‘เสา(ร้อง)ไห้’ เรื่องเล่า-ตำนาน อีกนานไหมจะลืมเลือน ?

เสา(ร้อง)ไห้ เรื่องเล่า-ตำนาน อีกนานไหมจะลืมเลือน ?

 

          ยังจำได้ใช่ไหม กับ “ความทรงจำ” ในวัยเยาว์เมื่อนานแสนนานมาแล้ว ?

          ใช่ ! เรายังคงจำได้เสมอ โดยเฉพาะกับ “ความทรงจำ” ในวัยเด็ก

          “ความทรงจำ” ที่ล้วนแล้วแต่มีสีสันใน “ความทรงจำ” อย่างยิ่ง

          ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม และไม่ว่าในห้วงเวลาปัจจุบัน ที่เราคล้ายกับว่า จะลืมเลือนบาง “ความทรงจำ” ไปแล้วก็ตาม

          กระนั้น ในทันทีที่ “ความทรงจำ” นั้น ๆ ถูกสะกิดให้ย้อนหวนถึงวันเวลาที่ผ่านมา

          “ความทรงจำ” ที่ว่านั้น

          ก็จะกลับมากระจ่างชัดแทบจะทุก ๆ “ภาพจำ” ใน “ความทรงจำ” ที่พลันกระจ่างชัดขึ้น

 

 

เสาตะเคียนทองขนาดใหญ่ ถูกนำขึ้นจากแม่น้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2501

 

          นานแค่ไหนแล้วนะ ที่ “ภาพจำ” แห่ง “ความทรงจำ” ค่อย ๆ จางหายไป กระทั่งคล้ายกับว่า เราลืมเลือนบาง “ความทรงจำ” ไปแล้วแทบจะสิ้นเชิง

          มันคล้ายกับนานมาก จนเราแทบจะลบเลือนบาง “ความทรงจำ” ที่ว่านั้นไปเสียหมดสิ้น

          ทว่า ! “ความทรงจำ” ยังคงอยู่

          โดยเฉพาะในห้วงเวลา ที่เราโหยหา “อดีต” ที่งดงาม และโหยหา “รก-ราก” ของเรา ที่เจือจางและห่างหายไป

 

แม่น้ำป่าสัก สายน้ำแห่งชีวิต

 

          คล้าย ๆ กับบาง “ตำนาน” และบาง “เรื่องเล่า”

          ที่แม้ว่าจะยังคงอยู่ แต่ก็เป็นการดำรงคงอยู่ ท่ามกลางห้วงเวลาที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่ง “เรื่องเล่า” และ “ตำนาน” นั้น ๆ

          แผ่วเบาเงียบเสียงลง คงเหลือเพียงกระซิบเบา ๆ ที่แทบจะไม่เหลือมนต์ขลังใด ๆ

          จนกว่าเสียงกระซิบนั้น จะค่อย ๆ ดังขึ้นอีกครั้ง

 เมื่อ “ภาพจำ” ใน “ความทรงจำ” ถูกสะกิดเตือนให้เรามองย้อนกลับไปอีกครา

 

“หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปเก่าแก่ “วัดสูง” 

 

เสาร้องไห้วัดสูง

 

          คุณ ๆ ยังจำได้ใช่ไหม กับ “เรื่องเล่า” และ “ตำนาน” ของ “เสาร้องไห้” อันเป็น “ที่มา” ของ “อ.เสาไห้” จ.สระบุรี ในปัจจุบัน ?

          คุณ ๆ ยังจำได้ใช่ไหมว่า “ตะเคียนทอง” อันเป็น “ที่มา” ของ “เสาร้องไห้” ต้นที่ว่านี้ อยู่ที่ “วัดสูง” อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ?

