Gender Galaxy เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่ชายและหญิง
เดือนกุมภาพันธ์วนมาอีกครั้งหลังลมหนาว เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางของวัฒนธรรมในโลกยุคปัจจุบันรวดเร็วไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป “วันวาเลนไทน์” กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วโลกรับทราบว่าเป็น “วันแห่งความรัก” และเดือนกุมภาพันธ์จึงกลายเป็น “เดือนแห่งความรัก”
หากสืบเสาะเลาะความถึงประวัติของ “วันวาเลนไทน์” หลายคนอาจทราบแล้วว่าจุดเริ่มต้นของวันวาเลนไทน์ถือเป็นเรื่องเศร้าของกรุงโรม โดยในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 (Emperor Claudius II) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่นิยมการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตการปกครอง พระองค์ทรงตระหนักว่าชายหนุ่มส่วนมากไม่อยากจะเข้าร่วมในกองทัพเพื่อเป็นนักรบ เพราะไม่อยากจากคู่รัก หรือครอบครัวของตน จักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 จึงทรงมีพระราชโองการสั่งห้ามมิให้มีการจัดพิธีหมั้นและแต่งงานกันในกรุงโรมโดยเด็ดขาด
“นักบุญวาเลนตินัส” หรือ “เซนต์วาเลนไทน์” ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงโรมได้ฝ่าฝืนกฎของกษัตริย์ จัดพิธีแต่งงานให้กับชาวคริสต์หลายคู่ จึงเป็นเหตุทำให้นักบุญวาเลนตินัสถูกจับและโดนประหารชีวิตในท้ายที่สุด
เมื่อย้อนกลับมามองดูความรักในยุคปัจจุบัน อาจพูดได้ว่าเรื่องราวการกีดกันทางความรักของคนหนุ่มสาวเหมือนในยุคของจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 แทบจะไม่มีอีกแล้ว
ทว่า ความเท่าเทียมและสิทธิทางความรักของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นอาจจะยังไม่สมบูรณ์เมื่อกล่าวถึงกลุ่ม LGBTQIA+ ในยุคที่โลกไม่ได้มีแค่สีขาวและดำ ความหลากหลายทางเพศหรือความหลากหลายทางด้านความรักนั้น ก็เป็นแค่เรื่องธรรมดาของมนุษย์เท่านั้นเอง
หลายๆ คนอาจจะรู้จักแค่ LGBT+ ซึ่งเป็นคำคุ้นชินสำหรับชาวไทย โดย L คือ เลสเบี้ยน (Lesbian) G คือ เกย์ (Gay) B คือไบเซ็กส์ชวล (Bisexual) และ T คือ คนข้ามเพศ (Transgender) แต่ในความเป็นจริงยังมี Q I และ A ที่ยังไม่ค่อยได้รับการถูกกล่าวถึง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หลายคนยังไม่เข้าใจในความหมายอย่างชัดเจน
Q มาจาก เควียร์ (Queer) คือคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่งแล้วแต่ความชอบ และสามารถไหลเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามกาลเวลาและบริบท ไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศและความรักรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์
I ย่อมาจาก อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) คือคนที่เกิดมาโดยไม่ได้มีเครื่องเพศหรือเพศสภาพภายนอกแบบเดียว จึงไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง
A มาจาก เอเซ็กส์ชวล (Asexual) คือคนที่มีความต้องการหรือมีความสนใจทางเพศน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยซึ่งในยุคปัจจุบันมีคนออกมาแสดงตัวว่าเป็นเอเซ็กส์ชวลเยอะมากขึ้นและหลายคนก็ปรารถนาที่จะมีคู่ครองแต่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ ขอแค่มีความเข้าใจ และดูแลกันไปในแต่ละวัน
ทั้งนี้สมาชิกกลุ่ม LGBTQIA ยังใส่เครื่องหมายบวก หรือ พลัส (+) ไว้ต่อท้ายเสมอ เนื่องจากเชื่อว่าอาจจะยังมีกลุ่มคนที่มีตัวตน มีคุณค่า มีความรัก แต่ไม่ได้นิยามไว้ใน LGBTQIA หรืออาจจะเป็นความหลากหลายทางเพศใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เครื่องหมายบวก จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดกว้างความเท่าเทียม และการผนวก (Inclusion) สำหรับมนุษย์ทุกคน
เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่ชายและหญิง ความรักของกลุ่ม LGBTQIA+ผู้ซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนกัน จึงควรได้รับสิทธิและความเท่าเทียมเหมือนเพศอื่น ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องรอให้สูญเสียนักบุญผู้กล้าเฉกเช่นเซนต์วาเลนไทน์ไปอีกไม่ว่ามากหรือน้อย เพื่อสังเวยชีวิตของตนคาสนามรบในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางความรัก
ในเมื่อมนุษย์ทุกคนมีหัวใจมีอิสรภาพที่จะตกหลุมรัก และมีสิทธิเลือกที่จะใช้ชีวิตกับใครก็ได้ อีกทั้งย่อมมีหัวใจที่จะเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนิยามหรือสร้างคำจำกัดความ หากแต่คือการให้เกียรติและให้โอกาสต่อความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันก็เพียงพอ...
Happy Valentine’s Day…
CR : DAD Magazine ฉบับกุมภาพันธ์ 2564
https://www.dad.co.th/download-dadmagazine.php