‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ กับเส้นทางอาหารที่อาจเปลี่ยนไป หากไทยเข้าร่วม CPTPP
‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ กับเส้นทางอาหารที่อาจเปลี่ยนไป หากไทยเข้าร่วม CPTPP
CPTPP ในชื่อภาษาไทยคือ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership” ฟังเผิน ๆ แล้วอาจดูไกลตัว แต่จริงๆแล้วหากไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ เส้นทางอาหาร 1 จานบนโต๊ะของเราอาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ในวันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ในประเด็นที่น่าเป็นห่วงของ CPTPP ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าอาหารบนโต๊ะที่จะมีราคาสูงขึ้น แต่จะส่งผลต่อความหลากหลายทางพืชพันธุ์อาหารและนำไปสู่การล่มสลายของวิถีเกษตรกรไทย
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
ธรรมชาติของประเทศไทยตั้งอยู่บนคำว่า อู่ข้าวอู่น้ำ
ในสังคมแห่งความเร่งรีบและการถูกตัดให้ขาดจากแหล่งที่มาของอาหารแต่ละมื้อ ทำให้เราไม่ได้นึกถึงความเป็นประเทศเกษตรกรรมสักเท่าไรนัก ซึ่งหากเราจะเข้าใจว่า CPTPP จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเราสิ่งที่เราต้องรับรู้และตระหนักร่วมกันนั่นก็คือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารจริงๆ ซึ่งความหลากหลายนี้เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ไทยตั้งอยู่ในเส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากตามสภาพภูมิศาสตร์ เนื่องจากไทยอยู่ในเขตร้อน มีป่าร้อนชื้นหลงเหลืออยู่
ด้วยความสมบูรณ์นี้ทำให้ต่อมาเกิดปัจจัยอีกข้อก็คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้ระบบเกษตรของไทยมีความหลากหลายทางพันธุ์พืชสูง แวดวงการเกษตรนั้นทราบกันดีว่าพันธุ์พืชพันธุ์ดีจำนวนมากที่เรามีอยู่นั้นไม่ได้เกิดจากสถาบันวิจัย ไม่ได้เกิดจากบริษัทใหญ่ อย่างเช่น ข้าวพันธุ์ดีทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศเช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวเล้าแตก หรือพันธุ์ผลไม้ เช่น ทุเรียนหมอนทอง มะม่วงยายกล่ำ และมะม่วงอีกหลายชนิดที่มาจากชุมชนเกษตรกรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ชาวบ้านเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อรวมทั้งการคัดสายพันธุ์พืชเองซึ่งยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันจึงมีความสำคัญมากต่อเกษตรกรรมของเรา
เขาว่ากันว่า CPTPP ผูกขาดอาหาร ?
© Peter Caton / Greenpeace
เดิมที CPTPP มีสหรัฐอเมริกาและอีก 11 ประเทศร่วมด้วย รวมเป็น 12 ประเทศ ต่อมาการเจรจาความต้องการที่ไม่ลงตัวจึงทำให้สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เหลือเพียง 11 ประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นกำลังสำคัญให้ความตกลงนี้เดินหน้าต่อ
ร่างความตกลงนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เพราะหากเรายอมรับความตกลง CPTPP แล้ว เราจะต้องยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ด้วย ซึ่งอนุสัญญา UPOV1991 นี่แหละที่จะส่งผลกระทบต่ออาหารในประเทศเยอะ
แล้วอนุสัญญา UPOV1991 นี้มีอะไรที่น่ากังวล ?
คำตอบคือเมื่อเรายอมรับอนุสัญญาฉบับนี้เท่ากับเรายอมให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ขยายการผูกขาดมากขึ้นนั่นเอง โดยเนื้อหาของ UPOV1991มีเป้าหมาย “ขยายสิทธิผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชและลดทอนสิทธิเกษตรกร” อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นการให้สิทธิผูกขาดแก่นักปรับปรุงพันธุ์หรือบริษัทเมล็ดพันธุ์ นั่นเอง
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace
UPOV1991 ผูกขาดอาหารอย่างไร ?
