ชวนใช้ “จานใบไม้” ช่วยให้ “โลกยิ้ม”

“จานใบไม้” ผลงานสร้างสรรค์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโลกยิ้ม จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดกระบวนการต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาวะ “โลกร้อน” แล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

          ทุกวันนี้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น “โลกร้อน” ที่กำลังทวีความรุนแรงกลายเป็น “โลกเดือด” รวมถึง “ขยะล้นโลก” มักถูกหยิบยกมาย้ำเตือนกันบ่อยครั้งขึ้น เพื่อหวังให้ใครบางคนได้ฉุกคิด และช่วยกันปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างในการใช้ชีวิต เพื่อช่วยกันดูแลรักษาโลกที่เราอยู่ร่วมกันให้ฟื้นคืนกลับมามีรอยยิ้มกว้างได้อีกครั้ง

 

  

 

          หนึ่งในทางเลือกที่หลายคนเลือกแล้วคือการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีขั้นตอนการผลิตที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด รวมทั้งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดกระบวนการต่างๆ ที่ส่งผลต่อภาวะ “โลกร้อน”

          “จานใบไม้” เป็นชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ที่คุ้นชินกันโดยทั่วไปของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโลกยิ้ม จังหวัดสุพรรณบุรี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 2564 ทั้งการก่อตั้งกลุ่มที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ เบโด้ (BEDO) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ภาชนะที่เป็นผลผลิตของกลุ่มที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

 

 

          “วิทูล ธนาวีระชัย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโลกยิ้ม จ.สุพรรณบุรี บอกเล่าเรื่องราวอย่างมีความสุขว่า ทุกวันนี้ความต้องการของตลาดต่อ “จานใบไม้” มีมากกว่ากำลังการผลิตที่ทำได้ เป็นการสะท้อนว่าผู้คนหันมาใส่ใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการของสมาชิกที่มารวมกลุ่มกันแต่แรกตั้ง

 

  

 

          “ต้นหมากปลูกกันมานานและมีจำนวนมากที่อำเภอเดิมบางนางบวช พอเบโด้เข้ามาให้ข้อมูลองค์ความรู้ เราก็ตั้งกลุ่มแล้วพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เขาเรียกกันว่าจานใบไม้ แรกเริ่มเดิมทีก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ก็ว่าได้ เพราะหมากแต่เดิมก็ปลูกเอาผลไปกินไปขาย ตอนนั้นต้นหมากก็ใช้เป็นเสาได้ กาบหมากเอามาทำบรรจุภัณฑ์ได้ ใบก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย สมาชิกในกลุ่มทุกคนต่างมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนช่วยกันทำได้ และเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้โลกเราดีขึ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”

 

 

          กระบวนการในการผลิตกว่าจะเป็นจานชามได้ใบหนึ่งนั้น เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกกาบหมากซึ่งส่วนใหญ่จะร่วงหล่นเองตามธรรมชาติ หมากแต่ละต้นจะให้กาบหมากราว 7-8 กาบต่อปี เมื่อได้กาบหมากแล้วก็นำไปตากแดดให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อรา ก่อนจะนำไปทำความสะอาดอีกครั้ง เพื่อส่งต่อเข้าสู่ขั้นตอนการตัดให้ได้ขนาดและขึ้นรูปตามต้องการ ก่อนจะเข้าเครื่องอัดตามพิมพ์ของภาชนะ โดยทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีอยู่ 15 แบบ ทั้ง จาน ชาม ถ้วยน้ำจิ้ม ไปจนถึงกระถาง ส่วนราคาส่งอยู่ราว 4-5 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวน

 

 

          “ในส่วนของรายได้ที่เกิดขึ้นของกลุ่ม ก็ถือว่าน่าพอใจ แต่ที่มากกว่าคือการที่เราได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ได้ช่วยดูแลโลกของเราไปด้วยกัน เพราะจานใบไม้จากกาบหมากใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 60 วันเท่านั้น ที่สำคัญวิสาหกิจชุมชนโลกยิ้มของเรา เป็นหนึ่งในต้นแบบตรงตามหลักนโยบาย BCG มีการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งสวนหมากยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย”

          “ชุมชนโลกยิ้ม” ไม่เพียงแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องทั้งความต้องการของตลาดและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน แต่ยังเปิดบ้านให้ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม “สวนหมากร้อยปี” และขั้นตอนการผลิตต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลในการช่วยกันทำให้ “โลกยิ้ม” ไปด้วยกัน.