมือนกับการเลือกตั้งระดับประเทศ หากไม่มีเหตุที่ผิดไปจากการคาดเดาหรือความคาดหวังของคนส่วนใหญ่ มันจะผ่านไปอย่างเงียบ ๆ ถ้ามี (มักจะมี) พวกเราจะพูดถึงบ้าง เช่นถามว่าใครเลือกพรรคอะไร เบอร์อะไร ทำไมพรรคที่เลือกจึงแพ้ เบอร์ที่ไม่เลือก ชนะ

          ผมเตรียมตัวออกไปเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน รถคันเก่งที่หายไปตอนสาย ๆ กลับเข้ามาจอดที่เดิม พอคนขับลงมา กำลังจะเข้าบ้าน “ซื้อนี่มาให้” ชูห่อของกินให้ดูและถามว่าจะไปเลือกตั้งหรือ มีเบอร์ในใจแล้วหรือยัง ผมพยักหน้า ชวนให้ไปด้วยกัน

          “ไปเลือกมาแล้ว...” ตอบอย่างอารมณ์ดี แววตาเชื่อมั่นในตัวเองสูงเหมือนเดิม

          อยากรู้จริง ๆ คนที่ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนา ผมยกให้เป็นคนสุดโต่ง เลือกเบอร์อะไร นึกถึงบัตรใบนั้นที่ได้จากเครื่องซักผ้า “ยามให้มา” ไม่ใช่เบอร์เดียวกับที่ป้าเล็กให้

          พวกเราไม่เคยสัญญาว่าจะไม่พูดเรื่องนี้

          จนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านไป...

 

//.....................

 

Link ที่เกี่ยวข้อง

  

                “บางกอกไลฟ์นิวส์” เปิดรับ “เรื่องสั้น” และ “บทกวี”

 

                วรรณกรรมออนไลน์