“เตือนใจ ดีเทศน์” เขียนถึง “บิลลี่” และ สิทธิชนพื้นเมืองดั้งเดิม

          

“ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในหลายพื้นที่ ถูกประกาศเขตอนุรักษ์ อาทิ อุทยานฯ ทับที่อยู่ ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ โดยไม่ได้ใช้แนวทางที่ให้ชุมชนดั้งเดิมมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร … ส่วนชาวเล ก็ถูกรุกรานโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีการฟ้องร้องเป็นคดีกันหลายแห่ง”

 

 

 

           ส่วนหนึ่งของข้อความที่  “เตือนใจ ดีเทศน์” อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย นักพัฒนาสังคม และเพิ่งลาออกจากการเป็น “กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเขียนเรื่องราวของ “บิลลี่” และ “ปู่คออี้” เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงความคืบหน้า การสอบสวนสู่ข้อสรุปว่า “บิลลี่”  เสียชีวิตแล้วนั้น 

          โดยเช้าวันที่ 8 กันยายน 2562 “เตือนใจ ดีเทศน์” ได้โพสต์ภาพและข้อความ ว่า...

 

 

          กรณี #บิลลี่ ไม่ใช่แค่เรื่องฆาตกรรม และการบังคับให้บุคคลคนหนึ่งสูญหาย

 

          แต่เป็นเรื่องของต้นแบบ นักปกป้องสิทธิ ที่ต่อสู้กับการละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง โดยมี "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน (บางกลอยบน) และชาวกะเหรี่ยง อีก 1,500 หมู่บ้านในภาคเหนือและภาคคะวันตก

 

          ซึ่งต่อมา "ชาวเล" ราว 30 ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 5 จังหวัด ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

 

          ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในหลายพื้นที่ ถูกประกาศเขตอนุรักษ์ อาทิ อุทยานฯ ทับที่อยู่ ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ โดยไม่ได้ใช้แนวทางที่ให้ชุมชนดั้งเดิมมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร

 

          ส่วนชาวเล ก็ถูกรุกรานโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีการฟ้องร้องเป็นคดีกันหลายแห่ง อาทิ กรณีที่ดินหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นต้น

 

 

          การผลักดันผ่านกระทรวงวัฒนธรรม จนได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีมติ เมื่อ 3 มิถุนายน 2553 ให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเล

 

          และต่อมา 3 สิงหาคม 2553 ก็มีมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

 

          ทั้ง 2 มติ ครม. เน้นเรื่องการสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การศึกษา การแก้ปัญหาสัญชาติ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

          แต่การปฏิบัติตามมติ ครม. เพื่อชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่จะครบ 10 ปีแล้ว

 

 

          รัฐไทยเป็นภาคีกติกาสากลว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (International Convention on Elimination of Racial Discrimination: ICERD) และรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง (UN Declaration on the Rights of Indigenous People: UNDRIPs)

 

          กรณีฆาตกรรมบิลลี่ ชัยภูมิ ป่าแส และ การละเมิดสิทธิชุมชนพื้นเมือง จึงควรได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ไทยเป็นภาคี หรือลงนามรับรอง

 

          และมติ ครม. ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง ซึ่งมีมิติความผูกพันด้วยจิตวิญญาณกับธรรมชาติ ควรได้รับการยกระดับเป็นกฎหมาย ดังที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกำลังร่วมกับภาคประชาสังคม

 

          สำหรับชาวบ้านของ #บิลลี่ ที่บางกลอยบน กลางผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งถูกอุทยานฯ อพยพลงมาที่บ้านโป่งลึกนั้น

 

          จำเป็นที่จะต้องแยกกลุ่ม หารือทางออก ว่า

 

          1 ใครที่ต้องการกลับไปทำกินที่เดิม ที่บ้านบางกลอยบน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นชาวบ้านที่อายุมาก มีจำนวนไม่กี่ครัวเรือน ผูกพันกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ควรต้องหารือ สร้างกติกา เงื่อนไขที่ยอมรับได้ร่วมกัน

 

          2 ใครที่ต้องการอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง/โป่งลึก ก็ต้องหาทางสร้างอาชีพ ให้ชาวบ้านอยู่โดยพึ่งตนเองได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของชาติพันธุ์ตนเอง

 

          3 คนรุ่นใหม่ ที่เกิดและเติบโตในบ้านบางกลอยล่าง/โป่งลึก ก็ต้องได้รับการดูแลส่งเสริมให้มีอาชีพและพึ่งพาตนเองได้

 

          เรื่องบิลลี่ ปู่คออี้ และผืนป่าแก่งกระจาน ขณะนี้อยู่ในสายตาของสังคมโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์ และใช้กติกาสากล เพื่อเป็นทางออกที่ยั่งยื่นและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

 

 

CR : Facebook Tuenjai Deetes

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

- อ่าน “เตือนใจ ดีเทศน์” เขียนถึง “บิลลี่” และ “ปู่คออี้”

https://www.bangkoklifenews.com/17136380/20190903st03