เปิด 7 ประเด็น !! ทำไมการเข้าร่วม ‘CPTPP’ จึงเป็นหายนะ !!

เปิด 7 ประเด็น !! ทำไมการเข้าร่วม ‘CPTPP’ จึงเป็นหายนะ !!

 

         “มูลนิธิชีววิถี ไบโอไทย” เปิดผลศึกษา “ผลกระทบกรณีพันธุ์พืช” ของ “กมธ.สภาผู้แทนฯ” ชี้ชัด 7 ประเด็น ทำไมการเข้าร่วม “CPTPP” จึงเป็นหายนะของเกษตรกรรายย่อย และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “มูลนิธิชีววิถี ไบโอไทย” ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ เปิดผลศึกษา “ผลกระทบกรณีพันธุ์พืช” ของ “กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ระบุถึง 7 ประเด็น ทำไมการเข้าร่วม “CPTPP” จึงเป็นหายนะของเกษตรกรรายย่อย และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“ทำไมการเข้าร่วม CPTPP จึงเป็นหายนะของเกษตรกรรายย่อย และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ?

 

ไบโอไทย คัดลอกทุกข้อความในบทสรุปผลกระทบในกรณีเรื่องพันธุ์พืช ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎรมาให้อ่านครบถ้วนทั้ง 7 ประเด็น ดังนี้

 

 

1. สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีเพื่อประโยชน์ในทางการค้า เนื่องจากไม่สามารถกำหนดให้แสดงหลักฐานการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในการยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้อีกต่อไป ทำให้ต่างชาติมีโอกาสที่จะมาลักลอบเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจำหน่ายไปยังประเทศที่พันธุ์นั้นได้รับความคุ้มครองสิทธิ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับต่างชาติเข้ามานำพันธุ์พืชของไทยไปพัฒนาได้ และส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศได้เร็วกว่านักปรับปรุงพันธุ์พืชชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้านระบบฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิม

 

 

2. อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา จากการขยายสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึงอนุพันธ์สำคัญ (Essentially derived variety; EDV) ของพันธุ์พืชใหม่ด้วย หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ถูกลมหรือสัตว์พาหะนำไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง ในบางกรณีอาจทำให้เมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรในแปลงข้างเคียงเข้าข่ายที่จะเป็น EDV ได้ นอกจากนี้การให้ความคุ้มครองแก่ EDV ยังจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการที่เกิดขึ้นใหม่จากในแปลงปลูกมาปลูกได้

 

 

 

3. สูญเสียความได้เปรียบจากการที่ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของความหลากหลายของพันธุ์ข้าว (ในปัจจุบันได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้กว่า 24,852 ตัวอย่าง) โดยยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการถ่ายเทพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศภาคีสมาชิก โดยประเทศสมาชิกสามารถนำพันธุ์ข้าวของประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ ส่งผลต่อเกษตรกรเรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะสูงขึ้น

 

 

4. ทำให้ต้องจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม จากเดิมพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ให้พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการตาม Precautionary approach (อาจถูกพิจารณาว่าไม่เป็นไปตามหลัก SPS) ในการควบคุมการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจทำให้ผู้บริโภคประเทศคู่ค้า ซึ่งไม่ยอมรับผลิตผลจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม เกิดความเข้าใจผิดและปฏิเสธการสั่งซื้อผลิตผลจากประเทศไทยได้ ซึ่งจะกระทบปริมาณการส่งผลิตผลพืชที่มีราคาสูงไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

 

 

5. ทำให้เกษตรกรรายย่อยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น เพราะหน่วยงานภาครัฐถูกลดงบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรที่เคยทำงานปรับปรุงพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร ทำให้การพัฒนาและผลิตส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่จากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เหลือในสัดส่วนที่น้อยมาก ขาดการถ่วงดุลด้านราคาเมล็ดพันธุ์-ส่วนขยายพันธุ์กับภาคเอกชน ขณะที่เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นใช้พันธุ์ทั่วไปและพันธุ์จากหน่วยงานของรัฐในสัดส่วนที่สูง การที่เมล็ดพันธุ์มีราคาสูงขึ้นในช่วงก่อนที่ตลาดเมล็ดพันธุ์จะมีการแข่งขันเสรีอย่างจริงจัง จะส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้ระดับค่าครองชีพสูงขึ้น และลดขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นที่เป็นภาคีความตกลง CPTPP

 

 

 

6. อาจทำให้เกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งนผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายปลีกในตลาด ถูกดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอนุสัญญา UPOV ขยายสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชให้รวมถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช เพราะมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่ต่ำมากที่บุคคลเหล่านั้นจะมีใบเสร็จ/สำเนาใบเสร็จการซื้อเมล็ดพันธุ์อันเป็นหลักฐานแสดงว่า ผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่นำไปจำหน่ายนั้นได้จากพืชที่ปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย

 

 

7. จะเป็นอุปสรรคแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อยและนักปรับปรุงพันธุ์พีชรายใหม่ แต่จะเอื้อประโยชน์แก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชรายใหญ่ที่มีทุน กำลังคน และเทคโนโลยีซึ่งเหนือกว่า เนื่องจากอนุสัญญาUPOV จะทำให้ต้องขยายขอบเขตสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืช ให้ครอบคลุมถึงพันธุ์ที่เป็นอนุพันธ์สำคัญของพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากพันธุ์พืชใหม่ แม้ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยไม่ได้ใช้พันธุ์พืชใหม่นั้น

 

 

 

#NoCPTPP #StopUPOV1991 #ความหลากหลายทางชีวภาพ #ความมั่นคงทางอาหาร #อธิปไตยทางอาหาร #เก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม

 

สามารถอ่านฉบับเต็มได้จากหน้า 33-34 จากลิงค์ด้านล่าง

 

https://bit.ly/3emMwf0

 

หมายเหตุ : รายงานนี้ดำเนินการโดยกลไกของสภาฯ หลังจากนายกรัฐมนตรีไฟเขียวให้ใช้เวทีของสภาฯเพื่อหาข้อยุติการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ที่รวบรวมมือเศรษฐกิจจากทุกพรรคการเมือง ประธานมาจากพรรคพลังประชารัฐ มีอธิบดีสำคัญจากทุกกระทรวง ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม

 

เมื่อรายงานดำเนินการแล้วเสร็จ ได้เสนอต่อสภาฯ เพื่อรับรอง โดยสภาฯให้ความเห็นชอบรายงานนี้ อย่างเป็นเอกฉันท์”

 

//....................

              CR : BIOTHAI

//....................