ผลศึกษาชี้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ไม่ทำให้อุบัติเหตุ – เด็กดื่มลดลง เหตุแก้ไม่ตรงจุด

ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมฯ จัดงานสัมมนาสาธารณะ “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” ชี้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ไม่ทำให้อุบัติเหตุ – เด็กดื่มลดลง เสนอแก้กฎหมาย 3 ประเด็น

          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาสาธารณะ “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ” พร้อมกับนำเสนอผลการศึกษา เรื่องการทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ที่โรงแรม ดิเอ็มเมอรัล กรุงเทพฯ

 

 

          ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ได้สร้างต้นทุนทางสังคมไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท
ดร.นิพนธ์ ระบุว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว แต่การกำกับดูแลยังแก้ไม่ตรงจุด ทำให้ปัญหาทั้งอุบัติเหตุทางถนนอันมีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปีไม่ลดลง อีกทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น

          นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า นโยบายและมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการโฆษณาที่มากจนเกินไป หรือการห้ามขายแอลกอฮอล์ช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. ไม่สอดคล้องกับนโยบายในปัจจุบันที่ภาครัฐกำลังผลักดันเรื่องนโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกระดับ มากไปกว่านั้น บทลงโทษของมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ยังใช้ในปัจจุบัน มีบทลงโทษที่ไม่สมดุลและร้ายแรงมากเกินไปสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่ 1 ของทีดีอาร์ไอที่ได้เสนอว่า สามารถโฆษณาได้แต่ห้ามโฆษณาที่เจาะจงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามมีป้ายโฆษณาใกล้โรงเรียนในระยะ 1 กม., ห้ามโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักตามช่วงเวลาที่กสทช.กำหนด, ห้ามโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต้องมีหน้าที่ในการจำกัดเนื้อหาการโฆษณาที่เจาะจงกับเด็ก, ห้ามโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ โดยกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่สามารถใช้โฆษณาให้ชัด

 

 

          ทั้งนี้ นางสาวเขมิกา เห็นด้วยกับหลายๆข้อเสนอของผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ได้แก่ การลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด ได้แก่ การเสนอให้ยกเลิกสินบนรางวัล เนื่องจากการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561-2565 ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่อาจเป็นแรงจูงใจทางให้มีการดำเนินคดีมากเกินจำเป็น รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษกรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่อยู่ โดยเพิ่มทั้งอัตราค่าปรับเพื่อให้เกิดความหลาบจำและเพิ่มโทษให้มีการพักใช้ใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว หรือการยกเลิกใบอนุญาตขายหากมีการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งการเพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ที่สำคัญจะต้องมีการให้การศึกษาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้บริโภค เด็ก และประชาชนทั่วไป และการส่งเสริมความรับผิดชอบในการขายและให้บริการของผู้ประกอบการควบคู่ไปกับการผ่อนคลายด้านนโยบายให้สมดุลยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านโทษภัยจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย โดยเฉพาะการเมาแล้วขับ การดื่มก่อนวัยอันควร และการดื่มจนเมามายจนครองสติไม่อยู่

          นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนา “มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์...ประเทศไทยไปต่ออย่างไร?” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ,นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล 4.รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อ.ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการองค์กรเครือข่ายงดเหล้า, น.ส.เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย, น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินรายการโดยนายพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักจัดการด้านข้อมูลสื่อสารความรู้ DataHatch