คำประกาศเชิดชูเกียรติ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’ รางวัลศรีบูรพา ปี 2563

คำประกาศเชิดชูเกียรติ อรุณ วัชระสวัสดิ์รางวัลศรีบูรพา ปี 2563

 

คำประกาศเชิดชูเกียรติ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปีพุทธศักราช 2563 แด่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ นักวาดการ์ตูน ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการ์ตูนไร้คำบรรยาย กำหนดจัดพิธีมอบ  “รางวัลศรีบูรพา” วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 ณ บ้านศรีบูรพา

 

 

         ด้วย“รางวัลศรีบูรพา” เป็นรางวัลของ “กองทุนศรีบูรพา” ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของนายกุหลาบ  สายประดิษฐ์-“ศรีบูรพา” (พ.ศ.๒๔๔๘-๒๕๑๗) นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก  รางวัลนี้มอบแก่ศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์  ผู้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์งานที่เป็นต้นแบบหรือเป็นแบบฉบับที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

          การมอบรางวัลศรีบูรพาได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ (เว้นพ.ศ.๒๕๓๓ ) มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้ว  ๒๗ ครั้ง  มีผู้ได้รับรางวัล  ๒๘ คน และในปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ในคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)ได้ประกาศมอบ “รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา”  ให้บุคคลผู้ทรงเกียรติอีก ๓ คน รวมทั้งมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ อีก ๕ คนในปีต่อ ๆมา ความละเอียดตามเอกสารหมายเลข ๑

 

 

 

          สำหรับปี ๒๕๖๓ นี้ เป็นวาระครบรอบ ๑๑๕ ปีศรีบูรพา(กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  มีมติเห็นสมควรมอบรางวัลศรีบูรพาแด่นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ ในฐานะนักวาดการ์ตูน ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการ์ตูนไร้คำบรรยาย

 

 

 

          เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา คณะกรรมการกองทุนจึงกำหนดให้มีการจัดพิธีมอบ  “รางวัลศรีบูรพา” ในวันเสาร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ อันเป็นวันครบรอบที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เป็นบุคคลสำคัญของโลก  โดยกำหนดจัดขึ้นที่บ้านศรีบูรพา เลขที่ ๓๕ ซอยราชวิถี ๔ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กำหนดการโดยละเอียดจะแจ้งท่านอีกครั้งหนึ่ง

 

               

“คำประกาศเชิดชูเกียรติ รางวัลศรีบูรพา

ประจำปีพุทธศักราช 2563

 

แด่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์

นักวาดการตูน ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยการ์ตูนไร้คำบรรยาย

 

---------------

 

นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นนักวาดการ์ตูน ผู้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนเสียดสีสะท้อนภาพเหตุการณ์ความเป็นไปในบ้านเมืองมานานกว่า 50 ปี ด้วยความรอบคอบ โดยยืนยันว่า ตนเองเป็นผู้ขับเคลื่อนงานด้วยความรัก มิใช่ความชอบหรือความชังทางการเมือง

 

อรุณ วัชระสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2490 ที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบชั้นประถมที่โรงเรียนวัดกาญจนาราม และชั้นมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นเข้ากรุงเทพฯศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

เริ่มปรากฏผลงานครั้งแรกในปี 2514 ในสยามรัฐรายวัน ด้วยงานเขียนการ์ตูนเด็กไทยหัวโตชุด ม้าหิน จอมปลวกจากนั้นจึงก้าวเข้าสู่แวดวงหนังสือพิมพ์เต็มตัวในฐานะฝ่ายศิลป์ และเขียนการ์ตูนไปด้วย มีผลงานปรากฏในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประชาชาติรายวัน เดอะเนชั่น และตามมาด้วยหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับจนปัจจุบันคือ มติชนรายวัน และมติชนรายสัปดาห์

 

ความคิดของเขาเติบโตมาจากห้องข่าว ใช้การ์ตูนสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยบยล มีความคิดคมคาย เน้นที่ศิลปะของการเสียดสีซึ่งซ่อนนัยและความหมายให้คนอ่านตีความ เน้นภาพมากกว่าคำ ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนไร้คำบรรยาย หลักการสร้างสรรค์ผลงานของเขาคือ เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เชิดชูใคร ไม่ด่าใคร

 

ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษของชีวิตเขามีผลงานการ์ตูนเป็นหมื่นภาพ ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายเล่ม งานของเขาจึงเป็นเหมือน บันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

 

เห็นได้ว่า

 

1. อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นนักวาดการ์ตูนที่ทำงานเพื่อสังคมด้วยความรักและใส่ใจในศิลปะอย่างจริงจัง รอบคอบและมีความยุติธรรม

 

