หนุน Bio Tourism สร้างรายได้ชุมชน จ.น่าน

ผลักดัน Bio Tourism ต่อเนื่อง หนุนสร้างรายได้ท่องเที่ยวในชุมชน จ.น่าน ด้วยเครื่องมือท่องเที่ยวชีวภาพ

          พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภายใต้นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ส่งเสริมการสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในระดับธุรกิจและระดับชุมชน มีการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวชีวภาพ เพื่อสร้างคุณค่าและรายได้ให้กับชุมชนเกษตรอินทรีย์พอเพียงร่วมใจสันติสุข ที่ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ในชื่องาน “แอ่วโป่งคำ กิ๋นข้าวใหม่ ใส่งาหอม ผ้ามัดย้อมสีเปลือกไม้ ผ่อนคลายสุขภาพด้วยสมุนไพรล้านนา” ครั้งที่ 1 โดยพิธีเปิดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับเกียรติจาก นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงาน

 

 

          การจัดงานครั้งนี้ มุ่งเน้นการสื่อสารให้คนภายนอกได้ทราบกิจกรรมเด่นของชุมชนเกษตรอินทรีย์พอเพียงร่วมใจสันติสุข เป็นชุมชนแม่ข่ายของชุมชนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีพระอาจารย์สมคิด จรณธมโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ คอยเป็นที่ปรึกษาและเปรียบเสมือนผู้นำทางความคิด จิตวิญญาณ ทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการดึงดูดหน่วยงานรัฐ เอกชน เข้ามาเสริมด้านการตลาดให้กับชุมชน ปัจจุบันถือได้ว่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มและเครือข่าย มีตลาดที่แน่นอน และค่อนข้างมั่นคง โดยเฉพาะการโน้มน้าวให้ประชาชน ชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชล้มลุก เป็นปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มความมั่นคง ยั่งยืนให้ทั้งคน ทั้งสิ่งแวดล้อม ดังคำกล่าวที่ว่า “สวมหมวกให้ภูเขา ใส่รองเท้าให้ตีนดอย” มีพื้นที่ต้นแบบในอำเภอสันติสุขนับหมื่นไร่ โดยมีชุมชนเครือข่ายท่องเที่ยวชีวภาพ สพภ. จำนวน 9 ชุมชน 9 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ (เชียงใหม่, เลย, มุกดาหาร, จันทบุรี, อุทัยธานี, ปราจีนบุรี, กาญจนบุรี, นครศรีธรรมราช และน่าน)

 

 

          ช่วงการจัดกิจกรรม 3 วัน (เมื่อวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2567) สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับชุมชนตำบลดู่พงษ์และพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากตลาดปันรักษ์ มินิ ที่เน้นสินค้าพื้นบ้าน สินค้าชุมชน ได้สร้างความดีใจให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง โดยสินค้าขายดี ได้แก่ ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในชุมชน เช่น ฟักทอง ผักกาด ผักกวางตุ้ง งาขี้ม้อน และหอมแดงพันธุ์พื้นบ้าน