5 สิ่งอัศจรรย์ จากคนหน้างาน “สมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุฯ”

บอกเล่าเรื่องราวสุดแสนอัศจรรย์ ของคนหน้างาน “ฐนิวรรณ กุลมงคล” กรรมการอำนวยการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

          “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย โยมอุปัฏฐายิกา กรรมการอำนวยการจัดงานสมโภชพระอารามหลวง ครบ 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 27 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 บอกเล่าเรื่องราวสุดแสนอัศจรรย์ระหว่างการประสานงานจัดงาน ที่ทำให้ทุกอย่างสามารถลุล่วงสมดังตั้งใจ

 

 

          ความอัศจรรย์เรื่องแรก คือ “เจดีย์สีขาว” ซึ่งสร้างเป็นหมุดหมายว่าที่นี่คือที่ตั้งของ “พระอุโบสถวัดสลัก” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า “ท่านบุญมา” หนึ่งในทหารกล้าคู่พระทัยของ “พระยาตาก”  มองเห็นช่อฟ้า ใบระกา หลังคาพระอุโบสถ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากรอดตายในครั้งนั้น จะแทนคุณด้วยการบูรณะวัดสลักแห่งนี้ แล้วจึงคว่ำเรือหลบทหารพม่าอยู่ทั้งคืน จนกระทั่งปลอดภัยและสามารถพายเรือต่อไปจนถึงเมืองราชบุรี ได้ชักชวนพี่ชาย “ท่านทองด้วง” หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีให้ไปร่วมกัน กู้ชาติกับกองทัพพระยาตาก จนสามารถกู้เอกราชสำเร็จในที่สุด 

          ปลายปี 61 เคยมาใส่บาตรหน้าประตู 1 ทุกวันจันทร์ ทำอยู่ราว 6 เดือน ครั้งละ 60 รูป สลับกับเพื่อนคนทำร้านอาหารร้านอื่นๆ เคยเฝ้ามองและครุ่นคิดว่า จากท่าน้ำตรงท่าพระจันทร์ ท่านบุญมาจะมองเห็นพระอุโบสถวัดสลักได้อย่างไร (หมายถึงพระอุโบสถหลังปัจจุบัน) 

          ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม เมื่อตกปากท่านผู้ใหญ่จะมาช่วยเปิดวัดมหาธาตุฯเพื่อการท่องเที่ยว จึงเริ่มศึกษาเรื่องราวอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ได้ยินคำว่า “คณะสลัก” คือ ที่ตั้งวัดสลักเดิม และยิ่งน่าอัศจรรย์ยิ่งที่ เจ้าคุณราชวชิราธิบดี ท่านเมตตาปรับปรุงห้องวิทยุเก่าของตึกมหาธาตุวิทยาลัยชั้น 2 ให้เป็นสำนักงานคณะกรรมการจัดงานสมโภชพระอาราม 338 ปี

 

          ตลอด 3 เดือนที่มาทำงานทุกวันมองออกมาเห็นเจดีย์สีขาว เห็นคณะสลัก 1-2-3-4 ซึ่งเป็นวัดสลักเดิม ยิ่งทำให้เกิดพลังใจในการคิดวางแผนประสานงานต่างๆ ประหนึ่ง ดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน มาชี้นำให้ทำงาน เกิดความเข้าใจซาบซึ้งเกินพรรณนา รวมถึงสำนึกได้ถึงความรู้สึกเมื่อปี 2310 เมื่อใกล้จะถูกข้าศึกล้อมจับตัวได้แล้วมีปาฏิหาริย์ จากวัดสลักให้รอดอย่างน่าอัศจรรย์ 

          พระเจดีย์สีขาวอันงดงาม ปรากฏขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ แสดงที่ตั้งของ “พระอุโบสถวัดสลัก” ที่จะสลักในใจคนไทย ให้ระลึกถึงสองพี่น้องทหารเอกคู่พระทัยร่วมรบ เคียงคู่กู้เอกราช มีหลายคนฉงนใจจะทำงานวัดอะไรใหญ่โตขนาดนี้ พวกเราทำงานให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ แต่ไม่ใช่ทำแบบงานวัด หากแต่ทำด้วยความกตัญญูในฐานะที่เป็นคนไทยให้เป็น “มหาบุญ แทนคุณแผ่นดิน”

 