2. อรุณ วัชระสวัสดิ์ สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนมายาวนานและต่อเนื่องถึง 50 ปี โดยคงจุดยืน หลักคิดและความมีคุณภาพไว้ได้

 

3. อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นผู้บันทึกประวัติสังคมไทยไว้ด้วยภาพการ์ตูนที่งดงามและมีศิลปะ อันจะเป็นมรดกของคนรุ่นหลังต่อไป

 

กองทุนศรีบูรพา จึงขอประกาศเกียรติมอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2563 แด่ นายอรุณ วัชระสวัสดิ์ และขอเป็นพลังใจให้เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าต่อไป

 

         คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา

8 สิงหาคม 2563

 


อรุณ วัชระสวัสดิ์

 

          ประวัติ "อรุณ วัชระสวัสดิ์"

 

         อรุณ วัชระสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐ ที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาเป็นครูใหญ่ เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดกาญจนาราม  พอเรียนจบก็เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  จากนั้นจึงเข้ากรุงเทพฯ เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง พอจบโรงเรียนเพาะช่างก็สอบเข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  และร่วมทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยด้วยความสนุก ดำรงตำแหน่งประธานน้องใหม่ ผู้แทนคณะ หัวหน้าคณะ  เขาเรียนจนถึงปีที่หก แล้วเกิดความรู้สึกอยากทำงานจึงไม่เรียนต่อจนจบ (ได้อนุปริญญา)

 

          ปี ๒๕๑๔ เขาได้ส่งผลงานเขียนการ์ตูนไปยังสยามรัฐรายวัน  และสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งประจำกองบรรณาธิการอยู่  ติดใจฝีมือจึงขอดูตัว  แต่อยากให้เขียนเป็นไทย ๆ  วันต่อมาเขาจึงนำเอาต้นฉบับงานเขียนการ์ตูนเด็กไทยหัวโตชุด “ม้าหิน จอมปลวก” ไปให้สยามรัฐรายวัน ตอนนั้นเส้นสายลายการ์ตูนของเขาละม้ายคล้ายคลึงกับราชาการ์ตูนเมืองไทย “ประยูร จรรยาวงษ์” เขาจึงได้เขียนการ์ตูนเด็กไทยหัวโตที่สยามรัฐรายวันอยู่เกือบเดือน  พอดีเกิดเหตุไม่คาดฝันในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน สุจิตต์ถูกไล่ออกพร้อมเพื่อนอีกสองคน อรุณซึ่งเข้ามาเขียนเพราะสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงยุติการเขียนไปโดยปริยาย

 

          ต่อมาเสถียร จันทิมาธร ซึ่งถูกไล่ออกไปด้วยครั้งนั้น ได้ไปทำนิตยสารวิทยาสาร รายสัปดาห์ของบริษัทไทยวัฒนาพานิช จึงชวนเขาไปเป็นฝ่ายศิลป์จัดหน้าหนังสือ  เขาก็ไปทำด้วยความพึงพอใจ ต่อมาสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งเป็นบรรณาธิการนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้ขอให้เขาเขียนการ์ตูนเด็กไทยหัวโตชุด “ม้าหิน จอมปลวก”ให้อีก เขาจึงได้เขียนให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์อยู่ระยะหนึ่ง

          

          ปี ๒๕๑๕ สุจิตต์ตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ  จึงให้เขามาเป็นผู้ควบคุมงานด้านศิลปะของโรงพิมพ์  โดยเข้าทำงานตอนกลางคืน หลังจากเลิกงานจากนิตยสารวิทยาสารแล้ว

 

          ช่วงต่อมา สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งเป็นบรรณาธิการเดอะเนชั่นอยู่  ได้วางโครงการทำหนังสือพิมพ์ภาษาไทย โดยเริ่มจากประชาชาติ รายสัปดาห์ โดยให้อรุณเป็นฝ่ายศิลป์เช่นกัน  เขาเขียนการ์ตูนการเมือง และภาพประกอบบทความให้ในขณะเดียวกันสุทธิชัยก็ยังให้อรุณเขียนการ์ตูนลง “เดอะ เนชั่น”รายวัน เป็นครั้งคราวด้วย อรุณจึงลาออกจากวิทยาสารและมาทำงานให้โรงพิมพ์พิฆเณศและประชาชาติรายสัปดาห์เต็มตัว

 

          อรุณ เติบโตมาจากห้องข่าว ได้ฟังและได้แลกเปลี่ยนกับนักข่าวในกองบรรณาธิการ ได้ยินเสียงนักข่าวคุยข่าว และเห็นการถกเถียงประเด็นในห้องประชุมข่าว  การ์ตูนของเขาจึงสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแยบยล มีความคิดคมคาย โดยเน้นที่ศิลปะของการเสียดสี ซึ่งซ่อนนัยและความหมายให้คนอ่านตีความเอง

