เปิดบ้าน Dokya​ eBook คึกคัก

“Dokya​ eBook” เปิดโฉมครั้งแรก "ต้นแบบ" แพลตฟอร์มล้ำหน้า​ ให้คำมั่นร่วมขับเคลื่อนวงการหนังสือ​ เรียกเสียงฮือฮาจากนักเขียนนวนิยายกว่า100 คนที่มาร่วมงาน และรับชมทางออนไลน์กว่าพันคน

          บริษัท​ ดอกหญ้าอีบุ๊ก​ จำกัดได้จัดงาน “Dokya​ eBook​ Open​ House” เปิดบ้านต้อนรับนักเขียน ณ Jim Thompson Art Center มีนักเขียนหลากรุ่นหลายแนวเขียนเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งกว่า 100 คน และรับชมสด​ ผ่านออนไลน์กว่าพันคน

 



          โดยก่อนเริ่มงาน ได้มีการลงทะเบียนและแจกเสื้อยืด Dokya​ eBook ที่สกรีนสโลแกน “เพียงคลิกเข้ามาชม เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ” ให้แก่ผู้ร่วมงานทุกคน จากนั้น นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดอกหญ้า อีบุ๊ก จำกัด ได้แนะนำความเป็นมาของ Dokya eBook และแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาแพลทฟอร์มร้านหนังสือออนไลน์ ให้เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือออนไลน์ที่มีอยู่​ Beyond​ the​ Bookstore ด้วยความตั้งใจที่จะกระตุ้นบรรยากาศการอ่านการเขียนให้คึกคัก Reading​ for The​Future​ มุ่งสร้างชุมชนนักเขียนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ และผลิตผลงานอย่างสร้างสรรค์

 



          “เป็นงานท้าทาย การฟื้นแบรนด์ร้านหนังสือดอกหญ้าที่ปิดตัวไปกว่า 20 ปี แต่ชื่อดอกหญ้ายังเป็นสิ่งอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว​ หลายคนยังจดจำสโลแกนเดิมได้​ เพียงแวะเข้ามาชม​ เราก็แอบนิยมคุณอยู่ในใจ"

          นายอดิศักดิ์ ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า "ผมอยากสร้างความประทับใจให้คนอ่าน-คนเขียนเหมือนเดิม การเปิดแพลทฟอร์มซื้อขายหนังสือ เป็นอีบุ๊กออนไลน์มันง่าย แต่การจะทำให้ Beyond​ the Bookstore จะทำอย่างไร เราจึงมุ่งหมายว่า ดอกหญ้าอีบุ๊กจะเป็นแหล่งสร้างงานเขียน สร้าง eco system ของวงการหนังสือ สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ๆ "

          "ผมคิดว่ามันมีหลายวิธีมาก และไม่ได้อยู่แค่การอ่านโดยใช้สายตาเพียงอย่างเดียว ทำได้หลายรูปแบบ อันนี้เป็นตัวตั้งที่เราได้ชวนหลายๆ พาร์ทเนอร์มาร่วมงาน เพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการใช้ AI เป็น Personalized Platform การพัฒนาเครื่องมือช่วยนักเขียนหลายๆ อย่างด้วย”

 

    


          ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Dokya​ eBook กล่าวถึงหัวใจของแพลทฟอร์มนี้ด้วยว่า ตั้งใจจะให้เป็น ONE PLATFORM ที่จะขายหนังสือทุกประเภท ทุกรูปแบบ ทุกเจนเนอเรชั่น และทุกเซ็คเมนท์ โดยประสานการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ และนักเขียน พร้อมกับจะสร้างชุมนุมนักเขียน และคนอ่านให้มีพื้นที่พบปะกัน ผ่านแพลทฟอร์ม ทั้ง onsite, online รวมทั้งเทคโนโลยี Virtual Room และ ​Metaverse

          นายอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จะเปิดตัวแพลทฟอร์มให้เริ่มลงทะเบียนได้ในช่วงต้นเดือน​ มีนาคม 2567 และในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (29 มีนาคม-8 เมษายน 2567) จะมีการเปิดบูธเพื่อเปิดตัว​อย่างเป็นทางการ​ พร้อมการประกาศรางวัลการประกวด 3 กิจกรรม และเปิดตัวหนังสือใหม่จากบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการอีกประมาณ 20 เล่ม

          นายอดิศักดิ์พูดอย่างหนักแน่นว่า “นี่คือความมุ่งมั่นของดอกหญ้าอีบุ๊ก​ ​เรามาเพื่อปลุกวงการหนังสือ และวงการนักเขียนให้คึกคักขับเคลื่อนไปข้างหน้า อย่าบ่น​ อย่าโทษกัน​ เราขอลงมือทำทันที​ ด้วยความมุ่งมั่น"

