เปิดคำประกาศเกียรติคุณ “ประวัติ 12 ศิลปินแห่งชาติ 2566”
กระทรวงวัฒนธรรม เผยแพร่ "คำประกาศเกียรติคุณ-ประวัติ" 12 ศิลปินแห่งชาติ 2566 "ทัศนศิลป์-วรรณศิลป์-ศิลปะการแสดง" เตรียมจัดงานเผยแพร่ประวัติผลงานต่อสาธารณะ
คำประกาศเกียรติคุณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) พุทธศักราช 2566
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุลเกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอายุ 76 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาภาพพิมพ์ จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2515 และระดับปริญญาโท สาขาภาพพิมพ์ จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2520 เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา ถือเป็นศิลปินหญิงที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สร้างสรรค์จากการสังเกตปรากฏการณ์ในสังคม ด้วยเทคนิคที่หลากหลายและมีแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผลงานศิลปะในช่วงเริ่มต้นการสร้างสรรค์ เป็นผลงาน 2 มิติ ในเทคนิคภาพพิมพ์บนกระดาษ ต่อมาได้เปิดกว้างการสร้างสรรค์ไปสู่งานจิตรกรรม ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง รูปแบบและเนื้อหาในผลงาน ก้าวเดินบนเส้นทางของศิลปินด้วยการแสดงออกถึงสุนทรียภาพในงานทัศนศิลป์ เป็นความงามแบบนามธรรมที่ปราศจากการเล่าเรื่อง ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติทางสังคมและการเมือง ก็ได้สร้างจิตรกรรมที่นำเสนอประเด็นปัญหาได้อย่างทรงพลังและงดงาม ครั้นปัญหาของบ้านเมืองคลี่คลาย จิตใจของศิลปินได้ผ่อนคลายและสงบนิ่ง
ผลงานแนวนามธรรมก็ได้คืนกลับมาสู่การทำงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญาอีกครั้ง แสดงถึงความเฉียบคมและภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ ผลงานชุด “ดอกไม้ : หิน : ฤดูกาล” (พ.ศ.2533) เป็นการพินิจสัจจะแห่งชีวิตจากธรรมชาติ ผลงานชุด “ธง : พฤษภา” แสดงออกถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ผลงานชุด “นกพิราบ (2021)” (พ.ศ.2564) เสนอให้เห็นชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่ตั้งอยู่บนความหลากหลาย ต้องใช้หัวใจในการเรียนรู้เพื่อเติมเต็มคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผลงานชุด “บทกวีเมฆ (2021)” (พ.ศ.2564) ที่ต้องการให้คนได้ตระหนักและเฝ้าสังเกตตน เพื่อพัฒนาจิตใจให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และนิทรรศการล่าสุด “ชโลมขาว” (Whitewash) (พ.ศ. 2567) นำเสนอผลงานที่ได้สร้างสรรค์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 จากการสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมือง ถ่ายทอดเป็นงานศิลปะแบบนามธรรม สื่อสารอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนเร้นความจริงไว้ภายใต้ความงามของภาพ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญาจึงเป็นศิลปินหญิงที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผู้สร้างเกียรติประวัติมากมาย และเป็นผู้ฟื้นฟูการเรียนการสอนภาพพิมพ์หิน ที่มุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างเต็มความสามารถ ควบคู่ไปกับการพัฒนางานสร้างสรรค์ หรืองานวิจัยของตนเองให้โดดเด่น นำเสนอผลงานสู่สาธารณชน ทั้งในรูปแบบนิทรรศการและเอกสารทางวิชาการ ได้รับรางวัลในฐานะศิลปินและนักสร้างสรรค์ระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเมื่อ พ.ศ. 2515 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (ภาพพิมพ์) จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21 พ.ศ.2522 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง (จิตรกรรม) จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 25 พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลปีติศิลป์สันติภาพ เชิดชูเกียรติ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา ยังคง ยืนหยัดทำงานเพื่อสังคมและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้เป็นกระบอกเสียงรณรงค์และแสดงทัศนะที่มีต่อเรื่องไม่เป็นธรรมในสังคม อันสะท้อนจุดยืนและสำนึกที่มีต่อสังคมอย่างแรงกล้า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน) พุทธศักราช 2566
นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 72 ปี ขณะอายุ 14 ปี ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และมีความสนใจในด้านศิลปะ จึงเริ่มต้นการศึกษาศิลปะขั้นพื้นฐานที่ West Surrey College of Art, England และค้นพบเป้าหมายในอนาคต จึงเลือกเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาที่ Inchbald School of Interior Design, England ด้วยมุ่งมั่นและตั้งใจจะเป็น “นักออกแบบตกแต่งภายใน”
ภายหลังสำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2518 นางวิภาวดี ได้เข้าสู่เส้นทางอาชีพในฐานะมัณฑนากรหญิง โดยเริ่มต้นทำงานที่บริษัท ไรเฟนเบอร์ก แอนด์ ฤกษ์ฤทธิ์ จำกัด เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นได้สั่งสมประสบการณ์ในสายอาชีพมัณฑนากรเรื่อยมา และได้พิสูจน์ตนเองถึงความสำเร็จของผลงานที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้มองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะพัฒนาการสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ กระทั่งในปี พ.ศ. 2536 ได้ก่อตั้งบริษัท P49 DEESIGN AND ASSOCIAES สร้างสรรค์งานออกแบบตกแต่งภายในให้แก่โครงการหลากหลายรูปแบบ มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผลที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น คือ ผลงานการออกแบบโรงแรมหลากหลายประเภท กระจายอยู่ใน 5 ทวีป และกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ที่พักราคาประหยัด (Hostel) ไปจนถึงโรงแรมระดับ 6 ดาว ที่ตั้งอยู่กลางมหานครใหญ่ของโลก โดยงานตกแต่งภายในโรงแรมงานแรกคือ โรงแรมเพนนินซูล่า แม้ว่าต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโรงแรม Regent เปลี่ยนเป็นโรงแรม Four Seasons และปัจจุบัน คือโรงแรมอนันตรา ราชดำริ กรุงเทพมหานคร นางวิภาวดีก็ได้มีส่วนร่วมในการตกแต่งภายในทุกสมัยของการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้น ยังมีผลงานการออกแบบตกแต่งภายในที่ได้รับการยอมรับมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โรงแรม Mandarin Oriental กรุงเทพมหานคร โรงแรม Le Meridien Chiang Rai Resort จังหวัดเชียงราย โรงแรมอิมพีเรียล โรงแรมเก่าแก่แห่งเมืองเดลี ประเทศอินเดีย โรงแรม InterContinental Nha Trang ประเทศเวียดนาม โรงแรม Taj Tashi, Thimpu ประเทศภูฏาน โรงแรม Hotel Indigo Lijiang Ancient Town ประเทศจีน โรงแรม Alila Jabal Akhdar ประเทศโอมาน
