ยกย่อง “โบตั๋น” สุภา สิริสิงห “นักเขียนอมตะ” 2566

มูลนิธิอมตะ ประกาศยกย่อง “โบตั๋น-สุภา สิริสิงห” เป็น “นักเขียนอมตะ” 2566  รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท

          ในปี 2566 นี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวรรณศิลป์ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานกรรมการ, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี (ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์), นางชมัยภร บางคมบาง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์), รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, นางกนกวลี กันไทยราษฎร์ (พจนปกรณ์), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี พัดทอง ได้ร่วมกันพิจารณารางวัล “นักเขียนอมตะ” โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

          ข้อ 1 เป็นนักเขียนสัญชาติไทยและมีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ

          ข้อ 2 มีผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเป็นภาษาไทย

          ข้อ 3 ผลงานดังกล่าวต้องมีคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นางสุภา สิริสิงห ผู้ได้รับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปีพุทธศักราช 2566

 

          นักเขียนหญิงหยัดสู้               เพื่อหญิง

          ยืนทุกฝันอันจริง                    ผ่านถ้อย

          โศกหมองมิประวิง                  สารสื่อ

          หวังเพื่อสังคมคล้อย               ทราบแล้วใจมี

 

          ปักหมุด "จดหมาย"ฉบับนี้        "จากเมืองไทย"

          เขียนจากสุดหัวใจ                 สื่อสิ้น

          "ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด"ใคร    ทันเทียบ

          และอีกนับร้อยชิ้น                  ต่างสร้างพลังสยาม

         

          "โบตั๋น" นามหนึ่งนี้                 ชูใจ

          เชื่อมเรื่องจีนกับไทย              ประดับหล้า

          เพื่อคนยากคนไร้                   สะท้อนสืบ

          สุดยอด "อมตะ"กล้า               แกร่งก้าววงวรรณ

 

 

          นางสุภา สิริสิงห นามปากกา โบตั๋น เป็นนักเขียนผู้ได้รับการยอมรับและชื่นชมยกย่องว่าเป็นนักเขียนสตรีผู้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี ผลงานจำนวนมากของโบตั๋น มีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งงานแปล  นวนิยายจำนวนมากมีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทองเนื้อเก้า ตราไว้ในดวงจิต ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ เช่น นวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย (2512) ได้รับรางวัล ส.ป.อ. (สนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์) และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่า 10 ภาษา 

          วรรณกรรมของโบตั๋นส่วนใหญ่นำเสนอปัญหาสังคมร่วมสมัย เช่น ปัญหาผู้หญิง ปัญหาเด็กและวัยรุ่น ปัญหาคนรากหญ้า โดยสื่อสาระสำคัญว่าสังคมจะจรรโลงอยู่ได้ด้วยคุณความดีที่เกิดจากการยึดมั่นในความกตัญญู การเชิดชูการทำงานและความมุมานะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อย่างอดทน อีกทั้งยังทำให้ผู้อ่านตระหนักว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะกำหนดพฤติกรรมและอนาคตของเยาวชน 

 

 

          นวนิยายจำนวนมากนับ 100 เรื่องของโบตั๋นเผยให้เห็นหลากหลายมุมของสังคมไทยในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมอย่างลุ่มลึกคมคายและตรงไปตรงมา นวนิยายบางเรื่องเป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการวรรณกรรมไทย เช่น จดหมายจากเมืองไทย เป็นผลงานนำร่องที่นำเสนอเรื่องราวของคนจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยด้วยท่วงทำนองเขียนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเฉียบคม ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เป็นต้นธารของนวนิยายแนวนี้ เรื่องผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด โบตั๋นนำเสนอภาพนางเอกที่ต่างไปจากขนบนวนิยายไทยก่อนหน้าโดยสิ้นเชิงทั้งรูปลักษณ์และรสนิยมการแต่งกาย แม้ต้องเผชิญกับอคติของสังคมแต่ยังคงยึดมั่นในการทำงานหนักอย่างสุจริตอย่างไม่ย่อท้อ วรรณกรรมของโบตั๋นจึงเป็นบันเทิงคดีที่ทั้งสนุก สร้างสรรค์สังคม มีคุณค่าอีกทั้งยังสร้างมิติใหม่ๆให้วงการวรรณกรรมไทย

          ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการฯจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ “นางสุภา สิริสิงห” นามปากกาโบตั๋นได้รับรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปีพุทธศักราช 2566

          ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566

 

 

          ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลให้แก่ “นางสุภา สิริสิงห” หรือ "โบตั๋น" ผู้ได้รับรางวัล "นักเขียนอมตะ" ประจำปี 2566 จะมีขึ้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567