 

          ในช่วงนั้นทุกคนก็เห็นว่า อรุณ ยังมีลายเส้นการ์ตูนเหมือนประยูร จรรยาวงษ์อยู่ วันหนึ่ง ขณะอรุณนั่งอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน มีห่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์มาส่ง สุทธิชัยเป็นผู้เปิดหนังสือพิมพ์นั้นและเรียกให้อรุณดูการ์ตูน ว่า “เฮ้ยอรุณดู สุดยอดเลยว่ะ” การ์ตูนนั้นเป็นการล้อประธานาธิบดีริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน ในคดีวอเตอร์เกต

 

          ขณะนั้น อรุณ เกิดความรู้สึก ว่า เหมือนมวยไทยได้ดูมวยสากลต่อย ดูแล้วเห็นสไตล์นั้นน่าจะเหมาะกับตัวเองมากกว่า เขาจึงเปลี่ยนสไตล์การเขียนการ์ตูนจากนั้นมา โดยเน้นภาพมากกว่าคำ เพราะเขาไม่เก่งภาษาอังกฤษ(เพราะเขียนให้เดอะ เนชั่น) ให้สื่อความได้โดยไม่ต้องมีแคปชั่น  จึงกลายเป็นการ์ตูนไร้คำบรรยายที่นับได้ว่าเป็นลายเซ็นของอรุณ วัชระสวัสดิ์ในเวลาต่อมา  ต่อมาปี ๒๕๑๘  อรุณไปเขียนการ์ตูนให้มติชนรายวัน  และกรุงเทพธุรกิจรายวัน และทำงานสืบเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน

 

          นอกจากเป็นการ์ตูนนิสต์แล้ว เขายังเขียนภาพประกอบหนังสือเด็ก  อาทิ หวานอยู่ไหน เด็กชายดวงเข้าเมือง เด็กชายกมลเที่ยวบ้านทุ่ง เขี้ยวสิงห์โต พญากวางทอง มโนแห่งบ้านไม้ ปลาตะเพียนหางขาด แม่หนูผู้กล้าหาญ ตากับยาย เป็นต้น รวมทั้ง ออกแบบปกและภาพประกอบให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆมากมาย อาทิ สำนักพิมพ์ดวงกมล สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์พีเอ็มพับลิสชิ่ง รวมทั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจการเมือง สู่อนาคต บริหารงานด้านสิ่งพิมพ์ เป็นผู้ควบคุมการผลิตสารคดี "จดหมายเหตุกรุงศรี" ออกอากาศทางช่อง ๗ เป็น และอื่น ๆอีกมากมาย         

 

          แต่อย่างไรก็ดี  งานที่ถือว่าเป็น “ตัวตน” ของอรุณ วัชระสวัสดิ์ คือ การ์ตูนการ์ตูนของอรุณ วัชระสวัสดิ์ เน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เน้นตัวบุคคล ไม่เชิดชูใคร ไม่ด่าใคร โดยเลือกใช้วิธี ติ มากกว่า ด่า  และ เป็นการ “เน้นความมากกว่าเน้นคน”

 

          ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษของชีวิต (๒๕๑๔-๒๕๖๓)เขามีการ์ตูนเป็นหมื่นภาพ  และร่วมงานกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆหลายเล่ม อาทิ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประชาชาติรายวัน The Nation รายวัน อีค่อนนิวส์รายสัปดาห์ อาทิตย์รายสัปดาห์  คมชัดลึกรายวัน

 

          ด้วยเหตุที่เขาเน้นเหตุการณ์บ้านเมืองและความรู้สึกของประชาชน งานของเขาจึงเป็นเหมือน “บันทึกประวัติศาสตร์” ของสังคมไทย  ปัจจุบัน เขายังเขียนการ์ตูนการเมือง  ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  และมติชนรายสัปดาห์

 

          อรุณ วัชระสวัสดิ์ มีหลักในการทำงาน ๓ ประการ ดังนี้

          

          ๑.วางตัวเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ไม่ใช่ “ผู้แสดง”

          ๒.ขับเคลื่อนงานด้วย “ความรักในศิลปะ” ไม่ใช่ “ความชอบความชังในทางการเมือง”

          ๓.ไม่เคยคิดว่างานที่ทำเป็น “สิ่งที่ยิ่งใหญ่”แต่เห็นเป็น “ส่วนประกอบ”ที่นำไปจัดวางเข้ากับส่วนอื่น ๆแล้วเหมาะสมลงตัว โดยเปรียบว่าข่าวเป็นอาหารหลากรสที่อยู่บนโต๊ะจีน ส่วนการ์ตูนเป็น “น้ำจิ้ม” ที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้น 

 