          “วัดสูง” อ.เสาไห้ จ.สระบุรี อยู่ห่างจาก อ.เมือง จ.สระบุรี ด้วยระยะทางเพียง 7 กม.โดยประมาณ

          “วัดสูง” อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่มี “พระศรีพุทธมงคลมุนี” หรือ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลาแลง ศิลปะสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในวิหาร

 

บรรยากาศภายใน “ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง”

 

          และ “วัดสูง” อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ก็ยังเป็นที่เก็บรักษา “เสาไม้ตะเคียนทอง” ขนาดใหญ่

ที่จนถึงห้วงเวลาปัจจุบัน ก็ยังคงสืบทอด “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า”

ด้วย “ศรัทธา” ที่ยังคงอยู่ เคียงคู่กับสายน้ำ “ป่าสัก” ที่ยังคงหล่อเลี้ยงชีวิต และวิถีชีวิตของผู้คนตลอดมา

ผ่าน “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ของ “เสาร้องไห้” และ “เจ้าแม่ตะเคียนทอง”

ที่เริ่มขึ้นด้วย “ความฝัน” ของหญิงชาวบ้านในคืนมืดคืนหนึ่ง เมื่อประมาณปี 2501 ที่ผ่านมา

 

ระฆังหินสมัยทวาราวดี 1600 ปี

 

“ความฝัน” บอกเล่าถึง “นางไม้” ใน “ต้นตะเคียนทอง” ที่จมอยู่ใน “สายน้ำ” ของ “แม่น้ำป่าสัก”

และ “ความฝัน” ก็ได้ “นำทาง” ไปสู่การนำ “เสาตะเคียนทอง” ขึ้นจากน้ำ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2501

ที่ “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ได้บันทึกไว้ว่า ในวันนั้นแดดร้อนจัดอย่างยิ่ง ทว่า ! ในขณะที่ชาวบ้านร่วมสามหมื่นคน มาร่วมพิธีและช่วยกันนำ “เสาตะเคียนทอง” ต้นนี้ขึ้นจากน้ำ

ท้องฟ้าก็พลันมืดครื้ม ฟ้าร้องคำรามคล้ายกับจะมีฝนตก และเสียงฟ้าผ่าก็ดังมาก พร้อมประกายสีเขียวไปทั่ว

“ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” บันทึกไว้ว่า “เสาตะเคียนทอง” ต้นนี้ ถูกส่งลอยน้ำมาใน “แม่น้ำป่าสัก” เพื่อที่จะนำไปเป็น “เสาเอก” ในสมัยสร้าง “กรุงเทพฯ” เป็น “ราชธานี”

แต่การเดินทางมาช้าไป ทาง “กรุงเทพฯ” จึงได้เลือกเสาต้นอื่นเป็น “เสาเอก” แทน

“เสาตะเคียนทอง” ต้นนี้ จึง “ลอยทวนน้ำ” มาจมอยู่บริเวณ “คุ้งน้ำป่าสัก” บริเวณ อ.เสาไห้ ในปัจจุบัน

และในยามค่ำคืน ก็มักมีชาวบ้านได้ยินเสียง “ร้องไห้” ดังขึ้นมาจากท้องน้ำป่าสัก

และเสียงนี้เองที่เป็น “ที่มา” ของชื่อ “อ.เสาร้องไห้” หรือที่ในปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ “อ.เสาไห้” นั่นเอง

 

“พี่ญา” ผู้ดูแล “ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง”

 

“เสาตะเคียนทอง” ขึ้นจากน้ำ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2501 และนำไปประดิษฐานที่ศาลชั่วคราว ณ “วัดสูง”

จากนั้น จึงได้สร้างศาลถาวรขึ้น ที่หน้า “พระอุโบสถ” ใน “วัดสูง”

และเมื่อ “วัดสูง” ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญหลังเดิม เป็นอาคารทรงไทยสวยงาม โดยอัญเชิญ “เสาแม่นางตะเคียนทอง” มาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ ปี 2530 จนถึงปัจจุบัน

ในทุก ๆ ปี เทศบาลตำบลเสาไห้ ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อส่งเสริมงานประเพณีอาบน้ำแม่นางตะเคียน เนื่องใน “เทศกาลสงกรานต์” ที่ “วัดสูง” เป็นประจำทุกปี