          ความอัศจรรย์เรื่องที่ 2 คือ เมื่อนั่งรถผ่านพระบวรราชานุสาวรีย์ ตรงมุมรั้วธรรมศาสตร์ ได้ยกมือประนมขอพรพระองค์ท่าน จะสื่ออย่างไรให้คนไม่เบื่อ ดูเป็นเรื่องราวไกลตัว กระทั่งคิดถึบ “คุณลอร์ด - ธวัชไชย ฤดีอมรเกียรติ” คนแต่งเพลง ทำเพลง อุ่นไอรัก คลายความหนาว งานอุ่นไอรัก ที่ดังติดสนิทหูคนไทย ด้วยความหมายและความไพเราะ ก็คิดอยากได้กลิ่นอายของอุ่นไอรักกลับมา ยิ่งจัดงานสิ้นปี ช่วงฤดูหนาว อยากชวนคนไทยแต่งไทยมาวัดมหาธาตุฯ  เชื่อว่าเพลงจะนำพาให้คนรู้จักวัดมหาธาตุฯ ได้ง่ายขึ้นไม่ใช่บอกไปวัดมหาธาตุฯ ตั้ง GPS แล้วอาจจะกลายเป็นเลยไปอยุธยา หรือ ไปวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน 

          เมื่อได้รับเชิญไปออกรายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” ที่ต้องอธิบายความหมายของวัดสลัก – สลักวาจา “เมื่อมีวาจาสัตย์ จึงเป็นวาจาสิทธิ์” พูดว่า จะกลับมา บูรณะวัดสลัก ท่านบุญมาก็กลับมาบูรณะวัดสลัก จนได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงแห่งแรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คุณลอร์ด รับโจทย์ไปวันพุธ ก็ส่งเนื้อเพลงมาวันศุกร์ เข้าห้องอัดเสียงวันจันทร์ เนื้อเพลง โดยเก็บ key word สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดมาครบ แม้กระทั่งคำว่า “เสบียงบุญ เกื้อหนุนพระศาสนา” และเลือกนักร้องตรงใจ ที่สำคัญค่าใช้จ่าย “ดร.วีระกิตต์ เอกอัครวิจิตร” ยินดีสนับสนุนทันที ไม่มีเงื่อนไข ทุกอย่างสำเร็จได้ดังใจปรารถนา เพื่อให้งานสมโภชครั้งนี้ สามารถมีสื่อออกไปให้สังคมรับรู้ เข้าใจ อยากมาเที่ยววัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต และถ้ามาแล้วก็ให้อยากมาอีก

 

 

          ความอัศจรรย์เรื่องที่ 3 นั่นก็คือ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ท่านมาช่วยวัดมหาธาตุฯ โดยส่วนตัว มีครูบาอาจารย์ชื่ออาจารย์หนึ่ง ทักว่ามาทำงานวัดมหาธาตุฯ เคยไปขอพร สมเด็จเฮงละยัง อ.หนึ่ง ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ให้ไปขออโหสิกรรมที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย  

          เมื่อไปถึงวัดมีพระยืนรอทำพิธีให้ และบอกว่า เจ้ากรรมนายเวร มารอขออโหสิกรรม ทั้งที่พลัดหลงไปถึงวัดนั้นแบบบังเอิญ เมื่ออาจารย์ที่เราศรัทธาทัก ตัวเองจึงนำเหรียญบาทและพวงมาลัยไปกราบ ข้างๆพระประธานในพระอุโบสถซึ่งมีอดีตอธิบดีสงฆ์ทุกรูปประดิษฐานอยู่ (เดือนตุลาคม) หลังจากออกพรรษามีคนตามมากราบ สมเด็จเฮง เต็มวัด มาทราบภายหลังว่า คุณเมฆ วินัยไกรบุตร มาขอขมาพระดีตามคำแนะนำของอาจารยฺไพศาล แสนไชย และยิ่งพีค เมื่อคุณหนุ่ม คงกระพัน พูดในรายการ กับคุณมดดำ กล่าวถึง สมเด็จเฮง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

          ในช่วงนั้น กำลังต้องการกำลังใจอย่างยิ่ง เนื่องจากยังมีคนร่วมบุญน้อย การสร้างความรับรู้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวก็ยากเหลือเกิน วัดอื่นๆ เค้า “มู” กันสนั่น วัดเราเป็นพระอารามหลวง (เอกอุ 1 ใน 6 ของประเทศ) วัดมีชื่อเสียงด้านวิปัสสนากรรมฐานและการศึกษาจะสร้าง “ความมู” ตามจริตศรัทธาของคนไทยขณะนี้ได้อย่างไรให้อยู่ในเส้นแห่งความพอดีๆ อยากให้คนหลั่งไหลมาก็อยากได้

