‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ : ‘คนจนไทย’ ยังคงเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’

วันที่อยู่อาศัยโลก’: ‘คนจนไทยยังคงเป็น พลเมืองชั้นสอง

 

“องค์การสหประชาชาติ” ประกาศเอาไว้ว่า ให้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี  เป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก” (World Habitat Day) เพื่อที่จะให้สังคมโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่อยู่อาศัย ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษยชาติ แต่กลับมีประชากรโลกจำนวนไม่น้อย ที่ยังมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต  มีคนไร้บ้าน (Homeless) อยู่ในทุกประเทศทั่วโลก   ที่ดินจากทรัพยากรที่มนุษยชาติควรจะได้ใช้ร่วมกันแต่กลับถูกนำมาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

 

          ประเทศไทยเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน  และจะรุนแรงหนักขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งจากการรายงานข่าวเมื่อ ปลายปี 2561 ประเทศไทยได้ครองแชมป์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 1 ของโลก  แน่นอนว่า เศรษฐกิจที่ว่านั้น รวมถึง ที่ดิน อยู่ด้วย  มหาเศรษฐีและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ในประเทศไทยครองที่ดินกว่าครึ่งไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ยังไม่นับรวมกลุ่มทุนต่างประเทศ ที่มีผู้แทนในการเป็นเจ้าของที่ดินอีกจำนวนไม่น้อย สถานการณ์คนไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยจึงถือว่า เป็นขั้นวิกฤติรุนแรงไม่น้อย

 

          แต่กระนั้นเอง รัฐบาลไทยยังคงเหมือนทองไม่รู้ร้อน ยังคงออกนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) เพื่อผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินได้อย่างน้อย ๆ 99 ปี  มีกฎหมายพิเศษยกเว้นให้นักลงทุนในขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว แต่ยังไม่วายที่จะอ้างเพื่อประโยชน์คนจนย่านนั้นจะมีงานทำไม่ขาดสาย มันก็คงจะจริงถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวสงวนไว้เพียงเฉพาะคนไทย แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นอกจากจะไม่สงวนแล้ว รัฐบาลยังคงส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าว สามารถจ้างงานชาวต่างชาติมาทำงานได้อย่างเต็มที่  อีกทั้งผ่อนปรนกับแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น ดีกว่านอกพื้นที่ EEC เสียอีก ดังนั้น ประเด็นการสร้างงานให้คนไทยในย่านนั้น ปิดไปได้เลย

 

 

ยังไม่นับรวมการเตรียมแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ที่หมายถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะมี 170 สถานีทั่วประเทศนำร่องใช้ก่อน  และส่วนใหญ่พื้นที่ที่จำ TOD ก็มักจะมีชุมชนคนจนอยู่อาศัยรวมอยู่ด้วย  อย่างเช่นย่านสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น  ทางบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษา TOD ออกมาแจ้งเองว่า มีชุมชนกว่าพันหลังคาเรือนอยู่ในย่านที่จะปรับทำ TOD ซึ่งเป็นเรื่องลำบากหากการปรับลักษณะการอยู่อาศัยให้ทุกคนปรับที่อยู่อาศัยเป็นแนวดิ่งทั้งหมดได้

 


 

การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยแล้วถือว่า เป็นการช่วยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแล้วไม่ได้ เพราะการดำรงชีพเป็นเรื่องสำคัญ หากคนเมืองที่เป็นแรงงานนอกระบบ เก็บของเก่า ขายอาหารข้างถนน รับงานมาทำที่บ้าน อาชีพเหล่านี้ที่ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินงาน ส่วนคนชนบทยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย หากพวกเขาเหล่านั้นจะมีที่ดินเพียงแค่ปลูกสร้างบ้าน  แต่ไม่มีที่ดินสำหรับการทำการเกษตรในการดำรงชีพ  ขณะนี้ สภาพการณ์คนจนเมืองถูกขับออกไม่ให้อาศัยอยู่ในเมือง ใจกลางเมืองถูกสงวนไว้สำหรับกลุ่มคนมีเงิน หรือกลุ่มทำงานออฟฟิศ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอยู่อาศัยมากนัก ส่วนคนจนชนบทกำลังถูกไล่บีบให้ออกจากป่า หน่วยงานรัฐประกาศเขตป่าคลุมที่อยู่ ที่ทำกินชาวบ้าน บางส่วนมีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับกลุ่มทุน หรือยกเว้นการคลอบครองที่ดินของกลุ่มทุน

 

          นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นของกลุ่มคนจน และกลุ่มคนจนชนบท ที่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  ต่างวนเวียนอยู่กับคดีความ ถูกฟ้องดำเนินคดีขับไล่  ซึ่งยังเป็นคำถามกันอยู่ว่า หากจับกลุ่มคนเหล่านั้นไปหลายหมื่นคน จะมีที่ใดพอกุมขังพวกเขาไว้ได้บ้าง กลุ่มคนเหล่านี้นอกจากมีคดีความ การอยู่อาศัยยังไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แต่อย่างใดได้  บ้างต้องพ่วงน้ำ พ่วงไฟ จากเอกชนในราคาที่แพงกว่าปกติเป็นเท่าตัว ส่วนสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐก็เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก

 

