นักวิชาการเสนอขึ้นภาษีสุราขาวเป็นบันไดขั้นต่อไปของการปรับโครงสร้างแอลกอฮอล์

นักวิชาการ มธ. ตอบรับรัฐบาลปรับโครงสร้างสรรพสามิตสุราพื้นบ้าน – สถานบันเทิง – ยกเว้นภาษีนำเข้าไวน์ ปรับสมดุลโครงสร้างราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมเสนอขึ้นภาษีสุราขาว เพื่อลดการบริโภคแอลกอฮอล์ที่มีความเสี่ยง และเพิ่มรายได้ให้ประเทศพร้อมเสริมท่องเที่ยว

          ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัยเรื่อง “อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” จากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมาตรการแรกเป็นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าสุรา ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ ส่วนมาตรการที่สองคือการปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการโดยการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงมาก่อนแล้ว นโยบายที่ออกมาต่อเนื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนบูรณาการการท่องเที่ยว มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและใช้จ่าย พร้อมทั้งยกระดับสุราพื้นบ้านและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

 

 

          ต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว ผศ.ดร.สุทธิกร ให้ความเห็นว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยการลดภาษีสรรพสามิตในส่วนไวน์แชมเปญและสุราชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนขั้นแรกของบันไดในการปรับสมดุลโครงสร้างราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

          “บันไดขั้นต่อไปนั้น รัฐควรหันมาปรับพิจารณาสุรากลั่น เพื่อให้มีอัตราภาษีสรรพสามิตและอากรนำเข้าที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น สุรานำเข้า ควรปรับให้มีเป็นลักษณะเดียวกับไวน์และแชมเปญที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งพิจารณาปรับอัตราภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวและยังเป็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ให้เหมาะสมกับความเป็นจริง เมื่อคิดเป็นปริมาณและมูลค่าการบริโภคในส่วนนี้จะเห็นได้ว่ามีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยรวมของประเทศ” ผศ.ดร.สุทธิกร เสนอ

          ผศ.ดร.สุทธิกร ให้ข้อเสนอต่อไปว่า สำหรับรูปแบบภาษีสรรพสามิตนั้น ภาครัฐอาจพิจารณาปรับโดยกำหนดภาษีตามปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์มากกว่าการคิดภาษีตามราคาขายปลีก เพื่อให้การเก็บภาษีสรรพสามิตแอลกอฮอล์เป็นไปเพื่อลดการบริโภคตามปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่ใช่การลดการบริโภคตามราคาของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          “บันไดขั้นถัดไปที่สำคัญแต่รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญ คือการขึ้นภาษีสุราขาวซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ของการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชนไทย และเป็นสัดส่วนสำคัญในฐานภาษีสรรพสามิตของประเทศ โดยการเพิ่มภาษีสรรพสามิตสุราขาวนี้จะช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการดื่มอย่างขาดความรับผิดชอบ ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตตนเอง และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม นอกจากนี้การขึ้นภาษีสุราขาวนี้ยังจะส่งผลดีต่อรายได้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของประเทศอีกด้วย” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว

 

 

          ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.สุทธิกร และทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอ “รายงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย” สู่สังคมไทย โดยรายงานฉบับนี้ได้ศึกษาสถานการณ์ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยในภาพรวมและบริบทที่เกี่ยวข้อง พบว่าแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยนั้นขยายตัวขึ้น โดยภาษีสรรพสามิตสุราขาวไทยนั้นมีอัตราที่ต่ำกว่าภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในประเทศ โดยใช้เหตุผลด้านสุขภาพและความเป็นธรรมภายในตลาด อันสอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก

          นอกจากนี้ รายงานฯ ยังเสนอให้ไทยขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราราคาถูก โดยการขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราที่มีราคาถูกซึ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจส่งผลให้มีการบริโภคสุราน้อยลงตามไปด้วย และการขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราที่มีราคาถูกซึ่งมีสัดส่วนยอดขายจำนวนมากจะช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น หรืออาจเกิดผลทั้งสองอย่างร่วมกัน โดยข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนน-เมาแล้วขับของคณะวิจัยฯ ซึ่งพบว่าเกิดในพื้นที่ในพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ และเกิดจากสุราขาวและสุราราคาถูกมากกว่าชนิดอื่นๆ