          จู่ๆ ท่านอดีตอธิบดีสงฆ์ผู้ครบ 100 ปี แห่งการเป็น เจ้าอาวาส (อธิบดีสงฆ์) 2466-2566 อะไรจะเลขสวยได้ขนาดนี้ ท่านเจ้าคุณสายเพชร นั่นเอง เจ้าคุณฯ แม่นตัวเลข ผู้คนหลั่งไหลมา จนทางวัดต้องอัญเชิญรูปเหมือนท่านออกมาให้สักการะที่ศาลาราย ตรงวิหารโพธิ์ลังกา ในฐานะจะเปิดวัดเพื่อการท่องเที่ยว ได้เห็นผู้คนมุ่งหน้ามากราบสมเด็จเฮง วันละหลายๆร้อยคนในที่สุด  วัดเราก็มีของดี “มู ตามสมัยนิยม” การันตีโดยอาจารย์ไพศาล แสงไชย คนดังแห่งยุค

 

 

          ความอัศจรรย์เรื่องที่ 4  นั่นคือได้รับการถวายคืน “พระแสงราวเทียน” 2 สิ่งที่ติดในใจ หนึ่งสิ่งคลายไปแล้ว คือ “บูรณะเจดีย์วัดสลัก” ให้เป็นที่เคารพ สักการะ ท่านเจ้าคุณราชวชิราธิบดี เคาะสั่งการให้ดำเนินการให้งดงามเหมาะสม แต่มีอีกหนึ่งสิ่งคือที่ได้รับข่าวสารในเดือนตุลาคมว่า “พระแสงราวเทียน” ไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์พระนครและมีผู้เฉลยว่า “อยู่บ้านนักการเมือง” และ “เขาคงจะไม่คืนหรอก” 

          ด้วยความอยากได้คืน ก็ตั้งจิตทุกวันเพื่อหาคนไปช่วยคุยขอคืน แต่ๆ ต้องทำงานสมโภชให้ดังเปรี้ยงก่อน เพื่อเรียกศรัทธา ตอนไปขอ จะได้ของ่ายๆ เล่าให้น้องมัทนา รักลูก ฟังว่า “พี่อยากได้มากกก” แต่อยู่บ้านนักการเมือง เหลือกำลังพี่แล้ว และก็มีภาระทำอย่างอื่นอีกมากมาย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มัท มากอด แล้วบอกว่า “เจอดาบแล้วนะพี่” เขาจะเอามาคืนวันที่ 20  ธันวาคม ตอน 11 โมง แล้วก็เล่าอะไรอีกไม่รู้เรื่อง ในใจไม่เชื่อ ก็พระคุณเจ้ายืนยันว่าอยู่บ้านนักการเมือง มีรูปถ่ายด้วย

          ต่อมา วันจันทร์ที่ 20 มีงานบุญเช้าที่บ้านอีจัน ใส่บาตร พิธีเสร็จ กินอาหารเช้าอร่อยมาก แล้วไปที่ทำงาน กระทั่งราว 11 โมงกว่า น้องมัทโทรมาตาม ให้ลงไปคณะ 7 ไปดูดาบ เจ้าของจะนำของจริงมาเลย เดินลงจากสำนักงานผ่านหน้าทางเข้าพระอุโบสถ จะเลี้ยวขวาไปคณะ 7 เจอทีมถ่ายทำสารคดี เดินออกมาจากพระอุโบสถ เลยชวนพี่ต่าย ทีมรอบันทึกเทปแม่ชีกฤษณา ตามกันไป ไม่ได้นัดกันไว้ก่อน เจอกันบังเอิญแท้ทรู เมื่อไปฟังเรื่องราวที่เชื่อถือได้ ก็ได้พี่ต่ายเขียนข้อมูล ที่กลายเป็นเนื้อข่าวที่เผยแพร่กันอยู่ หากไม่บังเอิญเจอกันก็จะไม่มีคนทำข้อมูลที่ดีเช่นนี้

 

 