โดยงานจะจัดขึ้น 3 วัน 3 คืน เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.เป็นต้นไป

นี่เป็น “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ของ “เสาร้องไห้” และ “เจ้าแม่ตะเคียนทอง” “วัดสูง” อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

ด้วย “ศรัทธา” จาก “อดีต” ที่ถูกสืบทอดและดำรงคงอยู่ต่อมา จนถึงห้วงเวลาปัจจุบัน

         คุณ ๆ ยังจำได้ใช่ไหม แม้ว่าวันนี้ “ความทรงจำ” ในวัยเยาว์ อาจจะพร่าเลือนไปบ้าง ?

         คุณ ๆ ยังจำได้ใช่ไหม กับ “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ที่คนรุ่นก่อน ๆ บอกเล่าสืบต่อกันมา ?

         “พี่ญา”ผู้ดูแล “ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง” ที่รับช่วงมาแล้ว 6 ปี หลังจากที่คุณพ่อที่วันนี้อายุ 86 ปี แต่ยังคงแข็งแรงและกระฉับกระเฉง วางมือจากการดูแล และส่งต่อให้กับลูกสาวรับช่วงต่อ ยอมรับว่า ผู้คนมาเที่ยวน้อยลง

         “พี่ญา” บอกกับเราว่า คนมาเที่ยวลดน้อยลงไป แต่ก็ไม่หายไปเสียทีเดียว ยังคงมีมาเรื่อย ๆ

         โดยเฉพาะกับ “คนท้องถิ่น” ที่ยัง “ผูกพัน” ด้วย “ความเชื่อ” และ “ความศรัทธา”

         “โดยมากก็จะมาขอเรื่องงาน เรื่องเรียนต่อ ขอโชคลาภ ขอหวย ส่วนใหญ่ก็จะบนถวายโต๊ะเครื่องแป้ง ชุดไทย และ ฯลฯ ที่นี่เรามีชุดแก้บนจัดไว้ให้ ชุดละ 100 บาท แล้วก็มีชุดให้เช่าไปใส่ด้วย ชุดละ 100 บาทเหมือนกัน”

 

“เกี๊ยวกรอบ 100 ปี” ร้าน “ส.พาณิชย์”

 

         นอกจาก “คนท้องถิ่น” แล้ว “นักท่องเที่ยวต่างถิ่น” ที่เคยผ่านหูผ่านตาเรื่องราวของ “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” ของ “เสาร้องไห้” ก็ยังคงมาตาม “รอยอดีต” และ “ความทรงจำ” อยู่พอสมควรเหมือนกัน

         โดยเฉพาะในห้วงเวลาปัจจุบัน ที่กระแสของการ “ย้อนยุค” และโหยหา “อดีต” ที่งดงาม กำลังมาแรงอย่างยิ่ง

 

“เกี๊ยวกรอบ-กะเพราเป็ด-ก๋วยเตี๋ยวโบราณ” ในตำนาน

 

         “ความทรงจำ” งดงามเสมอ โดยเฉพาะ “ความทรงจำวัยเยาว์” ผ่าน “ตำนาน” และ “เรื่องเล่า” สืบต่อกันมา

แม้ว่า ในบางครู่ขณะ “ความทรงจำ” อาจจะพร่าเลือนไปบ้าง

         ทว่า ! เมื่อ “ความทรงจำ” ถูกสะกิดเตือน “ความทรงจำ” ก็จะกลับมากระจ่างชัด แทบจะทุก ๆ “ภาพจำ”

 

         ไม่ว่า “ความทรงจำ” นั้น ๆ จะพร่าเลือนในห้วงเวลาปัจจุบันเพียงใดก็ตาม... 

 

ตลาด 100 ปีเสาไห้

 

//....................

          หมายเหตุ : 'เสา(ร้อง)ไห้' เรื่องเล่า-ตำนาน อีกนานไหมจะลืมเลือน ? : คอลัมน์ “ลมหายใจเดินทาง” : “จตุระคน” (ออนอาร์ต) : "บางกอกไลฟ์นิวส์"

//....................