ก่อนอื่นอาจจะต้องเล่าที่มาให้ทุกคนเข้าใจกันก่อนว่า UPOV1991 นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อนุสัญญาพัฒนาขึ้นมาหลายทศวรรษแล้วโดยมีการอัพเดทเรื่อยมาเป็นระยะ ๆ เลข 1991 เป็นเลขระบุว่าอนุสัญญานี้ถูกแก้ไขล่าสุดในปีอะไร ประเทศที่เป็นสมาชิก UPOV ทั้ง UPOV1991 และ UPOV1978 มีทั้งหมด 74 ประเทศ โดยข้ออ้างที่ผู้ผลักดันมักใช้เพื่อให้ประเทศต่างๆ คือบอกว่ามันเป็นมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ มาตรฐานการค้าในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องพันธุ์พืชคือ ความตกลง TRIPs ใน WTO แต่การเรียกร้องให้เป็นสมาชิกในอนุสัญญา UPOV1991 มักเป็นการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่มากกว่า โดยจะแลกกับผลประโยชน์อื่น
นอกจากนี้ แล้วหากเรายอมรับข้อตกลงนี้ เท่ากับเราเปิดประเทศให้กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทางด้านเมล็ดพันธุ์เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ จึงมีคำถามว่า การยอมรับ UPOV 1991 ก็ดีหรือการยอมรับเรื่องสิทธิบัตรยาก็ดี เท่ากับว่าเรากำลังเอาเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญของประชาชนไปแลกกับการเปิดเสรีสินค้ากับประเทศแค่ไม่กี่ประเทศ แน่นอนว่าไม่คุ้มค่าเลย
แล้วถ้าเราเข้าร่วมความตกลง CPTPP ล่ะ อนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้อาหารในประเทศเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน? ซึ่งรายละเอียดเงื่อนไขของ UPOV1991ง่าย ๆ สั้นเลยนั่นคือ หากเราเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ได้จบแค่การผูกขาดสายพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น แต่จะขยายขอบเขตไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า EDVs (Essentially Derived Varieties)ด้วย เช่น สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ของเขา หรือสายพันธุ์ที่ยังมีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทไปปรากฏอยู่ เป็นต้นยิ่งไปกว่านั้นยังผูกขาดไปถึงผลผลิตที่ได้จากพันธุ์พืชที่อยู่ในความคุ้มครอง รวมทั้งการนำผลผลิตดังกล่าวไปแปรรูปก็ถือว่าผิด รวมถึงการแปรรูปอย่างการทำเป็นยา ซึ่งประเทศไทยเรามีการผลิตยาจากสมุนไพรไม่น้อย หากเขาปรับปรุงพันธุ์สมุนไพรแล้วขอรับการคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่ หากเขาเห็นว่าเกษตรกรเก็บพันธุ์สมุนไพรนั้นไปปลูกต่อ ยาจากสมุนไพรก็เป็นกรรมสิทธิ์เขาด้วย
สมมติว่า เราเอาพันธุ์ทุเรียนใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์หมอนทอง หากเกษตรกรเอาสายพันธุ์ที่ซื้อมาปลูกและเอาเมล็ดหรือกิ่งพันธุ์มาขยายพันธุ์ต่อ เมื่อได้ลูกทุเรียนออกมา เราก็เอามาทำทุเรียนกวน หรือขนมขาย ก็ถือว่าผิดและจะถูกยึดทั้งหมด เราทำได้แค่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทมาปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เราไม่สามารถมาขยายพันธุ์เองได้ โดยระยะเวลาการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ตามอนุสัญญาคือ 20-25 ปี แน่นอนว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเกษตรกรตามที่ได้เคยพูดไปและเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
ข้าวออแกนิคจากเกษตรกรในจ.ราชบุรี © Greenpeace / Athit Perawongmetha
พอจะสรุปผลกระทบต่าง ๆ ได้ ดังนี้
-การห้ามเกษตรกรนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ห้ามคัดเลือกสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในแปลงปลูก เป็นการลดทอนการเกิดสายพันธุ์พืชใหม่ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ
-อาหารแพงขึ้นเพราะต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ในปี 1999 และใช้กฎหมายนี้ควบคู่กับกฎหมายสิทธิบัตรจะเห็นแนวโน้มได้เลยว่า เมล็ดพันธุ์ที่ให้สิทธิผูกขาดแบบเข้มข้นแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์นั้นราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบเมล็ดพันธุ์ชนิดที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของระบบทรัพย์สินทางปัญญา ประเมินว่าหากเราเข้าร่วมความตกลงแล้ว เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่จะมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า แล้วแต่ชนิดของพืช
-เมล็ดพันธุ์ที่ส่งเสริมตามระบบแบบ UPOV1991 นั้น ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยว และกระจุกตัวอยู่ในบริษัทไม่กี่บริษัท โลกจะสูญเสียความหลากหลายทางพืชพรรณธัญญาหารในระยะยาว
-กฎหมายที่ให้สิทธิผูกขาดเช่นนี้ จะนำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย
การเข้าร่วม CPTPP นั้นเท่ากับว่าเรากำลังเอาเรื่องใหญ่ไปแลกกับการเปิดเสรีการค้าแค่สองประเทศ เนื่องจากประเทศที่เหลือได้ร่วมทำเสรีการค้ากันอยู่แล้ว โดยการแก้กฎหมายของไทยให้เป็นไปตาม UPOV1991 เป็นการเปิดให้บริษัทในประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมดที่เป็นสมาชิก WTO เช่น Monsanto และ Syngenta ได้ประโยชน์ไปพร้อมๆกันด้วย