          แต่อัศจรรย์ยังไม่จบค่ะ วันนั้น ด้วยการพูดคุยกัน “อ.หนึ่ง ปริญญา” มีจิตเจตนาที่อยากจะนำพระแสงราวเทียนมาคืนเงียบๆ เสมือนหนึ่งว่า “นอนหลับไป 1 ตื่น พระแสงราวเทียนก็กลับมา” ด้วยเจตนา ไม่อยากให้คนมาดราม่าใส่และเกรงจะเสื่อมเสียชื่อเสียงวัดเราก็เลยคุยกันว่า จะไม่ออกข่าว ระหว่างนั้นมูลนิธิพุทธภูมิธรรม ซึ่งเทวดาส่งมาให้มี อ.วิจักษณ์ สองจันทร์ เป็นประธานมูลนิธิ ได้ขอรับเป็นเจ้าภาพบวงสรวงในเช้าวันที่ 27 ธันวาคม เวลา 06.39 น.ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นอนคิดอยู่ 2 คืน คืนวันพฤหัส ตื่นมา ตี 3 มานั่งพิมพ์ข้อความต่างๆ เตรียมงาน เสมือนมีสิ่งดลใจ ทำไมเราต้องไม่พูดความจริง ความจริงเป็นสิ่งงดงามหากพูดความจริงว่า พระแสงราวเทียนนี้หายไปแล้วได้คืนกลับมาทันงานสมโภชพระอาราม จะเป็นพระบุญญาธิการของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มากกว่า ทำเงียบๆ กัน 

          เช้าวันนั้นโทรหาน้องมัท ให้แจ้งเจ้าของดาบว่า จะพูดความจริง พี่จะทำข่าวด้วยแหละให้ อ.หนึ่งเตรียมตัวและโทรกราบเรียนเจ้าคุณราชฯ ถามเบื้องต้นว่า “หลวงพ่อสบายใจหรือไม่คะ” ถ้าหากจะพูดความจริง เอาความสบายใจของหลวงพ่อเป็นหลัก เจ้าคุณราชฯตอบมาว่า “หลวงพ่อไม่ขัดข้อง” และท่านยังกรุณาพาไปกราบหลวงพ่อด้วยตนเอง พอดีวันนั้น “พี่แหม่ม” วิเศษไก่ย่าง จัดอาหาร ส้มตำไก่ย่าง ถวายพระ 10 ชุด จึงได้นำไปถวายหลวงพ่อ เมื่อไปกราบหลวงพ่อพีร์ รายงานเรื่องจะทำพิธีมอบคืน จะทำข่าวว่า อ.ปริญญา ตามหาพระแสงราวเทียนที่หายไปอยู่หลายสิบปี 

          เมื่อเจอแล้ว มั่นใจแล้วสละเงินส่วนตัวถึง 6 แสนบาท จะนำมาถวายคืนสมเด็จพระบวรราชเจ้า ถวายคืนเป็นสมบัติของวัดมหาธาตุฯ ตามเจตจำนงของพระองค์ท่านที่ถวาย “พระแสงราวเทียน” เมื่อ 230 ปีที่แล้ว ณ พระอุโบสถแห่งนี้ ความเป็นมาของอัศจรรย์ที่ 4 ก็เป็นดังนี้

 

 

          ความอัศจรรย์เรื่องที่ 5 คือผู้คนแวดล้อมที่ร่วมสนับสนุนการทำงาน “น้องต้อย-กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง” อดีตรองประธานบัตรเครดิต KTC ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้องค์กรจนโด่งดัง ประสบความสำเร็จทางธุรกิจสูงสุด น้องต้อย มีเครดิตส่วนตนที่ดีต่อ สื่อมวลชนใหญ่น้อยมากมาย การได้ “น้องต้อย” มาบวก “น้องอัยย์” แพ็คคู่ ทำให้วัดได้สื่อมวลชนทรงพลังที่อาจจะไม่ตรงสายวัด ท่องเที่ยว แต่สื่อทั้งหลายก็สละเวลามาด้วยตนเองกันคนละครึ่งวัน ยังได้ “น้องตา-สาธิตา โสรัสสะ” ที่สนิทกัน และช่วยพี่มายาวนานตั้งแต่มีนาคม มีฃ “คุณต้อย” และ “อัยย์” ที่อินกับ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร สุดหัวใจ

 

 

          ทั้งนี้ งานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เวลา 07.00-22.00 น. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การพำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน, การบรรยายธรรม, การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย และ ฯลฯ โดยเฉพาะในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จะมีการสวดมนต์ข้ามปี และตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พระสงฆ์ 73 รูป

 

 

 

CR : Facebook “ฐนิวรรณ กุลมงคล” Thaniwan Meaw Koonmongkon