จากความเชี่ยวชาญในการออกแบบโรงแรม รีสอร์ท และสปาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ได้รับรางวัลการออกแบบในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย นางวิภาวดีจึงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในวงการนักออกแบบตกแต่งภายในในฐานะมัณฑนากรหญิงแถวหน้าของเอเชีย ผู้ชื่นชอบแสวงหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ และให้ความสำคัญกับการนำเอาศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ มาใช้กับงานออกแบบเพื่อสร้างความรู้สึกของสถานที่แห่งนั้น (Sense of Place) ซึ่งต้องใช้กระบวนการค้นคว้าและการออกแบบอย่างเข้มข้น ทำให้ได้ ผลงานการออกแบบลงตัวได้อย่าง สวยงาม กลมกลืน และมีความน่าสนใจจากร่องรอยของอดีตที่ยังเกาะอยู่กับยุคสมัย
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานออกแบบตกแต่งภายในเกือบ 50 ปี นางวิภาวดีได้อุทิศกำลังกายและกำลังใจให้กับการทำงานเพื่อพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น และสร้างชื่อเสียงให้กับแวดวงมัณฑนากรของไทยอย่างมาก อีกทั้งอุทิศตนและเวลาให้กับการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลศิลปะหลากหลายแขนง รับเชิญเป็นวิทยากรแก่สถาบันการศึกษา สมาคม หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ และได้ร่วมงานกับสมาคมสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (Thailand Interior Designer Association) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย 4 สมัยติดต่อกัน (พ.ศ. 2559 - 2565) จนได้รับรางวัล Lifetime Achievement Awards จากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในสาขาวิชาชีพผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลนักออกแบบไทย (Designer of the Year Award) ประเภท Honor Award สาขา Interior Design ประจำปี 2560 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และผลงานตกแต่งภายในโรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร ในนาม P49Deesign ได้รับรางวัล Best Hotel Lobby Interior for Thailand และ Best International Hotel Lobby Interior จากเวที “International Property Awards 2021-2022 : Asia Pacific” นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลจากการสร้างสรรค์ผลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจในการทำงานในฐานะนักออกแบบตกแต่งภายในหญิงของไทย
นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูลจึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน) พุทธศักราช 2566แห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมผังเมือง) พุทธศักราช 2565
คำประกาศเกียรติคุณ
ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ) พุทธศักราช 2566
ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอายุ 91 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนจ่าการบุญ ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ (โรงเรียนสิ่นหมินในปัจจุบัน) และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนโรงเรียนผดุงราษฎร์ ซึ่งทั้ง 3 แห่งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก
ด้วยเกิดในครอบครัวที่บิดาเป็นครูศิลปะและเป็นช่างฝีมือ ทำให้ชีวิตวัยเด็กของร้อยตรี ทวี ได้เรียนรู้วิชาการวาดรูปและงานช่างแกะสลักจากบิดา เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ออกไปประกอบอาชีพช่างเขียนภาพในหลายท้องที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทำงาน กระทั่ง พ.ศ. 2498 ได้เข้ารับราชการเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 3 ได้รับยศสูงสุดเป็นจ่าสิบเอกในปี พ.ศ. 2506 รวมระยะเวลารับราชการทหาร 23 ปี โดยขณะที่รับราชการทหาร ร้อยตรี ทวี ได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านช่างศิลป์หลายแขนง เพื่อรับใช้ภารกิจของทางราชการอย่างเต็มที่ เช่น วาดรูป เขียนแบบ แกะไม้ และหล่อโลหะ และเมื่อทางกองทัพภาคที่ 3 ต้องการช่างฝีมือดีสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร้อยตรี ทวี จึงได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมวิชาการปั้นและหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สนั่น ศิลากร และอาจารย์พิมาน มูลประมุข ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเอกอุแห่งวงการศิลปะไทย ซึ่งได้เมตตาถ่ายทอดความรู้ให้แม้เป็นเพียงระยะเวลาช่วงสั้นๆ แต่ก็นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญต่อการฝึกฝนและพัฒนาผลงานอย่างยิ่ง และภายหลังอบรม ร้อยตรี ทวี ได้กลับไปทำหน้าที่หล่อรูปเหมือนองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาจนเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนั้น ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช รุ่น ภปร. ที่ได้รับพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร.” ซึ่งได้รับการชื่นชมว่ามีความงดงามคล้ายองค์จริง จนเป็นที่กล่าวขานในพรสวรรค์ และความสามารถทางพุทธศิลป์ที่แสดงออกมาได้อย่างประณีตสมดุล จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2521 ร้อยตรี ทวี ได้ขอลาออกจากราชการเพื่อมาประกอบอาชีพส่วนตัว โดยยึดอาชีพช่างปั้นหล่อพระพุทธรูป และก่อตั้ง “โรงหล่อพระบูรณะไทย” ซึ่งพระพุทธชินราชที่ปั้นหล่อด้วยฝีมือของร้อยตรี ทวี ถือเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีความงดงามคงอัตลักษณ์เดิม แต่สร้างสรรค์เพิ่มเติมอย่างมีเอกลักษณ์ ด้วยการนำท้าวเวสสุวรรณ และอาฬวกยักษ์มาไว้ข้าง องค์พระ และมีการปิดทองคำแท้สำหรับบูชา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการสร้างพระพุทธชินราชด้วยวิธีการนี้ พระพุทธชินราชที่สร้างโดยร้อยตรี ทวี จึงได้รับการยอมรับในฝีมือและความงดงามว่าเป็น พระพุทธชินราช สกุลช่างพิษณุโลก จ่าทวี ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และร้อยตรี ทวี ยังได้รับยกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอกแห่งวงการช่างศิลป์”
นอกจากอาชีพช่างหล่อพระแล้ว ร้อยตรี ทวี ยังได้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์มากมาย เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดความรู้การปั้นและการหล่อ สร้างอาชีพและความภาคภูมิใจให้กับผู้คนในท้องถิ่นมากมาย คุณูปการที่สำคัญคือ ได้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” นับเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยแห่งแรก ที่เก็บรวบรวมสะสมและรักษาเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน อันสะท้อนวิถีชีวิตของคนในอดีตให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และได้จัดตั้งมูลนิธิ จ่าทวี บูรณะเขตต์ เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิมอบให้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จนถึงปัจจุบัน
ด้วยความสามารถและความเสียสละตน เพื่อประกอบคุณงามความดี จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน เป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ หน่วยงาน และประเทศชาติโดยรวม ทำให้ร้อยตรี ทวี ได้รับรางวัลมากมายจากหลายหน่วยงาน อาทิ พ.ศ. 2526 ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2527 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ (มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปัจจุบัน) พ.ศ. 2541 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2560 ได้รับยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาการช่างฝีมือ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พ.ศ. 2565 ได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปาจารย์” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พ.ศ. 2566 ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะและการออกแบบจาก มหาวิทาลัยนเรศวร และ พ.ศ. 2567 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานยศ ร้อยตรี เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบ คุณงามความดีและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ส่วนราชการ หน่วยงานและประเทศชาติโดยรวม
ร้อยตรี ทวี บูรณเขตต์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ช่างปั้น หล่อ) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายสุดสาคร ชายเสม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก) พุทธศักราช 2566
นายสุดสาคร ชายเสม เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 68 ปี สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ. 2523 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศิลปกรรมวิจิตรศิลป์)จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ. 2526
ภายหลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2526 ได้เข้ารับราชการทหาร ทำหน้าที่ออกแบบเครื่องหมายชั้นยศ ซึ่งในปีเดียวกัน ได้เปลี่ยนไปรับราชการครู ณ โรงเรียนปทุมลุมพินี สังกัดกรุงเทพมหานคร และย้ายไปสอนที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ กรุงเทพมหานคร ต่อมา พ.ศ. 2527 ได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง จนถึง พ.ศ. 2539 ได้ลาออกเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ใน พ.ศ. 2543 ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2549 ได้เป็นอาจารย์พิเศษ กลุ่มจิตรกรรมต้นแบบภาพปักพระราชวังสวนจิตรลดา และ พ.ศ. 2550 ได้เป็นอาจารย์สอนนักเรียน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตำบลเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ด้วยใจรักการเขียนรูปลายไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้นายสุดสาครเลือกเรียนในเส้นทางศิลปะ ซึ่งในระยะแรกมุ่งเน้นทางด้านจิตรกรรมจนมีความชำนาญดีแล้ว ก็ได้เกิดความสนใจในงานประติมากรรม และได้มีโอกาสสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานในแวดวงศิลปะ โบราณคดี และวรรณคดี ประกอบกับมีความสนใจใฝ่ศึกษาค้นคว้าผลงานศิลปกรรมชั้นครูอย่างมากมาย จนได้กลายเป็นรากฐานให้นายสุดสาครมีความรู้ความเข้าใจในงานไทยประเพณี ซึ่งมีจารีตแบบแผนที่ลึกซึ้ง เอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานของนายสุดสาคร คือความรู้ความชำนาญในงานศิลปกรรมแบบจารีตประเพณี ที่มีจังหวะ ลีลาอ่อนช้อย ตระการตา โดยนำมาพัฒนาปรับปรุงผสมผสานให้มีความเป็นธรรมชาติสมจริง ตามลักษณะกายวิภาคและธรรมชาติวิทยา ที่ยังคงถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของงานศิลปกรรมไทยได้อย่างประณีตงดงาม แสดงออกถึงทักษะและความเชี่ยวชาญในงานศิลปกรรมไทยอย่างดียิ่ง
ผลงานของนายสุดสาครมีมากมายหลายด้าน ทั้งงานจิตรกรรม งานประติมากรรม และงานออกแบบฉากและเครื่องประกอบการแสดงโขน-ละคร ซึ่งแสดงออกถึงความสามารถขั้นสูง อาทิ พ.ศ. 2533 ได้ออกแบบควบคุมและจัดสร้าง การแสดงละครประวัติศาสตร์ “สุริโยทัย” แสดงหน้าพระที่นั่งพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และทำการออกแบบและจัดสร้างเครื่องประกอบฉากภาพยนตร์ “แอนนาแอนด์เดอะคิงส์” พ.ศ. 2538 ได้ออกแบบและจัดสร้างซุ้มกาญจนาภิเษก 2 ซุ้ม ได้แก่ ซุ้มจักรแก้ว และซุ้มช้างแก้ว ติดตั้งบนถนนราชดำเนิน พ.ศ. 2542 ได้ออกแบบและจัดสร้างเครื่องประกอบการแสดงละคร “ชักนาคดึกดำบรรพ์” จัดการแสดง ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร โดยมีผลงานที่โดดเด่น คือ การออกแบบและจัดสร้างฉากโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เริ่มมีการแสดงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 และแสดงต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ได้รับความนิยมและความชื่นชมถึงฉากและองค์ประกอบฉากที่โอ่อ่าสง่างาม ผสมผสานเทคนิคเคลื่อนไหวสมจริง สร้างความตื่นเต้นตระการตา จากทักษะ ฝีมือ และแนวความคิดที่นำสมัยของนายสุดสาครได้ถ่ายทอดและสื่อถึงจินตภาพอันงดงามของวรรณคดีผสานเข้ากับความงามในเชิงนาฎศิลป์ได้อย่างลงตัว จากความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะพากเพียรในการศึกษาพัฒนาสร้างสรรค์งานศิลปกรรมไทยมาตลอด 30 ปี เป็นที่ประจักษ์ในผลงานที่หลากหลายซึ่งได้ถูกเผยแพร่และจัดแสดงในนิทรรศการ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และคงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในงานศิลปกรรมกรรมต่อไปยังคนรุ่นหลัง เพื่อที่จะสืบสานรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ และเพื่อเทิดทูนยกย่องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ด้วยคุณูปการจึงได้รับรางวัลและการยกย่องจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ พ.ศ. 2553 ได้รับพระราชทานเข็มกลัดจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง งานแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ และในปีเดียวกัน ได้รับยกย่องเป็นศิษย์เก่าดีเด่น จากสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้น ยังได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จิตรกรรมไทย) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประจำปีการศึกษา 2565
นายสุดสาคร ชายเสม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - เครื่องประกอบฉาก) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2566
นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2493 ณ โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันอายุ 74 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะศึกษาได้ทำงานเป็นนักข่าวเขียนสกู๊ปข่าว จนกระทั่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และประกอบอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ มีผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นายประสาทพร เริ่มเขียนหนังสือช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยใช้นามปากกา โกสุม พิสัย ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น คมทวน คันธนู เป็นหลัก มีประสบการณ์ทางด้านหนังสือพิมพ์และงานเขียน เชิงสร้างสรรค์เป็นเวลายาวนาน ผ่านการเป็นนักข่าว บรรณาธิการ และคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร หลายฉบับ อาทิ เมืองไทยรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์มาตุภูมิ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ปุถุชน นิตยสารกระดังงา นิตยสารวินเนอร์ นิตยสารเปรียว นิตยสารกุลสตรี เป็นต้น ผลงานการประพันธ์ของนายประสาทพร มีทั้งงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ประเภทกวีนิพนธ์ นวนิยาย และงานวิชาการที่มีความโดดเด่นและมีคุณค่าต่อวงวรรณกรรมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานประเภทกวีนิพนธ์นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ในด้านฉันทลักษณ์ร้อยกรองโบราณประเภท โคลง ฉันทน์ กาพย์ กลอน และเพลงพื้นบ้าน นำมาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาร่วมสมัย แทรกแนวคิดและมุมมองวิพากษ์สังคมอย่างแหลมคม เปี่ยมด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ในขณะที่งานเขียนประเภทวิชาการ ก็นำเสนอความรู้และสาระที่หลากหลายทั้งประวัติศาสตร์ ประวัติวรรณคดี พระเครื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลงานเขียนอื่น ๆ อีกหลายประเภท อาทิ บทละคร เนื้อร้อง ทำนองเพลง และนิทานสำหรับเด็ก
ตลอดเวลาอันยาวงานในเส้นทางสายวรรณกรรม นายประสาทพร ได้อุทิศตนและทุ่มเทเวลาในอาชีพการงานด้านสื่อมวลชน ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ และการศึกษาค้นคว้าทางวรรณคดีอย่างต่อเนื่อง ได้รับแรงบันดาลใจและความรู้จากครูกวีคนสำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ สุนทรภู่ อัศนี พลจันทร์ (นายผี) และจิตร ภูมิศักดิ์ ส่งผลให้ผลงานของเขาโดดเด่นด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ พลังความคิดและอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นรับใช้สังคมจนเป็นที่ประจักษ์ในวงวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย เห็นได้จากผลงานที่ได้รับการยกย่องหลายเรื่อง ดังเช่น กวีนิพนธ์เรื่อง “นาฏกรรมบนลานกว้าง” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2526 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์ดีเด่นในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา นวนิยายเรื่อง “นายขนมต้ม” ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2530 หนังสือ “ป่าระบัดสัตว์สลวย” และ “โลกสวยฟ้าใส” ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 88 เล่ม หนังสือดีวิทยาศาสตร์ จากโครงการวิจัยหนังสือดีวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2544 และได้รับเกียรติบัตรนักประพันธ์กิตติมศักดิ์จากพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต พระราชวังบางปะอิน และบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 นอกจากนี้แล้ว นายประสาทพร ยังมีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ด้านวรรณศิลป์แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ผลงานและเกียรติคุณดังกล่าวนี้ ได้สร้างคุณูปการต่อวงวรรณศิลป์ไทยอย่างแท้จริง
นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายวศิน อินทสระ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2566
นายวศิน อินทสระ เกิดเมื่อวันที่17 กันยายน พ.ศ. 2477 ณ หมู่บ้านท่าศาลา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ 90 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ปี จึงได้รับการปลูกฝังบ่มเพาะอุปนิสัยใฝ่ดีใฝ่รู้ รักสงบ ใต้ร่มธรรมต่อเนื่องมา และได้อุปสมบทที่วัดบุปผาราม เขตธนบุรี เริ่มศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง ส่งผลสำเร็จทางการศึกษาในระดับเปรียญธรรม 7 ประโยค สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย แล้วเดินทางไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู ประเทศอินเดีย และได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พุทธศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย นำไปสู่การเป็นนักคิด นักเขียน และนักวิชาการ รวมทั้งเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางธรรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา เป็นส่วนสะท้อนให้งานวรรณกรรมเปี่ยมไปด้วยคุณค่าแห่งหลักธรรมในพระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นายวศินได้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 รวมไม่น้อยกว่า 100 เรื่อง ทั้งด้านนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี อนุทิน และอัตชีวประวัติ สารัตถะหลักในงานเขียนทุกเล่มเพื่อการเผยแผ่พุทธธรรมให้เข้าถึงพุทธศาสนิกชนทุกระดับ เช่น แสงเทียน พระอานนท์พุทธอนุชา พุทธจริยา พ่อผมเป็นมหาผู้สละโลก สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค สาระสำคัญแห่งมงคล 38 ธรรมบท อธิบายมิลินทปัญหา พระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว เป็นต้น
ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ นายวศินได้น้อมนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานำเสนอในรูปของวรรณกรรมเพื่อให้เป็นประทีปส่องธรรมแก่สังคมและโลก โดยใช้แหล่งข้อมูลจากพระไตรปิฎก คัมภีร์ต่างๆ มาสังเคราะห์ให้ง่าย ขยายความ ยกตัวอย่าง เล่าด้วยกลวิธีที่เหมาะสม ใช้ภาษาและโวหารงดงามสละสลวย อ่านง่าย ทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ สะเทือนใจ หรือเกิดจินตนาการ สามารถนำไปเป็นคติชีวิตได้ในทุกระดับเพศวัย มุ่งให้เห็นความรู้ ความคิด อันเป็นคุณประโยชน์สำคัญ ตลอดชีวิตการทำงาน นายวศิน อินทสระ ได้อุทิศตนด้วยความเสียสละ อาทิ เป็นบรรณาธิการนิตยสารธรรมจักษุ นิตยสารศุภมิตร สอนพิเศษแก่ประชาชนทั่วไป และบรรยายทางวิทยุของสถานีวิทยุ FM 97.75 MHz เพื่อศาสนาและสังคม เผยแผ่ผลงานวรรณศิลป์เป็นธรรมทาน ในรูปแบบ CD, MP3 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านสื่อเสียงดิจิทัลซาวด์คลาวด์ (Sound-Cloud) ทางเว็ปไซต์ www.ruendham.com, www.kanlayanatam.com และในเฟซบุ๊ก วศิน อินทสระ
