หนุน ‘เรือนจำกลางนครศรีฯ’ โมเดลต้นแบบ ‘ราชทัณฑ์ดีพร้อม’
หนุน ‘เรือนจำกลางนครศรีฯ’ โมเดลต้นแบบ ‘ราชทัณฑ์ดีพร้อม’
“ดีพร้อม” จับมือ “ราชทัณฑ์” ผลักดัน “เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช” เป็นโมเดลต้นแบบ “ราชทัณฑ์ดีพร้อม” อนุรักษ์ทักษะงานศิลป์ สร้างอาชีพใหม่ คืนคนดีสู่สังคม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการผลักดันเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เป็นโมเดลต้นแบบ “ราชทัณฑ์ดีพร้อม” เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาด ผ่านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การสร้างตราสินค้า และการบริหารจัดการด้านการตลาดออนไลน์ ดึงทักษะของแรงงานที่มีฝีมือที่ถูกสร้างไว้หลังกำแพงเรือนจำ สร้างอาชีพเส้นทางใหม่ เตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคม
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และโอกาสในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ และลดการกลับมาทำความผิดซ้ำ ส่งผลให้สังคมปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทักษะงานหัตถศิลป์อันเลอค่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างโอกาสและเสริมสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมให้แข็งแรงขึ้น และเป็นการขานรับนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างสังคมแรงงานที่มีความสามารถ โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการคืนคนดีสู่สังคม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาด เพื่อให้ได้ฝึกทักษะอาชีพเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษที่มีความสามารถตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในอนาคต
ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้กำหนดนโยบาย “RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต” ในกลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE the Area) มาประยุกต์ใช้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการในการอนุรักษ์ทักษะงานหัตถศิลป์อันเลอค่าของไทย ด้วยการดึงทักษะของแรงงานที่มีฝีมือที่ถูกสร้างไว้หลังกำแพงเรือนจำ สร้างอาชีพเส้นทางใหม่ เตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคม
ด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ในการผนึกกำลังกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผลักดันเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นโมเดลต้นแบบ “ราชทัณฑ์ดีพร้อม” เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาดผ่านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การสร้างตราสินค้า และการบริหารจัดการด้านการตลาดออนไลน์
นายภาสกร กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ภายใต้โครงการฝึกทักษะอาชีพคืนคนดีสู่สังคม “นิคมราชทัณฑ์โมเดล” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่
1) การจักสานกระเป๋าจากย่านลิเภา
2) การสร้างกี่กระตุกจำนวน 10 หลัง
3) การทอผ้าขั้นพื้นฐาน
และ 4) การตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักรอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนเครื่องจักร เพื่อใช้ในการฝึกทักษะอาชีพ หลักสูตร “การเย็บจักรอุตสาหกรรม” (ขั้นพื้นฐาน) และได้สนับสนุนต้นแบบจักรอุตสาหกรรม ให้กับเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จำนวน 16 หลัง
สำหรับ กิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและการฝึกปฏิบัติในอาชีพที่สามารถใช้ได้จริงภายในสังคม สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ก้าวพลาดที่สนใจ ในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการปล่อยตัวในอนาคต ให้สามารถปรับตัวและมีชีวิตใหม่ในสังคมได้ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์หัตถศิลป์ที่มีค่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นการสร้างโมเดลต้นแบบเพื่อต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ และคาดการณ์ว่า จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3 ล้านบาท
ด้าน พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ก้าวพลาดจะมีโอกาสได้ฝึกทักษะอาชีพเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ พร้อมคืนคนดีสู่สังคม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสามารถนำไปสู่การสนับสนุนการเชื่อมโยงการผลิตสินค้า การรับช่วงการผลิต การเชื่อมโยงตลาดกระจายสินค้า และการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์จากราชทัณฑ์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และตราสินค้า
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมั่นได้ว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบพื้นถิ่นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนพึ่งพาตนเอง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
//..............