‘วิเคราะห์หนัง ‘JOKER’ ในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา’

วิเคราะห์หนัง ‘JOKER’ ในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา

 

หลังจากที่ดูหนังจบ ก็อดไม่ได้ที่จะมาเขียบบทวิเคราะห์หนังในแง่มุมที่ข้าพเจ้าถนัด คือ จิตวิทยา และในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มุมมองต่าง ๆ ของข้าพเจ้า จึงมักมีแง่มุมทางสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วยเสมอ ซึ่งสิ่งที่ต้องการจะสื่อที่สุดคือ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เราจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างเพื่อให้สังคมดีและคนมีความสุขกันทุกภาคส่วน

 

จากการวิเคราะห์ในทางจิตวิทยา (แต่ไม่วินิจฉัย) และข้อมูลจากต่างประเทศ ตัวละคร Joker มีอาการป่วยทางจิต (mental illness) ในรูปแบบที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ เกิดเป็นคน 2 บุคลิก เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ อาจจัดอยู่ใน Dissociative Identity Disorder (DID), และมีอาการเมื่อเผขิญกับเหตุการณ์ที่กระเทือนจิตใจจะมีความเครียดอย่างมาก หรือเรียกว่า Post-traumatic stress disorder (PTSD) ข้อมูลเพิ่มเติมจากไทยบอกอาร์เธอร์ป่วยเป็นPseudobulbar affect (PBA)

 

แม้ว่า เรื่องของ อาร์เธอร์ จะเป็นเพียงแค่หนัง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีอยู่จริง เนื่องจาก อาการของเขาสามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลจริงทางจิตวิทยา ซึ่งอาการทางจิตนั้นไม่ใช่ว่า จู่ ๆ ก็เป็น หากแต่ว่าต้องมีสิ่งที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก และอาจมีปัจจัยภายในร่วมด้วย คือ เรื่องของพันธุกรรม หรือ ความผิดปกติทางสมอง

 

ต่อไปนี้อาจดูเหมือนเป็นการสปอยล์หนังเล็กน้อย ซึ่งต้องขออภัยล่วงหน้าหากบทความนี้จะไปลดความตื่นเต้นในการดูหนังของใครบางคน

 

อาร์เธอร์ อยู่ในยุคที่สังคมมีช่องว่างระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด บรรดาคนมีเงิน นักการเมือง คนที่ถืออำนาจสื่อ ต่างสนุกกับการพูดจา ดูถูก เหยียดหยาม ถากถาง ไม่ให้เกียรติ ชนชั้นล่าง และคนที่ปราศจากสถานภาพทางสังคม ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นเป็นของเล่น ไร้ทางสู้ สวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ ถูกจำกัด ทำให้ อาร์เธอร์ ถูกปฏิเสธการรักษาและรับยากับจิตแพทย์ ฉากของหนังหลายฉาก แสดงให้เห็นสภาพถนนหนทาง ที่สกปรกไร้การดูแล ในขณะที่บ้านของนักการเมืองยังใหญ่โตมโหฬาร

 

อาร์เธอร์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกรุมรังแก (bullying) รุมทำร้าย ถูกดูถูก ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อีกทั้งถูกเพื่อนหักหลัง ยิ่งทำให้เขาทวีความโกรธ (rage) และสั่งสมความก้าวร้าว (aggression) ไว้ เสมือนเชื้อไฟที่รอวันจะปะทุตลอดเวลา เมื่อไม่เคยได้รับความเคารพ (esteem) ใด ๆ ก็ยากที่จะสร้างความเคารพในตนเอง (self-esteem) ด้วย ผนวกกับปมในชีวิตส่วนตัว ที่ไม่เคยได้รับความสุขเลย และยังต้องพบกับความผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อพบว่า คนที่เขารักที่สุดก็เคยทำร้ายเขา ในหนังแสดงให้เห็นว่า อาร์เธอร์ ยังคงมีพื้นฐานทางจิตใจที่ดี คือ ดูแลแม่ พยายามทำงานที่สุจริตตามรอยความฝันของตัวเอง และรู้จักที่จะมอบความรักความเมตตาให้คนอื่น

 

ในทางจิตวิทยา การได้รับความรักจากครอบครัว เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างภูมิต้านทางทางจิตใจ แต่ อาร์เธอร์ ผู้โชคร้าย เขาไม่มีส่วนนี้เลย นั่นจึงอธิบายได้ว่า ทำไม ความคิดอัตโนมัติ (Automatic thoughts) ของเขาจึงมีแต่เรื่องลบๆ และไม่อาจที่ขจัดออกจากจิตใจเขาได้เลย เขาเชื่อว่า ตนเองนี้เป็นเสมือนคนไร้ตัวตน (nobody) และเชื่อว่าการไม่มีชีวิตอยู่ยังจะมีค่าเสียกว่า