ใน พ.ศ. 2553 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2557 ได้รับรางวัลนราธิปที่มอบให้แก่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ กวี นักแปล และบรรณาธิการอาวุโส ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่วงวรรณกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2559 ได้รับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ในโอกาสครบ 1 ทศวรรษ การก่อตั้งสถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม FM 97.75 MHz จากคณะกรรมการจัดตั้งสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในกำกับของมหาเถรสมาคม และ พ.ศ. 2565 หนังสือเรื่อง พระอานนท์พุทธอนุชา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ว่าเป็นผลงานที่มีความเป็นเลิศด้านวรรณศิลป์ มีรายชื่อปรากฏในสารานุกรมวรรณคดีหรือวรรณกรรมของโลกในศตวรรษที่ 20 (Encyclopedia of World Literature in 20th Century) จากองค์การยูเนสโก นับว่าเป็นเพชรน้ำเอกในวงวรรณกรรม
นายวศิน อินทสระจึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายสมบัติ แก้วสุจริต
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร) พุทธศักราช 2566
นายสมบัติ แก้วสุจริต เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2489 ที่จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันอายุ 78 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชานาฏศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ระดับปริญญาโท สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาเอก สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมถึงผ่านการอบรมหลักสูตร เตรียมผู้บริหารการศึกษา หลักสูตรพัฒนาองค์กร จากสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง (นบส.) รุ่น 34 สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน และได้รับปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นาฏศิลป์ไทย) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประจำปีการศึกษา 2564
ด้วยมีความสนใจในวิชานาฏศิลป์ตั้งแต่วัยเยาว์ มารดาจึงพานายสมบัติไปสมัครเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป และได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปในชั้นต้นปีที่ 1 วิชาเอกโขน เป็นตัวลิง ระหว่างการศึกษาได้แสดงโขนเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ณ โรงละครแห่งชาติ ต่อมาครูผู้สอนเห็นว่านายสมบัติมีรูปร่างหน้าตาเหมาะสมที่จะแสดงเป็นตัวพระ จึงได้ไปเรียนกับครูอาคม สายาคม ครูจำนง พรพิสุทธิ์ และครูวงศ์ ล้อมแก้ว นอกจากจะเรียนโขน ละคร แล้ว นายสมบัติได้เลือกเรียนวิชาโทสาขาดุริยางค์ (ฆ้องวงใหญ่) กับครูประสิทธิ์ ถาวร ครูบางหลวงสุนทร ครูพริ้ง กาญจนผลิน และด้วยความเป็นผู้ใฝ่ในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จึงได้ศึกษาความรู้อีกหลายด้าน อาทิ การเรียนขับร้องเพลงไทย การเรียนพากย์และเจรจา การเรียนหน้าทับ (กลอง) การเรียนกระบี่กระบอง การเรียนโนรา การเรียนเป่าแคน การเรียนการอ่านทำนองเสนาะ เป็นต้น
นายสมบัติ เริ่มชีวิตการทำงานเข้ารับราชการในตำแหน่งครูตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป หลังจากนั้นได้เลื่อนไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ สุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องด้วยนายสมบัติเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งด้านศิลปะและวิชาการ จึงมีผลงานอันมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมจำนวนมาก อาทิ เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ให้ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ในองค์กรภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้สอน ผู้แสดง ผู้พากย์ - เจรจา ขับร้อง โขน ละคร ระบำ โนรา ลิเก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นผู้กำหนดรูปแบบรายการการแสดงครั้งสำคัญต่าง ๆ เป็นหัวหน้าคณะการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในประเทศและต่างประเทศ โดยผลงานที่นายสมบัติได้สร้างสรรค์ไว้ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บริหารวิทยาลัยนาฏศิลปหลายแห่ง ซึ่งสถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำไปใช้ในการเผยแพร่ศิลปะการแสดง เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสืบทอดเอกลักษณ์ของ แต่ละท้องถิ่น ได้แก่ ชุดการแสดง “ศิลปาทักษิณนาคร” นอกจากนี้ นายสมบัติยังทำหน้าที่เป็นผู้อ่านโองการประกอบพิธี ไหว้ครู โขน ละคร ให้แก่สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาติ ให้คงอยู่สืบไป และได้มอบการอ่านโองการและเป็นประธานในพิธีไหว้ครูโขน ละคร แก่ลูกศิษย์เนื่องในโอกาส 99 ปี กรมศิลปากร โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธี สำหรับรางวัลและเกียรติคุณอันเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตคือ การได้รับพระราชทานครอบจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่งตั้งเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน - ละคร และได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาดนตรี นาฏศิลป์ ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ จากมหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
แม้ปัจจุบันนายสมบัติจะอยู่ในวัยเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว แต่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานและถ่ายทอดความรู้ อุทิศตน เพื่อวงการนาฏศิลป์อยู่ตลอดมา ด้วยจิตวิญญาณของศิลปินและครู และยังคงเป็นที่ปรึกษาให้แก่ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในงานของกรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกมากมาย นับเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่ายิ่งต่องานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
นายสมบัติ แก้วสุจริต จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายไชยยะ ทางมีศรี
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2566
