“ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์” ภาพใบหน้านักเขียน-แรงบันดาลใจ “กวีซีไรต์”

ชวนไปชม “ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์” นิทรรศการภาพลายเส้นบุคคล (Portraits) ใบหน้านักเขียนผู้เป็นแรงบันดาลใจของ “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ – กวีซีไรต์” ที่ Old Town Gallery สี่แยกแม้นศรี วันนี้ - 31 พ.ค. 67

          “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์-กวีซีไรต์” จรดปากกาวาดใบหน้านักเขียน ผู้เป็นแรงบันดาลใจ จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพลายเส้นบุคคล (Portraits) ในชื่อ “ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์” ณ Old Town Gallery สี่แยกแม้นศรี ระหว่าง 1 – 31 พ.ค. 2567  พร้อมเชิญชวนผู้รักศิลปะ ร่วมงานเลี้ยงเปิดตัวในวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้น

 

 

          “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์” เริ่มต้นจากความรักในการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ นับหนึ่งด้วยการเขียนบทกวี สู่เรื่องสั้น ความเรียง รวมทั้งนวนิยาย แจ้งเกิดในแวดวงวรรณศิลป์มาสามสิบกว่าปี กวาดรางวัลระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลซีไรต์ รางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ลูกโลกสีเขียว รางวัลศิลปินศิลปาธร จนถึงรางวัลระดับภูมิภาคอย่าง Mekong Literature Award  ภาพนักเขียนในดวงใจกวีผุดขึ้นมาในห้วงคำนึงแห่งการอ่านวรรณกรรมทั้งไทยและเทศมาชั่วชีวิต

 

 

          “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์” เสร็จสิ้นจากการแสดงภาพวาดลายเส้นทิวทัศน์ซึ่งเป็นนิทรรศการภาพเขียนแรกในชีวิตเมื่อปลายปี 2565 จึงได้เริ่มวาดภาพใบหน้านักเขียนอย่างต่อเนื่อง นับหลายร้อยคน โดยได้คัดสรรจำนวน 262 ภาพ มาแสดงเป็นนิทรรศการใหม่หมาด ชื่อ “ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์” โดยจัดแสดงที่หอศิลป์ Old Town Gallery สี่แยกแม้นศรี ระหว่าง 1 – 31 พ.ค. 2567 เวลา 10.00 – 18.00 น. เว้นวันจันทร์

 

 

          เทคนิคการวาดลายเส้นด้วยปากกาหมึกดำ (Ink Drawing) ที่หลายคนประทับใจจากภาพทิวทัศน์ในนิทรรศการและหนังสือภาพ “ความรักปรากฏรูป” ได้ยกระดับไปอีกขั้นด้วยการลงรายละเอียดบนใบหน้านักเขียนคนแล้วคนเล่า จนเกิดเป็นใบหน้าที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นภาพนักเขียนร่วมสมัย เช่น ซัลมาน รัชดี ที่ถูกคนทำร้ายเกิดเป็นภาพใส่แว่นตาที่เหลือกระจกข้างเดียว  ภาพเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ที่อุ้มแมวไว้ในอ้อมกอดอย่างอ่อนโยน  ภาพยิ้มสดใสของอลิซ มันโร  ภาพคีบบุหรี่ของอัลแบร์ กามูร์  ภาพใบหน้าอ่อนหวานของซิลเวีย แพลท ภาพครุ่นคิดของฮารูกิ มูราคามิ  หรือภาพของนักเขียนในตำนาน เช่น ภาพดวงตาลึกล้ำใหญ่ข้างเล็กข้างของฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เกส (เจ้าของข้อความ Life is made of poetry หรือ “ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์” ที่นำมาใช้เป็นชื่อนิทรรศการครั้งนี้)  ภาพการจ้องมองของฟรันซ์ คาฟคา  ภาพในห้วงสงบของรพินทรนาถ ฐากูร ภาพเหม่อมองของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน  ภาพไอน์สไตน์กับแมวดำ อีกทั้งภาพนักเขียนไทยหลายคนก็ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนผู้ล่วงลับ เช่น สุวรรณี สุคนธา  จ่าง แซ่ตั้ง  จิตร ภูมิศักดิ์ หรือนักเขียนที่ยังอยู่และสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่อง เช่น กฤษณา อโศกสิน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชมัยภร บางคมบาง  ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ฯลฯ 

 

 

