อพท. ส่ง 'เมืองเก่าน่าน' ชิง 'เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก'

อพท. ส่ง “เมืองเก่าน่าน” เข้าชิง “เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ปี 2568" ภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์” พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

          “เมืองเก่าน่าน” เป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่ของประเทศไทย ที่มีความพร้อมในการเสนอตัวเข้าคัดเลือกเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยเรามีแล้ว 4 จังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก” คือ ภูเก็ต ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก สาขาวิทยาการอาหาร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ,เชียงใหม่ ได้เป็นสาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560, สุโขทัย ได้เป็น สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2562 และกรุงเทพมหานคร ได้เป็นสาขาด้านการออกแบบ (City of Design) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

 

ปั้นเมืองเก่าน่านชิงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

          ในปีหน้า 2568 อันใกล้นี้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ภายใต้การนำของ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ประกาศความพร้อมที่จะผลักดันจังหวัดน่านเข้าชิงเป็น สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative Cities Network: UCCN) ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เพื่อเป็นการย้ำความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับประเทศและในระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมให้จังหวัดน่านเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

   

 

          ผู้อำนวยการ อพท. บอกว่าการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน อพท. ได้ดำเนินการตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เพื่อพัฒนาและยกระดับให้พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา อพท.ได้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนให้ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) ได้รับเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ในประเด็นการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคมของเมืองเก่าน่านจาก Green Destinations ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์

          “การขับเคลื่อนผลักดันจังหวัดน่านเข้าชิงเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดย อพท.น่าน ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองน่านและหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัด ดำเนินโครงการตามกรอบและแนวทางหลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน และได้รับการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นเพิ่มคุณค่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน พร้อมจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการและความปลอดภัยในระดับมาตรฐาน เพื่อดึงดูดและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว” นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี กล่าวอย่างมั่นใจ

 

   

 

ยก “กลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน” ภูมิปัญญางานหัตถกรรมและศิลปะสร้างสรรค์

          สำหรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) นั้น เรื่องนี้ ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. ที่กำกับดูแลพื้นที่เมืองเก่าน่าน กล่าวเสริมว่า จังหวัดน่านมุ่งมั่นเดินหน้านำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาของยูเนสโก มาใช้ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองน่าน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมือง ผู้ที่จะส่งต่อองค์ความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และ อพท. ได้สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานและนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและหัตถกรรมพื้นบ้าน และได้ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์เมือง คือ “เมืองแห่งความสุข และสร้างสรรค์” ส่งผลให้เยาวชนในพื้นที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ และต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) รองรับการกลับมาทำงานที่บ้านเกิดของเยาวชนในอนาคต สร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพในพื้นที่น่านและเกิดการผลักดันโมเดลสู่การกระจายไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆในจังหวัดน่าน ภายใต้ความร่วมมือของ อพท.น่าน หน่วยงานรัฐ เอกชนและชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในปัจจุบันมีแกนนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่านกว่า 36 คน มีผลประกอบการของเยาวชนในปี 2566 ที่สามารถสร้างรายได้จากการออกบูธกิจกรรมสร้างสรรค์และจำหน่ายสินค้ากว่า 1.7 ล้านบาท ส่งผลให้ อพท และกลุ่มเยาวชนได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลองค์กรส่งเสริม คนดี คนเก่งคนกล้า และรางวัล PATA Gold Awards ประจำปี 2563 สาขาการส่งเสริมพลังเยาวชนต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association : PATA)

 

   

 

          ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ บอกด้วยว่า นอกจากนี้ อพท.น่าน ยังได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพ “กลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน” เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านปราชญ์ ศิลปิน และครูภูมิปัญญา เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่านเชิงสร้างสรรค์ โดยร่วมกับ บริษัท ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ จำกัด และ กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม เรื่องภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินของจังหวัดน่านส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์อิ่วเมี่ยน ผลักดันโครงการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถต่อยอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงินสู่รุ่นต่อไป ส่งผลให้ได้ อพท. รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประเภทราชการส่วนกลาง ระดับดี ประจำปี 2566 (Human Rights Awards 2023)

 

