ยกย่อง “คำสิงห์ ศรีนอก” รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ

“กองทุนศรีบูรพาประกาศยกย่อง “คำสิงห์ ศรีนอก” ได้รับ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ” เนื่องในวาระชาตกาล 120 ปี ศรีบูรพา

 

          เนื่องในวาระพิเศษครบรอบชาตกาล 120 ปี “ศรีบูรพา” กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในปี พ.ศ.​ 2568 คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพาจึงมีมติร่วมกันในการยกย่อง นายคำสิงห์ ศรีนอก เป็นผู้ได้รับ “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”

 

ประวัติ คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม)

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ประจำปี 2535   

นักเขียนรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ ในวาระครบรอบชาตกาล 120 ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

 

 

กำเนิด

          เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2473 ที่บ้านหนองสะอาด อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน ของ นายสวย และ นางขำ ศรีนอก ซึ่งมีอาชีพทำนา

การศึกษา

          ในวัยเด็กได้อ่านหนังสือมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากลุงที่เป็นพระและพ่อแม่ เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนประจำอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต่อมาสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้  จึงสมัครเข้าเรียนที่แผนกวิชาการหนังสือพิมพ์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งในขณะนั้น  คณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตร 2 ปี จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาการหนังสือพิมพ์ ในขณะเดียวกันก็สมัครเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย 

ประวัติการงาน

          ในช่วง พ.ศ. 2493-2494 เริ่มงานหนังสือพิมพ์ด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน และเขียนเรื่องสั้นในนาม ค.ส.น. ลงพิมพ์ในแนวหน้า ฉบับวันจันทร์ สลับกับเพื่อนคนหนึ่ง พอต้นปี 2495 ได้เดินทางไปรับราชการเป็นพนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้ประจำอยู่ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จนกระทั่ง พ.ศ. 2499 ลาออกจากพนักงานป่าไม้ กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ช่วยนักวิจัยให้กับสถาบันค้นคว้าของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา และในช่วงนี้ได้กลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง หลังจากที่ได้เคยเขียนเมื่อตอนทำหนังสือพิมพ์มาบ้างแล้ว โดยเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ “ปิยมิตร” รายสัปดาห์ เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “เขียดขาคำ” ใช้นามปากกา “ลาว คำหอม” เป็นครั้งแรก เพราะต้องการเลือกคำไทยพื้น ๆ ที่บอกเป็นนัยถึงความเป็นสามัญ และพื้นเพเดิมของตนเองที่เกิดมาจากครอบครัวที่พูดภาษาลาว ช่วงนี้เองได้รู้จักกับ Robert Golden หรือ ดำเนิน การเด่น  ซึ่งได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา”

          เมื่อถึง พ.ศ. 2500 จึงร่วมกับเพื่อนทำสำนักพิมพ์  “เกวียนทอง”  จัดพิมพ์เรื่อง “ข้าพเจ้าได้เห็นมา” ของ “ศรีบูรพา” เป็นเล่มแรก (นัยว่าเพื่อช่วยเหลือครอบครัวสายประดิษฐ์  ที่กุหลาบเพิ่งออกจากคุกในคดีกบฏสันติภาพ) และ “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นเล่มที่สอง ตามมาด้วย ความเป็นอนิจจังของสังคม ของ ปรีดี พนมยงค์  จากนั้น พ.ศ. 2501 จึงรวบรวมเรื่องของตนเองได้ 8 เรื่อง “ฟ้าบ่กั้น” ของ “ลาว คำหอม” เป็นเล่มสุดท้ายของสำนักพิมพ์เกวียนทอง หลังจากหนังสือวางแผงได้ไม่นาน  จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ปิดหนังสือพิมพ์ไปเกือบทั้งหมด นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกันมาก คำสิงห์ ศรีนอก จึงเก็บหนังสือที่เหลือ ไปทำไร่ทำสวนอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

          ต่อมา จอมพลสฤษดิ์  ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 บรรยากาศทางการเมืองคลี่คลาย ลาว คำหอม ปรากฏนามบ้างเป็นครั้งคราว เรื่องสั้นชุด “ฟ้าบ่กั้น” ได้รับการพิมพ์ซ้ำในวารสารชมรมวรรณศิลป์ ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ บ้าง  โดยไม่ทราบว่าผู้เขียนคือใคร จนกระทั่งต้นปี 2510 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับพรรคพวก เช่น อังคาร กัลยาณพงศ์  สุวรรณี สุคนธา  เทพศิริ  สุขโสภา ฯลฯ ไปเยี่ยมที่ไร่ปากช่อง  สุวรรณี สุคนธา ไปหยิบรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ที่กองสุมอยู่มุมหนึ่งมาเปิดอ่าน แล้วถามหาตัวผู้เขียนและชมว่าเขียนดี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จึงรับปากจะพิมพ์ใหม่ เทพศิริ สุขโสภา อาสาเขียนภาพประกอบ ทำให้ “ฟ้าบ่กั้น” ได้รับการจัดพิมพ์ใหม่อย่างสวยงามโดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม  เมื่อต้นปี 2512 สร้างชื่อเสียงให้แก่ “ลาว คำหอม” อย่างกว้างขวาง ได้รับการพิมพ์ซ้ำในโอกาสต่อมานับสิบครั้ง มีการแปลทั้งเล่มเป็นภาษาอังกฤษ สวีเดน และเดนมาร์ก และแปลไปพิมพ์บางส่วนเป็นภาษาเยอรมัน ญี่ปุ่น บุลกาเรีย และสเปน

          พ.ศ. 2510-2511 ได้เดินทางไปรับรางวัล Time Life ที่สหรัฐอเมริกา และระหว่างกลับไทยได้แวะบรรยายเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยในมหาวิทยาลัยหลายประเทศ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อิสราเอล และไอวอรี่โคสต์ เมื่อกลับมาเมืองไทยก็มีส่วนร่วมในการทำวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ  ผลงานในช่วงนี้ได้รับการตีพิมพ์ในปี ๒๕๑๘ ชื่อเล่มว่า กำแพง

          หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ได้รับเลือกเป็นรองประธานพรรคสังคมนิยม หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จึงต้องพาครอบครัว ภรรยาและลูกสาวเข้าป่า และขอลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสวีเดนระหว่าง พ.ศ. 2519-2523 ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสมาคมนักเขียนสวีเดน เพื่อทำงานด้านการเขียนและการแปล ช่วงนี้ได้เขียนเรื่อง แมว 

          พ.ศ. 2528 อพยพครอบครัวเดินทางกลับประเทศไทย ไปพำนักอยู่ที่ไร่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เช่นเดิม และเขียนเรื่องจากประสบการณ์ในสวีเดนชื่อ กระเตงลูกเลียบขั้วโลก 

          พ.ศ. ๒๕๓๕  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้ คำสิงห์ ศรีนอก เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๓๕  ต่อมา ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม    

นามปากกา

          ลาว คำหอม  ชโย สมภาค

ผลงาน

          รวมเรื่องสั้น : ฟ้าบ่กั้น / กำแพง / ลมแล้ง / ประเวณี

          นวนิยาย : แมว

          สารคดี : กระเตงลูกเลียบขั้วโลก

          บทความ : กำแพงลม / เวียดนาม:ความห่างเหินที่อยู่ติดรั้วบ้าน / ฟ้าไร้แดน

          บทภาพยนตร์ : ทองปาน

ครอบครัว

          สมรสกับ ประพีร์  ศรีนอก  มีลูกสาวสามคนคือ เตือน คำหอม และภูเพียง  ปัจจุบัน พำนักอยู่กับครอบครัวที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา