เชิญชวน ‘สื่อฯ – บุคคลทั่วไป’ ประกวด ‘ภาพถ่าย’ หัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชน’
เชิญชวน ‘สื่อฯ – บุคคลทั่วไป’ ประกวด ‘ภาพถ่าย’ หัวข้อ ‘สิทธิมนุษยชน’
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” ขอเชิญสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ส่งผลงานภาพถ่ายเข้าประกวดในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” วันนี้ - 15 พ.ย.67
ให้ภาพถ่ายของคุณเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวและสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น มาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมสู่ความเท่าเทียมและยุติธรรม ผ่านพลังหลังเลนส์กล้องของคุณ !
หลักเกณฑ์การพิจารณา :
1. ภาพต้องสะท้อนประเด็นสิทธิมนุษยชน
2. แสดงมุมมองที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์
3. มีคุณค่าและความงามในเชิงศิลปะที่ทรงพลัง
ภาพถ่ายต้องเป็นผลงานของผู้ส่งเอง ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นภาพที่ถ่ายในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 - 31 ตุลาคม 2567
ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ ผู้ประสงค์จะส่งภาพถ่ายเข้าประกวดได้ตามลิงก์แบบฟอร์มนี้ :
(คลิกที่ LINK) https://bit.ly/3XbOm7P
#ประกวดภาพถ่าย #AmnestyInternational #AmnestyThailand #HumanRights #สิทธิมนุษยชน #MediaAwards2024
อ่านรายละเอียดหลักเกณฑ์การส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มเติมได้ที่ :
(คลิกที่ LINK) https://bit.ly/4g4L2El
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอเชิญส่งภาพชุดเข้าประกวด ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” สำหรับสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ยืนหยัดทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนมายาวนานกว่า 63 ปี แม้ว่าโลกของเราทุกวันนี้มีความรุนแรง ความอยุติธรรม และการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่แอมเนสตี้ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยยึดหลักการตาม "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองประเทศของตน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ชึ่งประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่างๆ ได้ลงมติรับรองและประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) เพื่อเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลฉบับนี้
ถึงแม้ว่าปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศแต่ก็จัดเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุด ซึ่งประเทศต่าง ๆ จำต้องเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ โดยที่ปฏิญญาฉบับนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของสนธิสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีกหลายฉบับ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสื่อสารในประเด็นสิทธิมนุษยชนตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงได้จัดประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน” เพื่อให้ภาพถ่ายของคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้สู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น
ผู้เข้าประกวดสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เพิ่มเติมได้ที่นี่
(คลิกที่ LINK) https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/
โดยมีรางวัลดังต่อไปนี้
รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 7,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
กติกา และเงื่อนไขในการประกวด
1. ผู้สมัคร 1 คน สามารถส่งภาพชุดเข้าประกวดได้ไม่น้อยกว่า 5 ภาพ แต่ไม่เกิน 7 ภาพ
2. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยตนเอง และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ต้องเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 31 ตุลาคม 2567
3. ไฟล์ที่นำส่งต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านพิกเซล (2650x1920 พิกเซลขึ้นไป) เป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตัล (DSLR, Mirrorless, Compact, Action camera หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ) หรือจะเป็นกล้องฟิล์มโดยให้แสกนเป็นไฟล์ดิจิตอลตามขนาดที่กำหนด ทั้งนี้การประกวดไม่เปิดรับภาพที่ถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)
4. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นภาพสีเท่านั้น สามารถตกแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพของภาพได้แต่ต้องไม่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องไม่ปรับสีสันจนผิดไปจากธรรมชาติที่ควรเป็นหรือจนเสียคุณภาพเชิงเทคนิคของภาพและต้องไม่มีการตัดต่อ การลบหรือการเพิ่ม หรือการกระทำการใดๆ ที่ส่งผลต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพ
5. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใดๆ ลงบนภาพ รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใด ๆ
6. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใด ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด
7. ไฟล์ภาพถ่ายทุกไฟล์ที่ส่งเข้าประกวด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะไม่ส่งคืนให้ผู้เข้าร่วมประกวด นอกจากนี้แล้วผู้ที่ส่งภาพเข้าประกวดต้องรักษาภาพต้นฉบับไว้ ในกรณีที่คณะกรรมการตัดสินภาพมีข้อสงสัย สามารถเรียกให้ผู้เข้าร่วมประกวดแสดงภาพต้นฉบับได้
8. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องกรรมสิทธิ์ภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงต้องไม่ใช่ภาพที่ส่งขายตาม Stock Photo ทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้จัดการประกวดจะไม่รับผิดชอบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เจ้าของผลงานมีสัญญาผูกพันต่อบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้เอง
9. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิที่จะนำภาพถ่ายทุกภาพที่ได้รับรางวัลไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพ และไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลา 4 ปี นับจากวันประกาศผลรางวัล
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) จะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี
10. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีสิทธิ์นำภาพที่เข้าร่วมการประกวดไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ การแสดงนิทรรศการ การตีพิมพ์ภาพลงในสูจิบัตร รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ขององค์กร เฉพาะที่เป็นกิจกรรมที่ไม่หวังผลทางการค้าได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้าภายใน 2 ปี และจะมีระบุชื่อเจ้าของผลงานทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ และเมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ทั่วโลก) มีความประสงค์จะใช้ภาพใด แอมเนสตี้ ประเทศไทยจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี
11. เจ้าหน้าที่และกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลไม่มีสิทธิ์ร่วมส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้
12. การพิจารณาผลงานขึ้นกับดุลพินิจของกองประกวด และการตัดสินของกองประกวดถือเป็นที่สิ้นสุด หากปรากฏว่าภาพที่เข้าประกวดไม่เป็นไปตามกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ข้างต้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ไม่มีสิทธิ์อ้างว่ากระทำผิดเพราะอ่านกติกาไม่ครบถ้วน คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการตัดสินผู้ส่งภาพเข้าประกวด และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งภาพเข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
13. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด และเงื่อนไข รวมถึงของรางวัล โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
หลักเกณฑ์การพิจารณา
1. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน
2. ภาพถ่ายสามารถสะท้อนมุมมองของผู้ถ่ายภาพในเชิงสร้างสรรค์
3. ภาพถ่ายมีคุณค่าและความงามในเชิงศิลปะ
ช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ
ผู้ประสงค์จะส่งภาพถ่ายเข้าประกวดได้ตามลิงก์แบบฟอร์มนี้
(คลิกที่ LINK) https://bit.ly/3XbOm7P
โดยระยะเวลาที่เปิดรับภาพคือ วันนี้ - 15 พฤศจิกายน 2567
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 089-922-9585
ระยะเวลาดำเนินการ
เปิดรับผลงาน ตั้งแต่วันนี้ - 15 พฤศจิกายน 2567
ประกาศผลรอบแรกวันที่ 23 ธันวาคม 2567
ประกาศผลรางวัลและพิธีรับมอบในงานประกวด “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2568
หมายเหตุ: วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
คณะกรรมการตัดสิน (The Panel of Judges)
1. ผศ. กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร กลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2. ยศธร ไตรยศ ช่างภาพ จาก Realframe
3.ภานุมาศ สงวนวงษ์ ช่างภาพ จาก Thai News Pix
4. ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
//..................
CR : Amnesty International Thailand
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
//..................