“ดอยซิลเวอร์” ความภาคภูมิใจอัตลักษณ์เครื่องเงินชนเผ่าบรรพบุรุษ

          ขณะที่ คุณพิมพร รุ่งรชตะวาณิช คณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นต่อการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด บอกเล่าการเดินทางอันยาวนานหลายทศวรรษของ บริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด จากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 ที่ดำเนินการธุรกิจเครื่องเงินดอยซิลเวอร์ ได้สร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนและเยาวชนใน จ.น่าน โดยมีลายกระดูกงูถือเป็นลายเครื่องเงินที่ทำยากและสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของ “เผ่าอิวเมี่ยน” และได้มีโอกาสไปทำเครื่องเงินร่วมกับช่างที่ศูนย์ศิลปาชีพจิตรลดา และเคยร่วมถวายงานที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ และพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร

 

   

 

          “เป็นความภาคภูมิใจของตระกูล “รุ่งรชตะวาณิช” เมื่อเครื่องเงินของชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อิวเมี่ยนหรือเย้า ที่มีถิ่นกำเนิดบนดอยสูง กลายเป็นสินค้าส่งออกของไทยไปตีตลาดสหรัฐฯและยุโรป นับเป็นความสำเร็จการนำเอาอัตลักษณ์ความสวยงามของลวดลายเครื่องเงินชนเผ่าของบรรพบุรุษมาพัฒนาเป็นสินค้าเครื่องเงินที่ทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก” คุณพิมพร รุ่งรชตะวาณิช กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

 

ความสำเร็จของ อพท.น่านภายใต้การร่วมมือทุกภาคส่วน

          ด้าน นางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ได้กล่าวถึงผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านว่า อพท.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรางวัลด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มีการจัดการด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ภายใต้แนวคิด “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” ซึ่งในการพัฒนาทุกด้านที่กล่าวมาล้วนเป็นรากฐานสำคัญให้เมืองน่านมีความพร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568 ต่อไป

 

   

 

“โคมมะเต้า” หรือ “หม่าเต้า” ภูมิปัญญาท้องถิ่น

           “โคมแขวน” อีกหนึ่งภูมิปัญหาท้องถิ่นทรงคุณค่า ซึ่ง คุณถิรนันท์ โดยดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชมรมบ้านโคมคำ ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเวียง จ.น่าน และเป็นคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นต่อการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เล่าว่า “โคมมะเต้า” หรือ “หม่าเต้า” เป็นภาษาถิ่นที่หมายถึงแตงโม ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จัดอยู่ในประเภทโคมแขวน ซึ่งในอดีตใช้ตกแต่งคุ้มเจ้านาย ยามมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน หรือตกแต่งสถานที่ เช่น วัดวาอาราม เมื่อถึงวันสำคัญทางประเพณี นอกจากนี้ยังเป็นของประดิษฐ์ที่ชาวบ้านนิยมทำมาถวายพระ เพราะเชื่อกันว่าช่วยส่งเสริมให้ชีวิตพบความสุข ความเจริญ เช่นเดียวกับแสงไฟ ซึ่งด้านในใช้ไม้ไผ่ทำโครง มีทั้งแบบมุมเหลี่ยมเหมือนเพชร และทรงกลมเหมือนแตงโม จากนั้นนำกระดาษสาติดด้านนอก เสร็จแล้วก็เพิ่มลวดลายด้วยกระดาษสีทอง เช่น ลายประจำยาม ลายนักษัตร และลายกระต่าย ตามด้วยการติดหางโคมและผูกเชือกแขวนไม้

 

   

 

“ชุมชนบ่อสวก” แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทรงคุณค่า

           แหล่งท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมในชุมชน เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของการสนับสนุนให้ “เมืองเก่าน่าน” มีความโดดเด่นเข้าชิงเมืองสร้างสรรค์โลก โดย คุณศิริมาต เรือนอุ่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชมรมแพทย์แผนไทย ต.บ่อสวก จ.น่าน เล่าว่า “ชุมชนบ่อสวก” เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม ต้นแบบวิถีชีวิตเรียบง่าย ชวนให้สัมผัสเสน่ห์ธรรมชาติ แหล่งเตาเผาโบราณ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการดำรงชีพพื้นบ้าน ได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวของโลกปี 2021 จากองค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาติ หรือ UNWTO พร้อมรับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (โฮงฮักสุขภาพ) ซึ่งเป็นฐานกิจกรรมที่ให้บริการขัดเท้าแช่เท้า ฮุมยา ด้วยสมุนไพรสดในท้องถิ่น สัมผัสบรรยากาศทุ่งนา จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในแบรนด์บ่อสวกเฮริ์บ อาทิ น้ำมันเขียว ยาหม่องสุมนไพร สบู่ ครีมอาบน้ำ และชาหญ้าเอ็นยืด ยาหม่องหอมแดง เกลือแช่เท้าสมุนไพร