 

ทำไมเขาจึงเลือกที่จะ ฆ่า

 

ในหนังสือ The Asshole Survival Guide ของ Robert I. Sutton ได้บอกไว้ว่า นิสัยเสียนั้นติดต่อกันได้ และนิสัยเสียนั้นส่งผลให้เกิดความเสียหายทางจิตใจและร่างกายอย่างมากด้วย อันนี้เห็นจะจริงเพราะจากการวิจัยคนของข้าพเจ้าที่ผ่านมาก็ได้ผลสรุปเช่นเดียวกัน นี่สามารถนำมาอธิบายได้ว่า การอยู่ในสังคมที่มีแต่ความเกลียดชังจากการถูกปฏิบัติแบบห่วยๆ ของคนรอบข้างนั้น ทำให้เกิดแรงกดดันที่ซ่อนไว้ (pressure) แน่นอนนี่ไม่ใช่แรงขับในแง่ดีเป็นแน่ เมื่อมีความกดดัน และมีโอกาส (opportunity) ซึ่งในหนังคือ เขามีปืนอยู่ในมือ และ มี เหตุผลแห่งอารมณ์ (rationalization) ซึ่งอาจดูเป็น เหตุผลแห่งการหลอกลวง (delusional rationalization) สักหน่อย สำหรับการยกให้เป็นที่มาของการ "ฆ่า" แต่ทั้งสามปัจจัยนี้ก็มักส่งเสริมและให้ผลที่จะเลือกที่จะกระทำความผิดของคนได้ เมื่อเขาเริ่มลงมือทำ เขากลับกลายสภาพเป็นคนสำคัญขึ้นมา สังคมกลับเริ่มมองเห็นตัวตนของเขา

 

ข้าพเจ้ารู้สึกสงสาร อาร์เธอร์ จับใจ แม้จะเป็นแค่หนังแต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า นี่คือชีวิตคนกลุ่มหนึ่งจริง ๆ ของทุกสังคม ที่อาจถูกละเลยจากสังคม แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนการเลือกวิธีกระทำกลับ ของ อาร์เธอร์ เลยสักนิด

 

เราส่วนหนึ่งของสังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง

 

ในส่วนของภาคครอบครัว ควรต้องตระหนักให้มาก (awareness) ที่จะร่วมกัน สร้างภูมิต้านทานทางจิตใจ ให้กันและกัน มีวิธีที่ชาญฉลาดมากมายที่จะทำสิ่งนี้ให้เกิดได้ ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความรัก ความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในบรรยากาศของครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่สร้างทิฐิ อคติ ความเกลียดชัง ด้วยการขาดการให้กำลังใจ หรือการบังคับให้ใครคนใดคนหนึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอีกฝ่ายอย่างอ้อม ๆ

 

ในภาคของสังคม แน่นอนที่สุด ภาครัฐต้องนำภาษีของประชาชนคืนกลับไปสู่ประชาชนให้มาก ด้วยการกระจายสวัสดิการรัฐให้ทั่วถึง และใช้วิธีอันชาญฉลาด (ไม่ใช่ฉลาดแกมโกง) กระชับช่องว่างระหว่างชนชั้นให้มาก และแน่นอนว่าคนในสังคมต้องมีจิตสำนึกของการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันเสมอ ข้าพเจ้าการันตีได้ว่า นิสัยดีก็สามารถติดต่อกันได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามขอเน้นว่า หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะกับอายุต่ำกว่า 17 ปีค่ะ

 

ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ

“แพรวจิตบำบัด”

 

 

 

//...................

หมายเหตุ : วิเคราะห์หนัง ‘JOKER’ ในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา’: คอลัมน์ 'แพรวจิตบำบัด': ‘บางกอกไลฟ์นิวส์

 

[ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม] You've been invited to the chat "ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม".

                https://line.me/ti/g2/rooEoUs9W5mKkJUxuCFPKg     

คอมมูนิตี้นี้ ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ แง่มุม และเปิดพื้นที่สำหรับทุกท่าน ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัว โดยความร่วมมือของผู้ชำนาญด้านจิตศาสตร์และนิติศาสตร์คอยรับฟัง และให้คำแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการ

 

                เพจ “รักษาใจสู่สมดุล”

https://www.facebook.com/รักษาใจสู่สมดุล-Mind-Balance-Therapy-1525590614237527/

 //...................