          ที่อยู่ปัจจุบัน:๑๗ ซอยกรุงเทพกรีฑา ๘ แยก ๑๔ ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพ  ๑๐๒๔๐

 

          รายนามนักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา”

 

          คนที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๑                               นายศักดิชัย บำรุงพงศ์(เสนีย์ เสาวพงศ์)

          คนที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๒                               นางสาวอำพัน ไชยวรศิลป์ (อ.ไชยวรศิลป์)

          (เว้นพ.ศ.๒๕๓๓หนึ่งปี)

          คนที่ ๓ พ.ศ.๒๕๓๔                               คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง

          คนที่ ๔ พ.ศ.๒๕๓๕                               นายอาจินต์ ปัญจพรรค์

          คนที่ ๕ พ.ศ.๒๕๓๖                               นายสุจิตต์ วงษ์เทศ

          คนที่ ๖ พ.ศ.๒๕๓๗                               นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์

          คนที่ ๗ พ.ศ.๒๕๓๘                               นายกรุณา กุศลาสัย

          คนที่ ๘ พ.ศ.๒๕๓๙                               นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

          คนที่ ๙ พ.ศ.๒๕๔๐                               นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี

          คนที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๔๑                            นายวิทยากร เชียงกูล

          คนที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๔๒                            นางสุภัทร สวัสดิรักษ์

          คนที่ ๑๒ พ.ศ.๒๕๔๓                            นายสมชัย กตัญญุตานันท์ (ชัย ราชวัตร)

          คนที่ ๑๓ พ.ศ.๒๕๔๔                            นายเสถียร จันทิมาธร

          คนที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๔๕                            นายนิธิ เอียวศรีวงศ์

          คนที่ ๑๕ พ.ศ.๒๕๔๖                            นายธีรยุทธ บุญมี

          คนที่ ๑๖ พ.ศ.๒๕๔๖                            นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

          คนที่ ๑๗ พ.ศ.๒๕๔๗                            นายสมบูรณ์ วรพงษ์

          

          รางวัลพิเศษ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา จากคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา

          นักคิดนักเขียนดีเด่น                                นายสุวัฒน์ วรดิลก

          นักหนังสือพิมพ์ดีเด่น                               นายขรรค์ชัย บุนปาน

          นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนดีเด่น                 นายเสน่ห์ จามริก

 

          คนที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๕๔๙                           นายสุรชัย  จันทิมาธร

          คนที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๕๕๐                          นายวัฒน์ วรรลยางกูร

          คนที่ ๒๐ พ.ศ.๒๕๕๑                            นายสุทธิชัย หยุ่น

          คนที่ ๒๑ พ.ศ.๒๕๕๒                            นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ

          คนที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๓                            พระไพศาล วิสาโล

          คนที่ ๒๓ พ.ศ.๒๕๕๔                            นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

          คนที่ ๒๔ พ.ศ.๒๕๕๕                            นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์

          คนที่ ๒๕ พ.ศ.๒๕๕๖                            นายธีรภาพ โลหิตกุล

          คนที่ ๒๖ พ.ศ.๒๕๕๗                            นางวรรณา สวัสดิ์ศรี (ศรีดาวเรือง)

 

          ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  ได้มีมติมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ  ให้บรรณาธิการผู้ล่วงลับไปแล้ว ๒ คน คือ นายอาจิณ  จันทรัมพร  และนายช่วย พูลเพิ่ม ในฐานะที่บรรณาธิการทั้งสองได้เป็นผู้จุดประกายให้นาม “ศรีบูรพา”และ “กุหลาบ สายประดิษฐ์”ฟื้นคืนสู่แวดวงวรรณกรรมไทย นับแต่ปี ๒๕๒๙ จวบจนปัจจุบัน

 

          ในปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๑ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  ได้มีมติมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ แด่ นายเชิด ทรงศรี  ผู้เผยแพร่งานของศรีบูรพาสู่สื่อภาพยนตร์

 

          ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๒ ปีศรีบูรพา(กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา ได้มีมติมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษแด่ นายเดวิด สไมท์ (David Smyth) และนายหลวน เหวินหัว นักแปลชาวอังกฤษและชาวจีน ผู้แปลผลงานของศรีบูรพาเป็นภาษาชาติของตน

 

          คนที่ ๒๗ พ.ศ.๒๕๖๑                            นายประมวล เพ็งจันทร์

          คนที่ ๒๘ พ.ศ.๒๕๖๒                            นายสินธุ์สวัสดิ์  ยอดบางเตย

          คนที่ ๒๙ พ.ศ.๒๕๖๓                            นายอรุณ วัชระสวัสดิ์

 

//....................

CR : Chamaiporn Bangkombang

https://www.facebook.com/chamaiporn.bangkombang

//....................