 

   

 

           “ชุมชนบ่อสวกมีความพร้อมด้านการปลูกพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้หอม ไพร ฟ้าทะลายโจร หญ้าเอ็นยืด เป็นต้น ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรพื้นบ้าน โดยเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งการสร้างมูลค่าสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจชุมชน การแปรรูปสมุนไพร เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชมรมแพทย์แผนไทย ตำบลบ่อสวก กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

 

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกคืออะไร ?

           “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative Cities Network เป็นอีกหนึ่งโครงการของยูเนสโก ที่ดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2547 เปิดรับคัดเลือกทุกๆ 2 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชนและสาธารณะซึ่งทาง UNESCO จำกัดความ Creative City คือ การร่วมมือระหว่าง ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) 7 ประเภทเมืองสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 1.เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) 2.เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film) 3.เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 4.เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts) 5.เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) 6.เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art) และ 7.เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy)

 

   

 

          ความหมาย “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้นๆ มีรากฐานจากความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ คนและวัฒนธรรมท้องถิ่น มีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองมีพื้นที่ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการรวมตัวทางสังคม ตลอดจนความเป็นท้องถิ่นนี้เองที่แสดงออกหรือสื่อออกมาทางศิลปะในรูปแบบต่างๆ และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเข้าร่วมสามารถทำให้เกิดการสนับสนุนเสริมสร้างการเรียนรู้กันกัน เหนือสิ่งอื่นใดการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ยังก่อประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆของสังคม เช่น ช่วยสนับสนุนการสร้างงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมบนพื้นฐานของหลากหลายทางสังคม การเจรจาระหว่างวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน , สร้างโอกาสที่ดีสำหรับเมืองผ่านกระบวนการเรียนรู้ และโครงการร่วมมือระหว่างเมืองต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และการมีพื้นที่สาธารณะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่จะสามารถตอบโจทย์ให้แก่คนในท้องถิ่น

 

   

 

          ประโยชน์ของการเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” ขององค์การยูเนสโกนั้น นอกจากจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities นั่นคือทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน อีกทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม “เมืองสร้างสรรค์” ไม่ใช่เรื่องของการปรับปรุงหรือพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเมืองที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และต้องอาศัยแผนการลงทุนของภาครัฐในหลายด้าน ตั้งแต่การลงทุนในสาธารณูปโภคในโครงสร้างพื้นฐานและการเรียนรู้ การปรับปรุงกฎระเบียบ และการสนับสนุนด้านการเงินให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัยของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมระดับเมืองและระดับชาติที่หลากหลายเพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมืองอย่างสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

 

   

 

          เมื่อวันที่ 15 -17 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงได้นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางสู่ จ.น่าน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยลงพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างสรรค์ (โฮงฮักสุขภาพ) ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร (บ่อสวกเฮิร์บ), กิจกรรมการเรียนรู้ภูมิปัญญาเชิงสร้างสรรค์การทำโคมมะเต้า ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคมดำ, ดูพื้นที่สร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นที่บ้าน ณ อำเภอปัว, ศูนย์บ่มเพาะและศูนย์การเรียนรู้เครื่องเงิน ณ ดอยซิลเวอร์ กาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง , เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมล้านนาและแหล่งเรียนรู้ผ้าทอไทลื้อ ณ วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา, ลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ณ โฮงเจ้าฟองคำ อ.เมืองน่าน, เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ณ ถนนคนเดิน ข่วงเมืองน่าน, ชมจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบรักบันลือโลก” ณ วัดภูมินทร์, เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ บ้านถั่วลิสง ฯลฯ 

 

   

 

          “เมืองเก่าน่าน” จึงมีความพร้อมสมบูรณ์ทุกด้าน พร้อมเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative Cities Network: UCCN) ในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตามวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งความสุขและสร้างสรรค์” เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนอย่างแท้จริง