          “เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์” ไม่เคยเรียนศิลปะใดๆ แต่ฝึกฝนด้วยตัวเอง และมีความสุขกับการวาด นอกเหนือจากการเขียนอันเป็นอาชีพที่ทำมาอย่างยาวนาน ในนิทรรศการนี้ เขาไม่เพียงวาดใบหน้านักเขียน แต่ยังวาดศิลปินสาขาอื่น เช่น ทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น ภาพปิคัสโซ่แทะก้างปลา  ภาพซัลวาดอร์ ดาลี หนวดโง้ง อุ้มลูกเสือดาว  ภาพคิ้วต่ออันเป็นเอกลักษณ์ของฟรีดา คาห์โล    สาขาขับร้อง อาทิ ภาพหันข้างของนอร่า โจนส์  ภาพจอห์น เลนนอนใส่แว่นปล่อยผมยาว ภาพผมทรงเดรดล็อกของเทรซี แชปแมน  ภาพหลับตาเกากีตาร์ของเอริค แคลปตัน  ภาพสิงห์อมควันของบ็อบ มาร์เล่ย์   สาขาภาพยนตร์ อย่างเช่น ภาพทิม เบอร์ตันอุ้มสุนัขจากภาพยนตร์แอนิเมชัน  ภาพผมสยายของดาราสาวจาง จื่ออี๋   ภาพชาลี แชปลินกำลังหัวเราะ    สุดท้ายก็ยังมีสาขาสันติภาพ เช่น ภาพพนมมือของแม่ชีเทเรซ่า  ภาพรอยยิ้มของมหาตมะ คานธี  ภาพแววตาแห่งความหวังของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ  ภาพคลุมฮิญาบของมาลาลา ยูซาฟไซ   ภาพใบหน้าในเงาของเนลสัน แมนเดลา ฯลฯ    ลายเส้นของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ สื่ออารมณ์ของศิลปินในชั่วขณะนั้นๆ ได้อย่างเต็มเปี่ยมและมีพลัง  ปากกาสีดำแท่งแล้วแท่งเล่าแต่งแต้มเรื่องราวผ่านใบหน้าของศิลปินที่ส่องทางให้แก่กันเสมือนของขวัญแห่งชีวิต  

 

 

 

          งานเปิดตัวนิทรรศการกำหนดจัดในวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไป โดยมีจัดเลี้ยงอาหารประกอบดนตรีและอ่านบทกวี ดื่มด่ำกับกลิ่นอายวรรณศิลป์และสัมผัสความรักในลายเส้นที่ต่อเติมจนเกิดเป็น “ชีวิตสร้างด้วยกวีนิพนธ์”  ภาพที่จัดแสดงนั้นเปิดให้จองได้ในงาน ราคาภาพละ 5 พันบาท พร้อมทั้งจำหน่ายสมุดภาพปกแข็งสุดหรู หนา 288 หน้า (ภาพบุคคลสลับบทกวี) ราคาเล่มละ 550 บาท รอให้นักอ่านและผู้รักศิลปะมาเป็นเจ้าของเพื่อท่องไปในโลกการอ่านและการ(วาด)เขียนข้ามพรมแดนภาษาและวัฒนธรรมร่วมกัน

 

          กำหนดการวันเปิดนิทรรศการ (5 พ.ค. 2567)

          17.00 น. ศิลปินกล่าวเชิญเปิดงานร่วมกัน (เชิญรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์คาว-หวาน พร้อมเครื่องดื่มสีอำพัน)

          17.15 น. ดนตรีขับขานจาก ป้อม-เจริญกรุง และคณะ

          17.45 น. อ่านบทกวีจากมิตรรักน้ำหมึก

          18.00 น. ดนตรีขับขานจาก นกน้อย-ชูเกียรติ ฉาไธสง และคณะ

          18.30 น. อ่านบทกวีและฟังเพลงที่แต่งโดยศิลปิน (ขับร้องประกอบกีตาร์โดย ป๋อง-เซอร์แมนติก)

          19.00 น. สังสันทน์ตามอัธยาศัย  ชมภาพเขียน  จองซื้อภาพหรือหนังสือในงานพร้อมลายเซ็นศิลปิน

          20.00 น. ผู้จัดอาหารเก็บโต๊ะบุฟเฟ่ต์ (ยกเว้นเครื่องดื่มและเครื่องเคียง)

          21.00 น. ปิดงาน