“บางระจันวิทยา” เดินหน้าสร้างคนรุ่นใหม่ ใส่ใจพลังงานยั่งยืน

“บางระจันวิทยา” เดินหน้าสร้างคนรุ่นใหม่ ปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าด้านพลังงาน  ให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

          เมื่อพูดถึงอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เชื่อว่าหลายคนมักจะนึกถึงวีรกรรมของ “ชาวบ้านค่ายบางระจัน” ที่สมัครสมานสามัคคีต่อสู้กับข้าศึกในขณะนั้น รวมไปถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รุ่มรวยด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมายาวนาน แต่ปัจจุบันที่อำเภอบางระจันไม่ได้มีเพียงเรื่องราวสำคัญในอดีตที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ ยังมีเรื่องราวของอนาคตที่สดใส และความมั่นคงด้านพลังงาน ที่เกิดขึ้นจากพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

 

          เรื่องราวที่น่าสนใจและน่าภูมิใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นที่ โรงเรียนบางระจันวิทยา จังหวัดสิงห์บุรี สถานศึกษาที่บ่มเพาะความรู้ ทั้งยังปลูกฝังและสร้างความตระหนักให้เด็กๆ รู้ถึงคุณค่าด้านพลังงาน ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และสนับสนุนการให้ความสำคัญต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

          นายธรรมสรณ์ สุศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางระจันวิทยา เล่าให้ฟังว่า ข้อมูล ความรู้บางอย่างไม่ได้มีในตำราเรียน และนับเป็นเรื่องโชคดีของโรงเรียนที่มีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน มีวิทยากรที่รู้ลึกรู้จริง คอยมาให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พลังงานให้นักเรียนอยู่เสมอ

 

 

          ขณะที่ นางสาวนุชจรินทร์ มุ่งนากลาง นักวิชาการพลังงานชำนาญการ รักษาราชการแทนพลังงานจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวเสริมว่า พลังงานมีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเราในทุกมิติ พลังงานบางชนิดใช้แล้วหมดไป พลังงานบางชนิดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พลังงานบางชนิดใช้แล้วส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เยาวชนของชาติจะต้องรู้จักใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

  

 

          กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงานให้แก่นักเรียนมีหลากหลายเรื่องราว อาทิ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “เตาเผาถ่านชีวมวล” เพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้ที่ได้ ไปปรับและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และพัฒนาต่อยอดในอนาคต

 

 

 

          ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดและประดิษฐ์เครื่องมือด้านพลังงานในรูปแบบของโครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องตัดหญ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยรีโมต โดยมีบุคลากรจากกระทรวงพลังงาน ร่วมตรวจสอบ ประเมิน และให้คำแนะนำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน เพื่อให้สามารถพัฒนาปรับปรุง และนำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

          การสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีองค์ความรู้และจินตนาการ รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญต่อการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวทาง ประโยชน์สูง ประหยัดสุด จึงนับเป็นเรื่องที่น่าชมเชย และนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เป็นแนวทางแก่สถานศึกษาในพื้นที่อื่นๆ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในอนาคตต่อไป