ชมย้อนหลังภาพและกิจกรรม 116 ปี “ศรีบูรพา”

กองทุนศรีบูรพา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนฯ จัดกิจกรรมเนื่องในวาระ 116 ปี ชาตกาล “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ณ บ้านศรีบูรพา พร้อมประกาศ “รางวัลศรีบูรพา” และ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”

          เนื่องในวาระครบรอบ 116 ปี ชาตกาล “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) กองทุนศรีบูรพา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ณ บ้านศรีบูรพา มีการวางดอกไม้เคารพและกล่าวคารวะ “ศรีบูรพา” การอ่านบทกวีรำลึก การเปิดตัวหนังสือผลงานของ “ศรีบูรพา” ฉบับพิมพ์ใหม่ และการเสวนา “แลไปข้างหลัง เล็งไปข้างหน้า อ่านศรีบูรพา 2564”  ปิดท้ายด้วยการแถลงข่าวประกาศ “รางวัลศรีบูรพา” และ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”  โดยกิจกรรมต่างๆ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Streaming Live “กองทุนศรีบูรพา”

 

การวางดอกไม้เคารพและกล่าวคารวะ “ศรีบูรพา”

 

 

การอ่านบทกวีรำลึก “ศรีบูรพา”

 

 

การเปิดตัวหนังสือผลงานของ “ศรีบูรพา” ฉบับพิมพ์ใหม่
และการเสวนา “แลไปข้างหลัง เล็งไปข้างหน้า อ่านศรีบูรพา 2564”

 

 

การแถลงข่าวประกาศ “รางวัลศรีบูรพา” 2564
และ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”

 

 

 

คำประกาศเกียรติคุณ

นายสุริชัย หวันแก้ว

นักคิด นักสันติวิธี และนักพัฒนาสังคม
ผู้ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี 2564

----------------------

 

          นายสุริชัย หวันแก้วเป็นนักคิด นักวิชาการด้านสันติวิธี  และนักพัฒนาสังคม เผยแพร่ความคิดด้านสันติวิธีและการพัฒนาสังคมผ่านการสอน การเขียน การอภิปรายและการทำงานวิจัย มีผลงานวิจัยในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชนบทศึกษา ธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา วัฒนธรรม และผลกระทบจากการพัฒนา โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรม และป่าชุมชุน  มีผลงานรวมเล่มเป็นตำรา ผลงานวิจัยและหนังสือรวมบทความ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษกว่า 60 เล่ม และรายงานการวิจัยอีกกว่า 10 เล่ม

 

          สุริชัย เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2492 จบการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม (สังคมวิทยา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น( M.A. in Sociology (University of Tokyo) 1975 ) และได้รับ Ph.D. Candidate in Sociology (University of Tokyo) (1978) All Courses Completed(ABD) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ สาขาวิชาสังคมวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2552  และ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการพัฒนาสังคม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) พ.ศ. 2561

 

          สุริชัยทำงานด้านสันติภาพและการพัฒนาสังคมมายาวนาน เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม  และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อดีตผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ (MAIDs)เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)  ดำรงตำแหน่งเลขานุการของกอส. ในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้  และเป็นอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  ผู้เชี่ยวชาญประเด็นด้านการพัฒนา คนชายขอบ และโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันเป็นประธาน Asian Rural Sociological Association (ARSA) ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI)ประธานมูลนิธิบูรณนิเวศ  ประธานมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN )ประธานกรรมการอำนวยการ Mae Tao Clinic และประธานมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          สุริชัยเป็นบุคลากรขององค์กรประชาธิปไตยคนสำคัญของประเทศไทย  ในปี พ.ศ.2549 เคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลาออกก่อนครบกำหนด และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสมานฉันท์ 2 ครั้งคือ ในปี 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. (The National Reconciliation Commission) เป็น และในปี 2564 ได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาโดยประธานรัฐสภาให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย  ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการทำงาน

 

          ด้วยผลงานมีความหยั่งลึกถึงรากของสังคมไทยในหลากหลายด้านมาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน เป็นประโยชน์ต่อนักคิด นักเขียนและนักวิชาการ  และประชาชนทั่วไปในสังคมไทยอย่างยิ่ง  อันส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม  คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติให้นายสุริชัย หวันแก้ว เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ.2564 นับเป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาลำดับที่ 30 และขอเป็นกำลังใจให้ก้าวต่อไปอย่างเต็มกำลัง

 

คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา
31 มีนาคม 2564

----------------------

 

 

คำประกาศเกียรติคุณ

นายรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน

ผู้ได้รับ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”
ในวาระครบรอบชาตกาล 116 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ในปี  2564

 

----------------------

 

          เนื่องจากในปี 2564 เป็นปีครบรอบชาตกาล 116 ปี “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ศรีบูรพา” คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  มีมติมอบ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ” แก่นายรุ่งวิทย์  สุวรรณอภิชน ในฐานะผู้มีบทบาทสนับสนุนส่งเสริมให้ชื่อ “ศรีบูรพา” ปรากฏในแวดวงวรรณกรรมไทย 

 

          รุ่งวิทย์เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2494 ที่ตำบลหมากแข้ง  อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.3) ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร  และเรียนจนปริญญาตรี (วิทยาศาสตรบัณฑิต) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

          ขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แม้อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์แต่รุ่งวิทย์มีความสนใจเรื่องวรรณกรรม และตื่นเต้นกับนามปากกา “ศรีบูรพา” ซึ่งในช่วงนั้นกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 2501 และชื่อของเขากลายเป็นชื่อต้องห้ามไปโดยอัตโนมัติ นักอ่านเกือบจะลืมชื่อศรีบูรพาไปแล้ว แม้จะมีหนังสือนวนิยายบางเล่มเช่น ข้างหลังภาพ หรือสงครามชีวิต ซุกอยู่ในห้องสมุดบ้างก็ตาม แม้วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เขาเสียชีวิตลง สังคมวรรณกรรมไทยส่วนใหญ่ก็มิได้รับรู้  พ.ศ.2522 รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ได้เขียนถึงศรีบูรพา และสำนักพิมพ์พาสิโกได้จัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มในชื่อ ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย โดยเล่าถึงประวัติและผลงานของศรีบูรพา นับเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบกว่าปีที่มีการเอ่ยนามศรีบูรพาออกมาอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ประจวบกับปี 2518 มีการจัดพิมพ์นวนิยาย ของศรีบูรพาหลายเล่ม และปี 2531 มีการก่อตั้งรางวัลศรีบูรพาขึ้น ปี 2537 มีการนำอัฐิศรีบูรพากลับมาถึงประเทศไทย และปี 2548 ยูเนสโกได้ประกาศให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับแต่นั้นมาชื่อเสียงของศรีบูรพาก็มิอาจลบเลือนไปได้จากแวดวงวรรณกรรมไทย 

 

          ตลอดระยะเวลาแห่งการกอบกู้ชื่อเสียงของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” คืนมาสู่สังคมไทยนั้น รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน มีส่วนอยู่ด้วยเสมอ ทั้งการเปิดบ้านศรีบูรพา การเขียนบทความ การจัดงานเฉลิมฉลองชาตกาล 100 ปี ในฐานะบุคคลสำคัญของโลกแด่กุหลาบ สายประดิษฐ์  

 

          คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  จึงเห็นสมควรประกาศเกียรติให้นายรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน  เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ  ในวาระครบรอบชาตกาล  116 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ในปี 2564 นี้

 

คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา
31 มีนาคม 2564