UPOV1991 กับสมุนไพรและยา
ยังจำได้ไหมว่า เงื่อนไขของ UPOV1991 นั้นครอบคลุมไปถึงผลิตผลของพันธุ์พืชรวมทั้งสินค้าที่แปรรูปจากผลิตผลนั้น ๆ ด้วย ข้อนี้เองที่ทำให้ ยา ที่ผลิตจากสมุนไพรและพืชจะถูกผูกขาดไปด้วย สุดท้ายก็จะมีผลกระทบต่อการครอบครองผลิตภัณฑ์ยาหรือสูตรยาจากสมุนไพร
ข้อโต้แย้งจากกรมวิชาการการเกษตร
กรมวิชาการเกษตรออกมาโต้แย้งว่าการที่เกษตรกรพื้นบ้านไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อได้ไม่เป็นเรื่องจริงเพราะสามารถมีข้อยกเว้นได้ แต่การโต้แย้งของเขาไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด เพราะในข้อกำหนดของ UPOV1991 กล่าวไว้ว่าในบางกรณีรัฐสามารถยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ
1.ต้องปลูกในพื้นที่ของตัวเอง
2.อนุญาตเฉพาะที่เป็นธัญพืชที่มีเมล็ดขนาดเล็ก
3. ต้องเป็นการปลูกเพื่อยังชีพเท่านั้น
จากเงื่อนไขที่กล่าวมาแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็น ผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพรและอื่น ๆ ไปปลูกต่อได้ และรวมทั้งชาวนาด้วย มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะในประเทศไทยมีชาวนากี่คนที่ปลูกข้าวแล้วไม่ขายข้าวเลย? และนี่คือสิ่งที่กรมวิชาการเกษตรไม่ได้บอกเราทั้งหมด
ญี่ปุ่นกับ CPTPP
หากไม่กล่าวถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นถือเป็นหัวเรือสำคัญในการผลักดันความตกลง CPTPP ที่มีอนุสัญญา UPOV1991 พ่วงท้ายมาด้วย ปัจจุบันญี่ปุ่นเองเป็นภาคีในอนุสัญญานี้และได้มีการประกาศชนิดเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในความคุ้มครองของ UPOV1991 ไปบ้างแล้วเช่น ในช่วงปี 2559 ได้ประกาศไปแล้วมากกว่า 80 ชนิด และล่าสุดในปี 2562 ได้ขยายจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ห้ามนำไปปลูกต่อมากกว่า 300 ชนิด สำหรับญี่ปุ่นแล้วตอนนี้สถานการณ์ของเกษตรกรรายย่อยถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่ทราบว่าจะเก็บเมล็ดพันธุ์ใดไปปลูกต่อได้บ้าง เพราะถูกห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปเกือบทุกชนิดแล้ว ช่องทางในการต่อสู้นั้นเหลือน้อยลงทุกวัน เราจึงเห็นอดีตรัฐมนตรีเกษตร และดารานักร้องชื่อดัง ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลเกี่ยวกับทั้งเรื่อง CPTPP และ UPOV1991
การเพาะพันธุ์เมล็ดจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศ จากเกษตรกรท้องถิ่นในญี่ปุ่น © Kayo Sawaguchi / Greenpeace
สถานการณ์การรณรงค์คัดค้าน CPTPP ในประเทศไทยท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด
ประเด็นความตกลง CPTPP กลายเป็นประเด็นร้อนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด คุณวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่าก่อนหน้านี้เรื่องของพันธุ์พืช เกษตรกรรมและอาหาร เป็นประเด็นที่คนพูดถึงไม่มากนัก แต่ตอนนี้ CPTPP ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมคัดค้านการเข้าร่วมความตกลงนี้ในพื้นที่ออนไลน์ อาจเพราะพวกเขาเข้าใจอาหารมากขึ้น คนเมืองหลาย ๆ คนหันมาปลูกพืชผักกินเองและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตัวเอง
หนึ่งประโยค ที่ คุณวิฑูรย์ เล่าให้เราฟังคือประโยคจากภาพกำปั้นมือเกี่ยวพันธุ์ด้วยใบไม้เลื้อย บนกำปั้นมือเขียนว่า “การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ไม่ใช่อาชญากรรม” รูปนี้ คุณวิฑูรย์ บอกว่า ถูกแชร์ไปในหลายช่องทางอย่างกว้างขวาง
ที่มา : เฟสบุ๊คเพจ BIOTHAI
“จริง ๆ แล้วยอมรับเลยว่าที่คนรู้จัก CPTPP และมาร่วมรณรงค์คัดค้านส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ COVID-19 เราพบว่าคนให้ความสนใจกับการพึ่งพาตนเอง ให้ความสนใจกับการปลูกผักปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาผักและต้นไม้ของตัวเอง คนตั้งคำถามกับเรื่อง ความมั่นคงด้านอาหาร ในช่วงนี้การพูดถึงเรื่องการผูกขาดสายพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นเรื่องที่คนเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงเหตุและผลถึงกันได้อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างเช่นการเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ เป็นต้น”
การทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิมที่เกษตรกรเคยเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ได้นั้นในที่สุดก็จะไปทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและปากท้องของคนทุกคน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารในแต่ละมื้อของพวกเรา
#NoCPTPP
หมายเหตุ: ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ กับเส้นทางอาหารที่อาจเปลี่ยนไป หากไทยเข้าร่วม CPTPP โดย “Supang Chatuchinda”
//.............
CR : “greenpeace.thailand”
https://www.greenpeace.org/thailand/
//.............