พช. ผนึกกำลัง ราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ดึง นศ. ร่วมผลักดันสินค้าชุมชน

กรมการพัฒนาชุมชน จับมือ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ร่วมสร้างนวัตกรรมยิ่งใหญ่ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน เสริมสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง เศรษฐกิจชุมชนฐานรากมั่นคง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยพร้อมผู้แทนจาก 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทส นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 6 - 7 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการฯ หลักสี่ กรุงเทพฯ

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจครัวเรือนทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนิน โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสินค้า OTOP ควบคู่ไปกับงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อให้ชุมชนก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP คณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการส่งเสริมการตลาดให้แก่สินค้า OTOP และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และโครงการผลิตภัณฑ์ชุมชน คนของพระราชา ตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2560 - 2579) 

          นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีกรอบการดำเนินงาน 5 ปี ซึ่งในระยะแรกกรมการพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยราชภัฏจะร่วมกันกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายและบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยอาจมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในรายละเอียดของการดำเนินการตามโครงการย่อยระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งหรือทั้งหมด เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ กรมการพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยราชภัฏจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP คณะกรรมการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน รวมไปถึงร่วมกันส่งเสริมการตลาดสินค้า OTOP และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในพื้นที่โดยหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้สินค้า OTOP และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้เข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน ตรงตามเป้าหมายในเรื่องของการสร้างชุมชนเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการก้าวไปสู่เศรษฐกิจครัวเรือนมั่นคง สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

 

 

          “วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ซึ่งมีนักศึกษากว่า 1 แสนคน ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนผลักดันสินค้าชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าโอทอป รวมทั้งเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาได้เรียนรู้การค้าขายสินค้า ส่งผลให้มีรายได้ระหว่างการเรียน และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดอาชีพ ตลอดจนเกิดผู้ประกอบการใหม่ เกิดการค้าขายออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตโอทอปก็จะมีช่องทางการตลาดในการขายสินค้ามากขึ้น รวมทั้งช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายในชุมชนที่จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ช่วยให้คนในชุมชนมีงาน มีรายได้มากขึ้น ทำให้สังคมมีความสุขมากขึ้น กรมการพัฒนาชุมชนหวังว่าการผนึกกำลังกับ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือทำให้ประชาชนในชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

 

 

          ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือว่าเป็นความร่วมมือกันทุกหมู่บ้านในประเทศ จะเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่เอาคนรุ่นใหม่ในชุมชนท้องถิ่น โดยนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ๆมาช่วยขับเคลื่อนชุมชน ซึ่งคนรุ่นใหม่รู้ดีว่าชุมชนของตัวเองมีของดีหรือสินค้าดีๆอะไรบ้างที่จะนำมาเสนอ โดยกรมพัฒนาชุมชนจะช่วยในเรื่องวิธีการนำเสนอ การสั่งหรือการส่งสินค้า ถือว่าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งประชาชนทั้งคนในชุมชนจะได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่นักศึกษาก็มีรายได้และประสบการณ์จริงและมีรายได้และไม่ต้องพึงครอบครัวมาก สามารถเรียนโดยไม่ต้องใช้เงินทางบ้าน เป็นการช่วยสังคมได้เป็นอย่างดี เป็นเป้าหมายสูงสุดของกรมฯและมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่งทั่วประเทศ

 

 

          “ทั้ง 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมีความยินดีที่จะมาช่วยขับเคลื่อนร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมีแนวทางสนับสนุนภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้านสำคัญ คือ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชน ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และสร้างความรักความสามัคคีเพื่อให้อยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างมีความสุข ทั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศก็ล้วนแล้วแต่เป็นลูกชาวบ้าน ที่หวังจะได้เห็นคนในชุมชนมีความสุข จึงหวังว่าความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาชุมชนและ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงและคนในชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์กล่าว