นายไชยยะ ทางมีศรี เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันอายุ 73 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวัดปรกธรรมมาราม (สามัคคี พิทยาคาร) จังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ (ดุริยางคศิลป์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2562
เมื่ออายุ 6 ขวบ นายไชยยะ ได้เริ่มเรียนฆ้องวงใหญ่กับบิดาคือนายแย่ง ทางมีศรี ซึ่งมีอาชีพทำสวนมะพร้าวและรับบรรเลงปี่พาทย์ในงานต่าง ๆ ต่อมาบิดาได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์ครูรวม พรหมบุรี สำนักปี่พาทย์จังหวัดราชบุรี ซึ่งครูรวมก็ได้ถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมาจากครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) และครูสุ่ม ดนตรีเจริญ ให้แก่นายไชยยะอย่างจริงจัง อีกทั้งยังได้เชิญครูพิม นักระนาดและ ครูบุญยงค์ เกตุคง มาร่วมสอนดนตรีไทยที่จังหวัดราชบุรี ทำให้นายไชยยะได้มีโอกาสติดตามเข้ามาเป็นศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง ในกรุงเทพมหานคร เป็นคนระนาดเอกที่ร่วมเผยแพร่ผลงานเพลงครูบุญยงค์มากมาย ต่อมาได้เรียนเพลง หน้าพาทย์เพิ่มเติมจากครูสมาน ทองสุโชติ ครูเอื้อน กรณ์เกษม ครูบุญยัง เกตุคง กระทั่ง พ.ศ. 2519 ได้เข้าทำงานที่วงดนตรีไทยเทศบาลกรุงเทพมหานคร จากนั้นใน พ.ศ. 2520 ได้สอบเข้ารับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ทำให้มีโอกาสได้รับการชี้แนะจากครูมนตรี ตราโมท ในด้านการประพันธ์เพลง เรียนเพลงโขน - ละคร และเพลงประกอบพิธีกรรมกับครูจิรัส อาจณรงค์ ได้รับมอบให้เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีจากครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ นายไชยยะใส่ใจเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานตลอดเวลา จนมีความแตกฉานในบทเพลงประเภทต่าง ๆ อาทิ เพลงเสภา เพลงเรื่อง เพลงเถา เพลงตับ เพลงเดี่ยว เพลงหน้าพาทย์ เพลงโขนละคร และเพลงหุ่น ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากกรมศิลปากรให้ปฏิบัติงานสำคัญอยู่เสมอ ทั้งการบรรเลงประกอบงานพระราชพิธี พิธีไหว้ครู เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีไทยเผยแพร่ในต่างประเทศทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาและร่วมงานบันทึกเสียงสำคัญมากมาย
นายไชยยะได้รับการยอมรับจากวงการดนตรีไทยว่า เป็นผู้ที่มีฝีมือปี่พาทย์เป็นเลิศ เป็นแบบอย่างของนักดนตรีไทยที่มีความรู้แม่นยำทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ได้ประพันธ์เพลงไทยใหม่ ๆ เอาไว้มากมาย มีทั้งเพลงเพื่อการฟังและเพลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ สำแดงความเป็นปราชญ์ดนตรีผ่านสำนวนเพลงที่คมคายและอารมณ์เพลงที่ลึกซึ้ง ผลงานเด่น เช่น เพลงชุดกลิ่นเนื้อนาง เพลงมอญต้นตลุง เพลงมุเดินรำพึง เพลงม้าสีหมอก โหมโรงศรีพวาทอง เพลงนบพระพรลา ระบำพม่าสราญ ระบำเสียมกุก ระบำอาเซียน ระบำน้ำตาลมะพร้าว ฉุยฉายพระลอ ฉุยฉายขุนแผน หน้าพาทย์เสมอเมรี เดี่ยวระนาดเอกสุรินทราหู เป็นต้น งานเพลงสร้างสรรค์ของนายไชยยะถูกนำไปเผยแพร่ในสังคมดนตรีไทยอย่างกว้างขวาง เช่น เพลงกระต่ายเต้น ซึ่งวงการลิเกนิยมนำไปขับร้องกันทุกคณะ ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์ไทยถ่ายทอดวิชาให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และยังคงอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของวงการดนตรีไทยอยู่เสมอ ทั้งการเป็นกรรมการตัดสินการประกวดดนตรีไทยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลงานวิจัยทางดนตรีไทยแก่นิสิตนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง
นายไชยยะ ทางมีศรี จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน - เพลงฉ่อย) พุทธศักราช 2566
นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือ โย่ง เชิญยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาปรัชญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานาฏกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ พ.ศ. 2565 ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
แม้นายพิเชษฐ์จะเกิดในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่มีฐานะยากจน แต่บิดามารดาได้อบรมเลี้ยงดูนายพิเชษฐ์ซึ่งเป็นบุตรคนเดียวเป็นอย่างดี ครอบครัวจึงมีความรักความอบอุ่น โดยบิดาเสียชีวิตตั้งแต่นายพิเชษฐ์ อายุ 7 ขวบ มารดาซึ่งมีความขยันหมั่นเพียรและอดออม จึงหล่อหลอมให้นายพิเชษฐ์เป็นทั้งนักสู้ชีวิตและนักสร้างงานศิลป์ ด้วยบิดาเป็นคนรักสนุกชอบร้องรำทำเพลง จึงพาไปชมการละเล่นและการแสดงต่าง ๆ อยู่เสมอ ประสบการณ์เหล่านั้น สร้างแรงบันดาลใจทำให้รู้จักและรักศิลปะการแสดงมาแต่เยาว์วัย ยิ่งใฝ่ใจยิ่งหาโอกาสเข้าใกล้ ก็ยิ่งบ่มเพาะทั้งดนตรีไทยและนาฏศิลป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับแรงจูงใจและปลูกฝัง “เพลงฉ่อย” จากนางนกหวีด เอี่ยมชาวนา ซึ่งเป็นทั้งป้าและแม่เพลง ที่มานะสั่งสอนฝึกหัด โดยเมื่อ พ.ศ. 2513 ได้พาไปเสาะหาวิชาจากครูเพลง จนสามารถร้องเล่นและรับแสดงเพลงฉ่อยได้ แต่ด้วยการเสื่อมความนิยมของสังคมในขณะนั้น ใน พ.ศ. 2516 นายพิเชษฐ์จึงหันไปฝึกหัดลิเกกับนายหอมหวล เทียมศรี หรือหอมหวลเล็ก แสดงในบทบาท “ตัวโจ๊ก” หรือ “ตัวตลก” กับคณะลิเกหลายคณะจนเริ่มมีชื่อเสียง ใช้ฉายาว่า “ก้านยาว” ต่อมา พ.ศ. 2529 ได้เข้ามาแสดงตลกกับคณะตลกหลายคณะ อาทิ โน้ต เชิญยิ้ม และ ยาว อยุธยา ในกรุงเทพมหานคร กระทั่งมีความชำนาญและมีชื่อเสียงแล้ว พ.ศ. 2538 จึงได้ตั้งคณะตลกของตนเองชื่อ คณะโย่ง พิษณุโลก รับงานแสดงทั่วไปและออกรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ ก่อนบ่ายคลายเครียด รวมทั้งการแสดงทอล์คโชว์ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นตลกคนแรกของเมืองไทยที่แสดงทอล์คโชว์เดี่ยว
นายพิเชษฐ์เป็นศิลปินที่ครองใจผู้คนทุกระดับชั้น เนื่องจากมีอัธยาศัยดี สุภาพอ่อนน้อม ใฝ่หาความรู้มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มีปฏิภาณไหวพริบ มีศิลปะการแสดงออกที่น่าประทับใจ สามารถสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานที่สร้างคุณุปการอย่างยิ่งต่อวงการศิลปวัฒนธรรมคือการนำเพลงพื้นบ้านมาแสดงเป็นจำอวดหน้าม่านหรือจำอวดหน้าจอ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ เนื้อหาร่วมสมัย ใช้ภาษาสร้างสรรค์ จนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่ปลุกฟื้นกระแสนิยมเพลงพื้นบ้านให้กลับมาอีกครั้งและทวีสูงขึ้นอย่างกว้างขวาง สร้างทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางวัฒนธรรมแก่สังคม ปัจจุบันนายพิเชษฐ์เป็นนักแสดงตลก หรือจำอวด ทำขวัญนาค แสดงลิเก เพลงพื้นบ้าน ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ตลอดจนจัดกิจกรรมถ่ายทอดการแสดงให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว นายพิเชษฐ์จึงได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน เช่น รางวัลเกียรติยศ ศิลปะการพูดดีเด่นสร้างสรรค์สังคม เมื่อ พ.ศ. 2549 รางวัลเทพทอง ครั้งที่ 3 บุคคลดีเด่น “วิทยุโทรทัศน์” เมื่อ พ.ศ. 2553 รางวัลระฆังทอง บุคคลแห่งปี ครั้งที่ 5 ปี สาขาสร้างสรรค์สนับสนุนมวลชนและสังคมดีเด่น ประเภทศิลปิน ดารานักแสดง นักร้อง และรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งปี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อ พ.ศ. 2555 และรางวัลเพชรกนก โดยสมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียง เมื่อ พ.ศ. 2561
นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน - เพลงฉ่อย) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล - ลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2566
จ่าโทหญิงปรียนันท์ สุนทรจามร หรือ วงจันทร์ ไพโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 88 ปี สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวัดสุทัศน์ เมื่อ พ.ศ. 2482 และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อ พ.ศ 2556
พ.ศ. 2490 จ่าโทหญิงปรียนันท์ เริ่มเข้าสู่อาชีพนักร้องด้วยการประกวดร้องเพลง และได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญเสมาทองคำ ต่อมาได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง แปดนาฬิกา ในฐานะนักร้องเยาวชนรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย และได้ไปร้องเพลงอยู่ในสังกัดครูมงคล อมาตยกุล จนกระทั่งอายุ 18 ปี ผันตัวเองไปเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารบก จากนั้นเมื่ออายุ 28 ปี ได้ลาออกจากราชการเพื่อเป็นนักร้องอาชีพ ทำการแสดงในสถานบันเทิงและงานรื่นเริงต่าง ๆ เป็นเวลา 11 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2504 โดยได้ร้องเพลงบันทึกลงแผ่นเสียงครั้งแรก จำนวน 2 เพลง คือ เพลงราตรีเจ้าเอ๋ย และเพลงวิมานรักทลาย และมีโอกาสพากย์เสียงในภาพยนตร์ไทย เช่น เรื่องมงกุฎไพร และเรื่องยอดนักเบ่ง เป็นต้น นอกจากนั้น ใน พ.ศ. 2510 ได้ทำหน้าที่หัวหน้าวงดนตรีไพโรจน์เนรมิต และวง 7 Jazz รับงานแสดงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมถึงเคยจัดรายการโทรทัศน์ ชื่อ “เพลงรักจากใจ” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2527 อีกด้วย
จ่าโทหญิงปรียนันท์ มีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยน้ำเสียงมีความหวานกินใจ ทว่ามีความเศร้าสะเทือนอารมณ์ในคราวเดียวกัน และมีเสียงเอื้อนลูกคอชั้นเดียว เมื่อถ่ายทอดผลงานออกมา โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาเศร้า มักทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกคล้อยตามและเข้าถึงเนื้อหาของเพลงนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง จึงได้รับฉายา “นักร้องเสียงระทม” จ่าโทหญิงปรียนันท์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงจำนวน 1,117 เพลง โดยบทเพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ กุหลาบเวียงพิงค์ แม่พิมพ์ของชาติ อุทยานดอกไม้ บุษบาเสี่ยงเทียน แว่วเสียงซึง ช่างร้ายเหลือ สาวสันป่าตอง สาวบ้านแพน ชาตินี้ชาติเดียว ถึงร้ายก็รัก สาวสะอื้น เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ และ ไทรโยคแห่งความหลัง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้ประพันธ์เพลงกว่า 100 บทเพลง อาทิ กัณฑิมาระทม ศึกรักศึกรบ กุหลาบเวียงพิงค์ เสียงซึงสั่งลา แม่ปิงรำลึก ผกา-มาลี และยังมีผลงานเพลงในชุดผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งแต่งขึ้นใหม่ ได้แก่ จะเหลืออะไรให้จันทรา เป็นต้น
ด้วยความสามารถซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และประสบการณ์ในวงการเพลงไทยสากลอันยาวนานกว่า 70 ปี ทำให้จ่าโทหญิงปรียนันท์ได้รับรางวัลสำคัญ อาทิ พ.ศ. 2548 ได้รับโล่เกียรติคุณจากเพลงแม่พิมพ์ของชาติ จากกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2555 รางวัล “เพชรสยาม” สาขา ดนตรี และนาฏศิลป์ ด้านอนุรักษ์เพลงไทยลูกกรุง (อมตะ) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และ พ.ศ. 2561 ได้รับรางวัล “รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ขับร้องเพลงอมตะ” จากกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปัจจุบัน ยังคงทำงานร้องเพลงและสร้างสรรค์ผลงานด้านการแสดงต่าง ๆ รวมถึงอุทิศตนเพื่องานสาธารณกุศลและช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอเมื่อเวลาและโอกาสอำนวย
จ่าโทหญิงปรียนันท์ สุนทรจามร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล - ลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) พุทธศักราช 2566
นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 65 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อพ.ศ. 2524 ระดับปริญญาโท จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกวิชา Ethnomusicology มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อ พ.ศ. 2542 และระดับปริญญาเอก จากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2566 โดยเมื่อครั้งยังเด็ก ได้ศึกษาด้านนาฏศิลป์สากลที่โรงเรียนนาฏศิลป์สากลวราพร – กาญจนา กระทั่งสอบได้ ประกาศนียบัตรจาก The Royal Academy of Dance กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2523
นายสุธีศักดิ์เริ่มต้นทำงานด้านการแสดงราวปี พ.ศ. 2520 ด้วยการแสดงนาฏศิลป์สากล โดยเฉพาะการแสดงบัลเล่ต์ ทั้งบัลเล่ต์สากลและบัลเล่ต์ประยุกต์จากวรรณคดีไทยเรื่องดัง จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 30 เรื่อง อาทิ บัลเลต์ “ปางปฐม” “ปลาบู่ทอง” “สโนไวท์” “เจ้าหญิงแคนดี้และมารีทีม” “Carmina Burana” “จันทกินรี” “ศรีปราชญ์” “ทอง” “A Midsummer Night’s Dream” “Beauty and the Beast” ระบำบัลเลต์ เพลงพระราชนิพนธ์ “มโนราห์” เป็นต้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ได้ทำงานสร้างสรรค์และกำกับลีลาการแสดงหลายประเภท อาทิ กำกับลีลาสำหรับละครเวทีกว่า 20 เรื่อง โดยละครเวทีที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมแพร่หลาย ได้แก่ บัลลังก์เมฆ ฟ้าจรดทราย แม่นาคพระโขนง กินรีสีรุ้ง หงส์เหนือมังกร สี่แผ่นดิน และลอดลายมังกร กำกับลีลามหาอุปรากร “มัทนา” ซึ่งประพันธ์และจัดแสดงโดยนายสมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ กำกับลีลาสำหรับภาพยนตร์ “พระร่วง 2023” และที่สำคัญ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สร้างสรรค์และกำกับลีลาในงานและพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ การแสดงแสงและเสียงเพื่อต้อนรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และพระสวามี ณ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2539 ละครเชิงประวัติศาสตร์ “เฉลิมขวัญนพบุรี 700 ปี นครเชียงใหม่” เนื่องในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2540 งานแสดงแสงเสียงศรีสัชนาลัย ณ จังหวัดสุโขทัย และการจัดแสดงแสงเสียงและสื่อผสมสัญจร “ธ สถิตในดวงใจไทยทั่วหล้า” เมื่อ พ.