          หากยังมาดูกลุ่มที่ไม่มีแม้แต่หลังคาหลบแดดหลบฝนคือกลุ่มคนไร้บ้าน  จากการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศโดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กับภาคีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ 87 องค์กร เมื่อช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านอยู่ราว 7,000 คนทั่วประเทศ (ทั้งอาศัยอยู่ในศูนย์ต่าง ๆ และอาศัยนอนตามที่สาธารณะต่าง ๆ)  แน่นอนกลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐแน่ ๆ ลำพังแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  คนไร้บ้านเหล่านี้ก็ไม่สามารถนำพาตัวเองไปรับบัตรดังกล่าวได้ เพราะเงื่อนไขหลาย ๆ อย่างไม่ได้เอื้อให้กับพวกเขาเหล่านั้น

 

          ยังไม่นับนโยบายร้อนแรงในช่วงนี้ ชิมช้อปใช้นโยบายที่เอาเงินภาษีจากคนทั้งประเทศ มาให้ตัวแทน 10 ล้านคนมาใช้เงิน หนึ่งหมื่นล้านบาท”  มีเกณฑ์ง่าย ๆ ในการได้สิทธิ์ใช้เงินนี้คือ ใครลงทะเบียนได้ก่อนคนนั้นได้ใช้เงิน อันนี้ไม่ต้องคิดซับซ้อน ประชาชนไม่มีแรงในการ ซื้อของตามห้างร้าน  รัฐเลยขอแทรกแซงช่วยอุ้มกระตุ้นเศรษฐกิจให้ โดยผ่านประชาชน  โดยไม่ได้เน้นว่าเป็นกลุ่มใด ใครก็ได้เอาเงินภาษีไปซื้อของกิน ของใช้ เที่ยวเตร่ ได้หมด  แน่นอนกลุ่มคนจนผู้ที่เข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตลำบาก ก็จะไม่ทันกับกลุ่มคนที่คลุกคลีกับอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้น นโยบายนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือคนจนแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วยเหลือตลาดการค้าที่กลุ่มทุนบ่นอุบว่า มันเงียบ ซบเซามานาน

 


 

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ที่กลุ่มคนจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ถูกละเลยจากรัฐบาล แม้นว่า รัฐบาลได้คลอดแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ออกมาแล้ว แต่ในทางปฎิบัติไม่สามารถทำได้จริงตามที่ได้เขียนไว้

 

ใน “วันที่อยู่อาศัยโลก” เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล และนัดหมายรอฟังคำตอบนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก  โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

1.ด้านที่อยู่อาศัย

1.1 ให้คณะรัฐมนตรีมีมติอุดหนุนงบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า - ประปา ส่วนต่อขยายในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยของรัฐ

1.2 ให้รัฐบาลไทยจัดตั้งกองทุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย​สำหรับโครงการพัฒนาของรัฐ​ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน​เช่นกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หาดใหญ่ - สงขลา โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เช่น​ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ​ การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม​สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ​เป็นต้น

1.3 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์​มีนโยบายให้กรมกิจการผู้สูงอายุ​สนับสนุนการปรับปรุงบ้านที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตผู้สูงอายุ​สำหรับผู้มีรายได้น้อยในโครงการบ้านมั่นคง

 

2.ด้านที่ดิน

2.1 รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีต่อคนจน ผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งปฏิรูปกองทุนยุติธรรมให้คนจนเข้าถึงการช่วยเหลือเพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

2.2 รัฐบาลต้องมีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ที่ชัดเจน  การนำที่ดินรัฐมาจัดทำที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น พรบ.สิทธิชุมชน , พรบ.ธนาคารที่ดิน และ พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ที่ภาคประชาชนได้นำเสนอไว้ และให้รัฐบาลยกเลิกหรือทบทวนมาตรการหรือนโยบาย มติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินโดยเร่งด่วน

2.3 ให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี​ให้หน่วยงานเจ้าของที่ดิน​เช่น​การรถไฟแห่งประเทศไทย​กรมเจ้าท่า​ ป่าชายเลน​  และที่ดินรัฐอื่น ๆ ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยเดิม สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง หรือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ของรัฐได้ และเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของรัฐได้ เพื่อให้คนจนสามารถมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงได้

 

3.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.1 ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงสิทธิรักษาสำหรับกลุ่มคนไทยที่ตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร์คนไร้สัญชาติ  และผู้ไม่มีสถานะ

3.2 รัฐบาลต้องจัดให้เปิดลงทะเบียนคนไทยตกหล่นและให้มีระเบียบปฏิบัติเดียวกัน

3.3 รัฐบาลต้องสร้างระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นกฎหมาย

3.4 รัฐบาลต้องเปลี่ยนสวัสดิการแบบสงเคราะห์เป็นรัฐสวัสดิการที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า

 


 

สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค กว่า 2,000 คน จะไปติดตามนโยบายทั้ง 3 ด้าน ของภาคประชาชนที่ได้ยื่นไว้กับทางรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 และคาดหวังว่า รัฐบาลจะหยิบมาผลักดันให้บรรลุผล อย่างน้อยการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ถูกละเลยมาโดยตลอด จะถูกบรรเทาลงไปได้ 

 

และหากรัฐบาลจริงจัง กับการแก้ปัญหาความไม่มั่นคง ในที่อยู่อาศัยของประชาชน ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง ความจน ความรวย ภายในประเทศก็จะถ่างลดน้อยลงไป

 

//..............

            หมายเหตุ : "วันที่อยู่อาศัยโลก คนจนไทยยังคงเป็นพลเมืองชั้นสอง" โดย "คมสันติ์ จันทร์อ่อน" กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค : "วารสารเสียงสลัม"

 

                https://frsnthai.blogspot.com/

//..............