 



          นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าตลอดเวลา และเปลี่ยนเร็วมากๆ แต่วงการหนังสือหยุดนิ่งมานานแล้ว มีคนบอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แล้วทำไมคนมางานสัปดาห์มากมายร่วม 1.5 ล้านคน ทำไมธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ถึงมีรายได้หลายพันล้านต่อปี​ แล้วคนอ่านเหล่านี้มาจากไหนกัน

          "เราจะต้องสร้าง eco system ของวงการหนังสือ ให้คนเข้าถึงได้ง่ายด้วยเทคโนโลยี จะต้องทำให้ทุกช่วงวัย มีคอนเท้นท์ที่สอดคล้องกับความต้องการ​ สร้างความหลากหลายของเนื้อหาให้มากขึ้น จะทำให้การอ่านเพิ่มขึ้นตามมา"

          นายอดิศักดิ์ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญ หนังสือเป็นต้นทางของกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่ซอฟท์พาวเวอร์อีกด้วย

          “เราไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่จะมีความร่วมมือข้ามวงการไปสู่ภาพยนตร์ ซีรี่ส์​ อาหาร งานเทศกาลต่างๆ อีกมากมาย”

 


          จากนั้น นางสาววัลลภา ภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแพลตฟอร์ม และ นายพงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท​Multiverse ​Expert ​และบริษัทสยามดีแอพ ที่เป็นทีมพัฒนาแพลตฟอร์ต ได้เปิดหน้าตาของแพลตฟอร์ม และแนะนำวิธีการใช้ รวมทั้งระบบบริหารจัดการรายได้ ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ต่างๆ ของนักเขียน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก

 


          ต่อด้วยการเปิดวงเสวนาเพื่อบอกเล่าเทคนิคการเขียน ในหัวข้อ “เขียนอย่างไรให้ปัง และยอดพุ่งไม่หยุดยั้ง” โดยนักเขียนมือรางวัล “กานท์ชญา” นักเขียนผู้สร้างตำนานนิยายติดอันดับในแพลตฟอร์มลงนิยายชื่อดังทุกเรื่อง , “ชนิตร์นันท์” เจ้าของผลงานนิยายจำนวนมาก และเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มทำ audiobook และ “มาลีรินทร์” ผู้เคยคว้ายอดหลักล้านจากการเขียนนวนิยายออนไลน์มาแล้ว

 

  

 

          ในช่วงต่อมา เป็นการแถลงข่าว 3 กิจกรรมการประกวดหลัก และการเปิดโรงเรียนนักเขียน (Dokya​ Academy) โดย นางสาวนันทพร ไวศยะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนักเขียน และผู้จัดกิจกรรมการประกวด ได้กล่าวถึงรายละเอียดของโครงการประกวดพล็อตนวนิยาย, การประกวดพากย์เสียง (audio book) และการประกวดนวนิยาย LGBTQ+ รวมทั้งการเปิดหลักสูตร Dokya​ Academy ที่ประเดิมด้วย 2 วิชาหลัก คือ “Dokya​ eBook ปลุกฝันปั้นพล็อต” และ “ไม่ยาก ถ้าอยากพากย์แบบมืออาชีพ” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทั้งนี้ ยังเชิญอาจารย์กนกรส ทิมา จากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มากล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้อีกด้วย

 



          “ทุกกิจกรรมสามารถส่งงานประกวดมาได้ทางอีเมล editor@dokyaebook.co.th หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Line OA Dokya eBook แต่อย่าชะล่าใจนะคะ ตอนนี้มีส่งเข้ามาบ้างแล้ว เรามีกำหนดวันสิ้นสุดการส่งงานตามเวลาที่วางไว้เป็นช่วงๆ เพื่อให้มีเวลาในการเขียนงานที่ถนัด และใครที่ลงทะเบียนประกวดแล้ว ก็จะได้รับสิทธิ์ในการสมัครเข้าร่วมเป็นนักเรียนรุ่นแรก ของ Dokya Academy ด้วยค่ะ”

 

  


          สำหรับบรรยากาศตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น เต็มไปด้วยความอบอุ่น เป็นกันเอง นักเขียนหลายคนยกมือซักถามผู้บริหาร และทีมงานของ Dokya​ eBook ในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มที่ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองตามประสาคนคอเดียวกันอย่างคึกคัก

          ในช่วงท้ายงาน ยังมีการแสดงดนตรีคลาสสิคให้ฟังกันสดๆ จากนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะจบรายการด้วยความชื่นมื่น