ศ. 2543 บัลเลต์พระราชนิพนธ์ “มโนห์รา” ในการแสดงมหรสพสมโภชพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2560 การแสดงศิลปะร่วมสมัย “ละครเพลงในสวนฝัน” ในการแสดงมหรสพสมโภช เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อพ.ศ. 2562 การแสดงจินตลีลา “พัตราภรณ์” ในงานภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และการแสดงทางวัฒนธรรมไทยและระบำร่วมสมัย ในงานเลี้ยงรับรองผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อ พ.ศ. 2565
นายสุธีศักดิ์ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีความสามารถโดดเด่น และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์ พัฒนา และต่อยอดนาฏศิลป์สากล และนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ รางวัลชนะเลิศการขับร้องประสานเสียง พ.ศ. 2540 โดยสมาคมนักดนตรีแห่งประเทศไทย รางวัลชนะเลิศเหรียญทองของตัวแทนจากประเทศไทยในงาน World Choir Games ในการแข่งขันประเภท Scenic Folklore ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2549 ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบท่าเต้นประกอบการขับร้องประสานเสียง รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ครั้งที่ 7 จากบทเพลง "วิถีบูรพา" โดยคณะนักร้องประสานเสียงเซนต์จอห์น เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวง
นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) พุทธศักราช 2566
คำประกาศเกียรติคุณ
รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) พุทธศักราช 2566
รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 81 ปี เมื่อ พ.ศ. 2503 เริ่มศึกษาวิชาศิลปะ ณ โรงเรียนเพาะช่าง พ.ศ. 2505 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2514 ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการถ่ายภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และ พ.ศ. 2521 สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านการทำงาน รองศาสตราจารย์บรรจง เริ่มทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำแผนกอิสระวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ทำหน้าที่สอนวิชาภาพยนตร์ ซึ่งเปิดสอนขึ้นเป็นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน เมื่อ พ.ศ. 2515 - 2550 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ในปี พ.ศ. 2510 รองศาสตราจารย์บรรจงได้รับทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปทัศนศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี ทำให้มีโอกาสได้รู้จักและชื่นชมงานศิลปะที่สร้างด้วยสื่อภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และเกิดความประทับใจเป็น อย่างยิ่ง จึงตัดสินใจลงเรียนหลักสูตรภาพยนตร์ระยะสั้นที่ Millennium Film Workshop และได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยฟิล์มภาพยนตร์เป็นครั้งแรกเรื่อง Eye ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาพยนตร์ทดลองเรื่องแรกของคนไทย ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ที่ นครนิวยอร์ก ได้สร้างภาพยนตร์เป็นงานศิลปนิพนธ์เรื่อง TheCrossing หรือ ข้ามฟาก ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับหลายรางวัลจากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของรองศาสตราจารย์บรรจงในฐานะศิลปินสาขาภาพยนตร์ เมื่อกลับมายังประเทศไทย ได้สร้างภาพยนตร์ทดลองควบคู่ไปกับการทำภาพยนตร์สารคดี และยังนำผลงานของศิลปินต่างชาติมาจัดแสดงให้ผู้ชมชาวไทยได้รับชม พร้อมทั้งให้ความรู้ไปด้วย นับเป็นการบุกเบิกและเผยแพร่ภาพยนตร์ทดลองอย่างเป็นทางการขึ้นในประเทศเมื่อ พ.ศ. 2513
แม้ต้องทำหน้าที่ทางวิชาการในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น แต่รองศาสตราจารย์บรรจงยังคงอุทิศเวลาให้กับการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ ด้วยความรักและความผูกพันที่มีต่อศิลปะด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ ได้ผลิตผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับหลายเรื่อง ได้แก่ นวลฉวี สายน้ำไม่ไหลกลับ คำสิงห์ ซีอุย แซ่อึ้ง เร็วกว่าใจไกลเกินฝัน คู่กรรม 2 และอัศจรรย์แห่งชีวิตหมอแสง เป็นต้น จากความวิริยะอุตสาหะและการทุ่มเทพลังกาย พลังใจ พลังความคิดให้กับวงการนี้มายาวนาน จึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 8 จากภาพยนตร์เรื่อง “นวลฉวี” รวม 3 รางวัล ใน พ.ศ. 2528 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 15 ในฐานะนักตัดต่อภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “วิถีคนกล้า” ใน พ.ศ. 2534 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 16 รวม 4 รางวัล จากภาพยนตร์เรื่อง “เร็วกว่าใจ ไกลเกินฝัน” ใน พ.ศ. 2535 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จากการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 6 รวม 3 รางวัล และรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 20 รวม 2 รางวัล จากภาพยนตร์เรื่อง “คู่กรรม 2” ใน พ.ศ. 2539 รางวัลอนุสรมงคลการ จากมูลนิธิหนังไทย พ.ศ. 2543 และรางวัล Lifetime Achievement จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2557
นอกจากความสามารถจนได้รับฉายาว่าเป็น ครูใหญ่ หรือบิดาแห่งวิชาภาพยนตร์สมัยใหม่ของประเทศไทยแล้ว รองศาสตราจารย์บรรจง ยังเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างสูง เพราะเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันการยกร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2536 เป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ รวมถึงผลักดันการปฏิรูปการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อให้อิสระเสรีในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แก่คนในวงการ
รองศาสตราจารย์บรรจง โกศัลวัฒน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์) พุทธศักราช 2566